เรื่องน่าเศร้าใจต้องศึกษาด่วน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง "มหาเถรสมาคม" เรื่องน่าเศร้าใจต้องศึกษาด่วน
โดย ประวัติศาสตร์ เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 17:28 น. ·
มหาเถรสมาคม หรือ มส. หากจะเปรียบเทียบกับการปกครองทางโลกก็คือ คณะรัฐมนตรีของคณะสงฆ์นั่นเอง
เพราะมหาเถรสมาคม นับเป็นองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ ที่มีอำนาจ หน้าที่ ในการปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศให้อยู่ในพระธรรมวินัย ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยอำนาจ หน้าที่ที่สำคัญของมหาเถรสมาคม คือ
- ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
- ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
- ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
- รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
ที่ผ่านมาแม้มหาเถรสมาคมจะปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
แต่เกือบทุกครั้งที่เกิดปัญหา และเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระสงฆ์ หรือคณะสงฆ์ โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมสนใจ เช่น พระสงฆ์ทำผิดพระธรรมวินัย รวมถึงการคิดโครงการใหม่ๆ เพื่อนำไปพัฒนากิจการของคณะสงฆ์
คำถามที่เกิดขึ้นเสมอ คือ ความล่าช้าในการพิจารณา ตัดสินใจ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง
หากมองกันด้วยความเป็นธรรม และตามความเป็นจริงแล้ว คงต้องยอมรับว่า ต้นตอแห่งความล่าช้าทั้งปวงเกิดจากการประชุมมหาเถรสมาคมแต่ละครั้ง จะมีการพิจารณาในทุกเรื่องที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่ โดยที่ปราศจากการกลั่นกรองก่อน
นั่นหมายถึง มหาเถรสมาคม ต้องพิจารณาแต่ละเรื่องตั้งแต่ต้น หรือเรียกกันว่า นับหนึ่งเลยทีเดียว
ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตราที่ 19 ระบุไว้ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรง แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามมติมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่นจำนวนหนึ่ง
โดยมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อ มหาเถรสมาคม และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย โดยขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคม
นั่นหมายถึงการแต่งตั้งคณะสงฆ์เพื่อเป็นคณะกรรมการช่วยกลั่นกรอง แบ่งเบาภาระงานมหาเถรสมาคม
แน่นอน มหาเถรสมาคมเองก็ไม่ได้ลืมตรงจุดนี้ ทั้งยังแต่งตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยแบ่งออกเป็น 6 ชุด ดูแลงาน 6 ด้าน คือ 1. ฝ่ายปกครอง 2. ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ 3. ฝ่ายศาสนศึกษา 4. ฝ่ายสาธารณูปการ 5. ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และ 6. ฝ่ายเผยแผ่
แต่น่าเสียดายที่จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการทั้ง 6 ชุด ยังไม่มีชุดไหนได้ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์แม้แต่ครั้งเดียว
พระธรรมกิตติเมธี โฆษกมหาเถรสมาคม ยอมรับว่า ตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการทั้ง 6 ชุดมา ยังไม่เคยมีการประชุมกันเลย ผลงานก็ยังไม่มี หากคณะกรรมการทั้ง 6 ชุดดังกล่าว ทำงานตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเกิดผลดีทั้งต่อมหาเถรสมาคมและพระพุทธศาสนา โดยคณะกรรมการดัง-กล่าวจะมีอำนาจพิจารณาเรื่องที่ดูแลอยู่ได้ทันที และ นำแจ้งมหาเถรสมาคมเพื่อทราบเท่านั้น จะส่งผลให้งานคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้านสามารถดำเนินการได้ อย่างมีประ-สิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
ที่เป็นผลดีกว่านั้นคือ งานที่คั่งค้างและจ่อคิวรอเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคมก็จะลดน้อยลง และเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาก็จะเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะเกิดผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาในภาพรวมเป็นหลัก
“มหาเถรสมาคมก็ทราบปัญหาดังกล่าว และได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด โดยมี พระพรหมเมธี เป็นประธาน เพื่อติดตามและปรับปรุง คณะกรรมการทุกชุดที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งขึ้น รวมถึงคณะกรรมการทั้ง 6 ชุดที่จะ
ต้องทำหน้าที่คอยกลั่นกรองเรื่องเสนอมหาเถรสมาคมด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการพิจารณาปรับปรุงเสร็จแล้ว กำลังเตรียมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคม และเพื่อยืนยันว่าคณะกรรมการทั้ง 6 ชุดดังกล่าว เมื่อปรับปรุงแล้ว จะทำงานตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ก็จะมีการเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อออกเป็นระเบียบมหาเถรสมาคม ให้กรรมการทั้ง 6 ชุดปฏิบัติตาม และที่สำคัญจะคัดเลือกพระสงฆ์ ที่เป็นพระทำงานเข้ามาเป็นกรรมการให้กับกรรมการทั้ง 6 ชุดสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่” โฆษกมหาเถรสมาคมกล่าว
ทีมข่าวศาสนา เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่เกือบทุกเรื่องราว ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การมีข้อมูลที่เจาะลึกและถูกต้อง จึงนับเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง หลายเรื่อง เช่น การตั้งวัด การเปลี่ยนชื่อวัด การตั้งสำนักปฏิบัติธรรม จึงไม่น่าจะต้องขึ้นมาถึงระดับมหาเถรสมาคมพิจารณา โดยน่าจะตัดสินและจบได้ด้วยการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าว งานของมหาเถรสมาคมก็จะรวดเร็วขึ้น ทันกับสถานการณ์และเหตุการณ์ปัจจุบัน
ทั้งเรายังมองด้วยว่า การให้ความสำคัญต่อคณะกรรมการของทั้ง 6 ชุด เท่ากับมหาเถรสมาคม เปิดโอกาสให้พระรุ่นใหม่ๆ ซึ่งรวมไปถึงพระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้แสดงฝีมือและความสามารถ
เพราะการสร้างพระรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถ คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พระพุทธ ศาสนาดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคง.
ผู้เขียน:
ทีมข่าวศาสนา
ที่มา:
ไทยรัฐ
มติมหาเถร !
เห็นชอบ "ให้จัดงาน" วันมาฆบูชา ปี 55
ตามที่ "สำนักพุทธฯ" เสนอ เห็นมะ ทีเรื่องแบบนี้ละรีบรับมุก "ประชุม-ลงมติ" กันเป็นคุ้งเป็นแควเชียว ตะที"งานบวชพระบวชเณร" ซึ่งเป็นการสร้าง "ศาสนทายาท" กลับไม่คิดทำกัน โน่นโยนให้วัดพระธรรมกายทำ แถมกรรมการมหาเถร "บางรูป" ยังออกมาเชียร์ธรรมกายอีก ขณะที่ "งานมหาเถรสมาคมของตัวเอง" กลับทำเป็นสงวนมารยาท ไม่ยอมออกหน้าเรียกร้องอะไรเลย อีแบบนี้ก็ไม่รู้จะมีมหาเถรสมาคมไปทำไม เพราะมีก็ไม่ได้ทำงานอะไร แค่นั่งอนุมัติโน่นอนุมัตินี่ งานที่ทำก็มักง่าย แค่นิมนต์พระมาเทศน์-สวดมนต์-ฉันเพล เป็นเสร็จพิธี แบบนี้หลวงตาวัดไหนก็ทำได้ ตะทีงานใหญ่ระดับประเทศกลับไม่คิดทำกัน ปีหนึ่งๆ แต่งตั้งพระอุปัชฌาย์มาเป็นร้อยเป็นพัน แต่เวลามีงานบวชใหญ่เป็นแสนเป็นล้านรูปกลับยกให้ธัมมชโยไปทำ ถามว่ามหาเถรสมาคมแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์ไว้ทำยาอะไร ?
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง "มหาเถรสมาคม" ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นรัฐบาลคณะสงฆ์ปกครองและบริหารกิจการพระศาสนา ต่างพระเนตรพระกรรณ แต่ทุกวันนี้แทบไม่เห็นมีบทบาทอะไร หรือที่มีก็ผิดฝาผิดตัวไปหมด เขาให้ทำอย่างหนึ่ง แต่ไพร่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง กิจการพระศาสนาถึงทรุดต่ำลงไปทุกวัน และสุดท้ายเมื่อไปไม่รอดก็ถึงกับยกกิจการพระศาสนาให้ธรรมกายเซ้งไป สมกับที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเสียจริงเชียว !
ที่น่าเศร้าใจกว่านั้นก็คือ กรรมการมหาเถรสมาคม ยินยอมพร้อมใจไปเป็นคณะที่ปรึกษาให้ "ธรรมกาย" อย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า ไม่ขาดไม่เหลือแม้แต่รูปเดียว แบบว่าถ้าเป็นเรื่องธรรมกายละสามัคคีกันเชียว ตะทีงานของมหาเถรสมาคมกลับมาร่วมงานกันกะหรอมกะแหรม มันเกิดอะไรขึ้นหรือฮะประเทศไทย ? ปีหนึ่งๆ ผลิตบัณฑิตทั้งเปรียญ 7-8-9 และปริญญาตรี-โท-เอก ออกมานับพันนับหมื่น ตั้ง "พระครู-เจ้าคุณ" อีกเป็นพันๆ รูป แต่คิดแก๊กทำงานพระศาสนาได้แค่นี้เองเหรอ ? เงินก็มี อำนาจก็มี บุคคลากรก็มี แต่ไม่มีหัว มันเป็นเรื่องน่าเศร้าใจอะไรเช่นนั้น
ถ้ามหาเถรสมาคมไร้ความสามารถจะบริหารคณะสงฆ์ไทย โดยยกโครงการใหญ่ๆ ให้แก่ธรรมกายไปทำแล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมีมหาเถรสมาคมอีกต่อไป ยุบทิ้งเสียเถอะครับ แล้วยกคณะสงฆ์ไทยให้ "ท่านธัมมชโย" เขาดูแลแทนเสีย เถิดขอรับ พระเดชพระคุณท่านจะได้สบาย...
งานสำคัญ : ทำบุญตักบาตร แสดงพระธรรมเทศนา เวียนเทียน ประกวดโต๊ะหมู่บูชาและโคมแขวน และถวายสังฆทาน เป็นงานสำคัญระดับโลก "มหาเถรสมาคม" ขอรับเป็นเจ้าภาพเอง ใครอย่ายุ่งนะ
งานไม่สำคัญ : บวชพระ 100,000 รูป ทั่วแผ่นดิน เป็นงานกระจอก ยกให้"ธรรมกาย" เป็นเจ้าภาพไปเถอะ พวกเราไปเวียนเทียนที่พุทธมณฑลก็พอ รับรองว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึง 5,000 ปีแน่
ช่วยแบ่งปันกันทั่งแผ่นดินครับ
อย่าไปโทษ มส.เลย หากจะโทษต้องโทษ พรบ.คณะสงฆ์ซึ่งผิดพลาดพลาดมาแต่ต้น พรบ.คณะสงฆ์ ออกโดยฆราวาส โดยไม่คำนึงถึงธรรมเนียมประเพณี และพระธรรมวินัย ......เศร้า
ตอบลบ