ประวัติศาสตร์ งานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระสังฆราช ช่วยแชร์เพื่อร่วมถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ ครับ


สมเด็จพระสังฆราชกับคอมพิวเตอร์
สมเด็จพระสังฆราชกับคอมพิวเตอร์ : ทศพนธ์ นรทัศน์ ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน www.ictforall.org เรียบเรียง
เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ นับเป็นมหามงคลสมัยที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้แสดงความสำนึกในพระเมตตาและพระบารมีธรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ที่ทรงมีต่อพระบวรพุทธศาสนาและประชาชนเป็นเอนกประการ

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) มีพระนามเดิมว่า “เจริญ” นามสกุล “คชวัตร” ทรงมีพระชาติภูมิ ณ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี ทรงอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯกับคอมพิวเตอร์
หนังสือ “พระผู้สำรวมพร้อม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ซึ่งจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานบำเพ็ญพระกุศล คล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา ๙๙ ปี วันพุธที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ หน้า ๑๒๑-๑๒๓ ได้กล่าวไว้ว่า “พระอุปนิสัยใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาอยู่เสมออันได้รับการปลูกฝังมาแต่ยังเป็นพระหนุ่ม ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในกรณีเรื่อง “คอมพิวเตอร์”
ในโลกยุคทศวรรษ ๒๕๒๐ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะยังเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีราคาสูงลิบลิ่ว และการใช้งานก็ยุ่งยากซับซ้อน หากแต่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่มีพระชันษา ๗๐ ปี ก็ทรงศึกษาจนสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว ดังที่พระภิกษุ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย (ศากยะ) พระสงฆ์ชาวเนปาลที่ถวายงานใกล้ชิดเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มานานหลายสิบปีเล่าไว้ว่า
“ตอนนั้นน่าจะราวปี ๒๕๒๕ อาตมาอยากได้เครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในสำนักเลขานุการ จึงติดต่อไปทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย สมัยนั้นคอมพิวเตอร์แบบ ๑๖ บิต ราคาเครื่องละสาม-สี่แสนบาท อาตมาก็ไปติดต่อเป็นการภายในไว้แล้ว แต่การจะเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในวัด สมัยนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกัน (เพราะ) ดูไม่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์”
“เย็นวันหนึ่งอาตมาเห็นว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ปลอดโปร่ง จึงไปกราบทูลว่าอยากได้อุปกรณ์เพิ่มเติมในสำนักงาน พระองค์รับสั่งว่าพิมพ์ดีดไฟฟ้าก็มีแล้วนี่ เลยกราบทูลว่าอยากได้คอมพิวเตอร์ พระองค์ก็ถามว่าคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร อาตมาก็อธิบายโครงสร้างการทำงานของคอมพิวเตอร์ให้พระองค์ฟังอย่างละเอียดด้วยความภาคภูมิใจ พระองค์ฟังจบแล้วก็ยังนิ่งอยู่ พระองค์นิ่งอยู่พักใหญ่ อาตมาก็ทูลว่า เกล้าฯ ขอประทานอนุญาตนำคอมพิวเตอร์มาใช้ พระองค์ก็นิ่งอีก อาตมาก็ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ”
“สิ่งแรกที่พระองค์รับสั่งก็คือ คุณไปนั่งกรรมฐานดีกว่า ไปฝึกปฏิบัติดีกว่า ใจอาตมาที่พองโตเลยแฟบลง ในใจตอนนั้นก็ยังคิดว่าพระองค์สูงอายุแล้ว ก็คงไม่มาสนใจของใหม่ๆ แบบนี้ พระองค์ตรัสต่อว่า ถ้าคุณฝึกปฏิบัติ คุณก็ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพราะตัวคุณนั่นแหละเป็นคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ยังต้องใช้คีย์บอร์ดป้อนข้อมูล คุณก็มีตั้งแต่เกิด มีอายตนะ ตาหูจมูกปากลิ้น ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คุณก็รับข้อมูลตลอดเวลา ฮาร์ดดิสก์ของเรามีไม่จำกัด ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ ถ้าขาดสมาธิ ขาดการฝึกจิต ก็เหมือนขาดซอฟต์แวร์ ไม่ซอฟต์แวร์คุณก็มั่ว”
“พระองค์ฟังแค่นั้น ก็เข้าใจระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์หมดเลย พระองค์รับสั่งว่า การฝึกจิตคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ พระองค์ก็ถามอาตมาว่า คุณเคยฝันไหม อาตมาก็บอกว่าเคยฝัน ฝันว่าบินได้ก็เคย พระองค์รับสั่งว่า คุณฝันว่าบินได้ ก็เพราะข้อมูลมันสับสน เวลามีสติอยู่ สามารถแยกข้อมูลออก เราก็รู้ว่าคนบินไม่ได้ แต่เวลาหลับ ไม่มีสติสัมปชัญญะ ดังนั้น พระอรหันต์จึงไม่ฝัน (เมื่อ) จิตใจชัดเจน ข้อมูลก็จะไม่สับสน เสร็จแล้วพระองค์ก็รับสั่งว่า อนุญาต แล้วก็ถามรายละเอียดว่าไปหามาจากที่ไหน อย่างไร พระองค์รับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เอามาเผื่อที่นี่ด้วย...”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงนิยมใช้คำแทนพระองค์เองกับผู้ใกล้ชิด หรือในหมู่ญาติพี่น้องว่า “ที่นี่” เสมอ ด้วยการเพียรศึกษาคอมพิวเตอร์จากพระภิกษุที่มีความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์เป็นประจำทุกวัน วันละ ๑ ชั่วโมง ภายในเวลาไม่นาน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์โปรแกรม DOS ได้ หลังจากนั้นพอดีเกิดมี “บุดเซอร์” (BUDSIR – Buddhist Scripture Information Retrieval) โปรแกรมพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ภาษาบาลี อักษรไทย และโรมัน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก (พ.ศ. ๒๕๓๑) พระองค์จึงสามารถใช้งานโปรแกรมดังกล่าวสืบค้นพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ที่มีมากกว่า ๒๕ ล้านตัวอักษรได้อย่างสะดวก
“ตอนหลังเวลาร่างเอกสารอะไร พระองค์ก็ร่างในคอมพิวเตอร์ เมื่ออาตมาทูลว่าจะให้พิมพ์ให้หรือไม่ พระองค์กลับตอบว่าพิมพ์เสร็จแล้ว คุณไปก๊อบปี้เอาสิ” พระอนิลมานย้อนรำลึก”

งานฉลองพระชันษา๑๐๐ปี
งานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ มีระยะเวลาของการจัดงานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปีฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เนื่องจากวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นวันครบ ๒ รอบ หรือ ๒๔ ปี ของการได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันปฏิบัติและจัดกิจกรรมถวายเป็นพระกุศลแด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ดังนี้
๑.ประดับธงตราสัญลักษณ์งานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปีฯ ตามอาคารของหน่วยงานและบ้านเรือนที่เหมาะสม โดยประดับในระยะเวลาของการจัดงานฉลองพระชันษาฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน – ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
๒.เข้าร่วมงานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปีฯ ระหว่างวันที่ ๑-๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการจัดนิทรรศการและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา อาทิ พิธีทำบุญตักบาตร การจัดนิทรรศการ “พระชันษา ๑๐๐ ปี สดุดีพระสังฆบิดร” ณ อาคารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร การจัดประชุมเสวนาพระธรรมทูตไทย ๔ ทวีป (ณ ตึก สว ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร) พิธีบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุประทาน และพิธีบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี (ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร) การทอดผ้าป่าสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://watbowon.com/
๓.ลงนามถวายพระพรแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในการฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ ๑-๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
๔.ร่วมบริจาคโลหิตถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๐๐-๑๕.๐๐ น. ณ อาคารวชิรญาณวงศ์ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ
๕.เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการปฏิบัติบูชา “ญาณสังวร” ฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bia.or.th
๖.จัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระประวัติและพระศาสนกิจของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ วัด สาธารณสถานต่างๆ โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแผ่นภาพนิทรรศการได้ที่http://watbowon.com/100y/download/
๗.จัดพิมพ์หนังสือพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร เผยแพร่เป็นธรรมทาน โดยสามารถติดต่อขออนุญาตได้ที่ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร เลขที่ ๒๔๘ ถนนพระสุเมรุ แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทร. ๐-๒๒๘๐-๘๒๐๒ โทรสาร
๐-๒๒๘๐-๐๓๔๓
๘.การปฏิบัติบูชาตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตให้ผ่องใส
จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายน้อมเกล้าฯ ถวายพระกุศลถวายพระพร ให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงมีพระสุขพลานามัยสมบูรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เสด็จสถิตเป็นสิริมิ่งมงคลแก่ปวงพุทธบริษัทและปวงชนทั่วไป ตลอดกาลนานเทอญ…ทีฆายุโก โหตุ สังฆปริณายโก ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา


http://www.komchadluek.net/detail/20130923/168887/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html#.UkohxdJ7J4E

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง