พระเจ้าอยู่หัวกับพระอริยเจ้า


ในหลวงกับพระอริยเจ้า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ผู้ทรงปฏิบัติหน้าที่พระราชอุปัธยาจารย์ ในการทรงพระผนวช
ณ ตำหนักบัญจบเบญจมา วัดบวรนิเวศวิหาร
3  พฤศจิกายน  2499
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจแก่พระศาสนา คณะสงฆ์ และประชาชนเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงผนวช (22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2499) ทั้ง ๆ ที่มีพระอาการประชวรอย่างหนัก แต่ด้วยพระบารมีโดยแท้ เมื่อใกล้เวลาพระฤกษ์ทรงผนวช สมเด็จพระสังฆราชเจ้าซึ่งผ่านพระอาการประชวรไข้ปรอทสูงถึง 104 องศา กลับเสด็จประทับเป็นพระราชอุปัธยาจารย์จนเสร็จพระราชพิธี จากนั้น เมื่อคณะแพทย์ทูลขอให้เสด็จกลับวัดบวรนิเวศวิหารทันที กลับมิทรงยินยอม ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินประทับร่วมรถยนต์พระที่นั่งตามโบราณราชประเพณี กว่ารถยนต์พระที่นั่งจะคืบคลานฝ่าฝูงชนที่เฝ้าชมพระบารมีสองฟากทางและล้นหลามเข้าสู่ท้องถนน เป็นเวลานานแสนนานจึงเสด็จถึงวัดบวรนิเวศวิหาร

ระหว่างที่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้เอาพระทัยใส่ในอันที่จะถวายความรู้ทางพุทธศาสนา และถวายโอกาสให้ได้ทรงปฏิบัติสมณกิจให้ได้ผลเต็มตามภิกขุภาวะเป็นนานัปการ

ต่อมา เมื่อพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงประชวรและเสด็จรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกครั้ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกลางดึก แล้วประทับจนเวลาล่วงถึงวันใหม่ วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 เวลา 01:08 น. สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ สิ้นพระชนม์ต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ
แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวฑฺฒนมหาเถร)
ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร  21 เมษายน 2532
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถา ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปี พ.ศ. 2517 และได้ถวายสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถระ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวรแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เดิมมีพระองค์เดียวคือสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน ในสมัยรัชกาลที่ 2  เมื่อสิ้นพระองค์นั้นแล้ว บุรพมหากษัตริย์ไม่โปรดสถาปนาพระราชาคณะรูปใดขึ้นครองสมณศักดิ์ดังกล่าว จวบจนวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ กาลต่อมา ได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชดุจเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงสรงน้ำ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร)
อดีตเจ้าอาวาส วัดราชผาติการาม
ณ โรงพยาบาลศิริราช  15  เมษายน  2528
ในปี พ.ศ. 2520 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา  เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน  เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย ทรงพระราชดำริว่า พระมหาชนกชาดก มีคติที่แจ่มแจ้ง และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ชนทุกหมู่  จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเนื่อเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นและเหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม  อ.เมือง  จ.สุรินทร์
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2522  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดาสองพระองค์ พระสุณิสา และพระเจ้าหลานเธอ รวม 7 พระองค์ ได้เสด็จมานมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่วัดบูรพาราม ในเวลา 18:40 - 19:30 น.

หลังจากตรัสถามถึงสุขภาพพลานามัยของหลวงปู่แล้ว ทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนา และทรงอัดเทปไว้ด้วย  เมื่อหลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาย่อ ๆ ถวายจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสถามหลวงปู่ว่า "หลวงปู่ การที่จะละกิเลสให้ได้นั้น ควรจะละกิเลสอะไรก่อน"

หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า "กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน"

ครั้นทรงมีพระราชปุจฉาในธรรมข้ออื่น ๆ พอสมควรแก่เวลาแล้ว ทรงถวายจตุปัจจัยแก่หลวงปู่ เมื่อจะเสด็จกลับ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

"ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่ให้นานต่อไปอีกเกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่จะรับได้ไหม"

ทั้ง ๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า

"อาตมภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง จะอยู่ได้นานอีกเท่าไรไม่ทราบ"

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าสัมมานุสรณ์  อ.วังสะพุง  จ.เลย
จากบันทึกของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ สร้างกุฏิไว้ในเขตบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงนิมนต์ขอให้หลวงปู่ชอบ ฐานสโมไปพัก ณ กุฏินั้นบ้าง เมื่อเวลาที่ท่านเข้ามาในกรุงเทพฯ

เมื่อนำความมากราบเรียนหลวงปู่ ท่านตอบว่า ท่านเคยแต่อยู่ในป่า เข้าไปในเขตพระราชฐานจะลำบาก เพราะพวกศิษย์ติดตามก็เป็นแต่คนบ้านนอก ไม่รู้ธรรมเนียมอะไร

หลวงปู่บอกว่า อยู่ข้างนอก ก็แผ่เมตตาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และยังแผ่เมตตาถวาย "ทุกองค์" ในนั้นด้วย

หลวงปู่พูดด้วยใบหน้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาและน้ำเสียงที่ชัดเจนว่า "ในนั้น (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) มีเทวดามากน้อ  มาก..แน่นไปหมด"

หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล  อ.เมือง  จ.หนองบัวลำภู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล นับครั้งไม่ถ้วน  เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระทัยผูกพันต่อหลวงปู่ และหลวงปู่ก็มีจิตผูกพันต่อล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ และแผ่เมตตาถวายทุกเวลาและทุกโอกาส

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระอุตสาหะประกอบพิธี "ยืดอายุ" ของหลวงปู่ โดยทรงถือขัน (อย่างขันน้ำ) บรรจุดอกไม้ห้าสี เข้าไปประเคน

พอหลวงปู่รับแล้ว ก็ทรงไม่ให้หลวงปู่ "ทิ้งขันธ์" (เล่นคำ "ขัน" กับ "ขันธ์") ขอให้หลวงปู่อยู่ไปอีกนาน ๆ

หลวงปู่หัวเราะ แต่ไม่ได้รับสนองพระราชดำรัส  หลวงปู่ปรารภต่อมาว่า "มันหนักกระดูก ขันธ์มันเป็นทุกข์หนัก แบกขันธ์มันหนักกว่าแบกครก"

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง  อ.พร้าว  จ.เชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋งเพื่อนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณหลายครั้ง และได้จัดสร้างสิ่งมงคลโดยใช้รูปของหลวงปู่นำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญ

สมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและประทับรักษาพระองค์ที่เชียงใหม่ หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

"พระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย"

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก)  อ.ศรีวิไล  จ.หนองคาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมนมัสการท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ณ ภูทอก และทรงมีพระราชดำรัสทางธรรมะ

ทรงมีพระราชปรารภจะให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยราษฎรในการเกษตร ท่านพระอาจารย์จวนก็อนุโมทนาในพระราชดำรินั้น และตั้งต้นคิดจัดทำฝายน้ำตามบริเวณหมู่บ้านหลายแห่ง โดยเฉพาะระหว่างภูทอกน้อยและภูทอกใหญ่ ให้รถแทรกเตอร์มาปรับพูนดิน สร้างอ่างเก็บน้ำ เงินกฐิน ผ้าป่า และแม้แต่เงินพระราชทานที่โปรดเกล้าฯ ถวายในวาระต่าง ๆ ที่ท่านได้รับนิมนต์ไปในงานพิธีในพระราชวังก็เช่นเดียวกัน ท่านสั่งจ่ายเป็นค่าแทรกเตอร์หมด

ท่านพระอาจารย์จวนบอกว่า "เงินของท่าน ก็ทำบุญให้ท่าน ความจริงแผ่นดินนี้เป็นของท่าน ราษฎรก็เป็นของท่าน ก็เอาเงินของท่าน ทำให้แผ่นดินของท่าน ทำให้ราษฎรของท่าน"

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง  จ.เลย
จากบันทึกของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เมื่อครั้งไปวิเวกที่สำนักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หลวงปู่หลุยจึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้า หลวงปู่บันทึกไว้ว่า

"..อยู่หัวหิน อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มักจะเกิดธรรมแปลก ๆ เป็นอัศจรรย์ เป็นเพราะทั้งสองพระองค์ทรงมีพรหมวิหารอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ทรงทิ้งธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารมาจากสวรรค์มาเกิด มาบริหารชาติ มาทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ ประเทศไทยไม่สิ้นจากคนดี นี้เป็นอัศจรรย์ประการหนึ่งของประเทศไทย.."

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร  อ.พรรณานิคม  จ.สกลนคร
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้รับความเคารพศรัทธาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปวัดป่าอุดมสมพรหลายครั้ง  เมื่อหลวงปู่ฝั้นเข้ากรุงเทพฯ ก็ทรงโปรดให้อาราธนาเข้าไปแสดงธรรมในพระราชฐาน  บางคราวรับสั่งสนทนาจนดึกมาก เวลาหลวงปู่จะลุกขึ้นก็ลุกไม่ได้ เพราะนั่งอยู่ในอิริยาบทเดิมนานเกินควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ เสด็จเข้าทรงช่วยพยุงหลวงปู่ด้วยพระองค์เอง

จังหวัดสกลนครในยุคสมัยของหลวงปู่ฝั้นได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของผู้ก่อการร้าย เป็นเขตอันตราย แต่หลวงปู่ก็ยืนหยัดอยู่ได้ พยายามอบรมสั่งสอนให้ผู้ที่หลงผิด กลับเนื้อกลับตัวมาเป็นพลเมืองดีและนำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง  หลวงปู่ได้พยายามย้ำถึงความสำคัญและบุญคุณของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเน้นเสมอว่า ผู้ที่ขาดกตัญญู คิดร้ายต่อผู้มีพระคุณนั้น จะพินาศและถูกธรณีสูบ  การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปยังวัดป่าอุดมสมพร ถือว่าเป็นจุดพลิกผันของบ้านเมือง ทำให้ปัญหาผู้ก่อการร้ายสงบไป บ้านเมืองมีความสงบสุขขึ้น

นอกจากจะได้รับใช้บ้านเมืองโดยการถวายธรรมะแด่องค์พระประมุขของชาติ  หลวงปู่ฝั้นยังได้ทำประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งในตอนท้ายแห่งชีวิตของท่านคือ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515  หลวงปู่ขึ้นไปพักบนถ้ำขาม ในเช้าวันที่ 28 หลังจากจังหันแล้ว ท่านได้ประกาศแก่พระและเณรที่ฉันอยู่บนศาลาว่า "ฉันแล้วให้รีบเข้าที่ ตั้งใจภาวนาให้เต็มที่ วันนี้ทางกรุงเทพฯ มีเหตุการณ์"

ด้วยหลวงปู่เองก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ทราบกันทีหลังว่าท่านแผ่เมตตาส่งเข้าไปทางกรุงเทพฯ

พอเวลาประมาณสี่ทุ่มคืนนั้น ก็มีคนเดินทางไปจากจังหวัดอุดรธานี ขอเข้าพบหลวงปู่ และเล่าว่า มีสมาชิกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ กลุ่มกันยายนทมิฬ (Black September) ได้เข้ายึดสถานเอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยไว้ เกรงกันว่าจะเกิดนองเลือด เป็นการเสียฤกษ์พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ทางข้างในขอให้หลวงปู่ช่วยแก้ไขด้วย

หลวงปู่บอกกับท่านผู้นั้นว่า ท่านทราบมาตั้งแต่เช้าแล้ว จึงได้สั่งให้พระเณรช่วยกันภาวนา ส่วนตัวท่านเองก็ได้แผ่เมตตาไปให้แก่พวกก่อการร้ายอยู่ตลอดเวลา  ท่านลงท้ายว่า ไม่มีอะไรน่าตกใจหรอก พรุ่งนี้เช้าเขาก็ขึ้นเครื่องบินหนีไปเอง

เหตุการณ์ได้เป็นไปตรงตามนั้น พวก "กันยายนทมิฬ" ยอมถอนกำลังไปโดยสงบเพราะเหตุใดไม่มีใครทราบ (นอกเหนือไปจากการเจรจา) แต่อย่างน้อยคำพูดของหลวงปู่ย่อมทำให้เกิดความสงบขึ้นในใจของผู้ที่ได้ฟัง และความสงบแห่งจิตใจย่อมเป็นสิ่งที่มีค่าเสมอในยามที่มีวิกฤติการณ์

พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ)
วัดดอนยายหอม  อ.เมือง  จ.นครปฐม
จากหนังสือเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ของ "เทพ สุนทรศารทูล" เล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 2507  หลวงพ่อเงิน ได้รับนิมนต์เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จออกจากวัง มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขับรถตามมา พอทันก็ถามว่า

"หลวงพ่อเงินใช่ไหม ?"
"ใช่"
"หยุดก่อน"
"อาตมาทำผิดอะไร"
"ไม่ผิดอะไรหรอก แต่ในหลวงมีรับสั่งให้หลวงพ่อเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์"
"ไม่ดีหรอก อาตมากะเร่อกะร่า เข้าไปจะแลดูรุ่มร่าม ตะกี้พระองค์ท่านก็พบอาตมา ไม่เห็นว่าจะนิมนต์"
"ทรงระลึกได้ว่าใช่หลวงพ่อเงินหรือเปล่า พอแน่พระทัยก็รับสั่งให้กระผมมานิมนต์"
"กราบทูลท่านได้ไหมว่า จะขอเฝ้าภายหลังในโอกาสหน้า"
"ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณเถิด รับสั่งให้กระผมมานิมนต์หลวงพ่อ ถ้าพบหลวงพ่อแล้วนิมนต์เข้าไปเฝ้าไม่ได้ กระผมจะกราบทูลยังไง กระผมจะเสียผู้เสียคนคราวนี้เอง หลวงพ่อนึกว่าเมตตากระผมเถิด"

หลวงพ่อสงสารนายตำรวจท่านนั้น จึงยอมกลับไปเข้าเฝ้าในหลวง เมื่อทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อแล้ว ก็ทรงดีพระทัยมาก เสด็จเข้ามาประทับใกล้ ๆ กราบนมัสการหลวงพ่อ แล้วก็ทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองมากุมมือหลวงพ่อไว้ ตรัสว่า

"ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว อยากพบหลวงพ่อ อยากรู้จักตัวหลวงพ่อมานานแล้ว"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกราบหลวงพ่อ ทรงเรียก "หลวงพ่อ" เหมือนประชาชนทั้งหลาย  นี่คือพระราชจริยาวัตรของพระบรมโพธิสัตว์ต่อพระโพธิสัตว์ผู้อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ