ความมั่นคงของสถาบันที่รอ คสช.ปฎิรูป
เมื่อเร็วๆ นี้ มีกรณีพระสงฆ์นอกรีตชื่อดังสิ้นจากความเป็นพระ ปาราชิกไปหลายราย
ล่าสุด คือ กรณีอดีตพระเกษม เสพเมถุน ต้องปาราชิก (แม้จะอ้างว่าลาสิกขาไปเองก็ตาม)
แต่ผู้มีอิทธิพลตัวใหญ่ที่สุดในวงการพระพุทธศาสนาสร้างความเข้าใจผิดที่สุด สร้างความลุ่มหลง มัวเมา ผิดเพี้ยนจากแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างร้ายกาจที่สุด ยังไม่ถูกชำระ
ตรงกันข้าม กลับเหิมเกริม อุกอาจ มากขึ้นเรื่อยๆ
1) การจัดกิจกรรม “ธุดงค์ธรรมชัย” มีลักษณะอีเว้นท์ทางการตลาดอย่างชัดเจน
มีการจัดตั้ง จัดเตรียม จัดหา จัดจ้าง ดำเนินการเอาดอกดาวเรืองจำนวนมหาศาล มาโรยไว้บนพื้น รองรับฝ่าเท้าของพระสงฆ์ที่จะเดินแบกกลดไปตามท้องถนนกลางกรุงเทพมหานคร
เรียกว่า ธุดงค์ธรรมชัย
หวังผลในการสร้างภาพที่จะอลังการ ตื่นตาตื่นใจ ดึงดูดความสนใจ
หวังสร้างชื่อ สร้างแบรนด์ให้กับวัดธรรมกาย
เสมือนเอาพระสงฆ์มาเดินเรียกแขก เรียกความสนใจ โดยออกแบบการโชว์ให้ตื่นตาตื่นใจ
ลองนึกถึงกลวิธีของ “พริตตี้มอเตอร์โชว์”
เพื่อชักจูงคนเข้าร่วมลัทธิ ก่อนจะตะล่อมเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งธรรมกายซึ่งสิ้นเปลืองเงินทองอย่างยิ่ง
2) กิจกรรมการตลาดเพื่อหวังผลโฆษณาชวนเชื่อนี้ ผิดแผกแตกต่างไปจากหลัก “ธุดงควัตร” แห่งพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง
การปฏิบัติธุดงควัตร คือการที่สงฆ์จาริกไปตามป่าเขา ปลีกวิเวก ถือสันโดษ พำนักตามโคนไม้ เพิงผา สมถะ ลดละอุปโภคบริโภค ทำจิตให้เป็นอิสระจากพันธนาการเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เป็นการประหารกิเลส มิใช่การออกมาเดินย่ำดอกไม้ไปในเมืองหลวง เสพรับสักการะ เบียดเบียนความสะดวกของวิถีคนเมือง เดือดร้อนกันทั่ว
ธุดงค์ต้องออกไปสู่ป่า… แต่ธรรมกายมาจัดอีเว้นท์ในเมือง
เพราะในเมืองมีผู้บริโภค มีกำลังซื้อ มีเงินเยอะ ใช่หรือไม่?
3) อันที่จริง เจ้าลัทธินี้น่าจะปาราชิกไปแล้ว!
ซ้ำยังถูกดำเนินคดีร้ายแรง ศาลยุติธรรมจวนจะพิพากษาอยู่แล้ว แต่อัยการในยุคทักษิณถอนฟ้องไปเสียดื้อๆ
คงจำกันได้... พฤติกรรมยักยอกทรัพย์สินของธัมมชโย ทั้งเงินและที่ดิน ตลอดจนอวดอุตริมนุสธรรม
กรมที่ดินตรวจพบธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ในจังหวัดพิจิตร
มีการดำเนินคดีกับธัมมชโย ตั้งแต่ปี 2542-2547 เหลือสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด ในวันที่ 23 และ 24 สิงหาคม 2549 แต่แล้วในวันที่ 21 สิงหาคม พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ ก็ขอถอนฟ้องจำเลย คือ ธัมมชโย
อ้างว่า จำเลยได้คืนที่ดินและเงินจำนวน 959 ล้านบาทแล้ว!
อัยการสูงสุดขณะนั้น ชื่อ นายพชร ยุติธรรมดำรง
ก่อนหน้าที่อัยการจะถอนฟ้องแค่เดือนเดียว 18 กรกฎาคม 2549 ยุครัฐบาลทักษิณ ได้ใช้สถานที่วัดธรรมกาย ระดมเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 80,000 คน มาร่วมงาน โดยให้ทักษิณมาเป็นประธาน หวังผลทางการเมืองเพื่อต้านทานกระแสขับไล่ทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในขณะนั้น
แม้คดีทางโลก ทางกฎหมาย จะไม่สามารถเอาผิดได้ แต่ตามหลักธรรมวินัย เมื่อการยักยอกทรัพย์กระทำสำเร็จแล้ว (จนถึงกับต้องเอามาคืน หรืออ้างว่าเอามาคืนแล้ว) ก็น่าจะเข้าข่ายปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ!
หากปาราชิกไปแล้ว สถานะก็ย่อมไม่ต่างกับอดีตพระเกษม และคนอื่นๆ ที่ปาราชิกไปแล้ว
4) ที่อันตรายยิ่งกว่าการจัดอีเว้นท์ เดินแบกกลด-ย่ำดอกไม้โชว์ คือ แนวทางของลัทธิธรรมกายที่ทำให้คนเข้าใจผิด สับสน เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนจากแก่นพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง
บทคัดย่อวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย” โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ชี้ประเด็นสำคัญบางส่วน ดังนี้
“1. กรณีธรรมกาย หมายถึงชื่อเรียกโดยรวมเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น พฤติการณ์ทั้งหมดที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้นนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีสองลักษณะเท่านั้น คือ การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย
2. การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตที่พบว่า มีสาเหตุมาจากสำนักวัดพระธรรมกายก็คือ การทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า การพยายามปลอมปนคำสอนในลัทธิของตนลงในพระไตรปิฎก การพยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตน หรือแม้แต่นักวิชาการจากต่างประเทศให้มีฐานะสำคัญ ถึงขนาดที่ใช้ทัศนะของท่านเหล่านั้นขึ้นมาอ้างเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างเรื่องนิพพาน เป็นต้น การพยายามให้อรรถาธิบายชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่า บุญมีฐานะเป็นดุจสินค้าชนิดหนึ่ง และเมื่อทำบุญและอานิสงส์ของบุญจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ได้อย่างปาฏิหาริย์
3.การประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเฉพาะประเด็นหลัก ได้แก่ การพยายามนำเอาลัทธิทุนนิยมที่มีความโดดเด่นอยู่ที่ระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานกับการบริหารจัดการวัด การจัดตั้งองค์กร รวมทั้งการระดมทุนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล องค์กรทางธุรกิจ การเมือง และการศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้สำนักวัดพระธรรมกายกลายเป็นสำนักที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งในทางวัตถุ ทุนทรัพย์ และในทางเกียรติคุณชื่อเสียง แต่วิธีเหล่านี้เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติชนิดที่ปราศจากการจัดตั้ง หรือการจัดการ และไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (รวมทั้งวัตถุนิยม) อย่างสิ้นเชิง
4. พฤติการณ์อันสืบเนื่องมาจากสำนักวัดพระธรรมกายทั้งหมดนั้น เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานชนิดที่ว่า ถ้าสำนักวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่สำนักตั้งเอาไว้ ก็จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาทต้องสูญสิ้นอันตรธานไป และสังคมไทยก็อาจกลายเป็นสังคมที่มีค่านิยมหวังผลดลบันดาลเชื่อมั่นศรัทธาในเทพเจ้า ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และถูกหลอกให้เพลินจมอยู่ในสุขอันดื่มด่ำจากสมาธิวิธีที่ถือว่าเป็นมิจฉาสมาธิและเต็มไปด้วยผู้คนที่ตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมอย่างงมงายไม่อาจหลุดพ้นเป็นอิสระไปจากการครอบงำของลัทธิเหล่านี้ได้…”
5) บทสรุปแห่งอันตรายอย่างที่สุดต่อพระพุทธศาสนา สะท้อนอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ความบางตอนว่า
“วัดธรรมกายใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการเข้าแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทย อาจเรียกว่า ‘กลยุทธ์ปูเสฉวน’ เพราะปูเสฉวนอาศัยอยู่ในเปลือกหอย แต่ตัวเป็นปูไม่ใช่หอย อาศัยเปลือกหอยกำบังธาตุแท้เพื่อลวงโลก ปูเสฉวนออกจากเปลือกหอยมากินเนื้อหอย หอยก็ยังไม่รู้สึกตัวจนตัวตายแล้ว”
“วัดธรรมกายเป็นลัทธิแปลกปลอม ไม่ใช่พระพุทธศาสนาเถรวาทแท้ของคณะสงฆ์ไทย แต่ผู้บริหารวัดร่วม 10 รูป ได้วางแผนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างชาญฉลาด เป็นนักฉวยโอกาสชั้นสุดยอด รู้จักใช้บุคคล ช่วงจังหวะแฝงตัว กำบังตัว คืบคลานเข้ามาแทรกแซงคณะสงฆ์ไทย...”
สารส้ม
นสพ.แนวหน้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ