ผบ.ตร.คนที่ 9 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว



ก.ต.ช.ประชุมม้วนเดียวจบ "อดุลย์" ผงาดนั่งเก้าอี้ผบ.ตร.คนที่ 9

 เมื่อเวลา 10.45 น.วันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่สนามบินสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการประชุมก.ต.ช.ช่วงบ่ายวันนี้ว่าจะได้ตัวผบ.ตร.คนใหม่หรือไม่ โดยนายกฯ หัวเราะและกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ขอประชุมก่อน อย่าเพิ่งพูดอะไร

 เมื่อถามว่ามีผบ.ตร.ในใจแล้วใช่หรือไม่ นายกฯยิ้ม เมื่อถามว่าใช่อักษรตัวย่อ อ. หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ตอบ ก่อนรีบขึ้นรถออกไปทันที

 ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการประชุมก.ต.ช.เพื่อเลือกผบ.ตร.คนใหม่ โดยล่าสุดมีชื่อพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 3 และพล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 เป็นตัวเก็งว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นตัวเก็ง แต่ทราบว่านายกฯตั้งผบ.ตร.แน่นอน ส่วนจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสหรือไม่ เป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกฯ พูดมากไม่ได้

 ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าพล.ต.อ.อดุลย์หรือพล.ต.อ.ปานศิริเป็นผบ.ตร.จะทำให้การทำงานเป็นอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่แสดงความเห็น แต่พลตำรวจเอกที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อทั้ง 10 คน ตนรู้จักดี ทำงานได้ทั้งหมด

 ต่อมาเวลา 14.30 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานประชุมก.ต.ช. ที่ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเลือกผบ.ตร. แทนพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้

 สำหรับผบ.ตร.คนใหม่มีตัวเก็ง 2 คน คือ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 นักเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.) รุ่น 28 เกษียณอายุราชการปี 2556 กับพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 3 นรต. รุ่น 29 เกษียณอายุราชการปี 2557

 รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ระบุว่า ตำแหน่งผบ.ตร.ต้องมาจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก โดยการแต่งตั้งผบ.ตร.นั้น นายกฯ ในฐานะประธานก.ต.ช. ต้องคัดเลือกนายตำรวจยศพลตำรวจเอกเสนอให้ที่ประชุมก.ต.ช.เห็นชอบ ส่วนสาเหตุที่นายกฯ ต้องการแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ล่วงหน้าเร็วกว่าปกติ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองจากนี้ไปมีแนวโน้มขัดแย้งรุนแรง รัฐบาลจึงต้องการวางตัวผบ.ตร.ไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้ทำหน้าที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรับมือความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนต่างๆ

 รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลักเกณฑ์การแต่งตั้งผบ.ตร.นั้น นายกฯ ในฐานะประธานก.ต.ช.จะเสนอชื่อนายตำรวจยศพลตำรวจเอก 1 รายชื่อ ให้ก.ต.ช.อีก 10 คนพิจารณา ถ้าก.ต.ช.มีมติเกินกึ่งหนึ่งเห็นชอบตามที่ประธานก.ต.ช.เสนอ นายตำรวจผู้นั้นก็จะผ่านความเห็นชอบได้รับแต่งตั้งเป็นผบ.ตร. รอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป แต่ถ้าได้เสียงก.ต.ช.ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ประธานก.ต.ช.ต้องเสนอรายชื่อนายตำรวจที่เหมาะสมเข้าสู่การพิจารณาของก.ต.ช.อีกครั้ง

 สำหรับก.ต.ช.ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานก.ต.ช. 2.รมว.มหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) 3.รมว.ยุติธรรม (พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก) 4.ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายพระนาย สุวรรณรัฐ) 5.ปลัดกระทรวงยุติธรรม (นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์) 6.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. (พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี) 7.ผบ.ตร. (พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8.นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม 9.นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 10.น.ส.สุภา ปิยะจิตติ 11.พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้

 ทั้งนี้ นายตำรวจยศพลตำรวจเอก 10 นายที่มีคุณสมบัติได้รับเลือกเป็นผบ.ตร. เรียงตามลำดับอาวุโส 1.พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผบ.ตร. 2.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผบ.ตร. 3.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. 4.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. 5.พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร. 6.พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล รองผบ.ตร. 7.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ปรึกษา(สบ10) 8.พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา(สบ10) 9.พล.ต.อ.ชลธาร จิราณรงค์ หน.นรป(สบ10) และ10.พล.ต.อ.อมรินทร์ อัครวงษ์ ที่ปรึกษา (สบ10) ด้านกฎหมายและสอบสวน

 ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ต่อมา ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธานประชุมก.ต.ช. ซึ่งใช้เวลานานประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมก.ต.ช.เห็นชอบให้พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผบ.ตร.คนใหม่ด้วยมติเอกฉันท์ ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เสนอ

 สำหรับประวัติ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว มีชื่อเล่นว่า อู๋ เกิดวันที่ 8 เม.ย.2497 ที่อ.เมือง จ.นครพนม เป็นบุตรชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของนายอุดม และนางอัมรา แสงสิงแก้ว สมรสกับนางอรัญญา อรัณยกานนท์
 ประวัติการศึกษา โรงเรียนอนุบาลนครพนม โรงเรียนสุนทรวิจิตร โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา กทม. โรงเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.) รุ่น 29 

 หน้าที่การงานเติบโตในกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ปี 2531 เป็นรองผกก.อก.บก.ตชด.ภาค 1 ปี 2534 อาจารย์ประจำนรต. ปี 2535 รองผบก.วิชาการ นรต. ปี 2540 ผบก.กองแผนงาน 1 ปี 2541 ผบก.จร. ปี 2543 ผู้ช่วยผบช.น. ปี 2545 รองผบช.น. ปี 2547 ผบช.ภาค 3 ปี 2548 ผบช.ภาค 9 ปี 2549 ผู้ช่วยผบ.ตร. ควบผบช.ภาค 9 ปี 2552 ที่ปรึกษา(สบ 10) ปี 2553 รองผบ.ตร. วันที่ 1 ต.ค.2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) อีกตำแหน่ง

 วันที่ 16 ก.ค.2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นผบ.ตร.คนที่ 9 มีผลวันที่ 1 ต.ค. 2555

 วันเดียวกัน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวหลังทราบผลมติคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เป็นเอกฉันท์ ให้ดำรงดำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร.) คนที่ 9 แทน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์  ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้ว่า เป็นมติที่ภาคภูมิใจอย่างมากและขออุทิศตนเพื่องานทั้งหมด โดยส่วนตัวจะดำเนินงานในทุกด้านอย่างเต็มที่โดยเฉพาะนโยบายด้านยาเสพติด

 ต่อข้อถามถึงกรณีจุฬาราชมนตรี จะเชือดแพะเพื่อฉลองในโอกาสที่ได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตนได้ทำงานที่ภาคใต้มานานหลายปี และผูกพันกับพี่น้องชาวมุสลิม

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้ทราบมติ ก.ต.ช. ทางโทรศัพท์ โดยทีมงานนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวมา อยู่ระหว่างร่วมพิธีเปิดโครงการมัสยิดเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติด 84 พรรษา เทิดไท้องค์ราชัน ร่วมกันคืนคนดีสู่สังคม ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก โดยมี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เป็นประธาน ซึ่งนายอาศิส  พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้กล่าวกับพี่น้องชาวมุสลิมให้ร่วมกันทำชุมชนและมัสยิดให้ปลอดจากยาเสพติด เพราะปัญหายาเสพติดทำลายศาสนาด้วย โดยระหว่างกล่าวบนเวที จุฬาราชมนตรีได้ร่วมแสดงความยินดีกับ พล.ต.อ.อดุลย์ พร้อมประกาศจะเชือดแพะทำบุญเลี้ยง ในโอกาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.คนใหม่

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNME1qUXlPRFUwTXc9PQ==&subcatid=

 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง