การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช


บันทึกประวัติศาสตร์ ในวาระบำเพ็ญกุศล 23 ปี การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

โดย ประวัติศาสตร์ เมื่อ 22 เมษายน 2012 เวลา 19:29 น. ·

ในวาระบำเพ็ญกุศล 23 ปี การสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ผู้เขียนใคร่นำประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์มาเผยแพร่ให้ปรากฏ โดยที่ผู้เขียนเป็นสัทธิวิหาริกที่อุปสมบทโดยพระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ ครั้นพรรษาหนึ่งล่วงพ้นได้ลาสิกขา จึงเขียนหนังสือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นเครื่องบูชาพระคุณพิมพ์ใน พ.ศ.2537 จำนวนสองครั้งโดยลำดับ
เอกสารประกาศสถาปนาฯ ได้รับการอ้างถึงในหนังสือที่กล่าวแล้ว ดังนี้
ประกาศ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลา ธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่างลง สมควรที่จะทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 และตามระเบียบราชประเพณีให้สมบูรณ์สืบไป และโดยที่ได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของคณะรัฐบาลกับทั้งสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคมเป็นเอกฉันทมติ
จึงทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นพระมหาเถระ เจริญในสมณคุณ เนกขัมปฏิบัติ  สมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร รัตตัญญู มหาเถรกรณธรรม ดำรงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์ไพศาลแก่พุทธจักรและอาณาจักร ดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร ตามความพิสดารในประกาศสถาปนาเป็นพระราชาคณะ มหาสังฆนายก เมื่อวันที่5 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 นั้นแล้ว
ครั้นต่อมา สมเด็จพระญาณสังวรฯ ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณสามารถรับภาระธุระพระพุทธศาสนา เป็นพาหุกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย ยังการพระศาสนาให้เรียบร้อยและเจริญมั่นคงยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา ในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมมาแต่เริ่มแรก เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการฝ่ายธรรมยุต เป็นประธานคณะกรรมการธรรมยุต และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในการปริยัติศึกษา เป็นกรรมการปรับปรุงหลักสูตรศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ เป็นนายกกรรมการและนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนครูปริยัติธรรม คณะธรรมยุตด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ ได้เป็นประธานดำเนินการและประธานกรรมการอุปถัมภ์ในการสร้างวัดและอุโบสถในประเทศต่างๆ หลายแห่ง คือ วัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย วัดแคโรไลนา พุทธจักรวนาราม ในรัฐแคโรไลนาเหนือ สหรัฐอเมริกา อุโบสถวัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร ณ เมืองกีรติปูร นครกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล ได้ไปดูการพระศาสนา ณ ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย เนปาลอีกหลายวาระ เป็นประธานสงฆ์จากประเทศไทย ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย ซึ่งเป็นการผูกพัทธสีมาอุโบสถเป็นครั้งแรกของวัดพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศนั้น ไปบรรพชากุลบุตรชาวอินโดนีเซีย ณ เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สังฆเถรวาทอินโดนีเซีย ไปบรรพชากุลบุตรศากยะแห่งเนปาล ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เนปาล ไปร่วมประชุมสหพันธ์คีตาศรมสากลในฐานะแขกพิเศษ ณ ประเทศอินเดีย ด้านการเผยแผ่ธรรม แสดงธรรมเป็นประจำในวันธรรมสวนะและวันอาทิตย์ ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร บรรยายธรรมในการฝึกอบรมการปฏิบัติทางจิตทุกวันพระและวันหลังวันพระ ณ ตึก สว.ธรรมนิเวศ บรรยายธรรมในรายการบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ บรรยายธรรมแก่ชาวต่างประเทศในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ นอกจากนั้นยังได้เรียบเรียงหนังสือทั้งที่เป็นตำราประกอบการศึกษา ธรรมกถา ธรรมเสนา และสารคดีอีกเป็นอันมาก เช่น เรื่องหลักพระพุทธศาสนาแนวปฏิบัติสติปัฏฐานสัมมาทิฏฐิ โสฬสปัญหาธรรม บรรยายพระพุทธศาสนากับสังคมไทย ตำนานวัดวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร เล่ม 2 เป็นต้น ทั้งยังได้ริเริ่มให้แปลหนังสืออธิบายธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นการเผยแผ่และเป็นคู่มือการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับชาวต่างประเทศอีกทางหนึ่ง ในด้านสาธารณูปการได้เป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิต ในการก่อสร้างตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ร่วมกับสภากาชาดไทยสร้างตึกวชิรญาณวงศและวชิรญาณสามัคคีพยาบาล เป็นตึกสงฆ์และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในการพระอารามนั้นก็ได้เอาใจใส่ควบคุมดูแล ระวังรักษาและบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุสถานตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งทรุดโทรมเสียหาย ทั้งในเขตพุทธวาส และสังฆาวาส ให้ดำรงคงสภาพที่มั่นคงถาวรและเรียบร้อยงดงาม ทั้งได้สร้างอาคารขึ้นใหม่อีกหลายหลัง อาทิ ตึก สว.ธรรมนิเวศ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นับว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นผู้มีปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ในการปกครองทำนุบำรุงพระอารามหลวงที่มีความสำคัญ ให้เจริญรุ่งเรืองสมพระราชประสงค์
สมเด็จพระญาณสังวรฯ ยังได้เป็นประธานอุปถัมภ์การสร้างวัดในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เช่น วัดรัชดาภิเษก วัดพุมุด จังหวัดกาญจนบุรี วัดวังพุไทร จังหวัดเพชรบุรี วัดล้านนาสังวราราม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ที่สำคัญได้เป็นประธานสร้างวัดญาณสังวราราม ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในเนื้อที่ 366 ไร่ ให้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสามเณร และเป็นประโยชน์เกื้อกูลการพัฒนาอาชีพของประชาชนในถิ่นนั้น อุทิศถวายพระราชกุศลแด่อดีตมหาราชผู้ทรงกอบกู้ชาติไทย และสมเด็จพระกษัตริยาธิราชทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมราชโอรสธิดาทุกพระองค์ ไปทรงเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ เมื่อวันที่30 เมษายน พุทธศักราช 2525
อนึ่ง เมื่อคราวทรงผนวชและประทับณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช 2517 และได้ถวายสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถระ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
บัดนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญู มหาสถาวีธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตยั่งยืนช้านานมา ดำรงมั่นในศีลสมาธิปัญญามิได้เสื่อมถอยมีจริยาวัตรสำรวมเรียบร้อยไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส เป็นพหุลศรุตบัณฑิตผู้ทรงปรีชาญาณลึกซึ้ง แจ่มใส รอบรู้ในพระไตรปิฎกธรรมวิสารท สามารถวิจัยวิจารณธรรมนำมาแสดงได้ถูกต้องเที่ยงตรงบริสุทธิ์บริบูรณ์ เกื้อกูลสงเคราะห์พุทธบริษัทโดยเสมอหน้าเป็นอเนกประการ ได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักการะแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัททั่วสงฆมณฑล ตลอดจนอาณาประชาราษฎรทั่วไปสมควรจะได้สถาปณาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปณาสมเด็จพระญาณสังวรฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าสมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนิติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิญาณพัฒนคุณ วิบุลลีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณีสรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารพระอารามหลวง เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสงฆมณฑลทั่วไป  โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิญาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ
ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ 15 รูป คือ พระมหานายก พุทธปาพจนดิลกโลกยปสาทา ภิบาล สกลสังฆประธานมหาเถรกิจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา 1 พระจุลนายก ธรรมนิติสาธกมหาเถราธิการ คณะกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย 1 พระครูวิสุทธิธรรมภาณ 1 พระครูพิศาลวินัยวาท 1 พระครูประสาทพุทธปริต พระครูพระปริตร 1 พระครูประสิทธิพุทธมนต์ พระครูพระปริตร 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูธรรมธร 1 พระครูสรภัญญประกาศ พระครูคู่สวด 1 พระครูสรนาทวิเศษ พระครูคู่สวด 1 พระครูนิเทศธรรมจักร 1 พระครูพิพัฒน์ธุรกิจ 1 พระครูสังฆสิทธิกร 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพรในพระบวรพุทธศาสนาเทอญ
ประกาศ ณ วันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532 เป็นปีที่ 44 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินในการบำเพ็ญกุศล 23 ปี การสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 21 เมษายน 2555 เวลา 14.00 น. และทรงเป็นประธานในพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อหาทุนจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์อาคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับการทอดผ้าป่าตามที่อ้างแล้วข้างต้น ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมกุศลถวายเป็นสักการบูชาได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา ชื่อบัญชี"100 ปีสังฆราชเพื่อรพ.พหลฯ" ธนาคารกสิกรไทย สำนักราษฎร์บูรณะ เลขที่ 745-1-04343-3.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง