มติ มส.ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ และไม่ปฎิบัติหน้าที่ของตน


พระจีวร'เหลือง-แดง!'มติมส.ไร้ความหมาย

พระจีวร "เหลือง-แดง!" ในวันที่...มติ มส.ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ : เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู / ภาพ ประเสริฐ เทพศรี

              เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น มหาเถรสมาคม (มส.) เคยมีคำสั่ง เมื่อพ.ศ.๒๕๓๘ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมจึงออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้

              ข้อ ๑ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้เรียกว่า "คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.๒๕๓๘"

              ข้อ ๒ คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เป็นต้นไป

              ข้อ ๓ ตั้งแต่วันใช้คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้ยกเลิกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.๒๕๑๗

              ข้อ ๔ ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุม หรือบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ

              ข้อ ๕ ห้ามพระภิกษุสามเณรทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด แก่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ

              ข้อ ๖ ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ

              ข้อ ๗ ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดหรือนอกวัด

              ข้อ ๘ ให้พระสังฆาธิการตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ชี้แจงแนะนำผู้อยู่ในปกครองของตน ให้ทราบคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ และกวดขันอย่าให้มีการฝ่าฝืนละเมิด

              ข้อ ๙ พระภิกษุสามเณรรูปใด ฝ่าฝืน ละเมิด คำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้พระสังฆาธิการปกครองใกล้ชิดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ถ้าความผิดเกิดขึ้นนอกเขตสังกัด ให้เจ้าคณะเจ้าของเขตที่ความผิดเกิดขึ้น ว่ากล่าวตักเตือน แล้วแจ้งให้พระสังฆาธิการผู้ปกครองใกล้ชิดดำเนินการ

              ข้อ ๑๐ ให้พระสังฆาธิการผู้มีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองทุกชั้น ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้โดยเคร่งครัด

              สั่ง ณ วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๘ ลงพระนามโดย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

              อย่างไก็ตามแม้ว่า มส.จะมีมติเรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ามติดังกล่าวไร้ความหมาย โดยเฉพาะกรณีการชุมนุมทางการเมือง ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง พระสงฆ์ต่างผ่ายต่างออกมาหนุ่นอย่างเต็มที่ และทุกครั้ง มส. ก็จะมีการคำสั่งผ่านไปยัง นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ห้ามพระเทศน์เรื่องเกี่ยวกับการเมือง และนำคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.๒๕๓๘ แจ้งไปยังเจ้าคณะปกครองแจ้งให้พระสงฆ์สามเณรได้ปฏิบัติ

              “พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้หรือไม่?” คำถามหนึ่งที่สังคมไทยถามกันบ่อย และดูเหมือนท่านพุทธทาสภิกขุจะตอบคำถามนี้ชัดเจนว่า พระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ต้องเป็นการเมืองในความหมายที่ว่า “เป็นการจัดการทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” เนื่องจากมนุษย์ทุกคนต่างรู้สึกเดือดร้อนในความไม่ปรกติ ใฝ่หาความเป็นปรกติแห่งชีวิต มนุษย์ทุกคน รวมทั้งพุทธบริษัท ทั้งพระเณร ชาววัด ชาวบ้าน จึงล้วนเป็น นักการเมืองโดยความรู้สึก”

              ท่านพุทธทาสเห็นว่า การยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในความหมายดังกล่าวเป็น “การปฏิบัติธรรม” ในความหมายของ “การปฏิบัติหน้าที่” เพื่อช่วยกันจัดกันทำให้สังคมสงบสุข การยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในความหมายดังกล่าวยังอาจยุ่งได้ในมิติอื่นๆ เช่น โดยการเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐและการสอนคุณธรรมต่างๆ ของผู้ปกครองและสมาชิกแห่งรัฐ

              ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเสนอคำอธิบายมูลเหตุของการก่อกำเนิดรัฐไว้ในอัคคัญญสูตร ทรงสอนคุณธรรมของผู้ปกครองที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม”และ “จักรวรรดิวัตร” ทรงวางหลักการตัดสินใจทางการเมืองของผู้ปกครองและสมาชิกแห่งรัฐคือ หลัก “อัตตาธิปไตย” ยึดความเห็นของตัวบุคคลเป็นใหญ่ “โลกาธิปไตย” ยึดเสียงส่วนมากเป็นใหญ่ และ “ธรรมาธิปไตย” ยึดความถูกต้อง เป็นใหญ่ โดยถือว่า ธรรมาธิปไตย เป็นหลักการตัดสินใจที่ดีที่สุด เป็นต้น

              ดังนั้นการเมืองที่พระสงฆ์ยุ่งได้ ก็คือการเมืองในความหมายของ “การจัดการทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” โดยการแสดงบทบาทเรียกร้องสันติวิธี เช่น ให้ “สติ” เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้ง บานปลายไปสู่ความรุนแรง และหรือให้แนวทางในการสร้างการเมืองที่พึงประสงค์ เช่น ให้ “ปัญญา” ในเรื่องรัฐในอุดมคติ อุดมการณ์ทางการเมือง คุณธรรมทางการเมือง หลักการตัดสินใจทางการเมือง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงทำเป็นแบบอย่าง หรือดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ทำโดยการเสนอ “ทฤษฎีธรรมิกสังคมนิยม"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ