ด่วนภัยต่อความมั่นคงของชาติ ต่อสถาบันพระศาสนาใครจะทำหน้าที่?

จับตา สตง. ต่อคดีเจ้าคุณเสนาะ !

หลังสมเด็จวัดปากน้ำเปิดไฟเขียวให้เดินหน้า
 



 

เป็นปัญหา "เทคนิค" ที่ประดังเข้ามาอย่างไม่คาดฝัน หลังจากทีม อย. นำโดยสมเด็จสมศักดิ์และรองสมเด็จเอื้อน (แหมเรียก "ท่านเจ้าคุณเอื้อน" คุ้นหูกว่า) ได้ลงแรงแย่งซีนสมเด็จวัดปากน้ำ ดึงเอาคดีเจ้าคุณเสนาะมาเป็นของเจ้าคณะ กทม. ซึ่งขึ้นต่อเจ้าคณะภาค 1 คือมหาสายชล โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์คุมเกมอยู่เหนือสุด ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง

ทีมกฎหมายสายอยุธยา ระดมกำลังสมองกันอย่างรีบเร่ง ก่อนเส้นตายวันประชุม มส. 8 มกราคม เพื่อหาทางล็อกคดีนี้ไม่ให้หลุดมือไปขึ้นต่อวัดปากน้ำ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งจะคุมไม่อยู่ เพราะมีอำนาจเหนือกว่า แต่ทำยังไงก็ได้ ให้โอนคดีมาไว้ที่ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด คือเจ้าคณะ กทม. หรือเจ้าคณะภาค 1 อันเป็นพระในสายอยุธยาให้จงได้ หากันจนตาลาย สุดท้ายก็ปัดฝุ่นเอา มติ มส. พ.ศ.2544 มาเป็นยันต์กันผี ทั้งนี้โฆษก พศ. ระบุแนวทางการปฏิบัติไว้ว่า "เมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ใดให้เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้นดำเนินการกับปัญหาให้เป็นที่เรียบร้อย"

มีข้อสังเกตว่า เจ้าคณะ กทม. ต้นสังกัดของพระพรหมสุธี จะใช้วิธีการใดในการเริ่มต้นสอบสวนอธิกรณ์เจ้าคุณเสนาะ เพราะครั้งแรกนั้น มีคนโจทย์ฟ้อง ทาง กทม. ก็สอบเสร็จไปรอบหนึ่งแล้ว สรุปอย่างไรผลก็ไม่ปรากฏต่อสาธารณชน เพราะรายงานผ่านเจ้าคณะใหญ่หนกลางถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่างเงียบๆ แต่เมื่อไม่มีผลในด้านลบต่อเจ้าคุณเสนาะ ก็ต้องเชื่อว่า ผลการสอบรอบแรกนั้น ไม่พบความผิดเจ้าคุณเสนาะ

และคดีที่สอบเสร็จไปแล้วนั้น ถือว่าเสร็จสิ้นอธิกรณ์ จะรื้อฟื้นอีกไม่ได้ ยกเว้นแต่มีหลักฐานพยานใหม่ๆ หรือไม่ก็ต้องเป็นคดีใหม่ไปเลย ถ้าโจทก์คนเก่า หลักฐานต้องใหม่ แต่ถ้าโจทก์ใหม่ จะใช้หลักฐานเก่าก็ไม่ได้ ไม่งั้นก็แสดงว่าแค่เปลี่ยนคนโจทย์ในเรื่องเก่า

เบื้องต้นของการสอบสวนอธิกรณ์ของคณะสงฆ์นั้น เริ่มต้นต้องมีผู้ฟ้องร้องหรือร้องเรียน และต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง ทางเจ้าคณะผู้มีอำนาจจึงจะสามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ แต่ก็ต้องสอบสวนทวนความให้ชัดเจนในทุกด้าน ไล่ตั้งแต่ว่า ผู้ร้องเรียนเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ไม่เป็นคนบ้าคนใบ้ และที่สำคัญก็คือ ต้องมีหลักฐานพยานในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

เมื่อได้ผู้โจทย์ฟ้องและพยานหลักฐานต่างๆ ครบแล้ว ทางเจ้าคณะผู้ปกครองก็ต้อง "ตั้งกรรมการสอบสวน" อย่างเป็นรูปแบบ เพื่อให้เป็นระบบ และเมื่อได้ผลประการใดแล้วก็ต้องแจ้งให้แก่โจทย์และจำเลยทราบ รวมทั้งต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาเบื้องสูงขึ้นไป ในกรณีที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมก็ต้องรายงานต่อมหาเถรสมาคม อันเป็นหน่วยงานสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย

แต่ทีนี้ว่า การจะตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าคุณเสนาะรอบใหม่นี้ ไม่มีผู้ร้องเรียน มีแต่เพียงหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งก็ทำการสอบสวนไล่เลี่ยกับเจ้าคณะ กทม. ในครั้งก่อน เพียงแต่ สตง. สอบสวนนานกว่า ส่วนเจ้าคณะ กทม. นั้นสอบรอบเดียวจบ

การอ้างว่า "การตรวจสอบของ สตง. ก็ดำเนินไป คดีในฝ่ายสงฆ์ก็ให้ฝ่ายสงฆ์ดำเนินการไป" นั้น ดูไปก็เหมือนว่าแยกกันทำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คดีนี้ ไม่สามารถแยกกันได้ ทั้งนี้เพราะคดีที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์รับมาครั้งหลังสุดนี้ อิงผลการสอบสวนของ สตง. กรณีเงินงบประมาณจากรัฐบาลไทย ถวายให้วัดสระเกศใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ซึ่งในการขอเงินอุดหนุนไปนั้น มีการลงรายการใช้จ่ายอย่างชัดเจน และรัฐบาลก็อนุมัติตามที่ขอมาทุกรายการ เป็นจำนวนเงินถึง 67 ล้านบาน ซึ่งผลการตรวจสอบของ สตง. พบว่า เงินทั้งหมดถูกโอนเข้าบัญชีพระพรหมสุธี (เสนาะ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ หาได้โอนเข้าบัญชีวัดสระเกศแต่อย่างใดไม่ หนำซ้ำยังมีการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนกับการบริจาครายใหญ่ของมูลนิธิสิริวัฒนภักดีอีกด้วย

ความผิดปรกติที่พบนี้ เป็นเหตุให้ สตง. ทำหนังสือกราบบังคมทูลไปยังสมเด็จพระสังฆราช (ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ เหมือนทำหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงในเวลานั้นจะไม่มีนายกรัฐมนตรี มีแต่ผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ก็ยังต้องใช้ชื่อว่า นายกรัฐมนตรี) รวมทั้งแจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบอีกทางหนึ่ง เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ตามระเบียบราชการต่อไป

ความจริงแล้ว ทาง สตง. ก็แจ้งมากไป เพราะกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชแล้วก็น่าจะจบ เพราะสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งอยู่แล้ว เมื่อทรงได้รับหนังสือ ก็จะทรงวินิจฉัย หากเห็นสมควร ก็จะทรงมีพระบัญชาให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รับไปดำเนินการต่อ คือบรรจุเข้าในวาระการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งก็จะเข้าสู่ มส. ในเส้นทางเดียวกัน ไม่ซ้ำซ้อน

ครั้น สตง. แจ้งเรื่องทีละ 2 ทาง ก็สร้างความสับสนให้แก่ผู้ปฏิบัติ ว่าจะให้เริ่มตรงไหนอย่างไร คือเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับหนังสือจาก สตง. แล้ว ก็บรรจุเข้าในวาระการประชุม มส. วันที่ 8 มกราคม 2558 แต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม อาพาธ เข้ารับการพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ไม่สามารถมาประชุมได้ ส่งผลให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กลายเป็นกรรมการ มส. สายมหานิกาย ผู้มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุด ได้คุมเกมประชุม คุมเสียงข้างมาก สามารถโอนคดีเจ้าคุณเสนาะไปให้เจ้าคณะ กทม. อย่างขาดลอย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก สตง. ที่เดินทางมาชี้แจงต่อมหาเถรสมาคม ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชี้แจงอีกด้วย

วันเดียวกัน (8 ม.ค.58) สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ลงลิขิตในหนังสือของ สตง. ที่โรงพยาบาลศิริราช ให้ทาง สตง. ดำเนินการสอบสวนต่อไป

ก็เลยทำให้ไขว้เขวว่า ประเด็นของ สตง. คืออะไร และประเด็นของคดีทางสงฆ์เป็นอย่างไร ?

คือว่า การเข้ามาสอบบัญชีเงินบริจาคงานศพสมเด็จเกี่ยวในวัดสระเกศโดย สตง. นั้น สตง. อ้างว่า ดำเนินการตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 39 ให้อำนาจแก่ สตง. สามารถเข้าไปตรวจสอบการรับ-จ่ายเงินอุดหนุนของรัฐบาล หรือหน่วยงานอื่นใด ซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดินได้ ซึ่งตรงนี้ไม่เกี่ยวกับมหาเถรสมาคมเลย

ครั้นมาถึงกรณีที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ลงลิขิตให้ทาง สตง. ดำเนินการต่อไปนั้น ก็ไม่ทราบว่ามีผลอะไร เพราะ สตง. เข้ามาสอบมิใช่เพราะลิขิตพระสังฆราช หากแต่เข้ามาเพราะอำนาจหน้าที่บังคับ หรืออีกนัยหนึ่ง สตง. มิได้ขึ้นต่อมหาเถรสมาคมหรือสำนักสมเด็จพระสังฆราช หากแต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจทางกฎหมาย สามารถบังคับใช้กับกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปทุกองค์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายบ้านเมืองได้

หนังสือ สตง. ที่กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชนั้น จึงเป็นหนังสือ "แจ้งให้ทราบ" และมีผลผูกพันทางกฎหมาย หากไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชหรือมหาเถรสมาคม ก็จะตกเป็นจำเลยในการช่วยเหลือจำเลย คือพระพรหมสุธี แต่ในทางกลับกัน ลิขิตสมเด็จพระสังฆราช (โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช) กลับไม่มีผลต่อการทำงานของ สตง. เลย ไม่ว่ากรณีใดๆ พูดง่ายๆ เลยว่า สตง. เข้ามาตรวจสอบ หรือหยุดตรวจสอบ ก็ไม่เกี่ยวกับทางคณะสงฆ์ ไม่ว่าระดับไหน แต่เมื่อ สตง. พบหลักฐานพยานความผิด ของเจ้าคุณเสนาะ ก็เป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ต้องดำเนินการ จะละเลยไม่ได้

การที่สมเด็จวัดปากน้ำมีลิขิตถึง สตง. "ให้ดำเนินการต่อไป" ก็ดี การที่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ขอโอนคดีทางสงฆ์มาให้แก่เจ้าคณะผู้ปกครองต้นสังกัดของพระพรหมสุธี ก็ดี จึงถือว่าไม่มีผลทั้งสองกรณี เพราะสมเด็จพระสังฆราชบัญชา สตง. ไม่ได้ และเพราะคดีของพระพรหมสุธีจะแยกออกจากการสอบสวนของ สตง. ก็ไม่ได้ เพราะทำคดีโดยอ้างอิงข้อมูลรายงานจาก สตง. จะแยกสำนวนออกมาสอบเองได้อย่างไร สตง.จะโอนคดีมาให้เจ้าคุณเอื้อนก็ไม่ได้อีก เพราะมันคนละหน่วยงานกัน

ดังนั้น ที่ สมเด็จวัดปากน้ำก็ดี สมเด็จวัดพิชัยญาติก็ดี กระทำไปทั้งหมดนี้ จึงถือว่าไม่มีผล คือทำก็เหมือนไม่ทำ เพราะไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ คือการสั่งพักงานเจ้าคุณเสนาะ เพราะ สตง. เขาพบการขัดขวางจากเจ้าคุณเสนาะ จึงแจ้งเรื่องไปยังสมเด็จพระสังฆราช เพื่อขอให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใส แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า สมเด็จวัดปากน้ำก็ไม่ทำอะไร นอกจากจะให้ สตง. "ดำเนินการต่อไปเหมือนเดิม" ส่วนสมเด็จวัดพิชัยญาติยิ่งไปกันใหญ่ ตกอกอกใจ ถึงกับดึงเอากระดาษรายงานแผ่นเดียวมาวาดเป็นอธิกรณ์ของพระพรหมสุธีให้เจ้าคุณเอื้อนไปท่องบท ซึ่งดูแล้วก็ตลก เพราะขอสอบพระพรหมสุธีโดยใช้หลักฐานจาก สตง. แต่ไม่ให้ สตง. ยุ่ง กางเกงตัวเดียวกัน แต่ใส่กันคนละขา สมเด็จสมศักดิ์ยังหลิ่วตาบอกว่า "ไม่เกี่ยวกัน" อีก ใครมองเห็นก็ต้องฮาทุกทีไป

สุดท้าย ภาระหน้าที่ก็ต้องตกอยู่ที่ "สตง." อยู่ดี ที่ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะสงฆ์นั้น ก็เพราะเห็นว่าเป็นองค์กรที่ประชาชนชาวไทย นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมา ทรงให้ความเคารพนับถือ จะทำอะไรบุ่มบ่ามนั้นมันไม่งาม ครั้นแจ้งให้ทราบแล้ว ทางสมเด็จพระสังฆราชเปิดไฟเขียวให้ดำเนินการเต็มที่ งานนี้ จึงไม่ต้องกั๊กอีกต่อไป ดังคำกล่าวว่า The show must go on !
 

อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน
12 มกราคม 2558

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ14 มกราคม 2558 เวลา 21:23

    ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ ความจริงคือจริง เท็จคือเท็จ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง