15 ปี การหนังสือพิมพ์แห่งชาติ


วันอาทิตย์ ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2555, 02.00 น.
วันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปีมีความสำคัญอย่างไร หากถามคนทั่วไปอาจจะตอบว่าเป็นวันชาติของสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกกันติดปากว่าวันประกาศอิสรภาพ (Independence Day) แต่ถ้าหากถามคำถามนี้กับคนในแวดวงสื่อสารมวลชนแล้ว ก็คงจะตอบว่าเป็นวันก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2540 จนวันนี้เวลาผ่านมาได้ 15 ปีแล้ว
แต่กว่าจะมีองค์กรสื่อเช่นนี้ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นักสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะรุ่นบุกเบิกต้องต่อสู้กับอำนาจมืดต่างๆ มานับครั้งไม่ถ้วน วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปทำความรู้จัก วงการสื่อมวลชนไทย ถึงที่มาที่ไป และอนาคตจะเดินไปในทิศทางใด ผ่านมุมมองของนักหนังสือพิมพ์อาวุโสหลายท่านที่อยู่ในแวดวงนี้มาอย่างยาวนาน
มีคำกล่าวทางประวัติศาสตร์ว่าการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงการสื่อสารมวลชน โดยหลังจากที่ โยฮัน กูเต็นเบิร์ก นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันได้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์สำเร็จในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1450 ทำให้เกิดการพิมพ์เอกสารที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ เป็นจำนวนมาก อันเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ (Newspaper) ในเวลาต่อมา
สำหรับประเทศไทยนั้น วันที่ 4 ก.ค. 2387 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงการสื่อมวลชนไทย เมื่อหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์และสอนการแพทย์สมัยใหม่ให้กับชาวไทยริเริ่มหนังสือพิมพ์ภาษาไทยชื่อบางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) หลังจากนั้นวงการนักหนังสือพิมพ์ในบ้านเราก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาโดยตลอด กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน
“แรกเริ่มนั้นกิจการหนังสือพิมพ์นี่แทบจะเรียกว่าทำกันด้วยใจรักจริงๆ  ได้เงินบ้างไม่ได้บ้าง จนวันนี้เปลี่ยนไป เป็นเหมือนธุรกิจเต็มตัว ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นองค์กรที่สามารถเผยแพร่ข่าวได้หลากหลายสื่ออีกด้วย” เป็นคำบอกเล่าของนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถึงความเป็นมาขององค์กรสื่อสารมวลชนแห่งนี้ โดยจุดที่น่าสนใจนั้นอยู่ที่เป็นองค์กรที่ใช้ระบบการควบคุมดูแลกันเอง มิได้มีกฏหมายใดเข้ามาควบคุมอย่างเป็นทางการ
กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยนายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 1 และ 2 เล่าว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รัฐบาลทุกยุคสมัยพยายามที่จะแทรกแซงและคุกคามสื่อมวลชนมาโดยตลอด ไล่ตั้งแต่ พรบ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาจนถึงความพยายามนำคนของรัฐเข้ามานั่งเป็นกรรมการควบคุมสื่อในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
“สมัยที่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นมีข้อความหนึ่งในร่างฯ เขียนว่าให้มีองค์กรควบคุมกันเองของหนังสือพิมพ์ ภายใต้กฏหมายบัญญัติ ทีนี้มันก็มีปัญหาตรงที่ว่ากรรมการขององค์กรดังกล่าวจะมีคนจากภาครัฐ 3 คน คืออธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเข้ามานั่งด้วย ซึ่งเราก็ต่อสู้กันในประเด็นนี้ มีการเจรจากับ สสร.สมัยนั้นอยู่นานพอสมควร จนในที่สุดก็ยอมตัดข้อความดังกล่าวที่ดูแล้วเป็นการแทรกแซงสื่อออก”
เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันองค์กรของสื่อสารมวลชนนี้ยังไม่มีกฏหมายฉบับใดรับรอง แต่ถึงกระนั้นในมุมของนักหนังสือพิมพ์อาวุโสมองว่าเหมาะสมแล้ว โดยคุณมานิจ มองว่าการที่ไม่มีกฏหมายรับรองจะทำให้รัฐไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อได้ “ในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว องค์กรของสื่อก็ไม่มีกฏหมายรับรองเหมือนกันครับ ส่วนประเทศไหนที่องค์กรสื่อมีกฏหมายรับรอง องค์กรสื่อประเทศนั้นมักจะทำงานให้รัฐหรือเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล”
ต่อข้อซักถามที่ว่าหากไม่มีกฏหมายรับรอง แล้วจะควบคุมดูแลกันได้อย่างไร นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร อดีตประธานประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 4 ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองว่าสิ่งที่สำคัญไปกว่ากฏหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดๆ นั้นคือ จรรยาบรรณวิชาชีพหรือที่เรียกกันว่า อาชีวปฏิญาณ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่ทุกอาชีพล้วนต้องมีจรรยาบรรณหรืออาชีวปฏิญาณในอาชีพของตนทั้งสิ้น ดังนั้นวงการสื่อสารมวลชนที่ถือว่าเป็นกลุ่มอาชีพหนึ่งที่มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของสังคมยิ่งต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณอย่างเข้มงวด
“อาชีวปฏิญาณไม่ใช่แค่การท่องจำ แต่เป็นคำสาบานที่ต้องยึดมั่นตลอดชีวิตแม้ว่าวันหนึ่งคุณจะไม่ได้ทำงานเป็นสื่อแล้วก็ตาม เพราะอย่าลืมว่าคนทั่วไปคาดหวังและมองวงการสื่อสารมวลชนว่าเป็นโรงงานผลิตน้ำประปา ซึ่งหมายความว่าต้องนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ ดังนั้นเราจึงต้องควบคุมดูแล อย่าให้ท่อที่ใช้ผลิตน้ำประปามีใครมาใช้เป็นท่อระบายน้ำเสีย”
เช่นเดียวกับนายสุวัฒน์ ทองธนากุล อดีตประธานประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 5 (คนที่ 2) กล่าวว่าในความเป็นจริงแล้วนักสื่อสารมวลชนควรมีจริยธรรมที่เข้มงวดกว่าวิชาชีพอื่นๆ ด้วยซ้ำไป “อย่างแพทย์หรือทนายความทำอะไรก็มีผลแค่กับบุคคลแต่ละคนเท่านั้น แต่สื่อมวลชนจะทำอะไรมันมีผลต่อสังคมทั้งหมด” ซึ่งสอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) กันมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีกฏหมายควบคุมโดยตรง แต่กิจการใดที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม กิจการนั้นมักไม่ได้รับความสนับสนุนทั้งจากผู้บริโภคและผู้ที่จะตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุน ทำให้อยู่ไม่ได้และล่มสลายไปในที่สุด
เมื่อถามถึงบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในปัจจุบัน นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตประธานประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 5 (คนที่ 1) กล่าวว่าแม้ไม่มีกฏหมายรองรับ แต่ในความเป็นจริงนั้นมีทั้งตัวแทนจากสภาทนายความหรือแม้แต่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย นั่นหมายความว่าองค์กรวิชาชีพสื่อแห่งนี้ได้รับการยอมรับแล้วในวงกว้างไปโดยปริยาย
สุดท้ายกับคำถามที่ว่าสื่อมวลชนจะทำอย่างไรในยุคทุนนิยมที่อะไรๆ ก็ต้องตีค่าเป็นเงินเป็นทองไปหมด คุณสุวัฒน์กล่าวว่า แม้ความเป็นจริงสื่อมวลชนกับธุรกิจจะแยกกันไม่ออกเพราะหนังสือพิมพ์ก็ยังต้องมีการลงโฆษณา แต่ก็ต้องหาสมดุลให้ได้ระหว่างคำว่าการตลาดกับอุดมการณ์
ขณะที่คุณมานิจเสริมอีกว่านักข่าวก็เหมือนข้าราชการ การจะรับผลประโยชน์ใดๆ เกินกว่าที่กำหนดในกฏระเบียบไว้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แม้จะเรียกว่าสินน้ำใจหรือให้โดยสิเน่หาก็ตาม “เชื่อเถอะครับคนที่เข้ามาเสนอจะให้นั่นให้นี่เขาหวังผลประโยชน์จากเราทั้งนั้น ดูอย่างข้าราชการตำแหน่งใหญ่ๆ มีคนจัดงานเลี้ยงให้ใหญ่โต แต่พอหลังเกษียณไปแล้วแทบไม่มีใครมาหาเลยก็มี” คุณมานิจกล่าวทิ้งท้าย
มีคนกล่าวว่าสื่อมวลชนนั้นมีอำนาจในการกำหนดกระแสความเป็นไปในสังคมไม่ต่างจากอำนาจรัฐของระบบราชการและอำนาจทุนของนักธุรกิจ ดังนั้นเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ สิ่งที่คาดหวังจากสังคมก็คือผู้มีอำนาจจะต้องใช้อำนาจนั้นด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนอย่างเดียวจนลืมไปว่าอะไรควรหรือไม่ควร และความรับผิดชอบต่อสังคมนี้เอง ที่จะเป็นเกราะคุ้มกันตนหรือองค์กรของตนได้ดีที่สุด
เพราะอำนาจที่มาจากอิทธิพลนั้น ย่อมไม่อาจยืนยาวได้เท่ากับอำนาจจากบารมี ที่เกิดจากการสั่งสมความดีงามมาเป็นเวลานานนั่นเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ