"จีที200" - ตัวอย่าง "วิทย์เก๊" ลวงโลกแห่งยุคสมัย


ทางการผู้ดีฟ้องฉ้อโกง"จีที200" - ตัวอย่าง "วิทย์เก๊" ลวงโลกแห่งยุคสมัย

วิทยาการ ข่าวสด
ธีรนัย จารุวัสตร์ / รายงาน 

สัปดาห์ที่ผ่านมาหมาดๆ นี่เอง

สำนักข่าวใหญ่ยักษ์ "บีบีซี" เพิ่งรายงานไปทั่วโลกว่า ตำรวจอังกฤษนำตัว "จิม แม็กคอร์มิก" นักธุรกิจวัย 55 ปี จากประเทศอังกฤษ เจ้าของบริษัทเอทีเอสซี (ATSC) ขึ้นศาลและตั้งข้อหาฉ้อโกง 

ภายหลังผลการสืบสวนของทางการอังกฤษพบว่าอุปกรณ์ตรวจระเบิด รุ่น "เอดีอี 651" หรือที่บ้านเรารู้จักในชื่อ "จีที 200" ซึ่งบ.เอทีเอสซี ส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ กว่า 20 ชาติ รวมทั้งไทยนั้น..

ตรวจจับวัตถุระเบิดไม่ได้จริงตามที่กล่าวอ้าง!

ประเทศไทยเองก็เคยซื้อเครื่อง "จีที 200" นี้ด้วยงบประมาณหลาย ล้านบาทเช่นกัน จนสุดท้ายการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์พบ ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่มี ประสิทธิภาพใดๆ เลย ข่าวการดำเนินคดีนายแม็กคอร์มิกจึงเป็นเสมือนการ "เปิดบาดแผลอดีต" ให้หลายฝ่ายกล่าวขวัญถึงสถานะไม้ล้างป่าช้าของเจ้าเครื่อง "จีที 200" กันอีกครั้ง

สื่อตะวันตกเริ่มแสดงข้อกังขาต่อคำอวดอ้างสรรพคุณของ "เอทีเอสซี" หลังกองทัพอิรักสั่งซื้อเครื่อง "เอดีอี 651" มาใช้ตรวจหาระเบิดที่กลุ่มติดอาวุธมักลักลอบเข้ามาก่อเหตุในกรุงแบกแดดเป็นประจำ 

"เอดีอี 651" เครื่องหนึ่งราคาประมาณ 500,000-1,000,000 บาท รัฐบาลอิรักทุ่มงบประมาณทั้งหมด 3 พันล้านบาทกับอุปกรณ์นี้ 

เหตุระเบิดพลีชีพด้วยระเบิดหนัก 2,000 กิโลกรัม ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนกว่า 155 ราย กลางกรุงแบกแดด เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2552 ก่อให้เกิดคำถามว่าผ่านจุดตรวจที่เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องเอดีอี 651 มาได้อย่างไร 

เหตุระเบิดที่อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2552 ทั้งที่เครื่องจีที 200 ระบุว่าไม่มีระเบิด ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทยจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยกับประสิทธิภาพของเครื่องจีที 200 เช่นกัน

กล่าวได้ว่า กรณีเครื่องจีที 200 เป็นหลักฐานและตัวอย่างของ "วิทยาศาสตร์ปลอม" หรือ "วิทย์เก๊" (Pseudoscience) ที่เห็นชัดเจนที่สุดชิ้นหนึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน


"วิทย์เก๊" คือ การผลิตผลิตภัณฑ์หรือชุดความเชื่อที่อ้างว่า "มีฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์" หรืออ้างว่าวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้

แต่เมื่อเอาเข้าจริงแล้วกลับไม่สามารถอธิบายกลไกการทำงานได้ตามหลักการวิทยาศาสตร์ 

หรือเมื่อผ่านการทดลองอย่างจริงจังก็ทำงานไม่ได้จริงตามคำกล่าวอ้าง 

ในกรณีจีที 200 ผู้ผลิตอ้างว่าสามารถตรวจจับวัตถุที่ต้องการค้นหา ไม่ว่าจะเป็นระเบิด กระสุนปืน ยาเสพติด หรือแม้กระทั่งงาช้าง ด้วยสนามแม่เหล็ก และเครื่องนี้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ เพราะใช้พลังงานจากไฟฟ้า สถิตในร่างกายมนุษย์ 

คำกล่าวข้างต้นขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ เมื่อผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย นำทีมพิสูจน์การทำงานของเครื่องนี้ ปรากฏว่าเครื่องนี้ตรวจหาระเบิดได้ถูกต้องเพียง 4 ใน 20 ครั้ง หรือเท่ากับการเดาสุ่มเท่านั้น

เมื่อ "วิทย์เก๊" ถูกท้าทายโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ก็มักมีฝ่าย "แถ" ด้วยคำอธิบายที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ 

เช่น ในกรณีจีที 200 ผู้สนับสนุนโต้แย้งว่า เครื่องทำงานผิดพลาดเพราะผู้ใช้นอนหลับไม่เพียงพอ มีคลื่นรบกวนในอากาศ ฯลฯ

ฟังแล้วครั้นจะหัวเราะก็หัวเราะไม่ออก ทั้งแม้อยากร้องไห้ก็ยากที่น้ำตาจะไหลกับตลกร้ายที่ผลาญงบประมาณประเทศไปไม่น้อยเช่นนี้ !?!


อกเหนือจากจีที 200...

เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วก็มีสินค้าชื่อ "เหรียญ ควอนตั้ม" สร้างความฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นที่นิยมของดารา-บุคคลชื่อดังในสังคมจำนวนมาก 

โดยโฆษณาสรรพคุณหลากหลาย ไม่ว่าจะรักษาโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรง ชะลอความชรา คลายอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ลดอาการอักเสบของแผล ผดผื่น ช่วยลดริ้วรอยแห่งวัย ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ช่วยเพิ่มสมดุลในร่างกาย เคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง ฯลฯ

เหรียญควอนตั้มอันหนึ่งๆ มีราคากว่า 6,000 บาท อ้างว่าทำงานโดย "พลังงานสเกลาร์" 

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงการต้มตุ๋น พร้อมทั้งห้ามจำหน่ายเพราะผิดกฎหมายหลอกลวงผู้บริโภค 

ทั้งนี้ คำว่าสเกลาร์ก็เป็นเพียงศัพท์วิทยาศาสตร์ทั่วไป หมายถึงปริมาณรังสีที่พุ่งออกมา ซึ่งวัตถุรอบตัวเราก็มีรังสีทั้งสิ้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา


นโลกตะวันตกก็มีสินค้าที่คล้าย "เหรียญ ควอนตั้ม" เช่นกัน คือริสแบนด์ "เพาเวอร์ บาลานซ์" อ้างว่าเพิ่มสมดุลร่างกาย เล่นกีฬาได้ดีขึ้น มีดาราและไฮโซฝรั่งสวมใส่เป็นแฟชั่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น "ลินด์ซีย์ โลแฮนด์" และ "คริสเตียโน่ โรนัลโด้" หรือแม้กระทั่ง "เคต มิดเดิลตั้น" พระชายาเจ้าชาย วิลเลี่ยมแห่งอังกฤษ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วบริษัทเจ้าของริสแบนด์นี้ถูกศาลสหรัฐปรับให้จ่ายค่าเสียหายกว่า 57 ล้านดอลลาร์แก่กลุ่มผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องในข้อหาหลอกลวง และต้องขึ้นประกาศยอมรับว่า "เพาเวอร์ บาลานซ์" ไม่มีหลักการวิทยาศาสตร์ใดๆ สนับสนุนเลย!

เหรียญควอนตั้มจึงเข้าข่ายลักษณะหนึ่งของ "วิทย์เก๊" คือ มักใช้คำศัพท์หรือแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่บิดเบือนเพื่อให้ฟังดูลึกลับ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้แก่สาธารณชนที่ไม่มีความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์มากนัก 

ในอดีตเคยมีการเผยแพร่ข้อความล้อเลียนให้ระวังสารไดไฮโดรเจน โมน็อกไซด์ ที่ทำให้ขาดอากาศหายใจได้ ซึ่งสารนี้ฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วไดไฮโดรเจน โมน็อกไซด์ คือชื่อวิทยาศาสตร์ของ "น้ำ" ที่เราคุ้นเคย!

ดังนั้น สินค้าหลากหลายในท้องตลาดที่มักอ้างศัพท์วิทยาศาสตร์ให้ฟังดูแปลกหู จนไปถึงพลังลึกลับที่รักษาโรค/เพิ่มพลังชีวิต โดยอ้างหลักวิทยาศาสตร์ ก็เสี่ยงเข้าข่าย "วิทย์เก๊" ได้ ประชาชนควรใช้วิจารณญาณและตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำกล่าวอ้างเหล่านี้ก่อนจะหลงเชื่อนั่นเอง 

"วิทย์เก๊" นอกจากจะทำให้ผู้หลงเชื่อเสียเงินเสียทองจำนวนมาก แล้วยังเป็นอันตรายต่อชีวิตในหลายกรณีด้วย ดังเช่นเครื่องตรวจวัตถุระเบิดลวงโลกในอิรักและไทยตามที่ยกตัวอย่างมา


"วิทย์เก๊" ที่กำลังตกเป็นข่าวในโลกตะวันตกตอนนี้คือ "โฮมีโอพาธีย์" (Homeopathy) เป็นแนวคิดที่อ้างว่า หากนำสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาเจือจางหลายเท่าตัว จะเป็นยารักษาโรคหรือบำรุงสุขภาพได้ แนวคิดโฮมีโอพาธีย์นี้มีที่มาจากประเทศเยอรมนี เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว

ล่าสุด โฮมีโอพาธีย์ได้รับความนิยมในสหรัฐและอังกฤษอย่างมาก โดยโฆษณาว่าสารตั้งต้นของยามาจากธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุหรือสมุนไพรรักษาโรคได้หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รับรองสรรพคุณของโฮมีโอพาธีย์เลย ส่วนใหญ่ระบุว่าที่รักษาได้ก็เป็นเพราะปรากฏการณ์ "ยาหลอก" ที่ผู้ป่วยคิดไปเอง

เมื่อปี 2552 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนว่า มีการใช้ยา โฮมีโอพาธีย์เพื่อรักษาโรคร้ายแรง เช่น วัณโรค หรือเอชไอวี-เอดส์ ในประเทศด้อยพัฒนา เนื่องจากหลายคนเข้าใจว่ายานี้มีผลรักษาได้จริง

สำหรับในประเทศไทย ยังไม่แน่ชัดว่าความนิยมโฮมีโอพาธีย์มากน้อยเพียงใด แต่เริ่มมีการโฆษณาว่าโฮมีโอพาธีย์รักษาสิว หรือโรคร้ายต่างๆ แล้ว!

อันตรายที่สำคัญของ "วิทย์เก๊" คือทำให้ประชาชนหลงเชื่อในการป้องกันภัยที่ผิดๆ จนสุดท้ายก็ต้องเผชิญต่อภัยนั้นอยู่ดี ทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากใช้การแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ 

ในประเทศไทย "วิทย์เก๊" อาจหลอกให้มีผู้หลงเชื่อได้เรื่อยๆ ถ้าหากผู้มีชื่อเสียงในสังคมยังพูดว่า "อย่างมงายในวิทยาศาสตร์" หรือ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"

ทั้งที่ควรจะเสริมสร้างความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์

ซึ่งเน้นการ "พิสูจน์" เป็นหลักให้แก่สังคมนั่นเอง!

ลักษณะสำคัญของ "วิทย์เก๊" (Pseudoscience)

- อ้างหลักการหรือแนวคิดวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อทดลองหรือถูกตั้งคำถาม ไม่สามารถอธิบายกลไกการทำงานได้

- ใช้คำศัพท์ที่ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์ แต่อาจไม่มีความหมายพิเศษใดๆ

- เมื่อทดลองแล้วไม่ได้ผลจริง มักอ้างเหตุผลต่างๆ นอกจากนี้ยังหลีกเลี่ยงการทดลองอีกด้วย

- อ้างบุคคลระดับสูง (appeal to authorities) เช่น อ้างว่าดาราหรือบุคคลชื่อดังใช้สินค้า หนึ่งๆ หรืออ้างการรับรองจากบุคคลในอาชีพที่น่าเชื่อถือ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยการยอมรับทั้งวงการอย่างสากล

- อ้างธรรมชาติหรือความเชื่อโบราณ ยิ่งธรรมชาติหรือโบราณเท่าใดยิ่งดูน่าเชื่อถือ ทั้งที่ในทางวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติมิได้ดีต่อมนุษย์เสมอไป (เช่น พิษงู) และความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาด้วยการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง