ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เรามาแก้ตรงนี้
ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ให้มีคำว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
เรามาแก้ตรงนี้กันก่อน มิดีกว่าหรือ ?
ให้มีคำว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
เรามาแก้ตรงนี้กันก่อน มิดีกว่าหรือ ?
(1)
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ก่อนจะเสนอชื่อเพื่อรับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
ฐานข้อมูล
1.พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หมวดที่ 2 มาตรา 13 "ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม"
2.กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 25 ก หน้า 11 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 ได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อ 2 "ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐ โดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา จัดการศาสนสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนาบุคคลากรทางศาสนา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(2) รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
(3) เสนอแนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(4) ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถาน และศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา
(5) ดูแล รักษ และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง
(6) พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
(7) ทำนุบำรุงพุทธศาสนศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
(8) ปฏิบัติการอันใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงเรื่องความพยายามในการบรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในแต่ละครั้งที่มีการร่างใหม่หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีพระสงฆ์สามเณรรวมทั้งพุทธศาสนิกชน ออกมาเรียกร้องให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" รัฐธรรมนูญที่ใกล้ที่สุดก็เห็นจะเป็นปี พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 แต่ทั้งสองครั้งนั้นปรากฏว่าเป็นหมัน ไม่สำเร็จ จะด้วยสาเหตุก็ตามแต่ และปัจจุบันวันนี้ วันที่มีข่าวว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ก็เริ่มมีเสียงดังขึ้นมาอีกว่า "ต้องเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติให้จงได้"
สำหรับผู้เขียนแล้ว กล้าพูดว่า "สนับสนุนให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" เต็มร้อย ไม่มีตะขิดตะขวางใจ ในระหว่างการอบรมพระธรรมทูต เมื่อปี พ.ศ.2540 นั้น ผู้เขียนยังเคยเป็นแกนนำในการขอลายเซ็นพระธรรมทูตและพระสงฆ์เถรานุเถระที่มาร่วมในพิธีปิดการอบรม จนกระทั่งได้รายชื่อหลายร้อย นำส่งที่เปรียญธรรมสมาคม วัดสามพระยา ซึ่งเวลานั้นได้ตั้งเป็นศูนย์รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้บัญญัติว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับ พ.ศ.2540) แม้ว่าครั้งนั้นจะไม่สำเร็จ ในครั้งถัดมา คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผู้เขียนแม้จะอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้รวมกับพระธรรมทูตหลายท่าน ผลักดันให้สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ลงมติ "สนับสนุนให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" แม้ว่าจะล้มเหลวอีกครั้งก็ตาม ไม่ว่าผู้เขียนจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ถ้ามีกิจกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ก็ไม่เคยรีรอที่จะเข้าไปสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่ถึงกระนั้น คือว่า แม้ว่าผู้เขียนจะเห็นด้วยที่จะให้มีการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ผู้เขียนก็ใคร่จะขอเสนอความเห็นเป็นเชิงตั้งคำถามต่อคนกันเอง ว่าเรามีวัตถุประสงค์สิ่งใดในการรณรงให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
มีเพื่อนๆ บอกว่า "ถ้าเราไม่เอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็จะถูกศาสนาอื่นบีบคั้น บั่นรอน ในทุกวิถีทาง เพราะว่าเราอ่อนแอ"
ผู้เขียนจึงถามว่า "ที่ว่าเราอ่อนแอนั้น เพราะเราไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติกระนั้นหรือ"
เพื่อนๆ ก็ตอบว่า "หามิได้ แต่เพราะเราอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรุกรานจากศาสนาอื่นซึ่งเข้มแข็ง จึงต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"
ผู้เขียนก็ถามต่อไปอีกว่า "แล้วศาสนาอื่นที่ว่านั้น เป็นศาสนาประจำชาติไทยเราหรือเปล่า"
เพื่อนก็ตอบว่า "เปล่า"
"อ้าว แล้วเหตุไฉน ในเมื่อเมืองไทยเรานี้ มีประชาชนกว่า 90 เปอร์เซ็นเป็นชาวพุทธ และคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็น แต่ทำไมเขาจึงเข้มแข็ง แถมยังรังแกเราได้ ทั้งๆ ที่ศาสนาอื่นนั้นก็มิใช่ศาสนาประจำชาติ" ผู้เขียนซักไซ้ เห็นเพื่อนนิ่งไป ผู้เขียนจึงอธิบายว่า
ความจริงแล้ว มิใช่ว่าจะมาขัดคอคนกันเองหรอก เพียงแต่อยากจะหาเหตุผลให้กระจ่าง ว่าที่พวกเรามารณรงค์กันนั้น เป็นจุดสำคัญจริงหรือไม่ หรือว่ามีจุดอื่นที่สำคัญกว่า จุดที่ว่านั้นเป็นจุดเร่งด่วนหรือเปล่า หรือยังมีจุดอื่นที่เร่งด่วนกว่า เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราได้รณรงค์มาถึง 2 ครั้งใหญ่ แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง นั่นแสดงว่าชาวพุทธไทยเรายังไม่เข้มแข็ง ยังไม่พร้อมเพรียง ดังนั้น ต่อให้รณรงค์อีกนับร้อยครั้งก็คงล้มเหลวร้อยครั้ง แถมรณรงค์แต่ละครั้งก็ยังมีชาวพุทธด้วยกันเองออกมาแสดงทัศนะว่าไม่เห็นด้วยเสียอีก แบบนี้แหละที่อยากจะให้ไปดูว่ามันขาดตกบกพร่องตรงไหน ไม่อยากให้คำว่า "เป็นพุทธฯแต่ในทะเบียนบ้าน" กลายเป็น "เป็นพุทธฯแต่ในรัฐธรรมนูญ"
เพราะผู้เขียนเข้าใจว่า การจะยกฐานะศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้เป็นศาสนาประจำรัฐประจำชาตินั้น ถ้าจะทำให้สำเร็จ ก็ต้องทำในตอนที่ศาสนานั้นกำลังเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนในชาตินั้นเป็นศาสนิกที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาของตน รวมทั้งมีความสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถ้ามีความพร้อมดังว่ามานี้ เรื่องยกฐานะพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติก็มิใช่เรื่องใหญ่ ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือด้วยซ้ำไป แต่เมืองไทยทุกวันนี้ เพราะพระพุทธศาสนาอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ดังนั้น แม้ว่าเราจะนับสำมะโนประชากรแล้วอ้างสถิติว่า ประชาชนไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นับถือพระพุทธศาสนา ดังนี้ก็ตาม แต่พอขอลายเซ็นสนับสนุนให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ปรากฏว่ามีคนร่วมลงชื่อกันไม่ถึง 3 ล้าน ส่วนอีก 70 ล้านนั้นหายไปไหน นี่ไงที่ต้องถามใจพวกเดียวกัน ว่าเราทำงานกันถูกทางหรือเปล่า
ผู้เขียนเคยพูดในที่ประชุมใหญ่ สมัชชาสงฆ์ไทย ที่วัดมงคลรัตนาราม เมืองแทมป้า รัฐฟลอริดา เมื่อ พ.ศ.2550 ว่า "การรณรงค์ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเช่นที่กำลังทำกันอยู่นี้ มันผิดยุทธวิธี เปรียบไปก็เหมือนการสร้างพระอุโบสถโดยการเอาช่อฟ้าขึ้นแขวนในอากาศไว้ก่อน แล้วจึงค่อยสร้างหลังคารองรับช่อฟ้า ก่อฝาผนังและเทเสารองรับหลังคา เทพื้นรับฝา แล้วขุดหลุมก่อรากเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน นอกจากคนปัญญาอ่อน"
แต่ถึงกระนั้น เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมลงมติให้สนับสนุนการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้เขียนก็ยกมือสนับสนุน จะขอเสียงซักสิบรอบก็ยินดียกมือให้ เพราะผู้เขียนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเราไม่ไปในทิศทางเดียวกัน (แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในบางจุด แต่ก็มิใช่ทุกจุด) มันก็จะเสียความสามัคคี ทำนอง "มือไม่พาย แต่เอาเท้าราน้ำ"
แต่ครั้งนี้ ที่กำลังมีการรณรงค์อยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนก็เว้นไว้ไม่กล่าวถึง เพราะดังที่บอกว่า อยากเห็นการปรับปรุงองค์กรทางพระพุทธศาสนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระดับ "ปฏิรูป" แต่ไม่ต้องถึงกับ "ปฏิวัติ" และสิ่งที่จะนำเสนอในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในจุดที่ผู้เขียนสนใจและอยากจะนำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
จุดที่ว่านี้ก็มาจากกฎหมาย 2 ฉบับที่นำเสนอข้างต้น คือจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 และ2.กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549
ถ้าท่านผู้อ่านอ่านบทบัญญัติในกฎหมายทั้งสองฉบับดูแล้ว ก็คงจะเห็นว่า "มีเนื้อหาสาระแตกต่างกัน" คือ
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ระบุเกี่ยวกับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า "ต้องเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมและสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง" แล้วก็จบแค่นั้น
ส่วนในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549 นั้น กลับมีข้อความเพิ่มเติมว่า
(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(2) รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
(3) เสนอแนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(4) ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถาน และศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา
(5) ดูแล รักษา และจัดการวัดร้าง และศาสนสมบัติกลาง
(6) พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
(7) ทำนุบำรุงพุทธศาสนศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
(8) ปฏิบัติการอันใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
เมื่อพิจารณาดู "อำนาจหน้าที่" ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามกฎกระทรวงนี้ ก็จะเห็นว่า "กว้างขวางกว่า" อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535
ที่ว่ากว้างขวางกว่านั้นก็เพราะมีมาตราและเนื้อหาที่เยอะกว่า หรือมีรายละเอียดมากกว่า จะว่ากฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 ก็คงว่าได้ แต่เมื่อมองดูอีกทีก็จะเห็นว่า "ไม่ใช่"เพราะถ้าเป็นกฎหมายลูก ก็ต้องไม่มีเนื้อหาที่ "กว้างกว่า" กฎหมายแม่ เพราะกฎหมายแม่ (พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535) ได้ให้คำจำกัดความไว้แต่เพียงว่า "ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม" เท่านั้น
แต่ดูในกฎกระทรวงฉบับนี้สิ ข้อแรกนั้น "ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง" แค่นี้ก็แทบครอบจักรวาลแล้ว เพราะคำว่า "ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์" นั้น กินความหมายครอบคลุมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ทุกฉบับ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 ซึ่งใช้เป็นแม่บทในการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน และกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอำนาจให้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายเหล่านั้นบัญญัติไว้เต็มๆ
ถ้าเทียบกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แล้ว ก็จะเห็นว่า "ให้อำนาจไว้แคบมาก" แค่เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมเท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไร แต่ในกฎกระทรวงฉบับนี้ได้ขยายวงอำนาจออกไปกว้างไกลเสียจนแบบว่า "แม้แต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ก็ถูกรวมไว้ในอำนาจกฎกระทรวงฉบับนี้ด้วย"
ต่อไปก็คือ ข้อที่ 2 ที่ระบุว่า "รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารการปกครองคณะสงฆ์" ตรงนี้ระบุไว้ตรงๆ ว่า "สนอง ประสาน และสนับสนุนการบริหารการปกครองของคณะสงฆ์" มองตรงๆ ก็คืออำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนของเลขาธิการมหาเถรสมาคม ก็ไม่มีอะไรมาก มันเหมือนกันอธิบายคำว่า "เลขาธิการมหาเถรสมาคม" เท่านั้น
ข้อที่ 3 ข้อนี้พิเศษมาก เพราะระบุว่า "เสนอแนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา" นี่เป็นอำนาจใหม่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่สามารถจะ "เสนอแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการคุ้มครองพระพุทธศาสนา" ให้แก่ "มหาเถรสมาคม" ได้
พิเศษตรงไหน ก็ตรงที่ว่า ฐานะเดิมของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น เป็นเพียง"เลขาธิการมหาเถรสมาคม" คือมีหน้าที่สนองงานอย่างเดียว แต่ตรงนี้กลับให้มีอำนาจ "เสนอนโยบายได้" ก็เลยกลายเป็นว่า "เลขาธิการ" มีอำนาจทั้งเสนอและสนองงาน เห็นไหมล่ะว่าตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" นั้นไม่ธรรมดาซะแล้ว จากลูกศิษย์กลายเป็นอาจารย์เลย
บทบาทตามกฎกระทรวงข้อนี้ กลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างมหาเถรสมาคมกับ นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คนที่ 3 (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 5 ธ.ค. 2547 ถึง 17 ต.ค. 2548) โดยในเวลานั้น นายแพทย์จักรธรรมได้ทำตัวเป็น "คนกลาง" สร้างความสมานฉันท์ ระหว่างพระป่ากับพระบ้าน โดยได้ไปถวายสักการะพระธรรมวิสุทธมงคล (หลวงตามหาบัว) ถึงวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี ขณะเดียวกันก็นำเสนอนโยบายให้แก่มหาเถรสมาคม นานวันเข้าก็เลยกลายเป็นทั้ง "ผู้เสนอ" และ "สนองงาน"สร้างความสับสน จนถูกมหาเถรสมาคม "บีบออก" ไปในที่สุด
ถามว่า นายแพทย์จักรธรรม ทำผิดตรงไหน ? คำตอบก็คือว่า ถ้าว่าตามตัวบทกฎหมายแล้วไม่มีผิดเลย เพราะกฎกระทรวงได้ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาไว้เช่นนั้น แต่ถ้าถามถึงเรื่องของมารยาทก็ดี บรรยากาศการทำงานร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับมหาเถรสมาคม ก็ต้องบอกว่า "มีปัญหาแล้ว" เพราะถ้าความเห็นไม่ตรงกัน มันก็ทำงานร่วมกันยาก ขนาดว่ามีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยกมือคัดค้านในที่ประชุมสงฆ์ อปโลกนกรรมที่ตั้งขึ้นนั้นก็ต้องเป็นหมันทันที นี่คือระบบที่พระสงฆ์ไทยใช้กันอยู่ มิใช่ระบบสภาผู้แทนที่เถียงแล้วโหวตเอาชนะกันด้วยคะแนน และสุดท้ายนายแพทย์จักรธรรมจำต้อง "เป็นฝ่ายไป" ดังที่ทราบ
ก็ลองจำลองภาพเหตุการณ์มาดูกันสิ เช่นว่า มีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้น แล้วผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอให้มหาเถรสมาคมทำแบบนี้ แต่มหาเถรสมาคมไม่เห็นด้วย โดยเห็นต่างไปจากที่ ผอ.สำนักพุทธฯเสนอ ซึ่งถ้าแค่เพียงเสนอแล้วมหาเถรสมาคมไม่เอา มันคงไม่เกิดปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า "ผอ.สำนักพุทธฯต้องสนองงานมหาเถรสมาคม" อีกตำแหน่งหนึ่ง ดังนั้น เรื่องที่ ผอ.สำนักพุทธฯไม่เห็นด้วย แต่กฎหมายบังคับให้จำต้องสนองงานมหาเถรสมาคม ในฐานะเลขามหาเถร ถามว่ามันพะอืดพะอมไหม สุดท้ายก็ต่างคนต่างไปดังกล่าว จะว่ากฎกระทรวงข้อนี้สร้างปัญหาเรื่อง "สัมพันธภาพ" ระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็คงว่าได้
ข้อที่ 4-5-6-7 นั้นจะไม่พูดถึง เพราะเห็นว่าเป็นเพียงอำนาจหน้าที่หรือโครงการธรรมดา ข้อที่น่าสนใจจึงเป็นข้อสุดท้าย ที่ระบุว่า "ปฏิบัติการอันใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย"
ที่ไฮไลต์เป็นตัวหนังสือสีแดงไว้นั่นแหละ ที่ขอบอกว่า "สำคัญที่สุด" ของกฎกระทรวงฉบับนี้ เพราะกฎกระทรวงข้อนี้ได้สร้างเจ้านายคนใหม่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมา นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี จากเดิมที่มีเจ้านายคือ "มหาเถรสมาคม" เพียงเจ้าเดียว
ไม่รู้สินะว่าใครเป็นคนเขียนกฎกระทรวงฉบับนี้ และมหาเถรสมาคมได้อ่านก่อนออกมาใช้หรือเปล่า ถ้าอ่านแล้วแต่ปล่อยผ่าน ก็แสดงว่าตาถั่วแล้ว มีอยู่หรือให้เขาเข้ามาแบ่งอำนาจของตนเองไปครึ่งหนึ่ง กฎกระทรวงที่บอกว่า"แบ่งส่วนราชการ" กลับกลายมาเป็น "แบ่งอำนาจมหาเถรสมาคม" ไปเสียฉิบ
จากกฎกระทรวงที่ว่านี้ ทำให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีเจ้านาย 2 คน ได้แก่ 1.มหาเถรสมาคม และ 2.นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี แต่น่าจะจำกัดไว้เพียง "นายกรัฐมนตรี" คนเดียว เพราะนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นประธานคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่ที่ท่านเขียนไว้เช่นนั้นเพราะเปิดกว้างการใช้อำนาจไว้ 2 ทาง คือ 1.คณะรัฐมนตรีสามารถออกมติแล้วสั่งการให้ ผอ.สำนักพุทธฯปฏิบัติตามได้ และ 2.นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจสั่งการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ โดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี นี่แหละคือเหตุผลที่เขียนไว้ทั้งสองคำ
ทีนี้ว่า ถ้าว่ารัฐบาลไทยอันมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้านั้น เข้ากันได้กับมหาเถรสมาคม ก็จะสั่งงานไปทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ทำงานสอดคล้องกับมหาเถรสมาคม แต่ถ้าว่านายกรัฐมนตรีมีสัมพันธภาพกับชาวพุทธกลุ่มอื่นที่ไม่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคม เช่นสันติอโศก หรือที่ขึ้นแต่เพียงนิตินัย เช่นธรรมกาย ถ้านายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสั่งการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ ได้สั่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปสนองงานนายกรัฐมนตรีในงานที่สันติอโศกหรือธรรมกายจัด ถามว่าผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะขัดคำสั่งได้ไหม ?
คำตอบก็คือว่า ไม่ได้ เพราะผิดทั้งนิตินัยและพฤตินัย
ที่ว่าผิดนิตินัยก็คือผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุว่า "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องสนองงานนายกรัฐมนตรีด้วย" มิใช่สนองเฉพาะมหาเถรอย่างเดียว ส่วนโดยพฤตินัยนั้น ก็เป็นเรื่องอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่สามารถจะใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี "ปรับเปลี่ยน" ตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกจากตำแหน่งได้
อำนาจในการ "ปรับเปลี่ยน" หรือ "ปลด" รวมทั้ง "แต่งตั้ง" ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นี่แหละ ที่เป็นจุดชี้ขาดว่า ระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักนายกรัฐมนตรี ใครมีอำนาจมากกว่ากัน บนข้าสองเจ้าบ่าวสองนายที่ชื่อ "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"
ความขัดแย้งระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักนายกรัฐมนตรีที่ว่านี้ อาจจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ มันอยู่ที่ความลงตัวระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมหาเถรสมาคม ถ้าได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นพุทธศาสนิกชนธรรมดา แบบว่าเข้าได้ทุกวัด ก็คงจะสนับสนุนมหาเถรสมาคม แต่ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นศิษย์ของสำนักอื่นๆ ที่ไม่ค่อยกินเส้นกับมหาเถรสมาคม (ซึ่งมีอยู่จริงๆ) อย่างนี้ก็น่ากลัว
เช่น กรณีพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งผลักดันจากกลุ่มสันติอโศกผ่านรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ และกรณีบัญชีเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ได้จัดทำบัญชีขึ้นมาโดยไม่ผ่านสายงานของมหาเถรสมาคม คือไม่ผ่านการคัดกรองจากเจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน แต่รัฐบาลได้ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปจัดทำบัญชี แล้วนำเสนอรัฐบาลเพื่อ "แก้ไขเพิ่มเติม"พอได้รายชื่อครบแล้วก็ให้สำนักพุทธฯ นำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อ "รับทราบ" ก็ในทำนองมัดมือชกนั่นแหละ แต่มหาเถรสมาคมไม่ยอมเป็นร่างทรงของรัฐบาล จึงลงมติ "วีโต้" บัญชีสมณศักดิ์พิเศษนั้น ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2550 นี่ยังไม่นับคำสั่ง "ปลดสมเด็จเกี่ยว-ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งมีข่าวว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชา และเลขาสมเด็จพระสังฆราชชงเรื่องผ่านรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 อันแสดงให้เห็นว่า สัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลกับมหาเถรสมาคมใช่ว่าจะลงรอยกันเสมอไป
อย่างกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีชื่อเป็น "ภาคี" จัดงานตักบาตรพระหนึ่งล้านรูปของธรรมกาย ในเดือนมีนาคมนี้ โดยไม่มีมหาเถรสมาคมไปร่วมด้วย ก็เป็นอิทธิฤทธิ์ของกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อที่ 8 อีกนั่นแหละ เพราะทางสำนักพุทธฯอ้างว่า "ต้องไปร่วมงาน เพราะต้องสนองงานสำนักนายกรัฐมนตรี ไว้เสร็จจากสนองงานนายกรัฐมนตรีก่อน จึงค่อยไปสนองงานมหาเถรสมาคม"
แบบนี้ก็เรียบร้อยโรงเรียนธัมมชโยสิครับ
เพราะธัมมชโยเข้าประกบรัฐบาล ยืมมือสำนักนายกรัฐมนตรีให้สั่งงานผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลยกลายเป็นว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องสนองงานทั้งมหาเถรสมาคมและธัมมชโย เพราะธัมมชโยคือผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานตักบาตรล้านรูปตัวจริงเสียงจริง ถ้าเปรียบเทียบฐานะของธัมมชโยวันนี้ก็คงจะสูงพอๆ กับตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ปานนั้นเลยทีเดียว เสียวไหมครับ
การเขียนกฎหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็น "ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย" ดังที่เห็นนี้แหละ ที่เป็นช่องทางเข้าบ่อนทำลายคณะสงฆ์ไทยอย่างแนบเนียน คือไม่ยอมออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่กลับหมกเม็ดเพิ่มเติมไว้ในกฎกระทรวง และนานวันเข้า กฎกระทรวงกลับมีอำนาจสูงกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เสียอีก
ตรงนี้สิฮะสำคัญ อันตรายกว่าการไม่ได้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญเสียอีก
ถามว่า นักกฎหมายของคณะสงฆ์ไทยหายไปไหนหมด ทำไมไม่มองถึงปัญหาที่กำลังเผาตำหนักสมเด็จวัดสระเกศให้ร้อนรุมอยู่ในปัจจุบันนี้
ถามว่า จะแก้ไขอย่างไร ?
คำตอบก็คือ ต้องขอแก้กฎกระทรวงเสียใหม่แล้วล่ะครับ ตัดเจ้านายที่สองของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกไป ให้เหลือแต่เจ้านายเดียว คือ "มหาเถรสมาคม"
หากว่าไม่ได้จริงๆ ก็ต้อง "ขอเพิ่มมาตราว่าด้วยที่มาของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" เข้าไปอีกข้อหนึ่ง
เพราะอย่าลืมว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบันนั้น ใครเป็นคนมีอำนาจเสนอแต่งตั้ง คำตอบก็คือ นายกรัฐมนตรี ทีนี้ว่าเมื่อ ผอ.สำนักพุทธฯ ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ถามว่าจะจงรักภักดีต่อใคร ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมหาเถรสมาคม แถมนายกรัฐมนตรียังมีอำนาจในการบริหารการปกครองบ้านเมือง มีอำนาจในการปรับย้าย หรือปลดออก หรือสนับสนุนงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งด้านงบประมาณและบุคคลากร
ดังนั้น เมื่อได้รับการแต่งตั้งและสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ถามว่า ผอ.สำนักพุทธฯ จะสนองงานใครมากกว่ากัน ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมหาเถรสมาคม เพราะมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ ผอ.สำนักพุทธฯเลย
แล้วทีนี้กลับไปดูในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์สิ ไม่มีมาตราว่าด้วย "ที่มา" ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเลย มีแต่มาตราที่บอกว่า "ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม" เท่านั้น
ดังนั้น เพื่อให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นตำแหน่งสนองงานคณะสงฆ์ล้วนๆ โดยไม่มีการเมืองเข้ามาแทรก ก็จำเป็นที่จะต้อง "แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ว่าด้วยที่มาของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" โดยบัญญัติว่า
"ให้มหาเถรสมาคม ตั้งกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขึ้นมาชุดหนึ่ง และนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อรับทราบ จากนั้นจึงแจ้งมติมหาเถรสมาคมไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความขึ้นบังคมทูลเพื่อโปรดฯแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"
ถ้าเพิ่มเติมดังนี้ได้ ก็จะได้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคมเต็มร้อย เพราะว่าผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีที่มาจากมหาเถรสมาคม
เรื่องป้องกันการเมืองแทรกการศาสนานี้ เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศไทย เพราะในปัจจุบันการเมืองพลิกผันเร็วมาก ทั้งนี้มิใช่ว่าผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะสงฆ์ไทย แต่เพื่อป้องกันความผันผวนในอนาคต จึงต้องป้องกันไว้ก่อน ความจริงแล้วก็ไม่ใช่การป้องกันหรอก แต่เป็นการอุดรูที่รั่วมาหลายปีแล้วมากกว่า เพราะปัญหาเรื่องบทบาทของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการกระกาศกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น เมื่อไม่มีกฎกระทรวงที่ว่านี้ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร
ยกตัวอย่างของการป้องกันการเมืองแทรกก็คือ พรบ.กลาโหม ซึ่งระบุให้มีสภากลาโหม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้ง-โยกย้ายนายทหาร แม้ว่าจะกำหนดให้ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ซึ่งเป็นนักการเมืองเป็นประธานก็ตาม แต่กรรมการส่วนใหญ่ล้วนมาจากสามเหล่าทัพทั้งสิ้น
ปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมิใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรอก แต่อยู่ที่การแก้ไข พรบ.กลาโหม เพราะทหารคือผู้ถือปืน จึงมีอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย สามารถปฏิวัติขับไล่รัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งได้ ทั้งนี้เพราะมี พรบ.กลาโหม เป็นเกราะกำบัง ทำให้การเมืองไม่สามารถแทรกได้ ถ้าล้วงลูกทหารได้เสียอย่างเดียว จะเอารัฐธรรมนูญอีกซักร้อยฉบับก็ง่ายเหมือนปลอกกล้วย ส่วนปัญหาพระพุทธศาสนาในปัจจุบันก็มิใช่อยู่ที่ว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด หากแต่อยู่ที่ว่า "เราไม่มี พรบ.คณะสงฆ์ ที่ให้อำนาจและคุ้มครองมหาเถรสมาคม อย่างเต็มที่ เหมือน พรบ.กลาโหม" นั่นต่างหาก
ดังนั้น ก่อนจะร้องแรกแหกกระเฌอสะบัดผ้าเหลืองยกป้ายไปประท้วงที่หน้ารัฐสภากันรอบใหม่ เพื่อเรียกร้องให้บรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ลองกลับมาพิจารณาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ว่าด้วยที่มาของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาตรานี้ กันเป็นปะไร
บางทีจะมีผลต่อคณะสงฆ์ไทย มากกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป
ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เรามาแก้ตรงนี้กันก่อน มิดีกว่าหรือ ?
(2)
แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง
และการดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อน ของพระสังฆาธิการระดับสูง
ฐานข้อมูล :
1. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535
2. กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
3. กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 28 พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
4. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2544 รับร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ....
เมื่อวาน เขียนเรื่อง "ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย" ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไป ก็ไม่รู้ว่าตื่นเช้าขึ้นมา นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเอามือคลำศีรษะของตัวเองแล้วนับดูหรือเปล่าว่า "กูมีกี่หัว" กันแน่ แต่ไม่ว่าจะมีกี่หัวก็ยังดีกว่า "ไม่มีเงาหัว" นะ คุณนพรัตน์นะ ดูอย่างพระธรรมกิตติวงศ์สิ สู้อุตส่าห์โชว์ตัวไม่รู้กี่ร้อยรอบ แต่มหาเถรสมาคมกลับมองไม่เห็น เลยเล่นบททศกัณฑ์ขวางโลก "ปิดถนนทั่วกรุงเทพฯ นั่งเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมนอกตำหนักสมเด็จฯวัดสระเกศ เอ้เต้" เห็นหรือไม่เห็นก็ให้มันรู้ไปสิ อิอิ
วันนี้ ผู้เขียนมีเรื่องที่จะเขียนอีก ก็ตามหัวข้อที่ยกคัตเอ๊าต์ไปนั่นแหละว่า "ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เรามาแก้ตรงนี้กันก่อน มิดีกว่าหรือ ภาค 2" เพราะเห็นว่ามีมากมายหลายจุดในวงการสงฆ์ที่จำเป็นต้องแก้ไข มิใช่แค่ "สมควรแก้ไข" เท่านั้น เพราะสถานการณ์การเมืองเรื่องศาสนาในเวลานี้พัฒนาไปไกลถึงระดับ "ยึดอำนาจมหาเถรสมาคม" กันไปแล้ว
เรื่องของเรื่องมันก็ไม่มีอะไร ก็คล้ายๆ กับการเมืองไทยนั่นแหละ ที่ว่า กลุ่มอำมาตย์เก่าครองอำนาจมายาวนาน มีแต่กินกับโกง ไม่เคยสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ไปถึงประชาชนระดับรากหญ้า ขณะที่ทักษิณนั้นคิดใหม่ทำใหม่ แม้ว่าจะกินบ้างโกงบ้าง แต่ประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์ ก็เลยเกิดการเปรียบเทียบว่า "ซื่อแต่เซ๋อ" กับ "ฉลาดแต่แกมโกง" สุดท้ายเขาก็เลือกเอาแบบหลัง เลือกตั้งอีกร้อยครั้งก็สู้ทักษิณไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงาน เชื่อไม่เชื่อก็ตามใจ
วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องจะนำเสนอ ดังต่อไปนี้
เริ่มจากร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2544 ที่เรียกชื่อกันว่า "ฉบับมหาคณิสสร" อันเป็นฉายาที่ได้จากการที่มีมาตราว่าด้วยคณะกรรมการที่เรียกว่ามหาคณิสร ประกอบด้วยพระราชาคณะจำนวน 21 รูป มีอำนาจหน้าที่"ครอบจักรวาล" คือว่า ยกสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคมให้เป็นกิตติมศักดิ์ ส่วนอำนาจของสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ก็ยกให้เป็นของมหาคณิสสร แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น กรรมการมหาคณิสสรทุกรูปทุกองค์ ต้องได้รับการคัดเลือกจากมหาเถรสมาคม และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช
พระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของมหาเถรสมาคมแล้วส่งไปถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 26 พ.ย. 2544 และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบ ตามที่นำเสนอข้างต้น
แต่เมื่อข่าวกระจายไปถึงวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี อันมี พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นพระมหาเถระผู้มากบารมีในคณะธรรมยุติกนิกายสายหลวงปู่มั่น ก็เกิดการวิจารณ์กันว่า "เป็นการริดรอนอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช" จากนั้นจึงกลายเป็นปฏิกิริยาต่อต้านไม่ยอมรับร่าง พรบ.คณะสงฆ์ฉบับนี้ แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางไปนมัสการหลวงตาบัวถึงสวนแสงธรรมก็ตาม ก็หาสำเร็จไม่ สุดท้ายรัฐบาลไทยก็ต้อง "ยอมถอย" คือดองเรื่องไว้ ไม่เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติใช้เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่
ในเนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติฉบับมหาคณิสสรนี้ ถ้าพิศดูให้ดีก็จะพบว่า "เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับก้าวหน้า" เพราะว่ามีการเรียกร้องกันมานานแล้ว โดยปรารภเหตุหลายประการ อาทิเช่น
1. มหาเถรสมาคม ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ และพระมหาเถระระดับสูง ซึ่งต้องทรงงาน หรือทำงานในตำแหน่งนี้ ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางเสียหาย จึงสมควรยกไว้ในฐานะปูชนียบุคคล ทำนองพระมหากษัตริย์และคณะองคมนตรี มีแต่พระคุณ ไม่มีพระเดช หรือจะเรียกว่า "ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" ก็ว่าได้
2. อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมนั้นครอบคลุมถึง 3 ด้าน ได้แก่ การบริหารการปกครองคณะสงฆ์ เป็นองค์กรนิติบัญญัติ สามารถออกคำสั่งหรือกฎมหาเถรสมาคม บังคับใช้แก่พระสงฆ์สามเณรได้ (มีผลเท่ากับกฎหมาย) และเป็นศาลฎีกา เมื่อมหาเถรสมาคมวินิจฉัยแล้วถือว่าเป็นอันยุติ จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ อำนาจทั้งสามนี้กระจุกอยู่เฉพาะในมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการเพียง 20 รูป เท่านั้น เห็นว่าเป็นงานหนักเกินไป ควรจะมีคณะกรรมการทำงานแทน
นี่แหละคือที่มาของมหาคณิสสร
คำถามเบื้องต้นก็คือว่า "มหาคณิสสร" เป็นใคร ?
ตอบง่ายๆ ก็คือว่า เป็นบุคคลากรทางศาสนาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเข้ามาทำงานช่วยสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม โดยกำหนดคุณสมบัติไว้ว่า ต้องเป็นพระราชาคณะและเป็นเจ้าอาวาสขึ้นไป
เพราะปัจจุบันคนที่ทำงานในมหาเถรสมาคมก็มีเพียงสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้งสิ้น 20 รูป/ตำแหน่งเท่านั้น
แต่ถามว่า สำหรับงานพระศาสนาที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารการปกครอง ด้านนิติบัญญัติ และตุลาการ ถามว่าจำนวนพระมหาเถระ 20 ทำไหวหรือ ?
ถ้าว่าทำไหว ก็คงไม่มีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กร ใช่ไหม ?
เราต้องดูกันตรงนี้ก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปติในรายละเอียด เพราะต้องดูว่า วัตถุประสงค์หลักของการตั้งมหาคณิสสรขึ้นมานั้นคืออะไร ?
ยิ่งกลุ่มคนที่มีอำนาจเช่นมหาเถรสมาคม ยอมสละอำนาจโดยไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเช่นนี้ ถามว่าหาได้ที่ไหนในโลก
ดังนั้น ที่มหาเถรสมาคม ภายใต้การนำของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศ ได้รับร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2544 ไปนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า มหาเถรสมาคมยุคนี้มีวิสัยทัศน์ มีความเสียสละอย่างสูงยิ่ง พยายามปรับปรุงองค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก แต่ว่า รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นั้น เล่นการเมืองมากไป ไม่เอามหาเถรสมาคมเป็นหลัก เห็นหลวงตามหาบัวซึ่งออกบิณฑบาตเอาเงินทองช่วยชาตินั้นสำคัญกว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเลยดูรัฐบาลดองไว้จนป่านนี้ วันที่ทักษิณสิ้นอำนาจไปแล้ว ผ่านไปตั้ง 11 ปี ยังไม่มีทีท่าว่าองค์กรสงฆ์จะได้รับการปรับปรุงสมความตั้งใจ เห็นไหมล่ะว่า ไอ้ที่ว่าคิดใหม่ทำใหม่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็แค่สโลแกนหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มเกิดคำถามจากทางฝ่ายพระป่านำโดยหลวงตามหาบัวนั้น ถ้าหากว่ามหาเถรสมาคมมีการบริหารการจัดการที่ดี เปิดให้มีเวทีสังฆพิจารณ์ ให้พระสงฆ์สามเณรทุกหมู่เหล่า มิใช่เฉพาะแต่กลุ่มหลวงตามหาบัวเท่านั้น ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็คิดว่าน่าจะลดอูณหภูมิความขัดแย้งลงไปได้บ้าง คือถึงจะไม่ได้ร่างเดิมเต็มร้อย โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรไปบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลยทั้งร่าง แต่มหาเถรสมาคมกลับนิ่งเฉย พอร่าง พรบ. ผ่านมหาเถรไปแล้ว ก็อยู่ที่รัฐบาลจะทำอย่างไร หมายถึงว่าไม่มีการติดตามผลงานที่ทำไป เลยตามเลย เหมือนยิงปืนส่งเดช ถูกก็ชั่ง ไม่ถูกก็ชั่ง ถามว่าเมื่อถูกตีตกไปรอบแรกแล้ว คิดว่ารอบต่อไปจะผ่านง่ายๆ อย่างนั้นหรือ เพราะคนเรามันรู้ทางกันแล้วน่ะ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) น่าจะได้รับการยกย่องไว้ในฐานะผู้นำในการเปิดศักราชการบริหารกิจการคณะสงฆ์ยุคใหม่ "ยุคมหาคณิสสร" ก็พลาดโอกาสตุ๊กตาทองไป เพราะไม่สามารถทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จดังที่เห็น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น่าเชื่อ
ต่อไปก็จะพูดถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 คือว่า ท่านจะตั้งชื่อเสียใหม่ว่า พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 แบบนี้ก็ไม่ทำ ทั้งนี้เพราะมิใช่การร่าง พรบ.คณะสงฆ์ ขึ้นมาใหม่ เป็นแต่เพียงปรับปรุงแก้ไขของเก่าที่มีอยู่แล้วเป็นบางหมวดบางมาตรา ก็เลยตั้งชื่อทับกันไปดังที่เห็น ถ้าแก้ไขซักสิบรอบ ก็รับรองว่าจะได้ชื่อยาวหลายบรรทัดแน่นอน
ในหมวดที่ 2 และหมวดที่ 3 ที่ยกขึ้นมาเสนอข้างต้นนั้น มีมาตราว่าด้วยมหาเถรสมาคมและการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งกระจายอำนาจไปเป็นการปกครองในส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ไล่ไปจนถึงเจ้าคณะตำบล แต่ที่ผู้เขียนสนใจก็คือ "วาระการดำรงตำแหน่ง"
ในมาตราที่ 14 ระบุว่า "กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้" นอกจากนั้นแล้ว กรรมการมหาเถรสมาคมจะพ้นตำแหน่งก็ต่อเมื่อ
(1) มรณภาพ
(2) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ (3) ลาออก (4) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก
นั่นเป็นเนื้อหาในหมวดที่ 2 ส่วนในหมวดที่ 3 นั้น เรื่องการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะใหญ่ไปจนถึงเจ้าคณะตำบลนั้นท่านบอกว่า "ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม"ดังนั้น เราจึงต้องตามไปดูกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ว่านั้นว่าเขียนไว้อย่างไรบ้าง
ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ระบุถึงการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการไว้ว่า
พระสังฆาธิการหมายถึงพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ดังต่อไปนี้
1. เจ้าคณะใหญ่
2. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค
3. เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด
4. เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ
5. เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล
6. เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ข้อ 6 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการต้องมีคุณสมบัติ
1. มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
2. มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
3. มีความประพฤติเรียบร้อยสมควรแก่ตำแหน่ง
4. เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
5. ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ
6. ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
7. ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใดเพราะความผิดมาก่อน
เจ้าคณะใหญ่มีคุณสมบัติดังนี้
1. มีพรรษาพ้น 30 และ
2. มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่ารองสมเด็จพระราชาคณะ
เจ้าคณะภาค-รองเจ้าคณะภาค มีคุณสมบัติดังนี้
1. มีพรรษาพ้น 20 และ
2. กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ
3. กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดในภาคนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ
4. เป็นพระราชาคณะซึ่งเป็นพระคณาจารย์เอก หรือเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 2-3-4-5 ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
ในการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 10 เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม
ในการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค ให้นำบทบัญญัติในข้อ 11 วรรคแรก มาใช้โดยอนุโลม (คือให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะใหญ่ในการพิจารณาเสนอมหาเถรสมาคม)
เจ้าคณะภาค-รองเจ้าคณะภาค อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
เจ้าคณะจังหวัดมีคุณสมบัติดังนี้
1. มีพรรษาพ้น 10 มีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
2. กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ
3. กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ
4. มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า 6 ประโยค
ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 2-3 หรือ 4 ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะกรณี เจ้าคณะภาคมีอำนาจในการพิจารณาเจ้าคณะจังหวัด เพื่อเสนอเจ้าคณะใหญ่ นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง
ส่วนเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส หรือตำแหน่งที่ต่ำกว่านั้น ผู้เขียนขอเว้นไว้ไม่กล่าวถึง
ยังมีกำหนดอายุของพระสังฆาธิการในส่วนที่ 7 ดังนี้
"พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และรองเจ้าคณะตำบล ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเรียบร้อยจนมีอายุ 80 ปี บริบูรณ์ ให้ยกย่องเชิดชูเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะในชั้นนั้นๆ เว้นแต่ทุพพลภาพ หรือพิการ ถ้ายังมีความเหมาะสม หรือยังหาผู้ดำรงตำแหน่งในชั้นนั้นๆ ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม กรรมการมหาเถรสมาคมจะพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี เฉพาะกรณี"
ในหมวดที่ 3 ส่วนที่ 8 ข้อ 36 ระบุการเหตุพ้นจากตำแหน่งพระสังฆาธิการเอาไว้ว่า
1. ถึงมรณภาพ (ตาย)
2. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ (ลาสิกขา)
3. ลาออก
4. ย้ายออกไปนอกเขตที่ตนเองมีสำนักอยู่ (เฉพาะตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดลงไปจนถึงรองเจ้าคณะตำบล)
5. ยกเป็นกิตติมศักดิ์ (อายุเกิน 80 ปี หรือชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้)
6. รับตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะหรือรองเจ้าคณะอื่น
7. ให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่
8. ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่
9. ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
ก็สรุปวาระและอายุของพระสังฆาธิการระดับต่างๆ ได้ดังนี้
1.เจ้าคณะใหญ่ ไม่มีเทอมในการดำรงตำแหน่ง และไม่จำกัดอายุ
2. เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด ฯลฯ รองเจ้าคณะตำบล ดำรงตำแหน่งเทอมละ 4 ปี และสามารถได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซ้ำเรื่อยๆ ไปจนอายุ 80 ปี ต่ออายุได้อีก 3 ปี ก็จะได้รับการยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์
3. เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส ดำรงตำแหน่งไปไม่จำกัดเทอม และไม่จำกัดอายุ คือสามารถดำรงตำแหน่งไปจนตาย ถ้าไม่ถูกปลด ไม่ลาสิกขา ไม่ลาออก
ตามเส้นทางเดินของพระสังฆาธิการระดับสูงในปัจจุบัน พอจะประมวลได้ว่า ถ้าพูดถึงตำแหน่งพระสังฆาธิการในต่างจังหวัดแล้ว ตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัด" ถือว่ามีอำนาจและบารมีมากที่สุด เพราะปกครองพระสงฆ์ทั้งจังหวัด ขณะที่เจ้าคณะภาคนั้น ปกครองได้แค่รองเจ้าคณะภาคกับเจ้าคณะจังหวัดในภาคของตน ขณะเดียวกัน รองเจ้าคณะภาคก็ต้องรอรับมอบหมายงานหรือบัญชาจากเจ้าคณะภาคอีก ก็เลยทำงานกันแค่ไม่เกิน 4-5 รูป ดังนั้นจึงว่าเจ้าคณะจังหวัดมีอำนาจและบารมีมากที่สุด และเชื่อไหมว่า ไม่มีเจ้าคณะจังหวัดรูปไหนในต่างจังหวัดอยากเป็นเจ้าคณะภาคหรือรองภาค ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งสูงกว่าเจ้าคณะจังหวัดเสียอีก มันก็เหมือนนายพลจเรกับผู้บัญชาการเหล่าทัพนั่นแหละ แม้ว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพจะมียศต่ำกว่าจเร แต่มีอำนาจบังคับบัญชากำลังพลมากกว่าจเร พระเจ้าคณะจังหวัดรูปไหนถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะภาค ก็ถือว่าโชคร้ายแล้ว เพราะนั่นคือจุดสิ้นสุดเส้นทางพระสังฆาธิการของตนเอง
ส่วนตำแหน่งพระสังฆาธิการระดับสูงในกรุงเทพมหานครนั้นยังมีเส้นทางที่หลากหลาย เพราะถนนเส้นใหญ่คือ"ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม" เป็นสิ่งที่หมายปองสูงกว่าตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด หรือแม้แต่ตำแหน่งเจ้าคณะภาค แม้ว่าจะมีอำนาจสูง-แต่แคบ เพราะบังคับบัญชาได้เฉพาะรองเจ้าคณะภาคกับเจ้าคณะจังหวัดในภาคของตนเท่านั้น กระนั้น ตำแหน่งเจ้าคณะภาคก็ยังเป็นฐานอำนาจชั้นดีที่จะได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ทั้งนี้เพราะตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมนั้นมีค่านิยมว่า "ต้องแต่งตั้งพระสังฆาธิการในกรุงเทพมหานครเท่านั้น" ที่มีค่านิยม (มิใช่กฎหมาย) ไว้เช่นนี้เพราะว่า "ถ้าพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งเป็ฯกรรมการมหาเถรสมาคมอยู่ในวัดต่างจังหวัด ก็จะไม่สะดวกในการประชุมมหาเถรสมาคม" แต่ความจริงแล้ว เรื่องนี้เป็นปัญหาในยุคที่การจราจรไม่สะดวก แต่สมัยปัจจุบันนั้นการจราจรทั้งทางบกทางอากาศสะดวกมาก และมหาเถรสมาคมก็ประชุมกันเดือนละแค่ 3 ครั้ง คือวันที่ 10-20-30 จึงไม่เห็นจะเป็นเหตุสำคัญที่ห้ามมิให้พระสังฆาธิการในต่างจังหวัดดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เว้นเสียแต่ว่าพระกรุงเทพฯจะหวงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมไว้แต่ในวงตัวเองเท่านั้น
เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแล้ว ก็เหมือนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทางคณะสงฆ์ สมัยก่อนเรียกว่า "สังฆมนตรี" แม้ว่าตำแหน่งในมหาเถรสมาคมก็มิได้มีอำนาจอะไร เพราะอำนาจถูกรวบไว้ที่สมเด็จพระสังฆราชหรือประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เพียงรูป/พระองค์เดียว เช่นนี้ก็ตาม ถึงกระนั้นตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมก็ยังสำคัญ เพราะงานคณะสงฆ์ทุกประเภท ตั้งแต่งานเกิดจนถึงงานตาย ต้องผ่านการพิจารณารับทราบเห็นชอบมอบหมายจากมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะโผสมณศักดิ์ประจำปี ที่สำคัญก็คือ ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมสามารถเป็นบันไดไต่ขึ้นสู่สมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระราชาคณะ" ได้
สำหรับสมณศักดิ์ที่ "สมเด็จพระราชาคณะ" นั้น ก็มีข้อกำหนดเช่นกันว่า "ต้องพิจารณาจากพระสังฆาธิการในกรุงเทพมหานครเท่านั้น" นั่นหมายถึงว่า อัตราพระสมเด็จราชาคณะจำนวน 8 รูปนั้น เป็นโควต้าที่มาจากพระภิกษุในกรุงเทพมหานครเพียง 422 วัด เท่านั้น ส่วนพระต่างจังหวัดนั้นมีสิทธิ์แตะแค่พัดรองสมเด็จฯเท่านั้น นั่นเห็นไหมว่า เส้นสายในกรุงเทพมหานครนั้นกว้างใหญ่ยิ่งกว่าไฮเวย์เสียอีก
นี่คือเนื้อหาในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 และกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24/2541 ส่วนว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับมหาคณิสสร พ.ศ.2544 ซึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดนั้น ก็ยังบกพร่องมากมายหลายจุด อาทิเช่น
1. เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของพระสังฆาธิการ (รวมทั้งกรรมการมหาคณิสสร) ว่าควรดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินคนละกี่ปีหรือกี่เทอม
เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของพระสังฆาธิการนี้ ไม่มีการระบุไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์หรือกฎมหาเถรสมาคม แม้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24/2541 และฉบับที่ 28/2546 ได้กำหนดการเกษียนอายุของพระสังฆาธิการไว้ว่า "พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และรองเจ้าคณะตำบล ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเรียบร้อยจนมีอายุ 80 ปี บริบูรณ์ ให้ยกย่องเชิดชูเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะในชั้นนั้นๆ เว้นแต่ทุพพลภาพ หรือพิการ ถ้ายังมีความเหมาะสม หรือยังหาผู้ดำรงตำแหน่งในชั้นนั้นๆ ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม กรรมการมหาเถรสมาคมจะพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี เฉพาะกรณี"
นี่ก็ลองเอาไปคิดกันดูว่า คนอายุเกิน 60 ปีแล้วนั้น ในทางราชการเขาถือว่าอยู่ในวัยเกษียนแล้ว แต่พระสงฆ์เรากลับเกษียนเอาตอนอายุ 80 ปี แถมยังให้ต่ออายุได้อีก 3 ปี ถามว่าคนแก่อายุ 80 ปีนั้น ทำงานไหวหรือ เพราะที่เห็นๆ ก็คือ กรรมการมหาเถรสมาคมพออายุพ้น 60 ปี ขึ้นไป ก็เริ่มป่วยเรื้อรัง ต้องมีหมอประจำตัว บางรูปบางองค์ก็เข้าประชุมมหาเถรสมาคมแทบไม่ได้ งานมหาเถรสมาคมถ้าไม่ตกอยู่ที่กองงานเลขาเจ้าคณะต่างๆ ก็ไปรวมอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหมด ดังนั้น การออกกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ออกมาก็แทบว่าไม่ได้สร้างสรรค์อะไรในคณะสงฆ์ไทย เพราะพระเถระอายุเกิน 80 ปีแม้ว่าจะทำงานได้ แต่สติปัญญาและกำลังวังชาก็ล้าโรยเกินไปเสียแล้ว อายุ 65 ก็คิดว่าน่าจะกลับไปเฝ้ากุฏิเลี้ยงแมวได้แล้ว
ดังนั้น คิดว่าน่าจะกำหนด "วาระการดำรงตำแหน่ง" ของพระสังฆาธิการเอาไว้ใน พรบ.คณะสงฆ์ โดยอาจจะให้ดำรงตำแหน่งได้เทอมละ 4 ปี และไม่เกิน 2 เทอม เพราะเวลา 8 ปีที่ดำรงตำแหน่งนั้นก็ถือว่ายาวนานมากแล้ว ใครทำงานถึง 8 ปียังมีไฟอยู่ก็ต้องถือว่าเป็นอัจฉริยะ แต่ส่วนใหญ่แล้วทำได้ 4-5 ปีก็หมดไอเดียแล้ว ยิ่งนานไปก็ยิ่งเรื้อรัง หรือถ้าหากว่าทำงานดีมีผลงาน ก็ยังสามารถเลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งอื่นๆ ได้ ผลพลอยได้จึงมิใช่การได้พระสังฆาธิการที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น หากยังเป็นวิธีการสับเปลี่ยนบุคคลากรให้สามารถเข้ามารับช่วงงานได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
2. เรื่องการดำรงตำแหน่งซ้อนกันหลายตำแหน่งของพระสังฆาธิการ เช่น เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าคณะภาค เป็นเจ้าอาวาส หรือเป็นแม่กองธรรม-แม่กองบาลี-อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ พร้อมๆ กัน
เรื่องนี้ก็เป็นปัญหา ลองอ่านข่าวดูก็จะพบว่า พอสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งมรณภาพลง ก็จะมีตำแหน่งว่างพร้อมกันตั้ง 4-5ตำแหน่ง ถามว่าทำงานอย่างไร พระมหาเถระรูปนั้นเก่งกาจปานเทพเชียวหรือ คำตอบก็คือ ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรหรอก แค่ทำงานตามสายงาน แต่ที่ไม่มีใครกล้าวิจารณ์ผู้มีอำนาจ เพราะสามารถให้โทษแก่ตนเองได้ เท่านั้นเอง ลองเปิดฟรีสไตร์แบบอเมริกันดูสิ เผลอๆ พระเลขานั่นแหละจะลุกขึ้นสอนสังฆราช
เช่น พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D.) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 2 อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เอาแค่ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็อานแล้ว ไหนจะต้องปกครองคณะสงฆ์ในภาค 2 อีก 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสระบุรี ไหนจะต้องเข้าประชุมมหาเถรสมาคมอันเป็นคณะรัฐมนตรีของคณะสงฆ์ แถมยังเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสพระอารามหลวงเสียอีก นี่ยังมินับว่าท่านเป็นนักเทศน์ฝีปากเอก ต้องรับกิจนิมนต์ออกบ่อย เรื่องไปประชุมสัมมนาวิชาการหรืองานอื่นใดที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมอีกทั่วโลก ใครได้เห็นตำแหน่งท้ายนามของท่านพระธรรมโกศาจารย์ก็คงอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพ แต่ถ้ามองให้ถ่องแท้ก็จะเห็นว่า เล่นหลายตำแหน่งแบบนี้ต่อให้ขงเบ้งกลับชาติมาเกิดก็ยากจะประสบความสำเร็จ แต่เพราะในวงการคณะสงฆ์เราไม่มีคณะกรรมการประเมินผลงาน ว่าถ้าเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเทียบเท่ารัฐมนตรีนั้น ควรมีผลงานระดับไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ในการพิจารณา ดังนั้นที่สรรเสริญเยินยอกันอยู่ทุกวันจนเอียนนั้น ก็เป็นระบบ"นายว่า ขี้ข้าพลอย" คือการประจบสอพลอของผู้ที่หวังผลประโยชน์ทั้งสิ้น
จริงอยู่ แม้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24/2541 จะระบุไว้ว่า "พระสังฆาธิการดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ หรือรองเจ้าคณะได้เพียงตำแหน่งเดียว" ดังนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนในสายงานการปกครองเท่านั้น เช่นเป็นทั้งเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสควบสองตำแหน่งในวัดเดียวกัน มันก็ดูไม่สวย หรือจะดำรงตำแหน่งข้ามวัดก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ที่ผู้เขียนกล่าวถึงก็คือ การดำรงตำแหน่งอย่างมากมายหลายองค์กร เช่น เป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรี และเป็นประธานบริษัทเอกชน พร้อมๆ กัน นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาว่าด้วยความทับซ้อนผลประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับแต่งตั้งก็ยังทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ
ทีนี้ว่า เมื่อพระสังฆาธิการระดับสูงดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนกัน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างทั่วถึง งานของเจ้าคณะพระสังฆาธิการจึงตกอยู่ที่ "เลขานุการ" แทน ปัจจุบัน "พระเลขานุการ" กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการสงฆ์ เพราะเป็นคนชงเรื่องทุกเรื่องให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการ จะนิมนต์เจ้าคณะพระสังฆาธิการจึงต้องนิมนต์พระเลขานุการด้วย เพราะถ้าไม่ผ่านเลขานุการแล้ว เรื่องก็ไม่ถึงพระมหาเถระ จนแทบจะเรียกได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคเลขาฯครองเมือง ทั้งนี้ก็เพราะมีช่องโหว่ คือการดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนของพระสังฆาธิการนั่นเอง
3. คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการมหาคณิสสร ว่าควรมีคุณสมบัติเช่นไร ทั้งนี้เพราะมหาคณิสสรนั้น จะใช้อำนาจทั้ง 3 ทาง ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าไม่มีการคัดสรรบุคลาการให้ตรงกับสายงานแล้ว ลำพังจำนวนคนแค่ 21 รูป เห็นว่าไม่พอแน่
ดังนั้น เพื่อให้ได้บุคคลากรตรงกับสายงาน จึงควรระบุคุณสมบัติของมหาคณิสรแต่ละสาขารวมทั้งอัตราเอาไว้ว่า ในแต่ละสายควรจะมีจำนวนเท่าไหร่ และคุณสมบัติมีอะไรบ้าง เช่นถ้าจะเป็นฝ่ายบริหาร ต้องผ่านการทำงานในระดับใดบ้าง หรือมีผลงานเฉพาะทางที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ ถ้าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติต้องจบกฎหมาย หรือมีความสามารถพิเศษเกี่ยวกับพระวินัยบัญญัติและกฎหมายคณะสงฆ์ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ และถ้าเป็นฝ่ายตุลากร จะต้องผ่านงานด้านใดมาบ้าง ระดับนี้อาจจะต้องกรองคุณสมบัติสูงซักหน่อย เพราะเป็นผู้พิพากษา สามารถตัดสินประหารชีวิตคนได้ ยิ่งเป็นศาลสงฆ์ด้วย มันก็ต้องกำหนดคุณสมบัติระดับเปาบุ้นจิ้นเลยทีเดียว
4. น่าจะตั้ง สังฆมนตรี สังฆสภา และสังฆวินยาธิการ เพื่อรองรับงาน 3 ด้าน คืองานบริหารงานปกครอง งานกฎหมาย และงานตุลาการ เหมือนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้อำนาจกระจุกอยู่แต่เฉพาะคนกลุ่มเดียว พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับ พ.ศ.2544 กลับตั้งแค่มหาคณิสสรมีสมาชิกเพียง 21 รูป ก็เท่ากับว่าเปลี่ยนผู้รวบอำนาจจากมหาเถรสมาคมมาเป็นมหาคณิสสรเท่านั้น ใครได้เป็นมหาคณิสสรก็ยิ่งกว่าอรหันต์อีกสิ
ปัญหาที่พบอยู่ในมหาเถรสมาคมก็คือว่า เมื่อกรรมการมหาเถรสมาคมดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาคด้วย และตามกฎนิคคหกรรมนั้นระบุให้เจ้าคณะภาคเป็น "ประธานนิคคหกรรม" กรณีที่มีพระภิกษุในการปกครองของตนเองต้องอธิกรณ์ ก็เลยเป็นว่า กรรมการมหาเถรสมาคมเป็นทั้งรัฐมนตรี ทั้ง ส.ส. และเป็นผู้พิพากษา แต่มีปัญหาตามมาว่า บ่อยครั้งที่พระผู้ต้องอธิกรณ์นั้น มีสายสัมพันธ์กับกรรมการในมหาเถรสมาคม ก็เลยทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นที่โปร่งใส ดังนั้น การตั้งสังฆมนตรี สังฆสภา และสังฆวินยาธิการ ขึ้นมา เพื่อเป็นคณะทำงานสามเส้า เอาไว้คานอำนาจกัน น่าจะเป็นผลดีต่อพระศาสนามากกว่า
5. ไม่มีผู้ตรวจการคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้บางทีเรียกว่า "จเร" เป็นตำแหน่งเก็บเข้ากรุ ของข้าราชการที่มีปัญหาหรือว่าไม่กินเส้นกับเจ้านาย แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ ตำแหน่งผู้ตรวจการนั้นโบราณถือว่าเป็นหูเป็นตาแทนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทีเดียว ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงโปรดให้ส่งผู้ตรวจการศาสนาออกไปประเมินผลงานทั่วชมพูทวีป ตำแหน่งนี้จึงยิ่งใหญ่และให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการได้สูงสุด เพราะจะเป็นผู้เพ็ดทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบ อีกทางหนึ่งก็ยังสามารถรับเรื่องราวร้องเรียนได้ ตำแหน่งผู้ตรวจการสงฆ์นี้ไม่จำเป็นต้องมีหลายรูป อาจจะแค่ 8-9 รูป ก็เห็นว่าเพียงพอ
คำถามสำคัญก็คือว่า ถ้าหากว่าเราไม่ได้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับมหาคณิสสรแล้ว เราไม่สามารถจะทำอะไรได้เลยหรือ ?
คำตอบก็คือว่า มีอีกตั้งหลายช่องทางที่ทำได้ เช่น
1. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 โดยเพิ่มมาตราที่ไม่เกิดข้อพิพาทเข้าไปก่อน ส่วนมาตราที่ยังเถียงกันไม่เสร็จนั้นก็ค่อยว่ากันทีหลัง
2. ออกเป็นกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจเสมอกฎหมายคณะสงฆ์
ช่องทางเหล่านี้มหาเถรสมาคมสามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่เลย ถ้ามีความคิดและมุ่งมั่นในการปฏิรูปองค์กรสงฆ์จริง ก็มิใช่เรื่องยากที่จะทำ เพราะมหาเถรสมาคมมีอำนาจเต็มอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าตั้งใจทำหรือไม่เท่านั้น เพราะท่านบอกว่า "ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น"
ถามเป็นคำสุดท้ายว่า ถ้าตั้งพระหนุ่มๆ (ไม่ใช่เด็กๆ) เข้าทำงานแทนพระเถระหมด แล้วพระเถระจะเอาไปไว้ไหน
คำตอบก็คือว่า แหมก็ให้ท่านหันไปเอาดีทางสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานบ้างเป็นปะไร ประเทศไทยจะได้มีพระอริยบุคคลมากขึ้น ถึงไม่บรรลุธรรม ได้แค่ชื่อว่าพระสุปฏิปันโนก็ชื่นใจแล้ว ดีกว่าถูกเด็กเมื่อวานซืนมันถอนงอกเล่นอย่างที่เห็น บางทีก็เห็นใจ แต่บางทีก็เศร้าใจ เพราะถ้าท่านไม่หลงอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ ท่านก็จะเป็นผู้พ้นโลก
เมื่อนั้นรับรองว่าไม่มีวันที่ใครจะแตะท่านได้
กลัวก็แต่จะดันทุรังว่า
"กูไม่ไป๊ กูไม่ไป กูอยากเป็นสมเด็จฯ" นะสิ
อิอิอิ
| |||||||
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา1 เมษายน 2555 09:00 A.M. Pacific Time. |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ