คดีประวัติศาสตร์พระศาสนา มหาเถรยังไม่ทำหน้าที่ปกป้องพระธรรมวินัย?
1. คดี "พระพรหมสุธี" หรือ เจ้าคุณเสนาะ ปญฺญาวชิโร เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะภาค 12กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ถูกโจทย์ฟ้องในข้อหา "ยักยอกเงิน" ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเรื่องราวระเบิดในกลางพรรษา 2557 ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานใหญ่ๆ ถึง 4หน่วยงาน ได้แก่ ปปช. ปปท. ดีเอสไอ และ สตง. ซึ่งสุดท้าย สตง. หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เข้ามาควบคุมคดีนี้ ก่อนสิ้นปี ทาง สตง. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้ทราบว่า พระพรหมสุธีไม่ให้ความร่วมมือกับทาง สตง. ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ส่งผลให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ต้องนิมนต์ "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์" วัดพิชยญาติการาม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เข้าปรึกษาหารือ ก่อนทางสมเด็จพระพุทธชินวงศ์จะเรียกตัวพระพรหมสุธีเข้าพบที่วัดพิชยญาติการามในวันเดียวกันเพื่อตักเตือน และจากนั้นอีกไม่กี่วัน ทาง สตง. ก็ประกาศว่า "พบพิรุธในบัญชีเงินงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเกี่ยว 2 ประเด็นใหญ่" และจำต้องขยายผลลงไปในบัญชีเงินของวัดสระเกศอื่นๆ อีก ซึ่งประมาณว่ามีถึง 100 กว่าบัญชีด้วยกัน คดีนี้จึงเป็นคดีอิทธิพลอันดับหนึ่งของวงการคณะสงฆ์ไทยในรอบหลายสิบปี ทั้งนี้เพราะพระพรหมสุธีนั้น เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันก็คงครองตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่ง ที่สำคัญก็คือ มีพระผู้ปกครองระดับสูงในสายอยุธยา (อย.) ส่งสัญญาณว่า "หนุนเจ้าคุณเสนาะ" อย่างเต็มที่ คดีนี้จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะลงเอยอย่างไร
2. คดี "พระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล" เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง จังหวัดปทุมธานี มีพฤติกรรมวิปริต ออกสั่งสอนภายใต้สโลแกน "พุทธวจน" ตัดลัดพระปาติโมกข์เหลือเพียง 150 ข้อ และตัดทอนพระไตรปิฎกให้เหลือเพียงที่ตนเอง "เชื่อว่า" เป็นพุทธวจนเท่านั้น ทำเป็นรูปเล่มขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็ออกเดินสาย "ด่ากราด" บรรดาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยอดีตถึงปัจจุบัน ทุกแผนก ไม่ว่าจะเป็น นักธรรม-บาลี รวมทั้งการศึกษาสมัยใหม่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง (มจร.-มมร.) ซึ่งก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นการศึกษาที่เหลวไหล ไม่ใช่พุทธวจน เป็นลัทธิเดียรถีย์ ฯลฯ ส่งผลให้บรรดาพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เกิดความไม่พอใจ ได้เข้าร้องเรียนต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งทางมหาเถรสมาคมได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในห้องประชุม เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นมหาเถรสมาคมยึดทางสายกลาง ไม่เอาผิดกับพระคึกฤทธิ์ เพียงแต่ให้กลับมาสวดพระปาติโมกข์ 227 ข้อ เหมือนเดิม ซึ่งต่อมาก็ปรากฏภาพของพระคึกฤทธิ์ เข้าถวายสักการะ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่วัดปากน้ำ ทำทีเป็นว่ายินยอมพร้อมใจกลับเนื้อกลับตัว จะไม่ประพฤติเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ที่ไหนได้ หลังจากนั้นไม่นาน พระคึกฤทธิ์ก็ประกาศ "เดินหน้า" โครงการต่างๆ คล้ายกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น "ตนเองเป็นฝ่ายถูก" การผ่านมหาเถรสมาคมมาได้ จึงเหมือนเป็นเครื่องการันตีว่า "คึกฤทธิ์ไม่ผิด" กลุ่มพุทธศาสนิกชนที่ทนเห็นพฤติกรรม "เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น" ของพระคึกฤทธิ์ไม่ไหว จึงรวมตัวกันในนาม พสธ. เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดพระคึกฤทธิ์ในหลายกรณี ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องไว้ก่อนสิ้นไป ปีใหม่นี้จึงต้องคอยดูว่า หนังเรื่อง "คึกฤทธิ์-พุทธวจน ภาค 2" จะฉายที่ไหนเมื่อไหร่คดีคึกฤทธิ์ก็เหมือนคดี "ธรรมกาย" เป็นปัญหาเกี่ยวพันกับพระธรรมคำสอน ซึ่งสลับซับซ้อน ลึกซึ้ง ถ้ามิใช่ระดับนักปราชญ์แล้ว ก็ยากที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะเข้าใจ สุดท้ายอาจจะจบเหมือนกรณีธรรมกาย คือเป็นเรื่องของ "นักปราชญ์ทะเลาะกัน" ส่วนชาวบ้านทั่วไปนั้นก็รอรับอานิสงส์จากโครงการ "ชวนน้องท่องพุทธวจน" เหมือนกับโครงการ "เด็กดี วีสตาร์" ของธรรมกาย ตัวอย่างมีอยู่ไม่ไกล ธรรมกายพรางหลบปัญหาได้ เพราะใช้โครงการ "ประชานิยมแนวพุทธ" ฉันใด คึกฤทธิ์ก็คงจะเลียนแบบธรรมกาย เพื่อเอาตัวรอดจากปัญหานี้ไปฉันนั้น ที่สำคัญ คึกฤทธิ์สามารถเจาะเข้าไปถึงสำนักพระราชวัง ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นำมาเป็นจุดขายหลักให้แก่โครงการชวนน้องท่องพุทธวจน จนกระทั่งองค์กรต่างๆ เห็นดีเห็นงามเข้าร่วมโครงการกว่า 10 องค์กร แม้ในตอนหลังจะมีหลายองค์กรทยอยถอนตัวออกมา แต่ สพฐ. หรือคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคุมโรงเรียนเด็กทั่วประเทศไทยไว้ในกำมือ ก็ยังคงมั่นคงอยู่กับโครงการนี้ นี่คือหัวใจของเกม เป็นแต้มต่อที่คึกฤทธิ์เชื่อมั่นว่า ตราบใด สพฐ. ยังคงอยู่กับโครงการชวนน้องท่องพุทธวจน ต่อให้มหาเถรสมาคมก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะตีคึกฤทธิ์ก็เท่ากับตีเด็ก เด็กถูกตีก็จะต้องไห้ เมื่อนั้น ผู้ปกครอง คือพ่อแม่ของเด็ก ก็จะออกมาช่วยคึกฤทธิ์ปกป้องลูกหลานของตนเอง เป็นเกมอันแยบยลที่คึกฤทธิ์ใช้แผน "เอาสตรีและเด็กมาเป็นโล่ห์" ป้องกันตัวเองจากข้าศึก ซึ่งคึกฤทธิ์เป็นนายทหารมาก่อน ย่อมจะชำนาญในยุทธวิธี ยิ่งนำเอาวิธีการในสงครามมาเล่นกลางเมือง ก็พูดได้คำเดียวว่า "เล่นเมืองไหน ก็หัวอกแตกเมืองนั้น"
3. คดี "บวชภิกษุณีโดยไม่ได้รับอนุญาต" ก็ถือว่าเป็นคดีมีอิทธิพลไม่ด้อยไปกว่า 2 คดีข้างต้น เพราะมีแนวร่วมเข้าไปช่วยกันมากมาย โดยเฉพาะองค์กรสตรีในเมืองไทย ซึ่งเป็นกำลังหลักในพระพุทธศาสนา ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ผู้หญิงเข้าวัดมากกว่าผู้ชาย" แต่โบราณมานั้น เมืองไทยไม่มีพระผู้หญิง (ภิกษุณี) สตรีทั้งหลายก็จำใจต้องไหว้พระผู้ชาย แต่สมัยปัจจุบันโลกเปิดกว้าง มีผู้หญิงเก่งหลายท่าน นึกอยากจะเป็นอะไรที่มันสุดๆ อาทิเช่น นายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ "ภิกษุณี"แต่เพราะความที่คนไทยไม่คุ้นเคยกับภิกษุณีมาก่อน กระแสภิกษุณีจึงปลุกค่อนข้างยากในสังคมปิดแบบไทยๆ อย่างไรก็ตาม ความพยายามจะเป็นภิกษุณีก็หาได้หยุดยั้งลง เดือนกุมภาพันธ์ 2546 ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้บินไปรับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีที่ประเทศศรีลังกา บินกลับมาเมืองไทยก็ไม่มีใครสนใจ เหมือนจุดกระแสไม่ขึ้น ตกปี 2557 ทาง ดร.ฉัตรสุมาลย์ จึงเปิดเกมใหม่ นิมนต์พระมหินทวังสะ สังฆนายกนิกายอมรปุระ แห่งศรีลังกา บินมาทำพิธีอุปสมบทให้แก่ลูกศิษย์ คือ "นางณัฐทิพย์ ตนุพันธุ์" ที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 กว่ามหาเถรสมาคมจะรู้เรื่อง นางณัฐทิพย์ก็กลายเป็น "ภิกษุณีธัมมทีปา" ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมา มหาเถรสมาคมได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม และมีมติออกมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2557 ห้ามทำการบวชภิกษุณีในเขตประเทศไทย และห้ามมิให้นำพระอุปัชฌาย์จากประเทศอื่นเข้ามาบวช โดยมิได้รับอนุญาตจากมหาเถรสมาคม มติมหาเถรสมาคมดังกล่าว ถูกกลุ่มภิกษุณีภายใต้การนำของ "ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์" นำเรื่องไปร้องเรียนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) ซี่งสมาชิก สปช. หลายท่าน ได้ออกความเห็นว่า "มติมหาเถรสมาคมขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" จึงต้องจับตาดูบทบาทของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่าจะเห็นเช่นใดในกรณีภิกษุณี ทั้งนี้ ภิกษุณีฉัตรสุมาลย์ อ้างว่า"ได้รับหนังสือ" แต่งตั้งเป็นปวัตตินี หรือพระอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณี จากพระมหินทวังสะ เมื่อวันที่29 พ.ย. 57 ที่ผ่านมาแล้วด้วย โดยนัยยะว่า ปัจจุบันนี้ ภิกษุณีฉัตรสุมาลย์ มีอายุพรรษาครบ 12ปีแล้ว และได้รับแต่งตั้งเป็นปวัตตินี จึงมีศักดิ์และสิทธิ์จะทำการบวชภิกษุณีได้ด้วยตัวเองในประเทศไทย โดยมิต้องนิมนต์พระอุปัชฌาย์มาจากต่างประเทศอีกต่อไป ติดก็แต่..มติมหาเถรสมาคมห้ามบวชภิกษุณี เท่านั้น หากผ่านด่านนี้ไปได้ ภิกษุณีฉัตรสุมาลย์ก็จะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นในเมืองไทยอีกหน้าหนึ่งว่า "เป็นปวัตตินีไทยรูปแรก" หากฝันไม่สลายไปเสียก่อน อย่างไรก็ตาม กระบวนการบวชภิกษุณีเชื่อว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไปไม่สิ้นสุด เพราะกระแสถูกจุดติดแล้ว ถึงภิกษุณีฉัตรสุมาลย์จะสิ้นชีวิตไป ก็ใช่ว่าจะหมดสิ้น เพราะยังมีทายาทอีกหลายสิบรุ่นเดินตามมาเป็นแถว แถมยังได้แนวร่วมอีกมากมายที่เห็นต่างจากมหาเถรสมาคม คดีภิกษุณีจึงถือว่าเป็นคดีมีพลัง ขอเลี่ยงใช้คำว่า "อิทธิพล" เพราะยังไม่มีพฤติกรรมในการเข้าไปบิดเบือนพระธรรมวินัย แต่เป็นเพียง "การขอร้อง-เรียกร้อง" เพื่อให้ได้สิทธิตามพระธรรมวินัยเท่านั้น
ทั้งสามคดีเหล่านี้ เป็นคดีประวัติศาสตร์ ปะทุขึ้นพร้อมๆ กันในปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถึงจะพยายามแก้ปัญหามาอย่างละครั้งแล้ว แต่ปัญหาก็ทำท่าว่าจะไม่ยุติ หากแต่ลุกลามออกไปและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเดาไม่ถูกว่าแต่ละคดีจะสิ้นสุดลงอย่างไร
อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน
1 มกราคม 2558
http://www.alittlebuddha.com/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ