ชะตากรรมประวัติศาสตร์นักการเมืองไทย

24 ม.ค.58 วิบากรรมของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคงไม่ได้หมดแค่ การถูกถอดถอนโดย สนช.ด้วยมติ 190 ต่อ 18 เสียง กรณีมีพฤติการณ์เป็นการส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) และยังขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58 อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270

ผลของการถอดถอนครั้งนี้ เสมือนหนึ่งถูกคุมขังเป็นเวลา 5 ปี

“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี นับจาก สนช.มีมติถอดถอน คือ ตั้งปต่วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา

ต้องบอกว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่คนแรกที่โดนเช่นนี้ แต่มีอีก 221 ราย ที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต่อจาก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ กรณี "ซุกหุ้น" ต่อจาก 111 คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ในปี 2549 และต่อจาก 109 รายที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองจากพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคในปี 2551

แต่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นคนที่ 5 ในวงศาคณาญาติตระกูล “ชินวัตร” ที่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง คนแรกก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ,นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จากกรณียุบพรรคไทยรักไทย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีนางเยาวภา จากกรณียุบพรรคพลังประชาชน น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นบุตรสาวนายสมชาย และนางเยาวภา ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเนื่องจากยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จก่อนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปี 2555 "ยิ่งลักษณ์" จึงเป็นคนที่ 5 ในวงศาคณาญาติ และได้รับเกียรติให้เป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ได้เป็น นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยมาแล้ว

จากนี้ “ยิ่งลักษณ์” คงจะต้องเตรัยมตัวรับศึกหนักครั้งใหญ่อีกครั้ง

จะอยู่เมืองไทยหรือหนีไปแบบพี่ชายยังบอกไม่ได้

จากกรณีที่อัยการสูงสุดส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานมีความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญัติ ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดความเสียหายต่อประเทศ

ซึ่งไม่ต่างจากคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ  ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.50 และศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 ก.ค.50กระทั่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดโทษไว้ 2 ปี เมื่อวันที่ 21 ต.ค.51

ย้อนมาที่คดีอัยการสูงสุดเป็น โจทก์ยื่นฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” ต่อฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น หากดูระยะเวลาของคดีที่พ.ต.ท.ทักษิณตกเป็นจำเลยใช้เวลาเพียงปีเศษ หากเทียบเคียงกับคดี “ยิ่งลักษณ์” ด้วยระยะเวลาดังกล่าว หมายความว่า “ยิ่งลักษณ์” ยังมีอิสรภาพอีกอย่างน้อยๆ 1 ปีเศษเพื่อให้ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาต่อความผิดนี้

จากนี้คอการเมืองทั้งหลายคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ลมหายใจแห่งอิสรภาพของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะมีเวลามากแค่ไหน เพราะหากผลการพิจารณาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวออกมาในทิศทางเฉกเช่นที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยถูกพิจารณา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”อาจต้องเดินย่ำรอยพี่ชายไปใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างประเทศอีกคน

เมื่อคดีมีความผิดใกล้เคียงกัน

โอกาสย่ำรอยประวัติศาสตร์ “ทักษิณ” ก็เป็นไปได้สูง

นสพ.แนวหน้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ