สร้างบุญหรือว่าสร้างบาปให้แก่คนไทย ? นี่คือความจริงที่ไม่มีใครเขียนมาเป็นเวลาหลายพันปี


หุ้มทองคำ 250 กิโลกรัม บนยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา
สร้างบุญหรือว่าสร้างบาปให้แก่คนไทย ?

ทางเหนือมีสุภาษิตว่า "เห็นเงินหน้าดำ เห็น (ทอง) คำ หน้าเส้า" ความหมายก็คือ เห็นเงินเห็นทองแล้วหน้ามืด เกิดความโลภ  ถ้าไม่เห็นก็ไม่โลภ ดังนั้น เงินทองจึงเป็นของที่ต้องปกปิดให้มิดชิด พอๆ กับของลับ อย่าให้ใครเห็นหรือแม้แต่ล่วงรู้ว่าอยู่ไหน ไม่งั้นก็ไม่ปลอดภัย ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่า เงินทองเป็นอันตรายระดับ "อสรพิษ" เลยทีเดียว ดังมีพระพุทธดำรัสกับท่านพระอานนท์ เมื่อทรงพบถุงเงินที่พวกโจรทิ้งไว้ริมคันนาว่า "อาสีวิโส อานนฺท" แปลว่า "อานนท์ นั่นคืองูพิษ" ซึ่งก็คงจะเข้าตำราชาวนาเอางูซึ่งขนดนอนหนาวไปผิงไฟ แล้วก็ถูกงูแว้งกัดเอาในที่สุด

หุ้มทองคำ 250 กิโลกรัม บนยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา
สร้างบุญหรือว่าสร้างบาปให้แก่คนไทย ?

เป็นคำถามที่ผู้เขียนขอนำไปให้เป็นการบ้านแก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน และคณะกรรมการโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา ว่าคิดรอบคอบแล้วหรือจึงอาสาเข้ามาทำงานใหญ่ระดับโลกใบนี้
ก่อนอื่นต้องขอเท้าความถึง "ที่ไปที่มา" ของพระมหาเจดีย์พุทธคยา ประวัตินั้นรู้สึกว่าผู้เขียนจะเคยเล่าไว้ในตอนไปนมัสการสังเวชนียสถานในอินเดีย-เนปาล เมื่อสามปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ขอเล่าซ้ำอีกนิดว่า เมื่อพระพุทธศาสนาถูกกองทัพของมุสลิมเข้าโจมตีในเขตรัฐพิหารอันเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดใน พ.ศ.1750นั้น วัดวาอารามศาสนสถานต่างๆ ที่บรรดาพระมหากษัตริย์อินเดียซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามาร่วมๆ 2 พันปี ได้ทำนุบำรุงวัดวาอาราม ก่อให้เกิดความมั่งคั่งมีเงินทองเต็มวัดนั้น ก็ถูกกองทัพมุสลิมปล้นเอาทรัพย์สินเงินทองไปหมด พระสงฆ์องค์เณรถูกสังหารตายเป็นหมื่นๆ รูป เสร็จแล้วกองทัพของพระอ้าหล่าก็ดำเนินการ "ฌาปนกิจ"ทั้งวัดทั้งพระสงฆ์สามเณรไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะบริเวณมหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งโดยสถิตินั้นมีพระสงฆ์อยู่ศึกษาถึง 10,000 กว่ารูป ได้แปรสภาพเป็น "ทุ่งสังหาร" ระดับที่สมรภูมิเดียนเบียนฟูในเวียตนามต้องเรียกพี่

นี่คือประวัติศาสตร์ !!

ส่วนบริเวณพุทธคยานั้นก็ชัดเจนว่า มีกองทัพทั้งพราหมณ์และมุสลิมเติร์ก ได้ยกกองกำลังเข้าปล้นเมืองเหมือนมาเป็นขาประจำ โชคยังดีที่มีคนเอาฟางไปอุดช่องพระเจดีย์พุทธคยาไว้หนาแน่น กองทัพที่รีบร้อนจึงไม่มีเวลาไปแกะฟางออก หลวงพ่อเมตตาจึงอยู่รอดปลอดภัย หาใช่อภินิหารดังที่พวกบ้าปาฏิหาริย์โฆษณาแต่อย่างใดไม่
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้บริเวณพุทธคยาถูกหมายตาจากกองทัพต่างศาสนาก็คือ "ความมั่งคั่ง" นั่นเอง หาใช่เพราะความเกลียดชังทางศาสนาแต่อย่างใดไม่ เอาสงครามศาสนาบังหน้า เบื้องหลังก็กอบโดยเงินทองขึ้นหลังม้านำกลับไปกินใช้สบายมือ นี่คือความจริงที่ไม่มีใครเขียนมาเป็นเวลาหลายพันปี มัวแต่ชี้นิ้วไปที่พราหมณ์บ้าง มุสลิมบ้าง แต่ว่าบรรดาชาวพุทธที่แต่งตัววับๆ แวมๆ ล่อตาล่อใจไอ้เข้ให้เข้ามากระทำมิได้มิร้ายนั้นไม่เคยมีใครพูดถึง ก็หลับตานึกภาพดูสิ ว่าบรรดาวัดในเมืองไทยเวลานี้ ถ้าให้โจรชี้เป้าแล้วจะเข้าปล้นวัดไหนก่อน ระหว่างวัดไตรมิตรวิทยารามที่มีหลวงพ่อทองคำองค์ใหญ่ที่สุดในโลก กับวัดปากน้ำที่มีหลวงพ่อสดทองคำหนักถึงหนึ่งพันกิโลกรัม ?
บริเวณพุทธคยาถูกทิ้งให้รกร้างมานาน จนกระทั่งประมาณ ปี พ.ศ.2100 ก็มีนักบวชฮินดูในลัทธิ "มหันต์" เข้าครอบครอง และต่อเนื่องกันเรื่อยมา เมื่อท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา เดินทางไปถึงพุทธคยา ในปี พ.ศ.2434 (ค.ศ.1891) นั้น ท่านพบว่า บริเวณพุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระโคดมพุทธเจ้า พระบรมศาสนาในพระพุทธศาสนา ตกเป็นของนักบวชต่างศาสนาอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปเสียแล้ว
ท่านธรรมปาละจึงเริ่มเรียกร้อง "สิทธิ" ในพุทธคยาคืนมาจากชาวฮินดู ซึ่งแทบว่าต้องเอาชีวิตเข้าแลก เนื่องเพราะ
1. ในบริเวณพุทธคยาแบบว่าเมืองทั้งเมือง ไม่มีชาวพุทธอยู่เลยแม้แต่คนเดียว ชาวบ้านแถบนั้นกลายเป็นพราหมณ์ไปหมดแล้ว
2. กลุ่มนักบวชฮินดูที่มี "มหันต์" เป็นหัวหน้านั้น มั่งคั่งระดับท็อปไฟว์ในรัฐพิหาร จึงมีอำนาจและบารมีทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ส่วนท่านธรรมปาละเป็นนักบวชพุทธชาวต่างชาติศรีลังกา แถมเวลานั้นก็ยังไม่ได้บวชเป็นพระ แต่เป็นเพียง "อนาคาริก" ทำนองนุ่งขาวห่มขาวถือศีลแปดนั่นแหละ
ธรรมปาละอ้างเอาความชอบธรรมที่ว่า "บริเวณพุทธคยาเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา ดังนั้น ชาวพุทธจึงเป็นเจ้าของที่โดยชอบธรรม" แต่ถามว่าจะทวงความชอบธรรมจากใคร จากเทวดาฟ้าดินหรือว่าจากรัฐบาลหรือศาลอินเดีย ?
พวกชาวบ้านร้านตลาดพุทธคยา เมื่อได้ฟังคำประกาศของนายธรรมปาละแล้ว ก็หัวเราะยิงฟันกันท้องคับท้องแข็ง เห็นเป็นโจ๊กระดับโลกที่จู่ๆ ก็มีแขกศรีลังกาหลุดโลกเข้ามาในดงฮินดู แล้วประกาศว่า "พุทธคยาเป็นของศาสนาพุทธ" เพราะในอินเดียตอนนั้นไม่มีใครรู้จักพระพุทธศาสนาเลย เขารู้จักพระสมณโคดมก็แต่ในฐานะ "พระนารายณ์อวตารปางที่ 9 ที่เรียกว่าพุทธาวตาร เป็นเทพเจ้าของชาวฮินดูพระองค์หนึ่ง" เท่านั้น ส่วนโฉนดที่ดินพุทธคยานั้นก็มีเจ้าของครอบครองมานานหลายร้อยปีดีดักนี่แล้ว นานกว่าพระแก้วมรกตเสด็จจากเชียงใหม่ไปอยู่เวียงจันทน์เสียอีก ดังนั้น กรณีพุทธคยาจึงมิใช่การเล่นหุ้นลมหรือการผ่องถ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อเอาผลประโยชน์ระยะสั้นเหมือนกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ที่เปล่ยนมือซิ้อขายกันในชั่วเวลาไม่กี่ปี
ธรรมปาละต้องต่อสู้กับอิทธิพลของมหันต์อย่างหนัก ระดับที่เรียกว่า "เอาชีวิตเข้าแลก" เลยทีเดียว แรกนั้นท่านส่งพระจากศรีลังกาเข้าไปประจำที่พุทธคยา แต่ถูกพวกมหันต์ขับไล่ออกมา จึงนำเรื่องไปฟ้องศาล ศาลก็ให้ชนะแต่เพียงชั้นต้น แต่ชั้นอุทธรณ์และฎีกานั้นตัดสินให้มหันต์ชนะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านธรรมปาละจึงตัดสินใจ "เดินทางไปรอบโลก" เพื่อหาทุนและขอคะแนนเสียงสนับสนุนจากชนชาติต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา พม่า ไทย จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ให้เสรีภาพทางด้านการนับถือศาสนามากที่สุดในโลก
โดยเฉพาะประเทศไทยในเวลานั้น (รัชกาลที่ 5) ธรรมปาละเดินทางเข้ามาแสวงหาแนวร่วมเรียกร้องสิทธิในพุทธคยา ทั้งนี้คงเห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทยในเวลานั้นทรงนับถือพระพุทธศาสนา และไทยยังเป็นเอกราช ต่างจากพม่าซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปแล้ว ดังนั้น แม้ว่าพม่าจะเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ว่าคงไม่มีอำนาจต่อรองกับอินเดียซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปแล้วเช่นกัน
ก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ.2434 ท่านธรรมปาละได้จัดประชุมชาวพุทธนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกที่พุทธคยา ปรากฏว่ามีตัวแทนจาก ญี่ปุ่น จีน ศรีลังกา และจิตตะกอง เท่านั้นเข้าร่วม ขณะที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม
เมื่อมาถึงไทยในปี พ.ศ.2436 นั้น ธรรมปาละได้เข้าเฝ้ากรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปเยือนอินเดีย โดยเสด็จไปนมัสการธรรมเมกขสถูปที่เมืองพาราณสี ส่วนพระมหาเจดีย์พุทธคยานั้นมิได้เสด็จ เพราะทางรถไฟยังไปไม่ถึง
และในปี พ.ศ.2434 ปีเดียวกับที่ท่านธรรมปาละจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติที่พุทธคยา สมเด็จฯกรมดำรงราชานุภาพก็เสด็จเยือนอินเดีย โดยทรงได้รับการต้อนรับจากพราหมณ์มหันต์เจ้าของพุทธคยา ให้ที่พักและรับรอง และหลังจากเสด็จกลับจากพุทธคยาไปถึงเมืองกัลกัตตา (เมืองหลวงของอินเดียสมัยอังกฤษปกครอง) ก็ทรงพบกับท่านธรรมปาละ โดยธรรมปาละได้ทูลขอความสนับสนุนในการปลดแอกพุทธคยาจากมหันต์ แต่สมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า เวลานี้พระองค์ยังทรงเป็นแขกเมืองของอินเดีย จะเข้าไปพูดในเรื่องสิทธิในเขตประเทศอินเดียก็จะเป็นการเสียมารยาท สรุปว่า ไทยไม่สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิในพุทธคยามาตั้งแต่ต้น
ธรรมปาละไปได้รับการสนับสนุนอย่างมหาศาลจากเศรษฐินี มีชื่อว่า มิสซิส แมรี่ อี. ฟอสเตอร์ ชาวฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอมริกา ได้ถวายปัจจัยเป็นจำนวนถึง 1,060,000, รูปี เงินจำนวนนี้ท่านธรรมปาละได้นำไปต่อสู้เรียกร้องสิทธิในพุทธคยา และเมื่อมหันต์ยินยอมให้สร้างที่พักขึ้นใกล้ๆ กับพุทธคยาได้ ก็จึงนำไปใช้ก่อสร้างมหาโพธิสมาคมในบริเวณพุทธคยา
เวลานั้นจึงมีที่พักชาวพุทธต่างชาติในบริเวณพุทธคยาขึ้นเป็นแห่งที่สอง คือแห่งแรกนั้นเป็นของพม่าที่พระเจ้ามินดงทรงขออนุญาตเข้าไปบูรณะ และแห่งที่สองก็คือของชาวศรีลังกา แต่ทว่าสิทธิในพระเจดีย์พุทธยาและพื้นที่โดยรอบนั้นก็ยังคงเป็นของมหันต์ ชาวพุทธจึงต้องรณรงค์กันต่อไป
กล่าวถึงสาระในการประชุมชาวพุทธนานาชาติที่พุทธคยา มีข่าวดีว่า ชาวญี่ปุ่นจะลงขันกันซื้อบริเวณพุทธคยากลับมาเป็นของชาวพุทธ ทั้งนี้ก็คือจะไม่ใช้วิธีต่อสู้เรียกร้องสิทธิอีกต่อไป แรกนั้นท่านว่าการเจรจากำลังดำเนินไปด้วยดี ชาวพุทธมีหน้าที่อย่างเดียวคือ หาเงินไปซื้อพุทธคยาคืน จะแบ่งกันซื้อเป็นตารางเมตร ตารางวา หรือว่าแบ่งเป็นหุ้นๆ เหมือนวัดไทยในอเมริกาทำ ก็ไม่มีปัญหา ขอให้เงินมาเป็นใช้ได้ แต่สุดท้ายก็มีเหตุการณ์ผันแปร เมื่อรัสเซียอภิมหาอำนาจของโลกในยุคนั้นทำสงครามกับญี่ปุ่นแล้วแพ้ในปี พ.ศ.2448 อังกฤษจึงมองเห็นว่าญี่ปุ่นนั้นมิใช่ธรรมดาเสียแล้ว ชนะรัสเซียได้ก็คงชนะอังกฤษได้เช่นกัน ฝรั่งเศสนั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะสมัยนโปเลียนยังรบแพ้รัสเซีย แต่รัสเซียกลับมาแพ้ญี่ปุ่น ดังนั้นญี่ปุ่นจึงเป็นชาติที่ไว้ใจไม่ได้อีกต่อไป ความไม่ไว้วางใจนี้ยังรวมเอา "การขอซื้อพุทธคยา" มารวมเข้าไปด้วย โดยอังกฤษเห็นว่า ถ้าให้ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นโต้โผในการซื้อพุทธคยาได้ ต่อไปก็อาจจะมีปัญหา ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาก็จึงส่งซิกแนลให้ทางมหันต์ทำการ "ยกเลิกการขายพุทธคยา" และหมายถึงว่า ถ้าชาวพุทธอยากจะได้ก็ต้องใช้วิธีการเดียวกับที่ท่านธรรมปาละเคยใช้ นั่นคือการเรียกร้องให้ก้องโลก
พ.ศ.2445 พระโอกากุระ ชาวญี่ปุ่น เดินทางมาพุทธคยา เพื่อขอซื้อที่ดินสร้างวัดมหายานขึ้นในบริเวณนั้น แต่พวกมหันต์ไม่ยอมขาย แถมยังฟ้องศาลไล่ทั้งวัดพม่าและวัดศรีลังกา (มหาโพธิสมาคมของธรรมปาละ) ออกไปให้พ้นตำบลพุทธคยาด้วย ปรากฏว่าศาลตัดสินให้มหันต์ชนะ ธรรมปาละจึงต้องถอยมาตั้งหลักที่กัลกัตตา
แต่ต่อมา รัฐบาลอินเดียเห็นว่าธรรมปาละเป็นคนเอาจริง คือยังไม่ยอมไปไหน ยังวนเวียนเป็นสัมภเวสีมุ่งจะเอาพุทธคยาคืนจากมหันต์ให้จงได้ จะไล่ก็คงไม่ไป เพราะแกบอกว่าตายเป็นตาย ก็จึงหาทางออมชอมโดยการมอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้ในแคว้นตักกสิลาให้แก่มหาโพธิสมาคมของท่านธรรมปาละ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องนำไปสร้างวัดบรรจุไว้ใน 3 แห่ง คือ พาราณสี (สารนาถ) กัลกัตตา (เมืองหลวง) และตักกสิลา (สถานที่ขุดพบ) นั่นหมายถึงว่า ไม่ให้ยุ่งกับพุทธคยา ปรากฏว่าธรรมปาละยินยอมรับเอาข้อต่อรองดังกล่าวไว้ ทั้งนี้เพราะมิได้มีสัญญาผูกมัดกับรัฐบาลอินเดียว่าห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกับพุทธคยา ดังนั้น เมื่อได้พระบรมสารีริกธาตุและสร้างมหาโพธิสมาคมขึ้นมาครบตามสัญญาแล้ว ธรรมปาละก็เดินหน้าทวงพุทธคยาต่อไป เห็นไหมว่าแขกกับแขกนั้นทำอะไรก็ทันกัน
16 มกราคม พ.ศ.2476 ท่านธรรมปาละได้ตัดสินใจขอรับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ที่มหาโพธิวิหาร สารนาถ เมืองพาราณสี
และในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2476 ท่านพระธรรมปาละ นักต่อสู้สิทธิชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก็ถึงแก่มรณภาพที่สารนาถ โดยก่อนมรณภาพได้กล่าวสัจวาจาว่า  "ขอให้ได้ไปเกิดเป็นลูกพราหมณ์ชาวเมืองพาราณสี เพีอต่อสู้เรียกร้องสิทธิในพุทธคยาคืนมาจากพวกมหันต์"
ต่อมาเสียงเรียกร้องของชาวพุทธทั่วโลกได้ยินไปถึงพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติของอินเดีย คือพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส อันมีมหาตมะคานธี เป็นผู้นำ และท่านยวาหระลาล เนห์รู เป็นผู้ช่วย เป็นเรื่องน่าประหลาดใจในโลกว่า มีกระทู้ว่าด้วยพุทธคยาบรรจุอยู่ในที่ประชุมพรรคคองเกรสในเดือนธันวาคม พ.ศ.2465 นั้นด้วย โดยที่ประชุมได้พิจารณาว่า บริเวณพุทธคยาควรจะเป็นของชาวพุทธโดยชอบธรรม ทั้งนี้พรรคมีมติให้ตั้งกรรมการพิจารณาปัญหาพุทธคยาขึ้นมาคณะหนึ่ง มี ดร.ราเชนทระประสาท เป็นประธาน (ต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินเดีย)
แน่นอนว่า อินเดียมิได้มีปัญหาเฉพาะระหว่างพุทธกับฮินดูเท่านั้น แต่ยังมีที่หนักกว่านั้นก็คือ ปัญหาระหว่างมุสลิมกับฮินดู ดังนั้น ทางคองเกรสจึงเร่งแก้ปัญหาพุทธกับฮินดู เพื่อมิให้พัฒนาไปถึงระดับเดียวกับมุสลิมและฮินดูซึ่งฆ่ากันตายเป็นแสนๆ คน ถึงแม้ว่าในอินเดียจะไม่มีชาวพุทธเป็นจำนวนมากพอที่จะก่อปัญหาเหมือนมุสลิม แต่ชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นนั้นมีกำลังมหาศาล เบ่งบานเป็นอภิมหาอำนาจ เสียงของชาวพุทธญี่ปุ่นจึงดังกว่าชาติใดๆ ในโลกในยุคนั้น นั่นเองที่เป็นเหตุผลว่า ทำไมพรรคคองเกรสของท่านมหาตมะคานธีรีบคว้าเอาปัญหาพุทธคยาเข้าไปเป็นวาระสำคัญของพรรค ทั้ง ๆ อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเลย ความหมายก็คือว่าทางพรรคคองเกรสต้องการเอาพุทธคยามาเป็นทางไมตรีกับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมีศักยภาพที่จะคานอำนาจกับอังกฤษในเอเชียรวมทั้งอินเดียได้ นี่ไงก็คือการเมืองเรื่องพุทธคยาที่กลายเป็นประเด็นอินเตอร์ในยุคโน้น มหาตมะคานธีจึงเป็นนักการเมืองผู้เจนจัดระดับโลก หาใช่เพียงนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนโดยวิธีการอหิงสาเท่านั้นไม่
ผลงานของคณะกรรมการที่มี ดร.ราเชนทร์ประสาท สร้างออกมาก็คือ ให้สิทธิในการเข้าไปประกอบพิธีทางศาสนาในบริเวณพุทธคยาแก่ชาวพุทธได้ ทั้งนี้ก็ยังให้สิทธิแก่ชาวฮินดูด้วย โดยให้ตั้งกรรมการบริหารพุทธคยาขึ้นมาคณะหนึ่ง จำนวน 10 คน เป็นชาวพุทธ 5 คน และชาวฮินดูอีก 5 คน แต่มติของพรรคคองเกรสก็ยังไม่บรรลุผล เพราะทางมหันต์ยังไม่ยินยอม
พ.ศ.2479 สมาชิกนิติบัญญัต เมืองเดลลี ซึ่งเป็นชาวพม่า ได้ยืนญัตติว่าด้วยพุทธคยาต่อรัฐสภาอินเดีย (พม่ามีสิทธิเข้าร่วมประชุมที่อินเดีย เพราะถูกอังกฤษผนวกเข้าไปเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย ชาวพม่าจึงถูกโอนเป็นชาวอินเดียและมีสิทธิเสมอกับชาวอินเดียด้วย) แต่เพราะพม่าเป็นเหมือนชนกลุ่มน้อย แถมยังมีอิทธิพลอยู่ในเขตพม่าซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของอินเดียในเวลานั้นเท่านั้น ญัตติดังกล่าวจึงถูกตีตกไปในรอบแรกของการประชุมเท่านั้น
15 สิงหาคม พ.ศ.2490 อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษ และอินเดียมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก คือท่านยวาหระลาล เนห์รู ผู้กล่าวอาสภิวาจาต่อชาวฮินดูทั่วประเทศว่า"พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย พอๆ กับ พระราม และ พระกฤษณะ ดังนั้น ข้าพเจ้าจะมิขอนับถือศาสนาใดเลย หากมีการบังคับให้เลือกนับถือ ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือพระพุทธศาสนา" นั่นจึงเป็นการจุดประกายในการเรียกร้องพุทธคยาให้ฟื้นคืนมาอีกหน หลังจากท่านพระธรรมปาละมรณภาพไปแล้ว
ตุลาคม 2490 มี ดร.กฤษณะสิงห์ เป็นมุขมนตรี ได้ยื่นเสนอ พรบ.พุทธคยา ต่อ สภาแห่งรัฐพิหาร (รัฐหรือจังหวัดที่พุทธคยาตั้งอยู่) แต่ พรบ.ฉบับนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างจำกัดมาก เพราะกำหนดให้คณะกรรมการบริหารพุทธคยานั้นต้องมาจากชาวพุทธในอินเดียเท่านั้น แถมยังให้มีสัดส่วนน้อยกว่าชาวฮินดูอีกด้วย ชาวพุทธจึงนัดประชุมกันที่สมาคมมหาโพธิ์ เมืองกัลกัตตา ได้ยื่นร่าง พรบ. เข้าไปอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาให้สัดส่วนคณะกรรมการเท่ากันทั้งสองฝ่าย และคณะกรรมการชาวพุทธนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นชาวอินเดียเท่านั้น
จากนั้นร่าง พรบ.ทั้งสองฉบับ ก็ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งรัฐพิหาร สำเร็จออกมาเป็น พรบ.พุทธคยา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2492 โดยมีเนื้อหาสาระว่า
"ให้มีคณะกรรมการจัดการพระวิหารพุทธคยา ประกอบด้วย กรรมการฝ่ายพุทธ จำนวน 4 คน กรรมการฝ่ายฮินดู จำนวน 4 คน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคยาเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง รวมเป็น 9 คนด้วยกัน ส่วนฝ่ายมหันต์นั้นได้สัดส่วนเป็นหนึ่งในกรรมการ 4 ท่านทางฝ่ายฮินดู คือว่า ให้ 1 ใน 4 ของกรรมการฝ่ายฮินดูนั้น เป็นตัวแทนฝ่ายมหันต์"
เมื่อดูตามนี้แล้วก็จะพบว่า แม้ว่าจะมีการแยกสำนวน "ผู้ว่าราชการรัฐพิหารเป็นประธานโดยตำแหน่ง" และ"ให้ตัวแทนมหันต์เป็นกรรมการโดยตำแหน่งในฝ่ายฮินดู" ดังนี้ก็ตาม แต่ถ้านำมาถัวเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างศาสนาแล้วก็จะออกมาเป็น พุทธ 5 ฮินดู 6 หรือ 6/5 แบบว่าดูยังไงฮินดูก็ยังเป็นต่อ เพราะผู้ว่าการรัฐพิหารนั้นเป็นชาวฮินดู แถมยังได้เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่งอีกด้วย จึงเป็นต่อถึง 2 ต่อ คือ เป็นต่อในสัดส่วนหรือการออกเสียงและเป็นต่อในอำนาจในการบริหาร เพราะครองตำแหน่งประธานกรรมการบริหารพุทธคยาตลอดกาลนั่นเอง
นับจาก พ.ศ.2492 ถึง พ.ศ.2556 ก็ตก 64 ปี ไม่รู้ว่ามีกรรมการบริหารพุทธคยาผลัดกันมาแล้วกี่รุ่น แต่ที่แน่ๆ ก็คือ บริเวณพุทธคยามิได้เป็นของใคร ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือชาวฮินดู แต่ถ้าดูอำนาจในการบริหารกิจการพุทธคยาแล้ว ชาวฮินดูมีอำนาจกว่าชาวพุทธเกินร้อย
พ.ศ.2499 รัฐบาลอินเดีย โดยท่านศรียวาหระลาล เนห์รู ได้จัดกิจกรรมพุทธชยันตี เฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ขึ้น โดยได้ออกแคมเปญ เชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาจากทั่วโลกให้เข้าไปจับจองพื้นที่บริเวณโดยรอบพระมหาเจดีย์พุทธคยา สร้างเป็นเมืองพุทธนานาชาติขึ้นมา และรัฐบาลไทยได้ตอบรับคำเชิญ โดยได้เช่าที่ดินจำนวน 5 เอเคอร์ (12 ไร่) เป็นเวลา 99 ปี และได้สร้างวัดไทยพุทธคยาขึ้นมา มีสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก ป.ธ.9) วัดจักรวรรดิราชาวาส ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นรูปแรก และรูปปัจจุบันคือ พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ Ph.D) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

ประวัติการบูรณะฟื้นฟูพุทธคยา
ต่อมา ในปี พ.ศ.2417 พระเจ้ามินดุง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจพระองค์สุดท้ายของพม่า ได้ร้องขอต่อรัฐบาลอินเดียเพื่อส่งคนเข้าไปบูรณะบริเวณพุทธคยา แรกนั้นรัฐบาลอินเดียได้ตอบอนุญาต แต่ในอีก 3 ปีต่อมา (พ.ศ.2420) อินเดียถูกอังกฤษยึดครองได้ทั้งประเทศ จึงเป็นเหตุให้พม่าถูกข้อหาว่า "ทำการบูรณะบริเวณพุทธคยาไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม" แล้วทำการยกเลิกใบอนุญาตคือไม่ให้ทำต่อ และในอีก 9 ปีต่อมา อังกฤษก็ทำสงครามกับพม่าจนชนะ และได้ผนวกเอาพม่าเข้าไปเป็นรัฐหนึ่งของอินเดียในปี พ.ศ.2429 หมายถึงว่าให้พม่าขึ้นต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระนางเจ้าวิคตอเรียซึ่งทรงดำรงตำแหน่งควีนส์ของอังกฤษอยู่ในเวลานั้น โดยพระเจ้าสีป้อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่านั้นถูกกุมตัวไปกักไว้ที่เมืองรัตนคีรีใกล้กับเมืองบอมเบย์และสิ้นพระชนม์ที่นั่น นับแต่นั้นพม่าก็ไม่มีกษัตริย์อีกเลย จนกระทั่งปัจจุบัน
อังกฤษซึ่งครองอินเดียได้ตั้งหน่วยงานสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี มีชื่อว่า archaeological survey of india มีชื่อย่อว่า AIS ตั้งให้อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นอธิบดี มีหน้าที่ในการสำรวจและปรับปรุงฟื้นฟูโบราณสถานต่างๆ ทั่วอินเดีย ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้แยกออกไปเป็นอัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังคลาเทศ และพม่า กรมโบราณคดีอินเดียในยุคนั้นจึงถือว่าทรงอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก ทุกวันนี้ชื่อของ "คันนิ่งแฮม" ก็ยังคงขายได้ไม่ตกราคา และเมื่ออังกฤษสิ้นอำนาจในอินเดียแล้ว กรมโบราณคดีของอินเดียก็จึงโอนมาเป็นของอินเดีย โดยมีชาวอินเดียมาเป็นอธิบดี และอินเดียภายหลังอังกฤษปลดปล่อยไปแล้ว ก็เข้าสู่ภาวะยากจน โดยเฉพาะรัฐพิหารอันเป็นที่ตั้งของพุทธคยานั้น ถือว่าเป็นถิ่นยากจนที่สุดของอินเดีย รัฐบาลรัฐพิหารไม่มีเงินช่วย กิจการพุทธคยาจึงตกอยู่ในสภาพ "รกร้างว่างเปล่า" ไปตามยถากรรม แม้จะมีคณะกรรมการบริหารจัดการก็ไม่รู้จะบริหารจัดการอะไร เพราะไม่มีอะไรให้จัด เงินก็ไม่มี คนก็ไม่มา ก็นั่งมองหน้ากันเด๋อด๋า เหมือนกรรมการกิตติมศักดิ์
ทีนี้ เมื่อรัฐบาลกลางของอินเดียจัดงานพุทธชยันตี ทุ่มเงินเข้าปรับปรุงบริเวณพุทธคยา รัฐบาลชาวพุทธนานาชาติที่เข้าไปเช่าที่สร้างวัดโดยรอบนั้นก็ทุ่มเทเงินทองเอาบุญเอากุศลอย่างมหาศาล จึงสร้างพุทธคยาจาก"เมืองเล็ก เมืองกิ่ง เมืองดอน" ให้กลายเป็นเมืองใหญ่ แม้ว่าจะเทียบกับเชียงใหม่หรือกรุงเทพไม่ได้ แต่ถ้าเทียบกับอดีตแล้วก็ดีกว่าเก่าหลายร้อยเท่า

การคมนาคมจากไทยไปพุทธคยา
พุทธคยาเป็นเมืองเล็กมากๆ คือเป็นเพียงตำบลหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงไม่สามารถจะสร้างสาธารณูปการให้สะดวกสบายได้ ทั้งนี้เพราะภาษีที่ได้จากชาวเมืองนี้ก็แทบไม่พอยาไส้ ชาวไทยที่จะไปนมัสการสังเวชนียสถานสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาคือ พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา จึงต้องเดินทางกันทุรกันดาร แต่ถ้ามองต่างมุมก็จะเห็นว่า "เป็นเส้นทางที่สั้นและรวดเร็วที่สุดแล้ว" เส้นทางทั้งสองนั้นก็คือ การนั่งเครื่องบินจากสนามบินดอนเมือง (พ.ศ.2500-2549) ก่อนสนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดบริการในปี พ.ศ.2549 บินไปลงที่กัลกัตตา จากนั้นจึงนั่งรถไฟไปยังเมืองคยา หรือพุทธคยา ขากลับก็ใช้เส้นทางเดิม ส่วนการเดินทางภายในประเทศนั้นก็ต้องใช้รถยนต์ยี่ห้อ "ตาต้า" อันเป็นแบรนด์อมตะของอินเดียยุคก่อนเปิดประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ.2550 ทางการบินไทยได้เปิดเส้นทางบุญพิเศษขึ้นมา เพื่อสนองต่อพุทธศาสนิกชนชาวไทยผู้ปรารถนาจะไปแสวงบุญในอินเดียโดยเฉพาะ เจาะตลาดลงตรง 2 จุดใหญ่ ได้แก่ พุทธคยาและพาราณสี โดยมีเที่ยวบินตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิ ตรงเข้าสู่สนามบินคยา ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง และต่อไปยังสนามบินพาราณสีอีกไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงบินจากพาราณสีกลับสู่สุวรรณภูมิ สนนราคาไปกลับก็ 2 หมื่นกว่าบาท ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับการนั่งรถไฟหรือรถตาต้าและไปนั่งทุ่งอวดแก้มก้นให้แขกดูตามริมทางในเวลาปวดท้องหนัก ซึ่งถือว่าเป็นนิทานอมตะของนักแสวงบุญชาวไทยในอินเดีย ไปอินเดียแล้วไม่ได้ยินคนเล่าเรื่องกับระเบิดอินเดียแล้วเหมือนไปไม่ถึง
ในอีกทางหนึ่ง ทางรัฐบาลอินเดียก็พยายามปรับปรุงเส้นทางคมนาคมอย่างรีบเร่ง เพื่อรองรับกับตลาดการค้าและนักท่องเที่ยวหรือนักแสวงบุญที่เพิ่มขึ้นระดับก้าวกระโดดในทุกปี ส่งผลให้อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด ปัจจุบันมีพระไทยทั้งสายมหานิกายและธรรมยุต ไปแข่งกันเปิดวัดในอินเดีย ตามหัวเมืองใหญ่ของชาวพุทธ ได้แก่ คยา ราชคฤห์ พาราณสี กุสินารา สาวัตถี ไพศาลี รวมทั้งลุมพินีอันอยู่ในประเทศเนปาลอีกต่างหากด้วย รวมแล้วน่าจะถึง 20-30 วัดแล้วมั๊ง และดูท่าว่าจะเอาไม่อยู่ เพราะวัดที่มีอยู่ "ไม่เพียงพอ" ต่อความต้องการบุญของชาวไทยที่มีเงิน แต่ไม่มีที่ทำบุญ
บุญนั้นมิใช่อยู่ที่ใจ แต่ต้องทำให้ถูกกาละเทศะและตัวบุคคล
ตัวบุคคลก็ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์สามเณรที่มีศีลาจารวัตรดีงาม มีการศึกษาพระธรรมวินัยในระดับสูง หรือมียศศักดิ์ได้รับการยกย่องจากพระมหากษัตริย์หรือทางสังคม เป็นต้น ผู้คนจึงเชื่อว่า ถ้าทำบุญกับท่านแล้วได้จะได้บุญ
สถานที่ก็ได้แก่ วัดใหญ่ๆ วัดเก่าๆ มีประวัติยาวนาน มีโบราณสถานสำคัญ เช่น พระพุทธรูปสำคัญ ล้ำค่า องค์ใหญ่กว่าใครในประเทศ มีประวัติเก่าแก่หรือสำคัญ หรือมีพุทธลักษณะโดดเด่น บุคคลสำคัญสร้างไว้ หรือมีกิตติศัพท์โด่งดังทางใดทางหนึ่ง เช่น บนบานได้สมปรารถนา เป็นต้น ผู้คนจึงนิยมไปทำบุญ
ส่วนกาละคือเวลานั้นก็ขึ้นกับว่าเวลาไหนวัดใดจะรุ่งเรืองด้วยเกียรติคุณทางใดทางหนึ่ง ผู้คนก็จึงนิยมเข้าวัดนั้น บางทีถ้าถึงยุคไม่รุ่งเรืองแล้วก็แทบว่าจะเป็นวัดร้าง
แต่โบราณว่า ร้อยพระสงฆ์ก็สู้หนึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้
เรื่องแสวงบุญในอินเดียก็เช่นกัน มันขายได้ ว่าตรงนี้เป็นสถานที่ประสูติ ตรงนี้ตรัสรู้ ตรงนี้แสดงพระปฐมเทศนา ตรงนี้แสดงพระยมกปาฏิหาริย์ ตรงนี้ผจญช้างนาฬาคิรี ตรงนี้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ฯลฯ ยิ่งคนที่เคยอ่านพุทธประวัติมาก่อน พอได้รับการบอกเล่าจากพระวิทยากรไทยในอินเดียก็เหมือนฟื้นอดีตชาติ เพิ่มความศรัทธา เกิดเป็นความปีติอิ่มอกอิ่มใจ มีเท่าไหร่ก็อยากจะทำบุญจนหมดกระเป๋า
ถ้านับจำนวนประชากรชาวพุทธในประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันก็คงไม่ต่ำกว่า 60 ล้าน แต่ว่าวัดไทยในอินเดียนั้นมีเพียง 20-30 วัด ไปแค่ซัก 4-5 แสนคน ก็แย่งกันทำบุญไม่หวาดไม่ไหวแล้ว นั่นไงที่เป็นดัชนีชี้ว่า ทำไมวัดไทยในอินเดียในยุคปัจจุบันนั้นบูมมากๆ ระดับพันล้านถึงหมื่นล้านทีเดียว
แต่ว่า สภาพการณ์อย่างหนึ่งซึ่งยังคงอยู่ในรัฐพิหารของอินเดียก็คือว่า ประชาชนยังคงยากจน เงินทองที่ชาวพุทธไทยและชาวพุทธทั่วโลกนำไปจับจ่ายตามสังเวชนียสถานต่างๆ ในอินเดียนั้น ยังคงกระจุกอยู่ตามบริษัททัวร์ ห้างร้านต่างๆ เพราะมาตรฐานสินค้าของอินเดียยังสู้ไทยเราไมได้ ไม่ว่าของกินของใช้ คนไทยจะพิถีพิถันมาก ถึงกับห่อข้าวจากประเทศไทยไปกินที่อินเดีย ทั้งนี้เพราะกินอาหารแขกไม่ได้นั่นเอง และวัดต่างๆ จึงต้องมีโรงครัว มีพ่อครัวแม่ครัว ช่วยทำอาหารไทยไว้ต้อนรับชาวไทยจำนวน 3 มื้อในทุกๆ วัน ก็เรียกได้ว่า วัดไทยในอินเดียก็คือโรงแรมดีๆ นี่เองล่ะ แต่ชาวไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด ก็ดีเสียอีกสิฮะ กินของไทย ใช้ของไทย พักวัดไทย เที่ยวกับพระไทย ทำบุญกับพระไทย เงินทองไม่รั่วไหล เข้าในสำนวนไทยว่า "เรือล่มในหนอง เงินทองจะไปไหน"
ทีนี้ เมื่อโฟกัสเข้าไปในตลาดพระเครื่องเรื่องอินเดียและเนปาล ก็จะพบว่า มีสถานที่โดดเด่นเพียง 4-5 แห่ง ได้แก่
1. คยา หรือพุทธคยา อันมีพระศรีมหาโพธิ์และพระมหาเจดีย์พุทธคยาตั้งอยู่
2. ลุมพินี และกบิลพัสดุ์ สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา (ในเขตประเทศเนปาล)
3. กุสินารา สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
4. ราชคฤห์ เมืองที่มีประวัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากที่สุด
5. สาวัตถี เมืองที่เสด็จประทับนานที่สุด มีท่านอนาถปิณฑิกมหาอุบาสก และท่านวิสาขามหาอุบาสิก เป็นกำลังหลัก รวมทั้งพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระนางมัลลิกา ดำรงตำแหน่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก
6. ไพศาลี เมืองที่มีเสาอโศกสมบูรณ์ที่สุดเหลืออยู่
7. นาลันทา เมืองมหาวิทยาลัยและบ้านเกิดของท่านพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา
ก็มีอยู่แต่เนียะ แต่เมื่อนำมาพิเคราะห์ถึงความ "ป็อปปูล่า" ของทุกสถานที่แล้ว ก็จะพบว่า ในบรรดาหัวเมืองทั้งเจ็ดเหล่านี้ ที่จะได้รับความนิยมดึงดูดชาวพุทธมาจากทั่วโลก มาเดินจงกรม สวดมนต์ หรือทำพิธีกรรมอะไรก็ตามแต่ แบบว่าเป็นอินเตอร์จริงๆ ก้เห็นจะมีเพียงที่เดียว คือ พุทธคยา หรือพูดง่ายๆ ว่า ที่พุทธคยาคนมามากและพลุกพล่านที่สุด จึงเป็นจุดศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกอย่างแท้จริง (ขอโทษที่ต้องพูดความจริงว่า ในโลกนี้ไม่มีใครรู้จักพุทธมณฑลในฐานะศูนย์กลางพุทธโลกเลย)
พุทธคยาจึงเป็นจุดแรกหรือจุดสุดท้ายที่ชาวพุทธทั้งไทยและเทศจะต้องไปให้ได้ ถ้าคิดจะไปไหว้พระในอินเดีย ส่วนหัวเมืองอื่นๆ นั้นเป็นการจัดเก็บตาม "โปรแกรม" วางไว้ให้ครบ ทีนี้พอไปครบหรือไปหลายรอบแล้ว ต่อไปผู้คนก็จะตัดโปรแกรมให้กระชับเข้า นานๆ ไปก็จะเหลือแค่ "บินไปลงพุทธคยา ไหว้พระ-นั่งสมาธิ เพียง 2-3วัน ก็บินกลับไทยแล้ว" แค่นั้น
ก็ตกลงว่า "พุทธคยาคือศูนย์กลางแสวงบุญของชาวพุทธทั่วโลก" เหมือนมหานครเมกกะอันเป็นศูนย์กลางของชาวมุสลิมฉะนั้น และถ้าพูดถึงเรื่องการทำบุญแล้ว ชาวพุทธทุกชาติก็นิยมสร้างวัดประจำชาติของตนขึ้นรอบๆ พุทธคยา แม้กระทั่งกัมพูชาและลาวก็ยังสร้างวัดไว้เป็นเกียรติประวัติแก่ชาติของตน ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่บรรดาขุนน้ำขุนนางต่างนิยมสร้างวัดไว้ประจำตระกูล ให้เป็นทั้งบุญสถานและศึกษาสถานสำหรับตระกูลและข้าราชบริพาร ถึงกับกล่าวว่า "ถ้าให้ลูกหลานไปวิ่งเล่นวัดของคนอื่นนั้นก็เป็นการเสียหน้า" เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็จึงต้องมีวัดประจำรัชกาล
ทีนี้เราจะเข้าไปแสกนในบริเวณพุทธคยาว่ามีอะไรน่าสนใจ คำตอบสุดท้ายก็คือ พระมหาเจดีย์พุทธคยานั่นเอง เพราะถึงแม้ว่าพระศรีมหาโพธิ์จะสำคัญ แต่นั่นเป็นต้นไม้ ทางคณะกรรมการเขาเข้มงวดกวดขันมาก ไม่ให้แตะต้องแม้แต่จะเอาน้ำไปรดก็ทำได้เพียงนิดๆ หน่อยๆ หลายปีก่อนมีข่าวว่า กรรมการบางคนแอบอ้างตัดกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไปขายให้แก่พระไทย กิ่งใหญ่บะเริ่มเทิ่ม เอาไปปลูกก็คงโตไว้ไม่ช้ากว่าที่ศรีลังกา ถ้าเอาไปขายก็คงได้หลายสิบล้าน เพราะชาวพุทธทั่วโลกล้วนอยากจะได้กิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากต้นพุทธคยาไปปลูกฝังศรัทธาในบุญเขตประเทศตน ส่วนเงินนั้นมิใช่เรื่องใหญ่ ถ้าได้ของมาจริงก็รับรองว่าร้อยล้านก็ยังน้อยไป ดังนั้น การจะเข้าไปดูแลพระศรีมหาโพธิ์จึงไม่มีทางเป็นไปได้โดยประการทั้งปวง จึงเหลืออยู่แต่เพียง "พระมหาเจดีย์พุทธคยา" เท่านั้น
พระมหาเจดีย์พุทธคยานั้น ก็เก่าแก่คร่ำคร่า เพราะว่ามีอายุกว่าพันปีแล้ว ถึงได้รับการบูรณะก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์เหมือนตกเซียร์ทาวเวอร์ในชิคาโก หรือเอมไพรเสตทในนิวยอร์ค ตามประวัติแล้ว ยอดพระเจดีย์นั้นมีไฟแสงจันทร์อยู่ดวงใหญ่ นั่นก็เป็นศรัทธาของชาวไทยที่นำโดยพระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสิริ) อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ได้นำพุทธศาสนิกชนชาวไทย "ขอเข้าไปติดตั้ง" ให้ฟรีๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนนี้ท่านมรณภาพไปแล้ว คิดว่ากำลังเสวยผลบุญอยู่ในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง
กำแพงหรือพื้นที่ปูด้วยหินอ่อนรอบๆ พระเจดีย์นั้น ก็ศรัทธาจากคนไทยไปช่วยสร้าง แบบว่าโฆษณายังไม่ทันจบ เงินก็ล้นบาตรล้นย่ามแล้ว
ก็ไม่ว่ากันหรอก เพราะของแบบนี้มันห้ามกันอยาก บุญนั้นใครๆ ก็อยากทำ ทำที่ไหนได้บุญ เขาก็ต้องไปที่นั้น
แต่คราวนี้มีโครงการใหม่ โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้นำเอาชาวพุทธไทยเข้าไปขันอาสากับรัฐบาลอินเดีย เพื่อขอ "บูรณะพระฉัตรบนยอดพระเจดีย์พุทธคยา" มีพิเศษด้วยว่า "จะสร้างใหม่ด้วยทองคำเป็นจำนวนมหาศาลถึง 250กิโลกรัม" คิดเป็นเงินไทยก็ร่วมๆ 500 ล้านบาท
คำถามเบื้องต้นจึงมีว่า
1. ยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา ทรุดโทรมหนักหรือเป็นอันตราย ถึงกับต้องซ่อมแซมโดยด่วนหรือ
2. ทางรัฐบาลอินเดียมีโครงการจะซ่อมแซมยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา และคณะของ ดร.บวรศักดิ์ ทราบเรื่อง จึงเสนอขอรับบูรณะ
เรื่องเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นข้อที่ควรพิจารณาเบื้องต้นในการเข้าไปทำงาน แบบว่ามีการร้องขอหรือต้องการความช่วยเหลือ ทางเราพิจารณาเห็นแล้วว่าสมควรทำ
เพื่อจะให้เห็นภาพจริง ผู้เขียนจึงขอนำเอาภาพที่ผู้เขียนได้เดินทางไปถ่ายพระเจดีย์พุทธคยาด้วยตัวเอง ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2555 ว่ามีเช่นใดบ้าง



ภาพเหล่านี้ ผู้เขียนบันทึกไว้ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2555 ต่างกรรมต่างวาระ คือเดินเวียนไปวนมาแล้วก็จับภาพไปเรื่อยๆ จึงมีทั้งช่วงเช้า สาย บ่าย และเย็น แต่สรุปได้เลยว่า เวลานั้น (ธันวาคม ปี 55) ยอดฉัตรพระเจดีย์พุทธคยายังดูสดใส ไม่มีวี่แววว่าจะชำรุดทรุดโทรมถึงกับต้องบูรณะอย่างเร่งด่วนเลย ทราบมาว่า ยอดฉัตรพระเจดีย์พุทธคยานั้นเพิ่งมีผู้ใจบุญร่วมกันบูรณะไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้จึงเป็นที่ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า เมื่อมีผู้มีศรัทธาบูรณะไปและยอดฉัตรนั้นยังคงใช้การได้ ถ้าหากว่าเราจะรื้อลงมาแล้วเอาของใหม่เข้าสวมแทน แม้ว่าจะดีหรือมีราคามากกว่าของเก่า แต่นั่นก็มิใช่สิ่งที่พึงกระทำ เพราะจะเป็นการทำลายศรัทธาของเจ้าของเดิม
การทำงานศาสนานั้น เรื่องศรัทธาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ตอนที่ผู้เขียนยังอยู่เมืองฝางนั้น บ่อยครั้งที่ทางวัดจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวัด เช่น กุฎิ ศาลา หรือแม้แต่ห้องน้ำ หลวงพ่อก็ต้องประชุมคณะกรรมการญาติโยมอย่างพร้อมหน้า และถ้าว่าสิ่งปลูกสร้างหลังไหนมีเจ้าศรัทธาทำถวายด้วยทรัพย์สินส่วนตัวหรือของตระกูล ก็ต้องเชิญเจ้าศรัทธานั้นๆ มาแจ้งเพื่อขออนุญาตรื้อถอนและสร้างใหม่ ถ้าเจ้าศรัทธาอนุโมทนา ทางวัดก็เดินหน้าสร้างได้ และอาจจะได้รับความอุปถัมภ์จากเจ้าศรัทธาเดิมด้วย กลับกันถ้าเจ้าศรัทธาเห็นว่าไม่เหมาะสมแล้วคัดค้าน ทางวัดก็ไม่สามารถจะสร้างได้ แม้ว่าจะมีเงินทองมากมายปานใดก็ตาม
กรณีวัดกัลยาณมิตร ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาส ได้ทำการรื้อถอนพระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิบรรพบุรุษของตระกูลใหญ่ ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของวัด มีลูกหลานอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เรื่องจึงร้อนถึงในรั้วในวัง นั่นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้
เห็นไหมว่าแค่สองด่านนี้ก็หืดขึ้นคอแล้ว ใช่ว่าอยากจะทำอะไรก็ทำได้นะ เกี่ยวกับวัดวาอารามนี้
ในเรื่องกรรมสิทธิ์บริเวณพุทธคยานั้น ก็ใช่ว่าคณะผู้สร้างจะไม่ทราบ เพราะได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 30 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ทำนองว่า รู้อยู่ว่าพุทธคยามิใช่ดินแดนในกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธ แต่เพราะเห็นว่าทางองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไว้แล้ว พุทธคยาจึงเป็นของชาวโลกมิใช่ของชาวอินเดีย นั้นหมายถึงว่ามิใช่ของชาวไทยเราด้วย เพราะขนาดอินเดียยังไม่มีสิทธิ์แล้วชนชาติไหนจะมีสิทธิ์ แต่ความจริงแล้วก็เป็นสิทธิของชาวอินเดียนั่นแหละ และส่วนใหญ่มิได้นับถือพระพุทธศาสนาด้วย เมื่อถามหนักๆ เข้า คณะกรรมการโครงการก็ตอบว่า "สืบไปแม้จักเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราย่อมถือว่าได้ถวายเป็นพุทธบูชาไปแล้ว" ก็แปลว่า ปลง
ความจริงการทำบุญแบบที่คณะกรรมการโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรพระเจดีย์พุทธคยาทำอยู่นี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะพระท่านเคยสอนสั่งอยู่เสมอว่า ทำบุญไปแล้วอย่าได้ติดอกติดใจในผลบุญ ทำบุญแล้วไม่ให้มีการหวังผลเกิดเป็นโลภะในใจ เช่นอยากได้โน่นอยากได้นี่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องตั้งอยู่บนความเหมาะสมทั้งทางด้านวัตถุประสงค์และกำลังทรัพย์สินที่ทำไป ถ้าคิดแต่ว่าให้โดยไม่หวังผลตอบแทนถือว่าเป็นบุญแท้ แต่ก็ให้ไม่บันยะบันยัง แบบนี้ก็ฉิบหายเพราะบุญแน่ๆ ไม่เชื่อก็ลองบริจาคให้หมดเนื้อหมดตัวดูสิ ว่าจะมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์เพราะการทำบุญกันแน่
ต่อไปก็คือว่า ถ้าว่ามีเหตุผลสมควรที่จะรับหรือขอรับการบูรณะยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยา และเจ้าศรัทธาเดิมก็ไม่ขัดศรัทธา ก็ต้องมาพิจารณาต่อไปว่า "เราจะทำได้เพียงใด"
นั่นก็คือว่า ทางกรรมการบริหารพุทธคยามีข้อแม้หรือเปล่าว่า "ต้องบูรณะด้วยทองคำหนัก 250 กิโลกรัม"เท่านั้น มิเช่นนั้นก็ไม่อนุญาต
ถ้ามีข้อแม้เช่นนี้ และเรานำมาพิจารณาดูกำลังแล้ว เห็นว่าไปไม่ไหวเพราะหนักเกินไป ก็ควรต้องขอคืนโครงการ หรือถ้าอยากจะทำจริงๆ ก็เพียงขอเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในโครงการ งานก็จะไปได้ไม่หนัก
แต่ทีนี้ว่า ถ้าไม่มีการร้องขอ แต่เราอาสาเข้าไปทำเอง ทำนองว่า "อยากจะบูรณะยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธคยาให้สวยงามและโดดเด่นระดับโลก" คำถามก็ตามมาว่า ถ้าทางคุณบวรศักดิ์และคณะมีเงินทองส่วนตัวมากมาย และพร้อมสำหรับการรับเป็นเจ้าภาพโครงการในมูลค่าประมาณ 500 ล้านทั้งหมด แบบนี้ก็คงไม่มีใครว่าอะไรได้ เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ที่สามารถจะบริจาคให้ใครก็ได้ ในจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ เหมือนคุณตั๊ก-บงกช คงมาลัย ทำบุญให้สมเด็จวัดปากน้ำทีละ 7 ล้าน อย่างมากผู้คนก็คงแค่ค่อนแคะว่า "เว่อร์" เท่านั้น
แต่ถ้าคุณบวรศักดิ์และคณะก็มิได้มีเงินมีทองอะไร อาจจะมีบ้าง แต่คงไม่ถึง 400-500 ล้าน แต่อาสาไปรับงานใหญ่ระดับโลก แล้วมาบอกบุญกับคนไทยทั้งประเทศ ก็ต้องมีคำถามว่า "ถูกต้องตามมารยาทและหลักการหรือเปล่า"
อาจจะมีคนแย้งว่า "อ้าว บอกบุญไม่ได้เหรอ บอกบุญไม่รับเหรอ ไม่อนุโมทนายังนินทาอีกเหรอ"
ผู้เขียนก็ขอตอบว่า "บอกได้ครับ บอกได้ บุญนั้นใครๆ ก็อยากทำ แต่ถ้าว่ามากเกินไปก็คงไม่มีใครรับไหว"
คำถามยังตามมาอีกด้วยว่า "อ้าว ก็ใครเขาบังคับเล่าว่าต้องทำเท่านั้นเท่านี้ หรือว่าต้องทำบุญด้วยทองคำทีละ250 กิโลเลย"
ผู้เขียนก็ขอตอบอีกว่า "ถูกฮะ พวกท่านไม่ได้กำหนดว่าต้องทำเท่าไหร่ อาจจะหนึ่งบาท สองบาท สามบาท ตามแต่กำลังศรัทธา หรือไม่ทำเลยก็ไม่ว่ากัน แต่ว่าจำนวนทองคำหรือปัจจัยที่ตั้งเป็นโครงการไว้นั้นมันตั้ง 450 ล้านอัพ ถึงแม้ผู้เขียนจะมิได้ร่วมทำบุญเลย แต่ในฐานะที่เป็นชาวพุทธชาวไทยด้วยกัน เมื่อได้เห็นอภิมหาโครงการนี้แล้ว ก็ชวนให้สงสัยเป็นกำลังว่าทำไปเพื่ออะไร ?"
สงสัยว่า ถ้าจะเอาบุญจริงๆ แล้ว มันจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องบูรณะยอดฉัตรพระเจดีย์พุทธคยาด้วยทองคำมหาศาลถึง 250 กิโลกรัม และเราเอาอะไรไปวัดผลบุญว่าได้มากได้น้อยเมื่อเทียบกับทองคำ
นายปรีชาได้อ้างเอาคำพูดของสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เกี่ยวกับการเรี่ยไรในครั้งนี้ว่า "เจตนาของสมเด็จพระวันรัตท่านไม่อยากให้รายใหญ่มาทีเดียวแล้วเสร็จ อยากให้รายย่อยมาร่วมกันมากๆ จะได้เฉลี่ยรับบุญกัน" ก็ถือว่าเป็นเหตุผลที่พอฟังขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะเงินทองตั้ง 500 ล้านบาท มันมิใช่เงิน 50 ล้านบาท จะได้ไม่เกิดข้อสงสัยในหลักการและวัตถุประสงค์ของโครงการนี้


ที่สำคัญก็คือว่า ว่าโดยสถานะแล้ว สมเด็จพระวันรัตก็ดี นายบวรศักดิ์ก็ดี ล้วนมีสถานะสำคัญในทางสังคม คือสมเด็จพระวันรัตนั้นดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เทียบได้กับคณะรัฐมนตรีของคณะสงฆ์ไทย บทบาทหน้าที่ที่ทำไปล้วนแต่ผูกพันธ์กับคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศ ดังนั้นจึงต้องสังวรระวังบทบาทให้มาก เพราะจะถูกนำไปเป็นแบบอย่างได้ทั้งในทางดีและเสีย
ส่วนนายบวรศักดิ์นั้นก็สำคัญมิใช่เบา เมื่อ 20 ปีก่อน ก็มีเสียงลือเสียงเล่าขานกันว่า บรรดานักกฎหมายมหาชนที่มีอยู่ในเมืองไทยเรานั้น ก็มีชื่อ "ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ยืนอยู่ในระดับแนวหน้า ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งชอบคนเก่ง จึงดึง ดร.บวรศักดิ์ มาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำงานควบคู่กับ ดร.วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง ชำนาญทางด้านกฎหมายทั้งคู่ นายวิษณุนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ
ต่อมา เมื่อลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว ดร.บวรศักดิ์ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน
เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 8 ปีที่ผ่านมานั้น ดร.บวรศักดิ์ ได้แสดงให้สังคมไทยได้เห็นว่า ตนเองมีบทบาทในทางไกล่เกลี่ยประนีประนอมทั้งทางฝ่ายเสื้อเหลืองเสื้อแดงหรือฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เช่น ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2553 ทางสถาบันพระปกเกล้า ได้เสนอสถานที่ให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เป็นเวทีเจรจาความเมืองกับกลุ่ม นปช. ซึ่งก่อม็อบยึดครองศูนย์การค้าราชประสงค์มายาวนาน แม้ว่าการเจรจาทั้งสองรอบจะไม่สำเร็จ และต่อมาก็เกิดการเคลื่อนกำลังทหารเข้าสลายม็อบ และกลายเป็นประเด็น "เผาบ้านเผาเมือง" เรื้อรังมาจนบัดนี้ แต่ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า นายบวรศักดิ์และสถาบันพระปกเกล้าได้เข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองอย่างเด่นชัดที่สุดกว่าสถาบันใดๆ ในประเทศไทย ก่อนจะเกิดกลียุค
ปัจจุบัน นายบวรศักดิ์ยังดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสถานอีกด้วย โดยทั้งนี้ มีความหมายว่า นายบวรศักดิ์นั้นคลุกคลีตีโมงอยู่ในแวดวงนักปราชญ์ราชบัณฑิต จึงถือว่าเป็นผู้ทรงภูมิความรู้คู่คุณธรรมระดับซีเนียร์ของประเทศไทย จะเป็นรองก็แต่คณะองค์มนตรีเท่านั้น
ทั้งเรื่องตำแหน่งและบทบาทดังกล่าวมานี้ ย่อมชี้ได้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นบุคคลสาธารณะผู้ทรงอิทธิพลทั้งในแวดวงการเมืองและการศึกษาของประเทศไทย จะทำสิ่งใดก็ต้องสังวรระวังไม่น้อยไปกว่าสมเด็จพระวันรัต
ดังนั้น ที่ผู้เขียนนำเรื่องนี้มาวิจารณ์ก็เพราะเห็นว่าบทบาทของทั้งสองท่านนั้น มีผลกระทบต่อสังคมไทยในระดับกว้างไกลถึงต่างประเทศ ถ้าหากไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์อะไรผู้คนก็คงไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นมาเป็นไปอย่างไร
พูดง่ายๆ ก็คือว่า สองท่านนี้มิใช่ตาสีตาสาที่จะปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ โดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือยกเว้นไว้ในฐานะที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่หรือบริบทอื่นใดในสังคมไทยและสังคมโลก ปิดหูปิดตาประชาชนในประเทศไทยนั้นได้ เพราะคุมสื่ออยู่เสียอย่างเดียวก็ปลอดภัย แต่ในสังคมอินเตอร์นั้นยาก ดังนั้นจงอย่าได้คิดชะล่าใจว่า "ถ้าทำบุญเสียอย่างเดียว ก็คงไม่มีใครกล้าว่าอะไร" ขอบอกด้วยว่า "ทำแบบที่พวกท่านทำอยู่นี้แหละ จะโดนหนักกว่าคนอื่น"
เพราะไม่ว่าจะทำงานด้านการเมืองหรือด้านการศาสนา ก็ต้องมีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยิ่งใหญ่มากหรือมีอำนาจมาก ก็ต้องตรวจสอบและวิจารณ์มากตามไปด้วย ผลประโยชน์จึงจะตกอยู่แก่ประเทศชาติศาสนาและประชาชน ไม่งั้นนักการเมืองก็ใช้ศาสนาเป็นแหล่งฟอกตัว เหมือนตลาดพระเครื่องที่นักการเมืองปั่นราคาจนจับไม่ลงอยู่ในเวลานี้ แม้ว่าเวลานี้นายบวรศักดิ์จะมิใช่นักการเมือง แต่เมื่ออาสามาทำงานศาสนา ก็ไม่มีอภิสิทธิ์อื่นใดที่จะไม่ถูกวิจารณ์หรือตรวจสอบ แน่นอนว่า สร้างบารมีก็ต้องมีมารผจญ แต่ถ้าไม่มีมารก้ไม่มีบารมีเช่นกัน และถ้าจะตราหน้าว่า "ใครก็ตามที่บังอาจขัดขวางการทำบุญระดับโลกในครั้งนี้ พวกนั้นเป็นมารผจญ" ดังนี้ ผู้เขียนก็ขอยอมเป็นมารผจญคนหนึ่งละ ขอเพียงอย่ามองผู้เขียนเป็น "มารคอหอย" เท่านั้น ดังนั้นเมื่อพวกท่านประกาศว่า "กล้าให้ตรวจสอบ" เราก็จึงต้องขอตรวจสอบตามคำท้า ประเดี๋ยวจะหาว่ามหานรินทร์ไม่แน่จริง


เกี่ยวกับวิธีการทำงาน ตามข่าวที่เสนอผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้น ทราบว่า มีคนไทยกลุ่มหนึ่งได้ดำเนินการโครงการนี้อย่างเงียบๆ มา 2-3  ปีแล้ว ซึ่งก็เป็นช่วงที่ผู้เขียนถ่ายภาพยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยาเช่นกัน ดังนั้น ภาพยอดพระมหาเจดีย์ที่นำเสนอข้างต้นนี้ก็คือข้อมูลที่ตรงกับช่วงเวลาริเริ่มโครงการนี้ ทั้งนี้นายปรีชา เลาหะพงษ์ชนะ ซึ่งเป็นกรรมการในโครงการได้กล่าวกับนักข่าวว่า แรกๆ ก็ทำกันเอง ต่อมาก็ไปขอรับความช่วยเหลือจากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน และสุดท้ายก็ไปถึงองค์สมเด็จพระสังฆราชและพระบรมมหาราชวัง
นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเห็นว่า ผิดปรกติ เพราะโดยปรกติแล้ว โครงการใหญ่ๆ ระดับประเทศหรือระดับโลก ถึงใครจะเป็นคนคิดขึ้น แต่เมื่อเห็นว่าควรทำ ก็ควรต้องนำเสนอกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงทราบ เป็นเบื้องต้น เมื่อทรงเห็นชอบแล้วจึงค่อยริเริ่มดำเนินการ ทั้งนี้ยังต้องกราบถวายรายงานทุกขั้นตอนของงาน เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัยเป็นระยะๆ จึงจะถือว่าทำอย่างถูกต้องตามประเพณีไทย แต่โครงการนี้กลับไม่ทำเช่นนั้น จู่ๆ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งคิดกันขึ้นมา แล้วก็ดำเนินการไปโดยพละการ ผ่านไปตั้ง 2-3 ปี จึงเริ่มเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทางสำนักพระราชวัง วัดบวรนิเวศวิหาร และขึ้นไปถึงองค์สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงพระชนมายุยืนถึง 100 ปีแล้ว
เรียกง่ายๆ ว่า เป็นโครงการที่ชงจากด้านล่างขึ้นไปยังด้านบน ซึ่งไม่มีในธรรมเนียมของคนไทยไม่ว่ายุคไหน ถ้าใครทำก็ต้องเรียกว่า นอกรีตนอกรอย หรือทำวิปริตผิดประเพณี เลยทีเดียว
เรายังไม่รู้ด้วยว่า เหตุผลกลใด ทางคณะกรรมการจึงได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากทางสำนักพระราชวัง วัดบวรนิเวศวิหาร และสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช หลังจากบริหารโครงการผ่านไปนานถึง 2 ปี โดยมีข้อมูลว่า สามารถระดมทุนเป็นทองคำได้จำนวน 70 กิโล และเงินอีก ล้านบาท ขาดเหลือก็แค่ทองคำอีก 180กิโลเท่านั้นเอง
ทีนี้ว่า เมื่อคณะกรรมการนำเอาโครงการนี้เข้าไปถวายสำนักพระราชวังและสำนักงานสมเด็จพระสังฆราช จะโดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบหรือไม่ และสมเด็จพระสังฆราชจะทรงทราบหรือไม่ เพราะคงไม่ทรงมีเวลาพิจารณาด้วยพระองค์เอง ข้อมูลทั้งหมดจึงตกอยู่แก่บุคคลอื่น
แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมว่า ในรอบสิบปีมานี้ ชาวไทยทั่วประเทศได้รับรู้รับทราบแนวพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งผู้คนก็เข้าใจง่ายๆ ว่า "ทำอย่างเรียบง่าย ประหยัด แต่คุ้มค่า" อะไรทำนองนั้น และแม้แต่โครงการในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ก็ประกาศออกมาเมื่อปีก่อนว่า ทรงโปรดให้สร้างโบสถ์ดินตามพระบรมราโชบาย "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดวงเงินไว้เพียงหลังละ 2 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันโครงการก็ยังไม่สิ้นสุด ยังจะมีการทอดผ้าป่าหาทุนสร้างจนกว่าจะสำเร็จ
แต่แล้วจู่ๆ ก็มีการนำเอาโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรบนพระมหาเจดีย์พุทธคยาไปทูลเสนอ แล้วมีการออกข่าวว่า สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดประทานทองคำจำนวน 119 บาท เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลกับชาวพุทธไทยในโครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรพระเจดีย์พุทธคยา และข่าวยังระบุด้วยว่า ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี จะไปเป็นประธานในพิธีที่วัดบวรนิเวศวิหารอีกด้วย นั่นหมายถึงว่า ทางสำนักพระราชวังได้รับโครงการนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ตกลงว่าทางสำนักสมเด็จพระสังฆราชได้ดำเนินการโครงการคู่ขนานพร้อมๆ กัน คือ
1. สร้างโบสถ์ภายในประเทศด้วย "ดิน" อันเป็นต้นทุน "ต่ำสุด" ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
2. สร้างยอดฉัตรที่ประเทศอินเดียด้วย "ทองคำ" อันเป็นต้นทุน "สูงสุด" ตามแนวเศรษฐกิจใหม่ แนวคนไทยในอินเดีย ซึ่งยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ
ก็จะเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นมาในใจของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อได้รับรู้รับทราบถึงโครงการนี้ และแน่นอนว่าจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ว่าคนไทยในประเทศก็ยังยากจนค่นแค้น มิได้เหลือกินเหลือใช้ แต่ทำไมจะต้องขนทองคำถึง 250 กิโลกรัมไปทำบุญที่อินเดีย เพียงเพื่อจะให้ได้หน้าว่าคนไทยเราเป็นเจ้าของยอดฉัตรบนพระมหาเจดีย์อันดับหนึ่งของโลกเท่านั้น
กวาดสายตามองไปในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นพุทธ ชัดเจนที่สุดก็ 3 ประเทศ ได้แก่
1. ญี่ปุ่น มีชาวพุทธมหายานอยู่มากมาย มีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนามากที่สุดในโลก (มากกว่าไทย) ญี่ปุ่นเมื่อแรกนั้นก็กะจะเข้าไปครอบครองพุทธคยาด้วยวิธีการ "ใช้เงินซื้อ" แน่นอนว่าถ้าซื้อได้จริง สิทธิและผลประโยชน์ก็ต้องตกเป็นของชาวญี่ปุ่น แปลง่ายๆ ก็คือว่า ไม่ยอมเสียเงินฟรีๆ เป็นหมื่นๆ ล้านเพื่อเทกระจาดในอินเดีย และเมื่อไม่ได้พุทธคยา ญี่ปุ่นก็จึงซื้อที่ดินและสร้างวัดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่นที่ราชคฤห์ ญี่ปุ่นก็สร้างวัดไว้บนยอดเขารัตนคีรี ใกล้กับยอดเขาคิชฌกูฎ โดยปล่อยให้เขาคิชฌกูฏยังคงสภาพเป็นอีแร้ง ทุกวันนี้ยังต้องเดินเท้าขึ้นไปหรือไม่ก็ใช้บริการนั่งเสลี่ยงแขก ส่วนยอดเขารัตนคีรีนั้นญี่ปุ่นติดตั้งกระเช้าไฟฟ้าเก็บตังค์นักแสวงบุญได้วันละหลายแสน ก็คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงยิ่งทำบุญก็ยิ่งรวย
2. จีน ก่อนนั้นจีนยังจน ก็มุมานะเลี้ยงคนในประเทศให้ลืมตาอ้าปากได้ วันนี้จีนเติบใหญ่แล้ว จึงทุ่มเทเงินทองหว่านซื้อและสร้างประเทศยกใหญ่ ล่าสุดนั้นทราบว่าจีนทุ่มทุนมหาศาลประมาณถึง 15,000 ล้านบาท สร้างเป็นพุทธอุทยานขึ้นที่มณฑลกานซู มีห้องประชุมและศูนย์การศึกษาพร้อมสรรพ กะจะให้เป็นพุทธอุทยานระดับโลก ใหญ่กว่าพุทธมณฑลและกำหนดให้แล้วเสร็จภายในสองปีนี้ ทั้งๆ ที่จีนมิใช่เมืองพุทธ แต่เขาก็เอาพระพุทธศาสนาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมขายไปทั่วโลกได้อย่างแนบเนียน ถามว่าทำไมจีนไม่ไปทุ่มซื้อยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา คงโง่กว่าคนไทยเรามั๊ง
3. ไต้หวัน ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา แม้ว่าจะเป็นนิกายมหายาน แต่เรื่องการก่อสร้างแล้วเขาก็ไม่ได้ด้อยกว่าไทย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษานั้น ชาวพุทธไต้หวันสามารถสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา แรกนั้นชื่อว่า มหาวิทยาลัยชีไหล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น University of the West ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกา ขณะที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทยทั้งสองแห่งนั้นยังไปไม่ถึงไหน คือยังไม่ได้ระดับกับเขาเลย ดังนั้น เรื่องทุนรอนแล้วไต้หวันมิได้เป็นรองไทย แต่ถามว่าทำไมไต้หวันไม่ไปแข่งขันสร้างพุทธคยาเหมือนคนไทยบ้ากันอยู่ในปัจจุบัน
ศรีลังกาเขาก็มีเงิน แค่ 500 ล้านนั้นมันจิ๊บจ้อยถ้าจะแย่งตำแหน่งระดับโลก หมื่นล้านยังน้อยไป แต่ศรีลังกาเขามีวัดวาอารามมากกว่าประเทศใดๆ ในอินเดีย ผลงานของท่านธรรมปาละนั้นยังคงอมตะ เขาครอบครองพระบรมสารีริกธาตุมากกว่าชาวไทยทั้งประเทศ ยังมิรวมสมบัติเก่า อาทิเช่น พระเขี้ยวแก้ว กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ที่พระเจ้าอโศกโปรดให้ตัดไปจากต้นเดิมที่พุทธคยา และเป็นต้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งตรัสรู้ตัวจริงเสียงจริงเสียด้วย ถ้าอยากจะได้ใบพระศรีมหาโพธิ์จากต้นดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้จริงๆ ก็ต้องไปเอาที่ศรีลังกา ส่วนต้นที่พุทธคยาในปัจจุบันนั้น อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เพิ่งปลูกขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2421 ตกถึงปีนี้ก็มีอายุเพียง135 ปีเท่านั้น ดังนั้นศรีลังกาจึงไม่สนใจเรื่องจะหุ้มอะไรไว้บนยอดพระเจดีย์พุทธคยา ขนาดว่าเขาเข้าต่อสู้เป็นคนแรกในโลก ขณะที่ไทยยังไม่ยอมให้ความร่วมมือด้วยซ้ำไป แต่ปัจจุบันศรีลังกาเขาไปไกลในระดับสร้างอาณาจักรขึ้นในอินเดียแล้ว แต่ไทยเรากลับเดินตามตูดเขาอยู่ไกลลิบ เหมือนหมาหน้อยขึ้นดอย
พม่า ว่ากันว่าก็มือหนัก สมัยพระเจ้ามินดุง ก็ทรงส่งราชทูตเข้าไปขอบูรณะบริเวณพุทธคยาเป็นเจ้าแรกของโลก (ก่อนศรีลังกาจะเรียกร้องสิทธิในพุทธคยา) แม้ว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา พม่าจะถดถอยเพราะปิดประเทศ แต่เรื่องทำบุญสุนทานแล้วพม่าก็มิได้เป็นรองชาติพุทธใดๆ ในโลก พระมหาเจดีย์ชเวดากอง หรือพระเจดีย์ทอง องค์ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ยังตั้งเด่นเป็นสง่า ประกาศให้โลกรู้ว่า สุวรรณภูมิตัวจริงก็คือพม่า มิใช่ไทยแลนด์ ชาวโลกเขาเชื่อเช่นนั้น ยกเว้นชาวไทยที่ไม่เคยเชื่ออะไรนอกจากตัวเอง และปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของพม่า ทั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทั้งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต่างบินเข้าพม่าเป็นว่าเล่น ทั้งนี้ก็เพื่อจะทำการค้าขายกับพม่า ซึ่งยังคงมีทรัพย์ในดินสินในน้ำอยู่มหาศาล ประมาณว่าเลี้ยงชาวโลกได้เป็นพันๆ ล้านคนไปนานเป็นสิบปี เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีพม่าก็บินเข้าทำเนียบขาว กล่าวทางไทยเรานั้น แก๊สธรรมชาตินั้นวางท่อขอซื้อจากพม่า ทั้งนำมาใส่แทนน้ำมันรถยนต์และเป็นเครื่องหุงต้ม จะว่าพม่าเนื้อหอมที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ แต่ถามว่าทำไมพม่าไม่ไปทุ่มซื้อบุญที่อินเดีย ทั้งๆ ที่มีเขตประเทศติดต่อกันแท้ๆ
โครงการหุ้มทองคำยอดฉัตรบนพระมหาเจดีย์พุทธคยาที่ว่านี้ จึงเป็นโครงการที่ไม่โปร่งใสในวัตถุประสงค์และวิธีการ  ขัดพระนโยบายของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ว่าด้วยการสร้างโบสถ์พอเพียง ขัดแม้กระทั่งพระบรมราโชบายว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่ก็เหลือเชื่อว่า คณะกรรมการโครงการ อ้างว่าจะถวายเป็นพระกุศลแด่องค์สมเด็จพระสังฆราช ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 100 พรรษา แต่เนื้อหาของโครงการนั้นขัดกับแนวทางที่สมเด็จพระสังฆราชทรงดำเนินมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ โครงการสร้างโบสถ์ดินพอเพียง
อีกเรื่องที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในอินเดีย เนื่องเพราะดินแดนแถบพุทธคยา นาลันทา ราชคฤห์ ไปจนถึงลุมพินีและเนปาลนั้นยังป่าเถื่อน มีกองโจรคอยปล้นสะดมภ์ผู้คนแทบว่าตลอดเวลา ไม่ต่างจากเมืองไทยสมัยก่อน พ.ศ.2500 ที่มีซ่องโจรชุกชุมไปหมด วัดไทยทุกวัดในหัวเมืองที่ว่านี้จึงต้องจ้างยามไว้ดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง และพระในวัดก็ต้องมีอาวุธปืนไว้ป้องกันตัว เพราะว่ามันปล้นจริงๆ
เรื่องที่น่าตื่นเต้นก็คือว่า พระโพธินันทวิเทศ หรือพระอาจารย์จิ๋ว เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธคยา อันมีอาณาเขตติดกับบริเวณพุทธคยาแทบว่าเป็นแปลงเดียวกันนั้น เมื่อปีก่อนวัดป่าถูกโจรบุกปล้นกลางวันแสกๆ โชคดีที่อาจารย์จิ๋วเป็นศิษย์หลวงปู่ดุลย์ จึงใช้คาถาเสือเผ่นเอาตัวรอดไปได้
ก็ขนาดว่าวัดไทยใหญ่และดีที่สุดในอินเดียก็ยังไม่ปลอดภัย ทั้งนี้เพราะพวกแขกมันรู้ดีว่าคนไทยเรามีเงินทองและชอบพกเงินไปทำบุญทีละมากๆ ไปแต่ละทีก็เทกระเป๋าเข้าวัด วัดจึงเป็นที่หมายปองของมิจฉาชีพในรัฐพิหารจ้องจะปล้นกันตาเป็นมัน
บริเวณพุทธคยาอันพลุกพล่านด้วยชาวพุทธจากทั่วโลกนั้น เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครจะเป็นพ่อค้าหรือว่าสายลับ จะทำโจรกรรมเราในเวลาใด พระไทยที่อยู่อินเดียจึงต้องทำตัวให้มอซอที่สุด ทั้งด้านเสื้อผ้าหรือแม้แต่รองเท้าก็ต้องใส่แบบแขก ผู้เขียนเคยไปนั่งดื่มน้ำกับท่านพระครูวิเชียร วัดไทยสิริราชคฤห์ ที่หน้าพุทธคยา โดยวางกล้องถ่ายรูปไว้บนโต๊ะ ท่านพระครูก็รีบคว้าไปถือไว้โดยเตือนว่า "ไว้ใจไม่ได้หรอกครับ ของแพงๆ อย่างนี้ เผลอแผลบเดียวมันคว้าไปจ้อยแน่นอน"
และนั่นคือสถานการณ์กี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในอินเดีย ในช่วงที่ยังไม่มีการบุยอดพระเจดีย์พุทธคยาด้วยทองคำ
ต่อไป แขกทั่วประเทศก็ต้องรู้ว่า คนไทยเป็นเจ้าภาพหุ้มยอดพระเจดีย์ด้วยทองคำ แสดงว่าคนไทยรวยล้นฟ้า และเมื่อนั้นจะเกิดอะไรขึ้น
อ๋อ คนไทยก็จะกลายเป็นเป้าให้พวกแขกคอยปล้นชิงนะสิฮะ มันฆ่าคนก็เป็นนะ
หุ้มยอดฉัตรพระเจดีย์พุทธคยาด้วยทองคำเสร็จแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ และคณะ ก็อย่าลืมบอกบุญประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ได้ช่วยทำบุญกับพระไทยในอินเดีย โดยการซื้อปืนไปถวายไว้กับวัดทุกวัด พระทุกรูป และญาติโยมคนไทยทุกคนที่จะไปแสวงบุญในอินเดียน่ะ นอกจากอาหารการกินที่ต้องเตรียมไปให้พร้อมแล้ว ก็อย่าลืมซื้อปืนไปใช้แสวงบุญด้วยคนละกระบอก จะได้ใช้ป้องกันตัวตลอดการเดินทาง ส่วนใครที่ยังยิงปืนไม่เป็น ก็ไม่เป็นไร ขอนิมนต์สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เปิดโครงการ "แสวงบุญในอินเดียโดยปลอดภัย" ให้คนไทยที่จะไปอินเดียได้เข้ารับการอบรมการป้องกันตัวเอง ทั้งการยิงปืนหรืออื่นใด จะเป็นการปลอดภัยที่สุด
และขอให้จำไว้เลยว่า ต่อไปถ้าวัดไทยวัดใดหรือคนไทยคนไหนถูกปล้นในอินเดีย ก็คงต้องโทษกรรมการโครงการหุ้มทองยอดฉัตรพระเจดีย์ด้วยทองคำที่มี สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน นี่เอง ว่าเป็นต้นเหตุของการปล้นคนไทย
แค่นี้คงพอแล้วมั๊ง สำหรับอธิบายท็อปปิกเบื้องต้นโน้นว่า "หุ้มทองคำ 250 กิโลกรัม บนยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา สร้างบุญหรือว่าสร้างบาปให้แก่คนไทย ?"
ส่วนใครจะทำหรือไม่ทำนั้นผู้เขียนมิได้ห้าม และมิได้ยุ บางท่านได้อ่านแล้วอาจจะหมดความเลื่อมใสไม่ทำบุญกับโครงการนี้ บางท่านอาจจะรีบไปทำบุญหรือทำมากกว่าที่เคยตั้งใจไว้ ก็สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ขอเรียนให้ทราบว่า เป็นเพียงมุมมองของพระมหานรินทร์ คนเดียวเท่านั้น

ขอถามคำสุดท้ายว่า
ทำแบบนี้ ถ้ามิใช่ "ทำบุญเอาหน้า ภาวนาเอายศ" แล้ว
เขาเรียกว่ากระไรขอรับ ท่านสมเด็จพระวันรัต ที่เคารพ ?

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา30 พฤษภาคม 2556
0
8:00 P.M. Pacific Time.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ