พฤติกรรมด้านจริยธรรม สว.(การยากเป็น ประธานวุฒิสภา)

นิคม ไวยรัชพานิช

พลเอกธีรเดชร มีเพียร กลายเป็นอดีตประธานวุฒิสภาไปแล้วหลังศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อ 25 กรกฏาคม 2555 ตัดสินจำคุก พลเอกธีรเดช
ในความผิดกรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อช่วงปี 2547 ขึ้นเงินเดือนตัวเองโดยมิชอบ โดยศาลตัดสินจำคุกสองปีแต่ให้รอลงอาญา

คำพิพากษาของศาลอาญาระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดของพลเอกธีรเดชและจำเลยอีก 2 คนคือนายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์และนายปราโมทย์ โชติมงคล ไว้ตอนหนึ่งว่า

จากกรณีช่วง 29 ก.ค.-30 ก.ย.47 นายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 และ พล.อ.ธีรเดช จำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ร่วมกับ นายปราโมทย์ จำเลยที่ 3 ที่เป็นเลขาธิการผู้ตรวจแผ่นดินฯ ขณะนั้น ได้ให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวก จำเลยที่ 1 - 2 กระทำผิด ในการจัดทำร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการ และอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547ที่กำหนดค่าตอบแทนลักษณะเหมาจ่ายเดือนละ 20,000 บาทที่เป็นข้อกำหนดที่ออกโดยมิชอบมาอ้างอิงเป็นต้นแบบเพื่อออกร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ดังกล่าว

โดยวันที่ 30 ก.ค.47 จำเลยที่ 1-2 ให้ความเห็นชอบเพื่อออกระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และมีการประกาศใช้ระเบียบฯ โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.47 ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำเดือน ก.ค.-ก.ย.47 ให้จำเลยที่ 1-3 เดือนละ 20,000 บาท รวม 3 เดือน 60,000 บาท ทั้งที่พวกจำเลยไม่มีอำนาจโดยชอบในการดำเนินการ

“ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1-2 ได้รับ แม้จะเรียกว่าค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่เหมาจ่ายรายเดือน แต่สาระสำคัญแห่งการได้เงินมามีลักษณะมั่นคงแน่นอนเป็นประจำทุกเดือน เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่งานประจำตามปกติ

เงินที่ว่านั้นจึงเป็นเงินเดือน การขึ้นเงินเดือนจึงต้องผ่านที่ประชุมรัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมาย

จำเลยที่ 1-2 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของบุคคลอื่น และจำเลยที่ 3 เป็นเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับความไว้วางใจในความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ความดี และความสุจริต

การขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองเป็นการกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนของจำเลยที่ 1-2 กับผลประโยชน์สาธารณะ จึงต้องมีมโนธรรมเข้ามากำกับอย่างยิ่งยวด

การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงเป็นความผิด มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 1 ปี 4 เดือน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นว่ามีเหตุควรปราณี จึงให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี”

คำพิพากษาดังกล่าวมีผลทำให้พลเอกธีรเดชต้องพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาไปโดยปริยายแม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด เพราะเป็นแค่ศาลชั้นต้น แต่ตามรธน.2550 มาตรา 124(4) ที่เป็นบทบัญญัติเรื่องการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ซึ่งบัญญัติไว้ว่าย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ

อย่างไรก็ตามพลเอกธีรเดชยังคงเป็นสมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหาอยู่ แต่ก็เป็นแค่ส.ว.ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

ส่วนคำถามเรื่องจริยธรรมทางการเมืองกับตัวพลเอกธีรเดชนั้น แม้หลายคนจะบอกว่าแค่หลุดจากประธานวุฒิสภาก็ช้ำพอแล้ว ไม่น่าจะต้องถึงกับรุกไล่ให้ต้องลาออกจากส.ว.สรรหา

“ทีมข่าวการเมือง”เห็นว่า อันนี้ก็แล้วแต่การตัดสินใจของพลเอกธีรเดชเอง แต่หากต้องการรักษาความสง่างามของสภาสูงให้คนยังพอศรัทธาเชื่อถือได้อยู่บ้างว่าสมาชิกวุฒิสภาไม่มีใครทำอะไรที่มัวหมอง

ก็เป็น “จิตสำนึก”ของพลเอกธีรเดช

ชีวิตนี้ผ่านตำแหน่งสำคัญมาแล้วมากมายทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม-ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินฯ-ประธานวุฒิสภา ก็อย่าไปยึดติดอะไรเลยกับแค่ส.ว.สรรหาธรรมดา

แค่นี้ก็ถือว่าหนักหนาแล้ว กับคำพิพากษาที่ออกมาซึ่งสังคมได้เห็นแล้วว่า ตัวเองเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นให้ทำหน้าที่อย่างสุจริตมีจริยธรรมแต่กลับทำผิดกฎหมายเสียเองขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่จนโดนศาลตัดสินจำคุก แล้วจะอยู่เป็นส.ว.อีกทำไม!

ที่ต้องติดตามต่อไปจากนี้ ก็คือ การแย่งชิงอำนาจกันอย่างเข้มข้นในสภาสูง เพราะปรากฏว่าแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากข่าวดังกล่าวแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว พวกจ้องจะเป็นใหญ่แทนพลเอกธีรเดชในสภาสูง ก็เริ่มขบวนการล็อบบี้ชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่กันแล้ว แบบไม่มีใครรอเงื้อง่าเนียมอายให้เสียเวลา

เปิดตัวก่อนใครเพื่อนเลยก็คือ “นิคม ไวยรัชพานิช” ส.ว.ฉะเชิงเทราและรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ซึ่งการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภารอบที่แล้วก็ลงชิงกับพลเอกธีรเดชแต่คะแนนสู้ไม่ได้

งวดนี้ จึงต้องดูว่านิคมจะแก้มือได้ไหม หลังเล่นชิงเปิดตัวกับสื่อมวลชนคล้อยหลังพลเอกธีรเดชหลุดจากเก้าอี้แค่ไม่ชั่วโมงทั้งการกาง รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ออกมาเลยว่า พลเอกธีรเดชพ้นเก้าอี้ประธานวุฒิสภาไปโดยปริยายแล้ว ในฐานะรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งซึ่งต้องรักษาการประธานวุฒิสภาไปโดยปริยายในช่วงนี้

นิคม จึงบอกว่าเตรียมนัดหมายประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่กันทันทีหลังมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏรวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เบื้องต้นเล็งไว้ก่อน 3 วันในช่วงต้นเดือนสิงหาคมคือ10 14 และ 17 สิงหาคม ส่วนจะเป็นวันไหนรอใกล้เปิดสภาฯเมื่อไหร่ได้รู้แน่นอน

“ทีมข่าวการเมือง”อยากให้สังคมช่วยกันจับตามองการช่วงชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่กันให้ดีว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้แค่ 1-2 วันหลังจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภาว่างลง ก็มีข่าวพวกส.ว.หลายกลุ่มเริ่มจับกลุ่มวัดขุมกำลังชิงตำแหน่งกันแล้ว

ข่าวที่ออกมาอ้างว่าส.ว.หลายคนเห็นว่านิคมยังไม่เหมาะสมจะขึ้นมาเป็นผู้นำวุฒิสภา แม้นิคมจะเป็นรองประธานวุฒิสภามาหลายปีแล้ว เหตุเพราะนิคม ค่อนข้างแอบอิงฝ่ายขั้วอำนาจการเมืองโดยเฉพาะสายรัฐบาลเพื่อไทยมากเกินเหตุ ผิดกับสองประธานวุฒิสภาก่อนหน้านี้คือนายประสพสุข บุญเดช และพลเอกธีรเดช มีเพียร

อย่างไรก็ตาม ส.ว.สรรหากลับมาเป็นประธานวุฒิสภารอบที่ 3อีกก็ยังมีโอกาส ส.ว.สายสรรหายืนยันมาแล้วว่าจะส่งพวกส.ว.สรรหาชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาครั้งนี้แน่นอน แม้จะเริ่มมีแรงต้านจากส.ว.เลือกตั้งที่มองว่าที่ผ่านมาหลายปี ประธานวุฒิสภาก็ล้วนเป็นส.ว.สรรหา ก็ถึงเวลาที่ส.ว.สรรหาต้องเปิดทางให้ส.ว.เลือกตั้งได้เป็นประธานวุฒิสภาบ้างแล้ว

กระแสข่าวออกมาจากตึกวุฒิสภาอ้างว่า มีการโยนข้อตกลงกันออกมาว่า ฝ่ายส.ว.เลือกตั้งพร้อมจะเปิดทางให้ส.ว.สรรหาไปเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งแทนหากนิคมได้เป็นประธานวุฒิสภาหากส.ว.สรรหาช่วยดันนิคมอีกแรง

แต่ปรากฏว่า เงื่อนไขนี้ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ มากนัก และมองว่าเป็นแค่เงื่อนไขของพวกหนุนนิคม ที่เล่นโยนหินถามทางเพื่อวัดแรงหนุนนิคมขึ้นเป็นประธานวุฒิสภามากกว่า

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในซีกสภาสูงพบว่าส.ว.เลือกตั้งหลายคนยืนยันตรงกันว่าแม้ต่อให้นิคมเป็นประธานวุฒิสภาแล้วรองประธานวุฒิสภาคนที่1 ว่างลง เก้าอี้รองประธานวุฒิสภา ส.ว.เลือกตั้งก็ต้องชิงกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ส.ว.สรรหาได้ไปง่ายๆ

ตามข่าวขณะนี้ก็คือส.ว.เลือกตั้งจะดันนิคมเป็นประธานวุฒิสภาแล้วให้พ่วงดัน “ดิเรก ถึงฝั่ง”ส.ว.นนทบุรี เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แทนนิคม

ปรากฏว่า ตัวดิเรกก็ออกมาบอกแล้วว่าข่าวที่ว่าลงชิงประธานวุฒิสภาแข่งกับนิคมยังไม่ได้คิด แต่เห็นว่านิคมเหมาะสมจะเป็นประธานวุฒิสภามากกว่า

ส่วนข่าวจากซีกสว.สรรหา 74 คน พบว่ายังไม่มีการพบปะนัดคุยกันอย่างเป็นทางการที่บ้านของสว.คนใดในช่วงนี้แต่อาจมีการนัดเจอกันวงเล็กๆ ของพวกสว.สรรหากันเองบางส่วนเช่นกลุ่ม 40 สว. เพื่อหยั่งท่าทีและตรวจเช็คกระแสข่าวต่างๆ แต่ก็มีการโยนชื่อคนที่ส.ว.สรรหาประกาศจะดันลงชิงประธานวุฒิสภาไว้แล้ว 4 คน

ประกอบด้วย นายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา, พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ , นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มือกฎหมายคนสำคัญของวุฒิสภาชุดนี้

และ รศ.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ซึ่งหากได้รับเลือกก็จะเป็นประธานวุฒิสภาหญิงคนแรก

แต่ความชัดเจนคงเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงจะรู้ว่า ใครคือคนที่กลุ่มส.ว.สรรหาจะผลักดันลงชิงประธานวุฒิสภา

และตามธรรมเนียม กว่าจะถึงวันนัดประชุมลงมติเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ การล็อบบี้ต่างๆ คงเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ซึ่งหากทำแบบไม่น่าเกลียดอะไรก็ไม่มีใครว่า ขออย่าให้ถึงขั้นมีข่าวฉาวเงินสะพัดซื้อตำแหน่งก็พอแล้ว

หากถึงขั้นนั้น สภาสูงจะเสื่อมเสียเอง

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000092195

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง