จนมุมคาศาล


วันศุกร์ ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555, 20.43 น.
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์  ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นเบิกความในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 โดยยืนยันว่า ไม่เคยคิดล้มล้างการปกครอง  ตนใช้เวลาอยู่กับสภามา 30 ปี มากกว่าครึ่งชีวิตน่าจะประจักษ์พยานว่า เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่มีเหตุผลล้มล้างการปกครอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 7 หน้า แต่ใช้เวลาพิจารณา 15 วัน 15 คืน เป็นสถิติสูงสุดในการใช้เวลาของสภา ที่บอกว่ารวบรัด เร่งรัด จึงขัดหลักความเป็นจริง ทั้งนี้ ในประเด็นมาตรา 291/13 ที่ให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ตนตั้งใจว่า จะตั้งคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง อาทิ คณบดีคณะนิติศาสตร์จากทุกมหาวิทยาลัย มาร่วมเป็นกรรมการ หากเห็นอย่างไร ตนก็ว่าตามนั้น
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนข้อหาที่ว่า ทำหน้าที่ไม่เป็นกลางนั้น แม้ว่าจะเป็นส.ส.เพื่อไทย แต่คนที่มาอยู่ในตำแหน่งประธานสภาฯมีศักดิ์ศรี คงไม่เอาเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของสถาบันนิติบัญญัติไปเอาเปรียบเรื่องเล็กๆน้อยๆทางการเมือง การมากล่าวหาเช่นนี้เป็นการลบหลู่เกินไปหรือไม่ ยืนยันว่า ไม่เคยได้รับใบสั่งใคร กรณีการลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่พรรคเพื่อไทยและคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยมีมติให้ลงมติวาระ 3 แต่มีตนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ก็ชี้ชัดว่า ตนไม่ได้รับใบสั่งใคร  ทั้งการโหวตวาระ 3 หรือการถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองออกไปก่อน เพราะโดยหลักการไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันตาย  ซึ่งตนไม่ทำตัวให้เสื่อมต่อ1 ใน 3 สถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ของชาติแน่นอน
จากนั้น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องที่ 1 ได้ซักถามเรื่องคลิปเสียงนายสมศักดิ์ที่หลุดออกมา ซึ่งระบุถึงที่มาของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และการทำหน้าที่ของประธานสภาอย่างไม่เป็นกลาง แต่นายสมศักดิ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว โดยระบุว่าสัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ สิ่งที่ถามเป็นเรื่องนอกประเด็น และเกิดขึ้นหลังการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการล้มล้างการปกครองนั้น เป็นจินตนาการของผู้ร้องมากกว่า และยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้อยู่เบื้องหลังการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ยอมรับว่า เคยคุยโทรศัพท์กับพ.ต.ท.ทักษิณบ้าง แต่ไม่มีส่วนในการตัดสินใจ รวมถึงไม่มีแรงกดดันจากส.ส.เสื้อแดง หรือคนเสื้อแดงในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้
ขณะที่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถามนายสมศักดิ์ว่า "ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอลงมติวาระ 3 ในมาตรา 291/11 วรรคห้า ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ อันนี้หมายความว่าหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะให้ลอกของปี 2550 ใช่หรือไม่" นายสมศักดิ์ ตอบว่า "ควรเป็นอย่างนั้น" นายวสันต์ถามอีกว่า "ถ้าเขาร่างให้ผิดเพี้ยนไปจากกลุ่มนี้ และอยู่ในอำนาจท่านคนเดียวท่านได้ตอบไปแล้วว่าจะมีทีมงานพิจารณา" นายสมศักดิ์ ตอบทันทีว่า "เอาสรุปง่ายๆดังนี้เลยครับว่าหมวด 2 ไปแตะไม่ได้เลย"
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถามขยายความเพิ่มเติมว่า "พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอยู่ในหมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มีอยู่กระจายทั่วๆไป พระราชอำนาจในการที่จะทรงยับยั้งร่างกฎหมายชั่วครั้งชั่วคราว พระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบุคคล สิ่งเหล่านั้นถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงท่านจะถือหรือไม่ว่านี่คือหมวดพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน" นายสมศักดิ์ชี้แจงว่า "ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นทางออกควรให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางมาช่วยพิจารณาน่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนตัวเห็นว่า หลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ มีหลักสำคัญ 3 ประการ 3 สถาบัน นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งตรงนี้ไม่น่าไปแตะต้องเลย ส่วนประเด็นอื่นๆน่าจะพิจารณาตามความเหมาะสม"

จากนั้น นายวสันต์ จึงถามว่า ถ้าแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์แล้วไปตัดพระราชอำนาจพระราชอภัยโทษ ตัดพระราชอำนาจยับยั้งกฎหมายชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่ง นายสมศักดิ์ ตอบว่า ถ้ากรณีนี้ถือว่าเข้าข่าย จากนั้น นายวสันต์ ได้ถามย้ำว่า ถ้ากรณีนี้ถือว่าแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์เช่นกัน ทำให้ นายสมศักดิ์ กล่าวยอมรับเพียงว่า "ครับ"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง