เรื่องอันตรายต่อพระพุทธศาสนา !


พระธรรมกิตติวงศ์
เนติบริกรในคราบผ้าเหลือง

กดที่ภาพเพื่อฟังคำอธิบายธุดงค์ธรรมชัย
โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต)
เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม และประธานที่ปรึกษาวัดพระธรรมกาย

 

วันนี้ เรามาสร้างประวัติศาสตร์ ของกรุงเทพมหานคร ของพระพุทธศาสนา และของประเทศไทยกัน นั่นก็คือ มาร่วมมีส่วนในการทำสิ่งที่อัศจรรย์ ทำได้ยาก ไม่เคยมี ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนับแต่สร้างกรุงมา นั่นก็คือ มีพระสงฆ์จำนวน 1,500 กว่ารูป เดินธุดงค์เข้ามากลางกรุง มาพักกลางกรุง ในถิ่นที่เจริญรุ่งเรือง ในถิ่นที่มีจราจรแออัดคับคั่ง
บางท่านอาจจะเกิดความขัดแย้ง ความคิดขัดแย้งในใจว่า ทำไมมีแต่ข่าวว่าธุดงค์มักจะไปในป่า แต่นี่ทำไมธุดงค์เข้าเมือง ความจริงแล้วเรื่องธุดงค์ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เป็นข้ออนุญาต ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ พระสงฆ์ที่มีจิตศรัทธาย่อมสามารถทำได้
และการถือปฏิบัติธุดงค์นั้นก็ทรงบัญญัติไว้ถึง 13 ข้อ มีเพียงข้อเดียวที่ กำหนดว่าต้องอยู่ป่า อีก 12 ข้อนั้นอยู่ที่ไหนก็ได้ ไปที่ไหนก็ได้ อยู่กับที่ก็ได้ เดินก็ได้ เข้าเมืองก็ได้
ถ้าสมมติว่ากลางกรุงนี้เป็นป่า อย่างที่มีคนชอบพูดกันว่าเป็นป่าคอนกรีต ก็แสดงว่าท่านก็เดินธุดงค์ในป่าเหมือนกัน ก็ป่าคอนกรีต
ตึกบ้านช่องก็ถือว่าเป็นต้นไม้ใหญ่
บริเวณนี้เป็นสนามกีฬา ก็เท่ากับว่าเป็นลานโล่ง อยู่ในลักษณะของธุดงค์อีกข้อหนึ่ง ก็คือไม่อยู่ในร่มเงาของชายคาของต้นไม้
อันนี้ก็ถูกต้องตามพระบัญญัติ ไม่ได้ผิดอะไร
ที่จะแปลกหน่อยก็คือจำนวนเท่านั้น ปกติเราเห็นพระธุดงค์ตามท้องถนนแบกกลดก็ไม่รู้สึกอะไร
แต่นี้พันกว่าองค์ ก็เลยรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องแปลก ไม่เคยเห็น คนที่มีบุญย่อมเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ส่วนผู้ที่ไม่มีบุญ แม้ไม่เคยเห็นก็คงไม่เคยเห็นตลอดชาติ ตลอดไป
อันนี้ก็เป็นปกติธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ทุกท่านทั้งหลายได้ชื่นใจ สิ่งที่ไม่เคยพบ เราก็ได้เห็นได้พบ และก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียหายร้ายแรง เป็นเรื่องดี เรื่องงาม นำความชื่นใจมาให้
พระธรรมกิตติวงศ์ ราชบัณฑิต
สนามเทพหัสดิน กรุงเทพมหานคร
6 เมษายน 2555


(1)


วันนี้ขอทะเลาะกับนักปราชญ์ซักวัน !

ปราชญ์ที่ว่านี้มิใช่ปราชญ์ธรรมดา หากแต่เป็นถึง "ปราชญ์หลวง" มีนามพระราชทานว่า พระธรรมกิตติวงศ์ ราชบัณฑิต สาขาตันติภาษา
นอกจากจะได้รับแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตเมื่อ พ.ศ.2539 แล้ว ท่านยังมีสมณศักดิ์สูงส่งเป็นถึงพระราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมกิตติวงศ์" และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะสงฆ์ไทย ดังต่อไปนี้
เคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงของคณะสงฆ์ไทยวัดสามพระยา สอนประโยค ป.ธ.8 และ ป.ธ.9 ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาภาษาบาลีชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย
เคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 16 ก่อนถูกปลด
เคยดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ก่อนถูกปลด
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 3
มีชื่อเดิมว่า พระมหาทองดี สุรเตโช เรียนจบ ป.ธ.9 ในสำนักเรียนวัดปากน้ำ ปี พ.ศ.2515
นอกจากนี้แล้ว ท่านยังเคยเป็นรองประธานกรรมการตรวจสอบต้นฉบับพระไตรปิฎกและรองประธานตรวจสำนวนแปลพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อีกด้วย
พระธรรมกิตติวงศ์ ซึ่งพระเถระบางรูปก็เรียกว่า "ท่านเจ้าคุณทองดี" มีเกียรติยศดังว่ามานี้
ได้ยินคนพูดเรื่องราวของท่านตั้งแต่เริ่มวีรกรรม "จัดทำบัญชีพระราชาคณะเป็นกรณีพิเศษ" ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 ผ่านมาจนถึง "กรณีธรรมกายในปี พ.ศ.2542 ก่อนจะโดนปลดจากทุกตำแหน่งในทางปกครองสงฆ์ ยกเว้นตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม บ้างก็ว่าที่ท่านเจ้าคุณทองดีไปสนับสนุนธรรมกายอย่างออกหน้านั้น เพราะว่าสนิทสนมกับพระธัมมชโย ตั้งแต่อยู่ด้วยกันที่วัดปากน้ำ (ก่อน พ.ศ.2513 ซึ่งเป็นปีที่ธัมมชโยออกไปตั้งวัดพระธรรมกายที่ปทุมธานี)
ความจริงเรื่องจะรักใครชอบใครนั้น ใครก็ไม่ว่าหรอก เพราะคนเราย่อมจะต้องมีคนรักคนชอบอยู่ด้วยกันทั่วทุกตัวตน แต่นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครเอาเรื่องส่วนตัวไปเป็นเรื่องส่วนรวม คือจะแยกกันให้ออก นอกจากคนที่ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องส่วนรวม หรือเจตนาจะให้มันมั่วเข้าเท่านั้น
เพราะระหว่าง คนที่ทำผิดโดยไม่รู้กับรู้แต่ฝืนทำนั้น ประการหลังท่านว่าหนักกว่าอย่างเทียบไม่ได้
แรกนั้น ผู้คนเขาเข้าใจว่า "พระธรรมกิตติวงศ์สนับสนุนธรรมกายเพราะเรื่องส่วนตัว" คือมีความสนิทสนมกับพระไชยบูลย์ ธมฺมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงความเชื่อ แต่แล้วความเชื่อดังกล่าวต้องอันตรธานไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้ยินพระธรรมกิตติวงศ์พูดที่สนามเทพหัสดิน ในตอนหัวค่ำ วันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา
ถ้อยคำข้างต้นนั่นแหละ ที่ยันยันว่า "พระธรรมกิตติวงศ์มีความคิดวิปริตไปจากพระสงฆ์ในคณะสงฆ์ไทย"ซึ่งก็คงจะตรงกับอุปนิสัยของธัมมชโย เลยเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย และถ้าหากกลับไปดูให้ดี เผลอๆ กรณีประวัติศาสตร์ของธรรมกายที่สอนว่า "พระนิพพานเป็นอัตตา" ก็อาจจะมาจากสมองของ "พระธรรมกิตติวงศ์" ก็เป็นได้


(2)


เข้าประเด็นเลย เพราะถ้าพูดเรื่องเล็กเรื่องน้อยซึ่ง "ท่านพระธรรมกิตติวงศ์" นั้นผ่านการศึกษามาหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาโหมโรงให้มาก มวยระดับพระธรรมกิตติวงศ์นั้นขึ้นเวทีไหนก็มีแฟนติดตามไปเชียร์จนตั๋วไม่พอขาย ผู้เขียนจะเข้าเรื่องเลยว่า
หลักการและเหตุผลของพระธุดงค์คืออะไร
ธุดงค์ หรือธุดงควัตร หมายถึง ข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส ระดับอุกฤษฏ์
ธุต แปลกว่า กำจัด หมายถึง กำจัดกิเลส
ถามว่า กิเลสคืออะไร คำตอบง่ายที่สุด แบบไม่ต้องเปิดพระไตรปิฎกก็คือ ความสกปรกทางจิตใจ ซึ่งความสกปรกชนิดนี้ ใช้เครื่องมือทางกายไม่ได้ ต้องใช้เครื่องมืออีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงทรงบัญญัติเครื่องมือไว้ 2 ประเภท
ประเภทกำจัดความสกปรกทางกาย และวาจา ก็ได้แก่ ศีลสิกขาบท หรือพระวินัยบัญญัติ
ประเภทกำจัดความสกปรกทางจิตใจ ได้แก่ ธุดงควัตร และการทำสมาธิวิธีต่างๆ
โดยทรงวางหลักการไว้ 3 ระดับ คือ
ศีล (สิกขาบทบัญญัติ)
สมาธิ (ธุดงควัตร-สมถภาวนา-วิปัสสนาภาวนา)
ปัญญา (การบรรลุธรรม)
ทีนี้ ก็มีศัพท์เทคนิก 2 ศัพท์ ที่ถูกกล่าวถึงในการอธิบายธุดงควัตรของพระธรรมกิตติวงศ์ก็คือ พระบัญญัติกับพระพุทธานุญาต โดยท่านพยายามโน้มน้าวให้เห็นว่า พระบัญญัติสำคัญกว่าพระพุทธานุญาต แบบว่าพระพุทธานุญาตนั้นจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ผิดกับพระบัญญัติคือศีลสิกขาบทที่บังคับอย่างตายตัว
แต่ถ้าเราพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการ "บัญญัติสิกขาบท" และการทรงมี "พระพุทธานุญาตธุดงควัตร" แล้ว ก็จะทราบดังนี้
วัตถุประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบท (ที่เรียกว่าศีลของพระภิกษุ-ภิกษุณี) มี 10 ข้อ ได้แก่
1. สงฺฆสุฏฺฐุตาย (เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์)
2. สงฺฆผาสุตาย (เพื่อความผาสุกแห่งหมู่สงฆ์)
3. ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย (เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก)
4. เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย (เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก)
5. ทิฏฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย (เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน)
6. สัมปะรายิกานัง อาสะวานัง ปะฏิฆาตายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต
7. อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย (เพื่อความเลื่อมใสของประชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส)
8. ปสนฺนานํ ภิยฺโยภาวาย (เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของประชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว)
9. สทฺธมฺมฏฺฐิติยา (เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม)
10. วินยานุคฺคหาย (เพื่ออนุเคราะห์วินัย)
ในข้อที่ 9 นั้น ระบุว่าไว้ว่า "เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม" ก็แปลว่า ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันอันตรายของพระธรรมอีกชั้นหนึ่ง พระวินัยก็จึงเหมือน "กำแพง" ที่ทรงสร้างไว้เพื่อป้องกัน "ตัวบ้าน"คือพระธรรม
วัตถุประสงค์ข้อนี้สำคัญยิ่งนัก เพราะสามารถจะนำมาอธิบายความสำคัญของ "พระธรรม" กับ "พระวินัย" ว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน ระหว่าง บ้าน กับ กำแพง
คือคนเขาสร้างกำแพงเพื่อรักษาบ้าน ซึ่งกำแพงนั้นจะสร้างภายหลังสร้างบ้านเสร็จแล้ว ดังนั้น "บ้าน"จึงสำคัญกว่า "กำแพง" แต่เพื่อจะรักษาบ้านจึงต้องยอมสร้างกำแพง ถ้าไม่มีบ้านก็ไม่ต้องสร้างกำแพงด้วยซ้ำไป แต่การอธิบายแบบพระธรรมกิตติวงศ์นั้น บอกผู้คนในทำนองว่า "รักษากำแพงเอาไว้ให้มั่นคง ส่วนบ้านนั้นรักษาก็ได้ ไม่รักษาก็ได้ เพราะมิได้ยกเป็นพระพุทธบัญญัติ เป็นแต่เพียงพระพุทธานุญาต" ก็ถือว่าเป็นเรื่องประหลาด
ย้อนกลับไปศึกษาสังคมพุทธในตอนต้นพุทธกาล ขณะที่พุทธบริษัทยังไม่แพร่หลาย พระสงฆ์สาวกล้วนแต่บรรลุธรรมระดับสูง และออกบวชด้วยวัตถุประสงค์ของการพ้นทุกข์ มิใช่ออกบวชตามประเพณีหรือเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาเหมือนในปัจจุบัน
พระสงฆ์เหล่านั้นท่านมีระเบียบวินัยอยู่ในตัวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติพระวินัย
แต่นานไป เมื่อบริษัทหลากหลาย คนที่มาบวชแม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ไม่มีความรู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยไว้ ด้วยวัตถุประสงค์หลากหลายดังกล่าว
ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 นั้น พระอริยสาวกท่านลงความเห็นว่า "ควรจะสังคายนาพระวินัยไว้เป็นอันดับแรก เพราะถ้าพระวินัยมั่นคง พระศาสนาก็มั่นคง" นั่นเพราะท่านให้ความสำคัญกับพระวินัยที่จะใช้ในการบริหารกิจการพระศาสนา และเพื่อรักษาพระธรรม เพราะในเวลานั้นพระธรรมยังบริสุทธิ์ ขอเพียงรักษาพระวินัยให้มั่นคง พระธรรมก็ปลอดภัย ไม่วิปริตผิดเพี้ยน เราจึงได้เห็นว่า ในพระไตรปิฎนั้น เริ่มต้นด้วยพระวินัยปิฎก ตามด้วยพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ทำนองเดินเข้าบ้านก็ต้องผ่านกำแพง ไปจนถึงตัวบ้าน และเข้าสู่ภายในบ้านเป็นลำดับ
แต่ถ้าจะนับอายุกันแล้ว พระธรรมเกิดก่อนพระวินัย จึงควรจะสังคายนาพระธรรมไว้ก่อนมิใช่หรือ ?
นั่นคือ หลักการและเหตุผลที่สังคมพระอริยสงฆ์ในต้นพุทธศตวรรษที่ 1 ได้ฝากเป็นผลงานเอาไว้ให้เราศึกษา
นี่คือหลักการ "บัญญัติพระวินัยไว้เพื่อป้องกันพระธรรม" ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา

(3)

ต่อมาก็จะพูดถึงเรื่องของ "ธุดงควัตร" ซึ่งเป็นพระพุทธบัญญัติ
พระธรรมกิตติวงศ์ให้ความหมายของธุดงควัตรไว้ว่า "เป็นพระพุทธานุญาต" มิใช่พระพุทธบัญญัติ จึงจะปฏิบัติก็ได้ ไม่ปฏิบัติก็ได้ จึงต้องตีความว่า ธุดงควัตรเป็นพระบัญญัติหรือพระพุทธานุญาต
ความแตกต่างระหว่าง "พระพุทธานุญาต" กับ "พระพุทธบัญญัติ" นั้น ท่านคงจะหมายถึง ขีดคั่นระหว่าง"บังคับให้ปฏิบัติตาม" กับ "ตามอัธยาศัย" รวมทั้งการมีบทลงโทษกำกับ ในกรณีไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งศีลสิกขาบทนั้นจะเข้าในเกณฑ์ข้อบังคับและมีโทษตายตัว จึงระบุว่าเป็น พุทธบัญญัติ
ขณะที่ธุดงควัตรนั้นไม่มีการบังคับให้ต้องปฏิบัติและมีโทษกำกับตายตัว แต่ถ้ามองดูที่ไปที่มาของธุดงควัตรแล้ว ก็จะเห็นว่า เป็นพระพุทธบัญญัติเช่นกัน เพราะ
1. มิใช่กฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของคนอื่น แล้วจึงทรงอนุโลมตาม เช่น กรณีการเลื่อนการฝน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงทูลขอ จึงทรงโปรดให้ภิกษุเลื่อนการฝน อันเป็นที่มาของพระพุทธดำรัสที่ว่า "อะนุชานามิ ภิกขะเว ราชูนัง อนุวัตเตตุง" แปลว่า เราอนุญาตให้คล้อยตาม (คำขอร้อง) ของพระราชาได้ (ปัจจุบันอาจจะรวมทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย)
2. มีข้อห้ามบางข้อที่ได้รับการร้องขอจากบุคคลอื่น เช่น กรณี หมอชีวก โกมารภัจจ์ เห็นว่าโรคระบาด 5 ประการ เป็นที่น่ารังเกียจของสังคม จึงทูลขอให้ทรงบัญญัติไว้ "ห้ามมิให้พระสงฆ์รับบุคคลผู้เป็นโรคเรื้อน ฝี กลาก โรคมองคล่อ และโรคลมบ้าหมู เข้ามาบวช ใครฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฎ" นี่จะเห็นว่าพระพุทธบัญญัติในส่วนนี้ก็เป็นพระพุทธานุญาตที่ยกขึ้นเป็นสิกขาบท
3. กรณีการเข้าพรรษา ซึ่งทรงได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าด้วยการจาริกไปไม่จำกัดกาลของพระสงฆ์ เมื่อทรงทราบแล้ว จึงทรงโปรด "อนุญาต" ให้พระสงฆ์จำพรรษาตลอดกาลฝน แต่ทรงมีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย ว่าถ้าไม่จำพรรษาแล้วปรับอาบัติทุกกฎ นี่ก็เป็นพระพุทธานุญาตที่มีบทลงโทษกำกับ
ดังนั้น ธุดงควัตร ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงคิดค้นขึ้นมาแล้วสอนพระภิกษุนั้น จะว่าเป็นพระพุทธานุญาตก็คงไม่ใช่ (เพราะมิได้รับการร้องขอหรือร้องเรียนจากบุคคลใด) หากแต่ต้องจัดเป็น "พระพุทธบัญญัติ"เพียงแต่เป็นพระพุทธบัญญัติที่ไม่มีการบังคับหรือมีบทลงโทษกำกับเท่านั้น ซึ่งอาจจะจัดลำดับได้ดังนี้
1. พระพุทธบัญญัติที่มีการบังคับให้ต้องปฏิบัติและมีบทลงโทษกำกับ เช่น ศีลสิกขาบท
2. พระพุทธบัญญัติที่ไม่มีการบังคับและไม่มีบทลงโทษกำกับ เช่น ธุดงควัตร
ดังนั้น การที่พระธรรมกิตติวงศ์จัดธุดงควัตรเป็น "พระพุทธานุญาต" จึงถือว่าไม่ตรงกับความหมาย


(4)

ทีนี้ เริ่มจากที่ว่า เมื่อพระภิกษุบวชมาแล้ว ก็ต้องรักษาศีลสิกขาบท ที่เรียกว่าศีล 227 ข้อนั่นแหละ เพื่อควบคุมตัวเองให้อยู่ในร่องรอยของสมณสารูป ไม่เป็นที่ตำหนิติเตียนของชาวบ้าน ทำเหมือนชาวบ้าน หรือเป็นอยู่อย่างชาวบ้าน
แต่ถามว่า ลำพังศีล 227 ข้อนั้น เพียงพอสำหรับเป้าหมายสูงสุดของการบวชไหม ?
ก็ต้องถามด้วยว่า "เป้าหมายสูงสุดของการบวชคืออะไร"
คือตอบก็คือ นิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย แปลว่า เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ทีนี้ว่า ถ้าบวชเป็นพระแล้ว ถือศีล 227 ข้อ ถามว่าจะทำให้บรรลุพระนิพพานได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือ ยังไม่ได้บรรลุ
เพราะยังเป็นเพียงระดับ "ศีล" คือการครองตนให้เป็นพระที่ดีเท่านั้น
ผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้น ต้องผ่านการปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง เรียกว่า "สมาธิ"
การทำสมาธินั้นมี 2 รูปแบบ คือ แบบสมถะ คือท่องจำ กับแบบวิปัสสนา คือศึกษาให้เข้าใจให้กระจ่าง
และทีนี้ว่า ถ้ารักษาศีลอย่างสมบูรณ์ หรือค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ไปทำสมาธิเลยจะได้ผลไหม ?
คำตอบก็คือ ได้ผลก็มี ไม่ได้ผลก็มี
ที่ได้ผลนั้นก็เพราะบางรูปบางองค์นั้นท่านเก่งเป็นการเฉพาะตัว ก็สามารถจะปฏิบัติได้ผล
แต่สำหรับคนที่ไม่เก่งเล่า เขาจะทำไฉน ?
ตรงนี้ พระพุทธองค์จึงทรง "สร้างตัวช่วย" ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง เรียกว่า ธุดงควัตร
เป็นเทคนิกสุดยอดใช้เป็นเครื่องมือหรือตัวช่วยในการทำสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะเป็นด้านสมถะหรือวิปัสสนา
พูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะปฏิบัติธรรมให้ได้ผลสูงสุดและรวดเร็ว ก็ต้องมีตัวช่วย และตัวช่วยนั้นก็คือ ธุดงควัตร นั่นเอง
ธุดงควัตรจึงเป็น "กลเม็ดเด็ดสุดยอด" ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคิดค้นและประทานไว้ให้เป็นพินัยกรรม
มิใช่เคล็ดลึกลับที่ผ่องถ่ายกันเป็นภายในดัง "วิชชาธรรมกาย" ที่สอนกันอยู่ในปัจจุบัน และนี่แหละคือหลักฐานที่ว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระหัตถ์หงาย ไม่มี "อาจริยมุฏฺฐิ" อันแปลว่า เคล็ดลับที่อุบไต่เอาไว้ไม่ยอมสอน เพราะทรงสั่งสอนไว้พร้อมมูลแล้ว ขอเพียงศึกษาและปฏิบัติเป็นขั้นตอนไป ตั้งแต่ ศีล ธุดงควัตร และทำสมาธิภาวนา ก็แน่ใจว่าต้องได้รับผลของการปฏิบัติอย่างแน่นอน

แต่พระไทยส่วนใหญ่จะสอนเฉพาะ "ศีล" กับ "สมาธิ" ไม่ค่อยมีใครสอน "เทคนิก" ส่วนนี้ ทั้งๆ ที่สำคัญที่สุด ถ้าอยากรู้จัก "เคล็ดลับ" แห่งการบรรลุธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ลองมาศึกษาและปฏิบัติธุดงควัตรกันสิ

ใครที่กล่าวว่า ธุดงควัตรเป็นเพียงพระพุทธานุญาต มิใช่พระพุทธบัญญัติ จึงจะปฏิบัติก็ได้ ไม่ปฏิบัติก็ได้ นั้น ถือว่าทำลายวิธีการเข้าถึงธรรมของพระบรมศาสดา
ก็เท่ากับล้มล้างพระพุทธศาสนาดีๆ นี่เอง

ทำไมจึงต้องล้มล้างหลักการธุดงควัตร ?
ผู้เขียนไม่อยากพูดเลยว่า ท่านมีวัตถุประสงค์จะให้คนหันไปนั่งหลับตาเพ่งลูกแก้วเอาวิชชาธรรมกายเพียงอย่างเดียว ดังนี้เลย แต่ดูแล้วก็ไม่ต่างกัน เพราะทุกวันนี้วัดพระธรรมกายก็มิได้สอนสมาธิภาวนาแบบอื่นอยู่แล้ว

(5)

 ทีนี้ถามว่า เหตุใดจึงไม่ทรงยกขึ้นเป็นพระบัญญัติบังคับให้พระภิกษุทุกรูปต้องปฏิบัติ
ตรงนี้ต้องพิจารณาดูว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้น วิธีการปฏิบัติก็ต้องให้สอดคล้องกับสภาพของร่างกายและจิตใจ พระบรมศาสดาจึงทรงบัญญัติธุดงควัตรไว้มากมายถึง 13 วิธีการ เพื่อเป็นทางเลือกอันหลากหลายและเหมาะสมสำหรับพระภิกษุผู้มีอุปนิสัยและความพร้อมแตกต่างกันไป ซึ่งครูบาอาจารย์เมื่อจะสอนกรรมฐานให้ได้ผล ก็ต้อง"บังคับ" ให้ศิษย์สมาทานธุดงควัตรทุกรูป อย่างน้อยก็รูปละ 3-4 ข้อ ตามนิสสัย 4 นั่นแหละ เขาบังคับโดยพฤตินัย มิได้บังคับโดยนิตินัย แต่อย่าเข้าใจว่าไม่บังคับ

ถามว่า เคยมีความพยายามจะยก "พระพุทธานุญาตว่าด้วยธุดงควัตร" ขึ้นเป็น "สิกขาบทบัญญัติ"ไหม ?
ตอบว่า เคยครับ
โดยมีการเสนอว่า
1. ห้ามมิให้พระภิกษุอยู่ในหมู่บ้านหรือบ้านเมือง ต้องอยู่ในป่าตลอดชีวิต
2. ห้ามมิให้พระภิกษุรับกิจนิมนต์ แต่ต้องออกเดินบิณฑบาตตลอดชีวิต
3. ห้ามมิให้รับคหบดีจีวร คือผ้าสำเร็จรูป แต่ต้องใช้ผ้าบังสุกุลที่ได้จากผ้าที่คนทิ้งแล้วเท่านั้น จนตลอดชีวิต
4. ห้ามมิให้อยู่ในที่มุงบัง เช่น กุฏิ ศาลา วิหาร หรืออาคารใดๆ แต่ต้องอยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต
5. ห้ามฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต
ผู้ที่เสนอให้ตั้งพระบัญญัติ 5 ประการเหล่านี้ขึ้นมาก็คือ พระเทวทัต
แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ โดยทรงให้เหตุผลว่า "พระภิกษุรูปใดปรารถนาก็จะสมาทานวัตรด้วยตัวเอง"เป็นความสมัครใจ
แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะทรงบัญญัติไว้เพื่อให้สมัครใจสมาทานปฏิบัติ แต่ในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมครู จึงทรงนำพระภิกษุสามเณร โดยเมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว จะทรงนำพระสงฆ์ออกจาริกไปตามคามนิคมน้อยใหญ่ เพื่อให้ได้โอกาสในการฝึกฝนตนเอง โดยทรงสนับสนุนให้สมาทานธุดงควัตรตามความเหมาะสมแก่ความพร้อมของแต่ละรูปแต่ละองค์
มิใช่เพียงทรงมีพระพุทธานุญาตลอยๆ แล้วก็ปล่อยทิ้งปล่อยขว้างดังที่เข้าใจ
พระพุทธบัญญัติว่าด้วยธุดงควัตร จึงเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้มากถึงมากที่สุด ควรเน้นให้เห็นความสำคัญอย่างสูงสุดสำหรับกุลบุตรผู้บวชแล้ว และมุ่งหวังจะได้รับรสแห่งการบวช นั่นคือ พระนิพพาน(นิพพานสจฺฉิกรณตฺถาย)
เริ่มตั้งแต่ พระอุปัชฌาย์จะต้องสอนอนุศาสน์ 8 อย่าง ประกอบด้วย นิสสัย 4 และอกรณียกิจ 4 ข้อ มีคำบอกอนุศาสน์เป็นภาษาบาลี ดังนี้
อะนุญญาสิ โข ภะคะวา อุปะสัมปาเทตวา จัตตาโณ นิสสะเย จัตตาริ จะ อะกะระณียานิ อาจิกขิตุง 
1. ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา, ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย. อะติเรกะลาโภ, สังฆะภัตตัง อุเทสะภัตตัง นิมันตะนัง สะลกะภัตตัง ปักขิกัง อุโปสะถิกัง ปาฏิปะทิกัง.
 
2. ปังสุกูละจีวะรัง นิสสายะ ปัพพัชชา, ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย อะติเรกะลาโภ, โขมัง กัปปาสิกัง โกเสยยัง กัมพะลัง สาณัง ภังคัง.
 
3. รุกขะมูละเสนาสะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา, ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย. อะติเรกะลาโภ, วิหาโร อัฑฒะโยโค ปาสาโท หัมมิยัง คุหา.
 
4. ปูติมุตตะเภสัชชัง นิสสายะ ปัพพัชชา, ตัตถะ โว ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย. อะติเรกะลาโภ. สัปปิ นะวะนีตัง เตลัง มะธุ ผาณิตัง.
ฯลฯ
ความหมายว่า เมื่อเธอบวชแล้ว ขอให้อุตสาหะพยายามในการ
1.หาเลี้ยงชีพด้วยการออกบิณฑบาต (เดินถือบาตรไปตามลำดับเรือน ไม่รับที่ใดที่หนึ่งหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นขาประจำ)
2. ใช้ผ้าไตรจีวรที่ได้มาจากผ้าบังสุกุล คือผ้าห่อศพ หรือเศษผ้าที่เขาทิ้งไว้ไม่มีเจ้าของ นำมาตัดเย็บเป็นผ้าจีวร ย้อมด้วยน้ำฝาดจากเปลือกไม้
3. อยู่โคนต้นไม้ เพื่อเปิดตัวเองให้ห่างจากการอยู่ในที่ลับ เช่น วิหาร เรือน ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ เป็นต้น
4. ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
ส่วนอกรณียกิจ 4 นั้น ก็ได้แก่ 1. ไม่เสพกาม 2. ไม่ลักทรัพย์ 3. ห้ามฆ่าคน 4.ห้ามอวดคุณวิเศษทั้งที่มีและไม่มีในตน ที่เรียกว่า อุตริมนุสธรรม
นิสสัย นั้นก็คือธุดงควัตรนั่นเอง ซึ่งทรงมีพระพุทธบัญญัติไว้ให้ศึกษาและปฏิบัติ ส่วนอกรณียกิจนั้นก็คือศีลข้อปาราชิกทั้ง 4 ที่ทรงบัญญัติไว้ และมีโทษถึงขาดจากความเป็นพระ
ทีนี้ ถ้าดูในธุดงควัตร 13 ข้อ นำมาเปรียบเทียบกับนิสสัย 4 ข้อ เหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นว่า แม้ว่าจะทรงมีพระพุทธบัญญัติให้พระภิกษุถือธุดงควัตรไว้ไม่บังคับก็ตาม แต่ก็ทรงโปรดประทานเป็นอนุศาสน์ไว้ให้แก่พระผู้บวชใหม่ทุกรูป ว่า ควรออกบิณฑบาต ใช้ผ้าบังสุกล อยู่โคนไม้ และใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า 4 ข้อเหล่านี้ ทรงพิจารณาเห็นว่า พระที่ออกบวชทุกรูปนั้นสามารถทำได้ไม่หนักเกินไป จึงทรงโปรดให้นำมาบอกแก่ผู้บวชใหม่ ซึ่งพระอุปัชฌาย์จะทำการบวชทันทีที่สิ้นสุดจตุตถกรรมวาจา ถือด้วยว่า ถ้ายังบอกอนุศาสน์ไม่เสร็จ การบวชก็ยังไม่สมบูรณ์ ขนาดนั้น
ทีนี้ลองดูอีกขั้น คือว่า ในลำดับการบอกอนุศาสน์ทั้ง 2 หมวด คือนิสสัยและอกรณียกิจนั้น เหตุใดจึงทรงโปรดให้บอก "นิสสัย" ก่อน ถ้าหากว่า "อกรณียกิจ" สำคัญกว่า
นี่ก็ถือว่าเป็นกุสโลบายอีก เพราะว่า "อกรณียกิจ" นั้น มีโทษกำกับถ้าหากล่วงละเมิด แต่สำหรับ "นิสสัย" แล้ว ไม่มีการปรับโทษอะไร ดังนั้น เพื่อจะเน้นย้ำให้ความสำคัญแก่นิสสัย จึงทรงโปรดให้บอกนิสสัยก่อนอกรณียกิจ ทำนอง "เน้นย้ำเป้าหมายแห่งการบวช" มากกว่าเรื่องกฎเกณฑ์ แต่ทั้งนี้ก็มิได้ละเลยกฎเกณฑ์ จึงทรงโปรดให้นำมาบอกต่อจากนิสสัย
ดังนั้นถ้าจะบอกว่า ระหว่าง "ธุดงควัตร" กับ "ศีลสิกขาบท" สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ก็ลองพิจารณาเอาจากเหตุผลที่นำมาเทียบเคียงให้ศึกษากันแล้ว
แต่ก็อย่าได้เข้าใจไขว้เขวไปในทำนองว่า "มหานรินทร์บอกว่าศีลสิกขาบทไม่สำคัญ แต่ธุดงควัตรสำคัญกว่า" แล้วละเลยศีลสิกขาบท หันไปปฏิบัติธุดงควัตรกันโดยเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับชั้น คือสมาทานศีลให้สมบูรณ์แล้วจึงสมาทานธุดงควัตรควบคู่กับการทำสมาธิภาวนา ทำนองว่า ศีลเป็นชั้นประถม ธุดงควัตรเป็นระดับมัธยม ส่วนสมาธิภาวนานั้นเป็นอุดม ก็จะครบถ้วน
ดังนั้น การทรงบัญญัติวัตรปฏิบัติขัดเกลาที่เรียกว่า ธุดงควัตร ขึ้นมานั้น ก็เป็นพระบัญญัติอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่บังคับ ถ้าไม่บัญญัติแล้วจะมีธุดงควัตรได้อย่างไร


(6)

พระพุทธบัญญัติธุดงควัตรมีวัตถุประสงค์เพื่อ "ช่วยในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผล เพื่อบรรลุพระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบวช" ส่วน "สิกขาบทบัญญัติ" นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุขาดจากความเป็นพระ ก็เหมือนเกียร์รถยนต์ ซึ่งมีทั้งเกียร์เร่ง เบรค และเกียร์ถอย เบรคและเกียร์ถอยก็คือสิกขาบทบัญญัติ ห้ามมิให้ทำโน่นทำนี่ หรือต้องทำแบบนี้ๆ นี่คือพระบัญญัติ แต่รถนั้นจะมีแค่ "เบรค" และ "เกียร์ถอย" ก็คงไปไม่ถึงไหน ดังนั้นจึงต้องมี "เกียร์เร่ง" หรือ "เกียร์หน้า" ด้วย เร่งไวก็ถึงไว เร่งช้าก็ถึงช้า
ถามว่า การปฏิบัติธรรมนั้นทำตามปรกติได้ไหม ? (แบบว่าไม่เร่ง)
คำตอบก็คือ ได้ แต่ช้า
เหมือนรถเกียร์หนึ่ง ลาวยาวๆ นานเข้าเผลอๆ เกียร์ไหม้ คือตายก่อนได้บรรลุธรรม ดังนั้น จึงต้องมีเกียร์สอง เกียร์สาม เกียร์สี่ และเกียร์ห้า
ธุดงควัตรก็คือเกียร์ที่ว่านี้แหละ เป็นตัวช่วย ตัวสนับสนุน ตัวเสริม ว่าถ้าอยากจะบรรลุคุณธรรมในพระพุทธศาสนาแล้วไซร้ ก็ขอให้ "สมาทานธุดงควัตร"
การที่ทรงโปรดให้พระอุปัชฌาย์บอก "นิสสัย" ก่อน "อกรณียกิจ"
ก็หมายถึงว่า ทรงโปรดให้พระภิกษุทุกรูปเป็นพระธุดงค์ ตั้งแต่เริ่มบวช
เป็นกุสโลบายอันแยบยลและลึกซึ้ง
แต่..ไม่น่าเชื่อว่าคนระดับ "ป.ธ.9-ราชบัณฑิต" ซึ่งเป็นถึง "พระอุปัชฌาย์วิสามัญ" จะไม่รู้ซึ้งถึงพระพุทธประสงค์ข้อนี้
รู้ไม่ซึ้งยังไม่พอ ยังอุตริอธิบาย "พระพุทธบัญญัติธุดงควัตร" ในทำนอง "ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้"
ซึ่งนั่นก็ถูก-ถ้าจะตีความตามตัวหนังสือ โดยไม่ต้องดู "วัตถุประสงค์" หรือ "เจตจำนงของธุดงควัตร"มีเพียงรูปแบบ แต่ไม่มีจิตวิญญาณ
มิหนำ นอกจากจะไม่สมาทานธุดงควัตรตามธรรมเนียมนิยมแล้ว พระธรรมกิตติวงศ์ยังนำพาหมู่สงฆ์จำนวนตั้ง 1,500 รูป สมาทานธุดงค์ "นอกรีต" ตีความธุดงควัตรเสียใหม่ แบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลก โดยเปลี่ยนความหมายจาก
ป่าไม้  เป็น ป่าคอนกรีตต้นไม้ เป็น ตึกรามบ้านช่องอยู่โคนไม้ เป็น อยู่ในบ้านเรือน และ อยู่ลานสนามกีฬา เป็น อยู่ในที่โล่ง แถมยังแห่รูปหล่อทองคำของหลวงพ่อสดหนักตั้ง 1 ตันไปวัดปากน้ำเสียอีก
พระธรรมกิตติวงศ์อ้อมแอ้มอธิบายว่า "ก็ถูกตามพระพุทธบัญญัติ มิได้ผิดอะไร"
พระธรรมกิตติวงศ์ย้ำนักย้ำหนาว่า "ไม่ผิดอะไร" แต่ก็ไม่ได้ย้ำว่า "ถูกตรงไหนอย่างไร" พูดแบบภาษาชาวบ้านก็ว่า "อ้อมๆ แอ้มๆ" หรือ "ข้างๆ คูๆ" ให้ดูไม่เสียหายร้ายแรง โดยเล่นลิ้นเล่นคำอยู่สองคำว่า "ไม่ผิดอะไร"เท่ากับ "ถูกทุกอย่าง" อย่างนี้เขาเรียกว่า ศรีธนญชัย ดีๆ นี่เอง
ในลักษณะท่าทีที่แสดงออกของพระธรรมกิตติวงศ์นั้น เป็นการยอมรับกลายๆ ว่า "ธุดงค์ธรรมชัยนั้นผิด" แต่พยายามจะบอกว่า "ผิดเพียงเล็กน้อย" จากนั้น เพื่อจะกลบเกลื่อนความเสียหาอันเกิดจากการนำเอาหลักการธุดงควัตรมาปู้ยี่ปู้ยำ ก็เลยยกเอาเรื่องของ "ความมหัศจรรย์ว่าด้วยจำนวนพระสงฆ์ 1,500 รูป" มากลบเกลื่อน แถมยังกึ่งเชียร์ผู้เห็นด้วยและกึ่งสาปแช่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยไปในตัวว่า "คนที่มีบุญย่อมเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ส่วนผู้ที่ไม่มีบุญ แม้ไม่เคยเห็นก็คงไม่เคยเห็นตลอดชาติ ตลอดไป"
เมื่อได้ฟังแล้ว ก็อดทึ่งในใจไม่ได้ว่า "นี่หรือคือคำพูดของคนระดับนักปราชญ์หลวง"
การอ้างเอาจำนวน "1500" มากลบหลักการธุดงควัตรนั้น ก็เท่ากับการอ้าง "เสียงหมู่มาก" หรือ "เสียงข้างมาก" มาตัดสินพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดา
วิธีการแบบนี้มิใช่ไม่เคยมี แต่เคยมีมาแล้ว ก็กรณีพระวัชชีบุตรอ้างเอาเสียงข้างมากลากไปทำสังคายนาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 2 นั่นไง แล้วสุดท้ายก็กลายเป็น มหายาน
ส่วนพระสงฆ์เสียงข้างน้อยนั้นถูกเหยียดหยามว่าเป็นพวก "หีนยาน" แปลว่า พวกยานลำน้อย นำคนไปพระนิพพานได้น้อย เพราะมิยอมผ่อนปรนพระธรรมวินัยให้เข้ากับสงคมที่เปลี่ยนแปลงไป



(7)

"ความซื่อสัตย์ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย" เป็นหัวใจของพุทธบริษัททุกระดับ ยิ่งดำรงตำแหน่งทางคณะสงฆ์สูงขึ้น ก็ต้องยิ่งเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้ให้หนักกว่าคนทั่วไป เพราะการแสดงออกด้านใดก็ตามของท่าน จะเป็นการ"ชี้นำ" เป็นทิฏฐานุคติคือตัวอย่างต่อประชุมชนให้เอาเยี่ยงเอาอย่าง
จริงๆ แล้วผู้เขียนคงจะไม่เขียนถึงพระธรรมกิตติวงศ์ ถ้าหากเพียงตัวท่านออกเดินธุดงค์นอกรีต จะนอกคอกนอกนาไปไหนก็สุดแต่ใจของท่าน จะไปปักกลดที่สยามสแควร์ก็แล้วแต่ท่าน เพราะท่านทำอย่างไรท่านก็ได้รับผลอย่างนั้นเป็นของท่านเอง แต่การที่ท่านออกมาอธิบายธุดงควัตรผิดเพี้ยนไปเช่นนี้ ถือว่าเป็นการแสดงออกในที่สาธารณชน คนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในหลักการของ "พระพุทธานุญาตว่าด้วยธุดงควัตร" ก็จะพลอยเห็นดีเห็นงามไปกับท่าน เพราะท่านเป็นถึง "ป.ธ.9-ราชบัณฑิต-พระอุปัชฌาย์วิสามัญ-เจ้าอาวาสพระอารามหลวง"อันจะเป็นตัวหลอกผู้คนให้คล้อยตามได้ง่าย
พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าท่านทำอะไร ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน แต่กรณีที่ท่านออกมาอธิบายธุดงควัตรไปในทำนองที่ว่านั้น เป็นการ "แตะหลักการ" ทางพระพุทธศาสนา ว่าด้วยการปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฎ์ เหมือนกับการสอนว่า "พระนิพพานเป็นอัตตา" ของวัดพระธรรมกาย
แบบนี้จะปล่อยไปไม่ได้หรอก มันต้องออกความเห็น เพราะเป็นเรื่องอันตรายต่อพระพุทธศาสนา !
ถ้าว่าไม่ออกความเห็นสิ ก็แสดงว่า "เห็นด้วย" กับพระธรรมกิตติวงศ์ เหมือนหลายคนกำลังตีความอยู่ในเวลานี้
เมื่อหลายปีก่อน มีนักกฎหมายจำนวนหนึ่ง ได้เข้าไปรับใช้ผู้มีอำนาจ โดยการใช้ความรู้ความชำนาญด้านกฎหมายของตนเองนั้น "พลิกแพลงอธิบายกฎหมายผิดไปจากหลักการเดิม ทั้งนี้เพื่อรับใช้เจ้านายให้สมประสงค์"

บุคคลเหล่านั้น ท่านเรียกว่า  เนติบริกร

วันนี้ เรามีเนติบริกรแบบใหม่ ใช้ความเป็น ป.ธ.9-ราชบัณฑิต-พระราชาคณะชั้นธรรม-เจ้าอาวาสพระอารามหลวง และพระอุปัชฌาย์วิสามัญ เปลี่ยนแปลงความหมายของ "ธุดงควัตร" และลดความสำคัญของ "พระพุทธานุญาต" ว่าไม่สำคัญเท่ากับ "พระพุทธบัญญัติ" ถึงผิดก็ผิดเพียงน้อย มิใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงอะไรถ้าจะใช้รูปแบบพระธุดงค์ปิดถนนเดินเหยียบพรม-กลีบกุหลาบเข้าเมื่อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ "นำเอารูปหล่อทองคำหลวงพ่อสด" เป็นทองคำหนักถึง 1,000 กิโลกรัม ไปไว้วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
พฤติกรรมของพระธรรมกิตติวงศ์ดังว่ามานี้ ก็ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของนักกฎหมายศรีธนญชัยเหล่านั้นเลย
พระธรรมกิตติวงศ์นั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯแต่งตั้งให้เป็นถึง "ราชบัณฑิต" แปลว่า นักปราชญ์หลวง แต่เมื่อท่านกระทำการหักล้างพระพุทธานุญาตของพระพุทธเจ้าว่าด้วยธุดงควัตร ก็เท่ากับท่านเป็น"ตลกหลวง" หรือ "ศรีธนญชัย" ผู้ใช้เล่ห์เพทุบายเพื่อให้ตัวเองรอด เป็นฉายาส่วนตัว
สำหรับพฤติกรรม "รับใช้ธัมมชโย" อย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่สนใจต่อหลักการหรือวิธีการอันถูกต้องชอบธรรมใดๆ ทำให้ท่านกลายเป็น "เนติบริกรในคราบผ้าเหลือง" คนเช่นพระธรรมกิตติวงศ์นี้เป็นที่ต้องการของนักการเมืองประเภท "ทรราชย์" มาก แต่สำหรับนักการเมืองระดับ "รัฐบุรุษ" แล้ว ไม่มีใครสนใจจะให้คุณค่าเลย
ก็น่าเสียดายว่า เกิดมาอายุปูนนี้ อะไรๆ ก็ผ่านมาหมดแล้ว น่าที่พระธรรมกิตติวงศ์จะอิ่มจะพอในเรื่องลาภสักการะและยศถาบรรดาศักดิ์ เดินหน้านำพระสงฆ์ไทยในด้านคุณธรรมอย่างสง่างาม ให้สมกับตำแหน่งราชบัณฑิต ผิดแล้วกลับตัวกลับใจเสียใหม่ สังคมไทยก็ยังพอให้อภัย แต่นี่พระธรรมกิตติวงศ์กลับ "ทำผิดซ้ำให้มากกว่าเดิม เพื่อกลบความผิดในอดีต"
มันจึงกลายเป็น "ประวัติศาสตร์อัปยศ" ในรอบ 2600 ปี แห่งพุทธชยันตีทีเดียว
นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2555 เวลาค่ำ ที่ผ่านมา เมื่อพระธรรมกิตติวงศ์ได้อาจหาญขึ้นแสดงหลักการเดิน"ธุดงค์ธรรมชัย" ที่สนามกีฬาเทพหัสดิน ลบล้างหลักการ "ธุดงควัตร" ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา เป็นต้นมา นั่นเป็นการประกาศว่า บัดนี้ สังคมสงฆ์ไทยมีพระภิกษุผู้ "กระทำพระธรรมวินัยให้วิปริต" อีกรูปหนึ่งแล้ว รูปที่ว่านั้นคือ พระธรรมกิตติวงศ์ ราชบัณฑิต

ผู้ยอมประพฤติตัวเป็น "เนติบริกร" เต็มรูปแบบ

ข้อเขียนของพระมหานรินทร์ฉบับนี้ อาจจะผิดก็ได้
ถ้าจะให้เห็นว่าผิดอย่างไรถูกอย่างไร ก็ขอนิมนต์พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ เขียนหนังสืออธิบายตามหลักการของท่าน แล้วนำเอาข้อเขียนนี้ไป "หักล้าง" ให้สาธารณชนเห็นว่า ความเห็นของพระมหานรินทร์ไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย เพื่อสังคมสงฆ์ไทยจะได้ช่วยกันวินิจฉัย หรือจะสอนมวยด้วยก็ยิ่งดี ว่าพระละอ่อนอย่างมหานรินทร์มันโง่ยังไง มันหน่อมแน๊ม อ่อนด้อยทางด้านพระธรรมวินัยยังไง ฯลฯ
เพราะถ้าได้บทเรียนจากคนระดับราชบัณฑิตแล้ว แม้ผู้เขียนโดนสอนจนเสียมวย ก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็จะนำมาเป็นบทเรียนในการทำงานด้านนี้ต่อไป
นิมนต์เถิดขอรับท่านพระธรรมกิตติวงศ์ อย่าให้ข้อหาของพระมหานรินทร์ที่มีต่อพระคุณท่านว่าเป็น "เนติบริกร" นี้เป็นจริงเลย เพราะถ้าท่านไม่ยอมเขียน ก็แสดงว่ายอมรับนะขอรับ
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา19 เมษายน 2555
0
3:00 P.M. Pacific Time.
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ19 เมษายน 2555 เวลา 18:22

    ผมเห็นด้วยกับท่านค้าบ ท่านมหา ความเป็นเหตุเป็นผล ก็คือ สิ่งที่ปรากฎโดยความจริงคือความจริง ไม่ต้องอธิบายมากก็เข้าใจแล้วละ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขออนุโมทนาขอบคุณมากในการแสดงความคิดที่เต็มไปด้วยปัญญาของท่านครับ อยากเห็นชาวไทยแบบท่านมากๆครับ ช่วยเผยแพร์สิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยครับ จาก สมเกียรติ กาญจนชาติ

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง