สตง. ก็ควรสั่งดำเนินคดีพระพรหมสุธีได้แล้ว?แต่ยังไม่ดำเนินการ?

ลิขิตสังฆราช !

สมเด็จวัดปากน้ำ "สลัก" ตอบหนังสือ สตง.

ขอให้ดำเนินการต่อไป
 


อา..บัดนี้ มีกระบวนการตรวจสอบเจ้าคุณเสนาะอย่างหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ ปปช. ปปท. ดีเอสไอ สตง. มส. อย. และ พระสังฆราช แต่ละหน่วยงานก็ "รับเรื่อง-ทำเรื่อง" เป็นการส่วนตัว ไม่แบ่ง ไม่แชร์ ไม่จูน ไม่จอย อะไรกับใคร พูดง่ายๆ ก็คือว่าต่างคนต่างทำ ซ้ำซ้อนหรือไม่ก็ไม่รู้สินะ เด็กอนุบาลก็คงอ่านออกมั๊ง

อย่างกรณีล่าสุด วันที่ 4 ม.ค. มีข่าวว่า มีการประชุมลับ ที่วัดยานนาวา เวลาดึก เปิดห้องให้เจ้าคุณเสนาะได้ "ล็อบบี้" ปิดคดี ก่อนประชุมมหาเถรในวันที่ 8 มกรา แต่ว่าไม่สำเร็จ

ครั้น ณ วันที่ 8 มกราคม ปรากฏว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่เข้าประชุมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปล่อยให้สายอยุธยาคุมห้องประชุม มส. เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สามารถออก "มติ มส." ให้โอนคดีเจ้าคุณเสนาะกับ สตง. ไปยังต้นสังกัด คือเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เพื่อเริ่มพิจารณาคดีกันใหม่

วันนี้ มีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ยืนยันว่า วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มิได้ป่วย และมิได้ลากิจ หากแต่ยังคง "ปฏิบัติงาน" ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อยู่นอกห้องประชุมมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จวัดปากน้ำ ได้ลงลิขิตในหนังสือของ สตง. ลงวันที่ "8 มกราคม 58" วันเดียวกับการประชุม มส. นัดประวัติศาสตร์

ก็เลยไม่รู้ว่า ทาง สตง. จะเชื่อฟังใคร ระหว่าง "มหาเถรสมาคม" กับ "สมเด็จวัดปากน้ำ" ในฐานะประธานมหาเถรสมาคม และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

เพราะถ้าเชื่อมหาเถรสมาคม (ตามมติที่ประชุม กำกับการแสดงโดย สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ และสาย อย.) ก็ต้องปล่อยให้ทางเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร (พระพรหมดิลก-เจ้าคุณเอื้อน) วัดสามพระยา พิจารณาคดีเจ้าคุณเสนาะไปโดยลำพัง

แต่ถ้าเชื่อ "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ทาง สตง. ก็ต้องดำเนินการต่อไป แต่จะเป็นรูปแบบไหนก็ยังไม่ทราบ

อย่างไรก็ตาม งานนี้เริ่มชี้ให้เห็นว่า เกิดการ "แข็งข้อ" ของทางกลุ่ม อย. ต่อวัดปากน้ำแล้ว จึงกล้าเล่นบทโหด "ปิดประตูห้องประชุมพุทธมณฑล" รวบรัดพิจารณาความแต่ฝ่ายเดียว โดยที่สมเด็จวัดปากน้ำ ไม่ยอมเข้าประชุม แต่ได้ลงลิขิตตอบ สตง. อยู่นอกห้องประชุม

ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง หรือจะเป็นดังกรณี "ธรรมกาย" ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเอือมระอา ไม่เสด็จเข้าร่วมประชุมมหาเถรสมาคมอีกเลย จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

หรือว่าคณะสงฆ์ไทยได้เวลา "แบ่งแยกแล้วปกครองแล้ว" !

 

ระบบจราจรคู่ ไม่รู้จะไปทางไหน ?

 

ไฟแดง : ไม่ให้ สตง. ยุ่งคดีสงฆ์

ไฟเขียว : ให้ สตง. เดินหน้าต่อไป

 

ลิขิตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถึง สตง.

 

อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน
9 มกราคม 2558

 

ยึกยัก !

ผู้ว่า สตง. พูดแปลก

ให้คืนเงินงานศพสมเด็จเกี่ยวที่ยังไม่ได้ใช้

ส่วนคดีความทางพระวินัยหรืออาญาก็ต้องว่ากันไป

ไม่มีลูบหน้าปะจมูก !
 

อา..ก็ท่านผู้ว่าพูดแบบนี้นะซี ทางฝ่ายเจ้าคุณเสนาะเขาจึงตีกินตีความว่า "ไม่ชัดเจน" เจ้าคุณเหนาะผิดตรงไหน โกงใช่หรือไม่ อย่างไร ทำไมไม่พูดให้กระจ่าง เอาหลักฐานมากางให้กรรมการมหาเถรท่านดู แล้วก็คอยดูสิว่าท่านจะทำอย่างไร เพราะเชื่อเถิดว่า ถ้าผิดจริง ก็ไม่มีใครเอาไว้ แต่ ณ วันนี้ เหมือนกับมีการเล่นข่าวไปวันๆ ทำให้น้ำหนักของการสอบสวนลดน้อยลงไปทุกที ไม่มีอะไรใหม่

อย่างกรณีที่มีข่าวทางเฟสบุ๊คว่า สตง. ได้ไปประชุมลับกับเจ้าคุณเสนาะ ที่วัดยานนาวา โดยมีกรรมการมหาเถรสมาคมเข้าร่วมด้วยนั้น เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่อย่างไร และทางฝ่ายเจ้าคุณเสนาะขอบิณฑบาตนั้น จริงเท็จอย่างไร ประเด็นไหนที่ถือว่าเป็น "จุดตาย" ทำให้เจ้าคุณเสนาะต้องล็อบบี้ให้มีการประชุมลับดังกล่าว ก่อนการประชุม มส. วันที่ 8

พยานหลักฐานการใช้เงิน ซึ่ง สตง. ระบุว่า "ผิดประเภท" คือมีการซิกแซก เอาเงินบริจาคส่วนอื่นมาจ่ายทดแทนส่วนนี้ เพื่อจะเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือบอกบุญหลายทาง ทางรัฐบาลก็บอก ทางพุทธศาสนิกชนทั่วไปก็บอก ครั้นได้เงินมามากเกินราคาของ ก็เบียดบังเงินส่วนเกินนั้นไว้เป็นของตัวเอง นี่ไงที่คนเขาอยากเห็น "หลักฐาน" มิใช่แค่ฟังคำพูดเป็นข่าวไปวันๆ

หัวใจสำคัญของคดีนี้อยู่ที่กระแสข่าวว่า "มีการโอนเงินหลวงเข้าบัญชีส่วนตัวเจ้าคุณเสนาะ" ถามว่า จริงหรือไม่ ? หลักฐานอยู่ไหน ธนาคารอะไร เลขบัญชีที่เท่าไหร่ ต้นทาง-ปลายทางการเงินอยู่ที่ไหน ทำไมไม่โชว์ เพราะถ้าไม่เห็นหลักฐานก็คงทำอะไรเจ้าคุณเสนาะยาก แต่ถ้าหากจริง หลักฐานชิ้นนี้แหละที่จะเป็นเชือกมัดคอเจ้าคุณเสนาะให้ดิ้นไม่หลุด เพราะเงินอยู่ในบัญชีคุณแล้ว จะอ้างว่า "บกพร่องโดยสุจริต" ก็ฟังไม่ขึ้น

จึงบอกว่า ถ้ามีหลักฐานบัญชีธนาคารเช่นนี้แล้ว ทาง สตง. ก็ควรสั่งดำเนินคดีพระพรหมสุธีได้แล้ว เพื่อให้มีการพิสูจน์ความจริงกันในชั้นศาล จากนั้นก็แจ้งเรื่องให้มหาเถรสมาคมทราบ ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามกระบวนการ เพราะท่านผู้ว่าก็ย้ำหลายครั้งมิใช่หรือว่า "ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ไม่มียกเว้น"

ขอย้ำว่า "เงินหลวง" นั้น ต้องอายัดไว้นะครับ มิใช่ให้เจ้าคุณเสนาะส่งคืน ซึ่งถือว่าผิดเช่นกัน เพราะเงินของกลางจะคืนไม่ได้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ในชั้นศาลว่าโกงจริง เพราะขณะนี้ เงินจำนวนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบของ สตง. จะบอกให้คืนได้อย่างไร (ถ้าคืนก็ถือว่าจบเรื่อง เข้าในกรณีไกล่เกลี่ย) ยกเว้นแต่ทางวัดสระเกศแจ้งความประสงค์จะคืนเงินเองก่อนเกิดเรื่อง แต่เวลานี้ทุกอย่างมันสายเกินไปแล้ว วัดสระเกศจะขอคืนเงินก็ไม่ได้ สตง. จะขอเงินคืนก็ไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามกระบวนการทั้งคู่ มีอยู่ทางเดียวก็คือ ฟ้องศาล เพื่อพิสูจน์พยานหลักฐานว่าเจ้าคุณเสนาะมีเจตนาฉ้อฉลจริงหรือไม่ ในกรณีที่ "เงินหลวงงานศพสมเด็จเกี่ยว" ไพล่ไปอยู่ในบัญชีพระพรหมสุธี เพราะตราบใดที่ยังไปไม่ถึงศาล และศาลยังไม่วินิจฉัย ต่อให้ผู้ว่า สตง. ขนเอาสำนักงานมาพูดด้วย ก็ฟังไม่ขึ้น !

 

 

สตง.เผยบัญชีบริจาควัดสระเกศปีเดียวสะพัดกว่า 100 ล้าน

จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบข้อมูลงบประมาณงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 67 ล้านบาท ต่อพระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) หรือเจ้าคุณเสนาะ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะภาค 12 กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่สตง.ได้มอบหมายให้ นายชัยวัฒน์ อนันตศาสต์ ผอ.สำนักตรวจสอบการบริหารพัสดุและสืบสวน ที่ 3 ไปติดตามการรายงานผลความผิดปกติการใช้เงินงบประมาณงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเกี่ยว ต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) นั้น ตนได้รับรายงานเบื้องต้นว่า สตง.ไม่ได้เข้ารายงาน เนื่องจากทาง มส. เห็นว่า เป็นเรื่องของวัดสระเกศ จึงให้เจ้าคณะปกครองไปดำเนินการ ดังนั้นในส่วนของ สตง. คงต้องขอให้ทางเจ้าอาวาสวัดสระเกศคืนงบประมาณ โดยเฉพาะในส่วนค่าจัดทำโต๊ะหมู่บูชาจำนวน 11 ล้านบาท ที่ สตง. ตรวจพบว่ามีเจ้าภาพทั้งหมด เนื่องจากไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน และอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการคืนเงินงบประมาณแผ่นดินและยังอยู่ในความรับผิดชอบของ สตง. ก็ยังคงต้องดำเนินการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวต่อ เพื่อให้ได้ความกระจ่างว่าใช้จ่ายอย่างไร เนื่องจาก สตง. ได้พบความผิดปกติของการใช้เงินจำนวนดังกล่าว นอกจากนี้ยังคงต้องตรวจสอบในรายละเอียดอื่นๆ ที่อ้างว่ามีการใช้จ่ายด้วย โดยจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากมีการคืนเงินก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความผิดวินัยทางการเงินของพระนั้นก็ต้องว่าไปตามวินัยของสงฆ์ที่จะต้องดำเนินการ แต่หากเป็นความผิดอาญาผิดกฏหมายบ้านเมืองก็ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส  เพราะใครก็ตามที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องรับผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า อำนาจของ สตง. สามารถเข้าไปดำเนินการตรวจบัญชีของวัดได้หรือไม่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า การจะเข้าไปตรวจสอบบัญชีของวัดและบัญชีเงินบริจาคงานศพสมเด็จเกี่ยวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเกี่ยวพันของข้อมูลที่ตรวจสอบ ซึ่งกรณีของวัดสระเกศ หากจะให้ตรวจโดยปราศจากความสงสัยว่า ใบสำคัญที่นำมาเบิกไม่ได้นำมาจากงบอื่นๆ ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบทุกบัญชีของวัด ซึ่งจะทำให้ผลสอบเกิดความกระจ่าง  แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ สตง. ก็จะสร้างความกระจ่างให้สังคมไม่ได้

แหล่งข่าวผู้หนึ่งในวัดสระเกศ เปิดเผยว่า บัญชีการรับบริจาคงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จเกี่ยวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ถึงเดือนมีนาคม2557 รวม 8 เดือน มียอดบริจาคจำนวน 96,655,742 บาท ซึ่งเมื่อแบ่งเป็นรายเดือนจะมีเงินบริจาค ดังนี้ สิงหาคม 56 มียอดบริจาค 11,606,809 บาท , กันยายน 56  มียอดบริจาค 41,076,326 บาท , ตุลาคม 56 มียอดบริจาค  20,755,542บาท , พฤศจิกายน 56 มียอดบริจาค 9,235,300บาท , ธ้นวาคม 56 มียอดบริจาค 5,594,470บาท , มกราคม 57 มียอดบริจาค 2,731,898 บาท ,กุมภาพันธ์ 57 มียอดบริจาค 2,773,565 บาท และวันที่ 1-6มี.ค.57  มียอดบริจาค 2,881,900 บาท นอกจากนี้ ยังมียอดบริจาคที่พุทธศาสนิกชนได้ถวายกับเจ้าอาวาสอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่ได้รับการเปิดเผย เมื่อรวมๆ ทั้งหมดแล้วไม่น่าต่ำกว่า 100 ล้านบาท

 

ข่าว : เดลินิวส์
10 มกราคม 2558

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ