ประวัติศาสตร์ การอุ้ม-การฆ่า เอกยุทธ อัญชันบุตร


การอุ้ม-การฆ่าจะมีก็ในยุคสมัยบ้านป่าเมืองเถื่อนหรือยุคมืด... แต่ยุคนี้สมัยนี้ควรจะหมดไปได้แล้ว.. ใครคิด ใครทำ ใครบงการถือว่า.. เถื่อน.. ถ่อย.. มืด.. ต่ำทราม รัฐบาลจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ มีแต่เสียกับเสีย.. จะมาเย้ยหยันไยไพหรือยิ้มเยาะแบบยั่วยวนว่า ดีแล้วโดนซะมั่ง.. คงไม่ได้ 
เราเป็นรัฐบาล เราเป็นผู้บริหาร เราเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ 
เราเป็นรัฐบาลของประชาชน.. ไม่ใช่รัฐบาลของโจร... ทนาย วันชัย สอนศิริ

11 มิ.ย.56 พ.ต.ท.สำรวย แสนสม พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง กล่าวยืนยันว่า คดีการหายตัวไปของ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจและเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซด์เดอร์ ล่าสุด ตำรวจสามารถจับกุมตัว นายสันติภาพ เพ็งด้วง คนขับรถของนายเอกยุทธได้แล้ว ที่ อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา และเค้นสอบปากคำนายสันติภาพ เสร็จเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น.ที่ผ่านมา
เบื้องต้นนายสันติภาพยังให้การปฎิเสธว่าไม่ได้ทำการลักพาตัวนายเอกยุทธไป แต่เป็นการวางแผนที่จะหายตัวไปของนายเอกยุทธเอง โดยระบุว่า นายเอกยุทธได้สั่งให้ขับรถไปตามจุดต่างๆ และสั่งให้แยกทางกันที่ จ.เพชรบุรี เพื่อที่นายเอกยุทธจะเดินทางต่อไปยังประเทศพม่า ส่วนเงินสดจำนวน 5 ล้านบาท นายเอกยุทธก็นำติดตัวไปด้วย และวันใดที่กลับเข้าประเทศไทยก็ค่อยให้ตนกลับมาทำงานขับรถให้ตามเดิม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การของนายสันติภาพ เนื่องจากพูดวกไปวนมา และยังขัดต่อผลการสอบสวนที่ได้จากพยาน และสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่านายสันติภาพ อาจจะออกอุบายกับตำรวจ เพื่อจะโยนเหตุการณ์ทุกอย่างไปยังนายเอกยุทธว่า เป็นผู้ต้นคิดแผนการทั้งหมด

เกือบจะ 10 ปีแล้วที่ผมกับคุณอัญชะลี ไพรีรักษ์ เดินทางไปลอนดอนเพื่อสัมภาษณ์เอกยุทธ อัญชันบุตร...และเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งในช่วงนั้น...เมื่อข่าวคราวของผู้ชายคนนี้กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งโดยไม่รู้เป็นรู้ตาย..ผมลองค้นบทความที่เคยเขียนไว้และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ในสมัยโน้น...ย้อนอดีตเอามาให้อ่านกันถึงชีวิตโลดโผนของผู้ชายคนนี้...(อ่านกันสนุกๆนะครับ)

The Lounge ของโรงแรมโฟร์ซีซั่นในมหานครลอนดอนได้รับการยกย่องว่าเป็นห้องน้ำชาที่เลิศหรูที่สุดแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร
เอกยุทธ อัญชันบุตร นัดเราสองคนที่นี่ 3 วันซ้อนเพื่อเปิดอกพูดคุยถึงเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นปริศนามานานกว่า 20 ปี....
ชาเขียวเพื่อสุขภาพที่ชาวญี่ปุ่นนิยมดื่มมานานนับพันปี ชาดาร์จีลิ่งอันเลื่องลือจากอินเดีย และชาผลไม้ของอังกฤษ ถูกนำมาเสริฟพร้อมกับคุ๊กกี้จานโต ท่ามกลางเสียงเปียโนและเสียงสนทนาเบาๆจากอาคันตุกะนานาชาติที่มาเยือนลอนดอน
และในบรรยากาศหรูหราน่ารื่นรมย์นั้น เราเริ่มต้นการค้นหาความลับจาก “เอกยุทธ อัญชันบุตร” ด้วยเรื่อง “กบฎ 9 กันยาฯ “ ….

ย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว..... 03.00 น.ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 รถถังจำนวน 22 คันจาก ม. พัน. 4 รอ. พร้อมด้วยกำลังทหารจำนวนกว่า 400 คน ได้เคลื่อนออกจากที่ตั้งเข้าปฏิบัติการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งในเวลานั้นเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย
06.00 น. ปฏิบัติการยึดเมืองรุกไล่อย่างรวดเร็ว เข้าควบคุมอาคารกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า อาคารกรมประชาสัมพันธ์ และ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมประกาศความสำเร็จของการรัฐประหารและอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติที่ระบุนาม “พล.อ.เสริม ณ นคร” อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
07.00- 09.00 น. การรัฐประหารกลับได้พบกับอุปสรรค เมื่อพล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาการผู้บัญชาการทหารบก ( แทนพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นที่ติดราชการอยู่ที่ยุโรป) ได้ประสานงานกับพล.อ.เปรมและพล.อ.อาทิตย์ ก่อตั้งกองอำนวยการต่อต้านการรัฐประหารขึ้นที่กรมทหารราบที่ 11 รอ. บางเขน พร้อมกับติดต่อระบบส่งกระจายเสียงออกตอบโต้ฝ่ายยึดอำนาจด้วยการออกแถลงการณ์ในนามของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

ทั้ง 2 ฝ่ายตอบโต้กันด้วยสงครามจิตวิทยามวลชน ต่างฝ่ายต่างประกาศว่าฝ่ายของตนคือผู้กุมอำนาจรัฐ จนเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารได้สั่งกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. ประกอบด้วยรถยีเอ็มซีและรถสิงห์ทะเลทรายพร้อมอาวุธเคลื่อนไปตามถนนพหลโยธินเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆเอาไว้ แต่หลังจากนั้นไม่นานประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายรัฐประหารที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าได้เคลื่อนเข้าระดมยิงเสาอากาศและตัวอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนเอ็ม 60 เข้าไปยังกรมประมวลข่าวกลาง ที่ตั้งอยู่ในวังปารุสก์ฯ ผลที่เกิดขึ้นก็คือทำให้นายนีล เดวิส ผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวออสเตรเลียน และนายบิล แรตช์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันของเครือข่ายเอ็นบีซี ถูกลูกหลงเสียชีวิต
หลังจากนั้นกำลังทั้งสองฝ่ายได้เริ่มปะทะกันอย่างรุนแรงไปจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 15.00 น.การเจรจาเพื่อสงบศึกได้เริ่มขึ้นโดยมี พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ (ยศในเวลานั้น) เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเจรากับ พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แกนนำคนสำคัญฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งลงเอยด้วยการที่ฝ่ายรัฐประหารยินยอมเลิกปฏิบัติการ
17.30 น. สถานการณ์ที่ตึงเครียดบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ความสงบ กองกำลังทั้งสองฝ่ายถอนจากที่นั่นกลับสู่ที่ตั้ง
18.30 น. พล.ท. พิจิตร และ พล.ท. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เดินทางไปยังสนามบินดอนเมืองเพื่อส่งตัวพันเอก มนูญ และ นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร ผู้นำการรัฐประหารครั้งนี้ให้เดินทางออกนอกประเทศ....
ในคืนวันเดียวกันนั้นเอง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กลับมายังเมืองไทยและเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จึงเป็นอันว่าวิกฤตการณ์การเมืองไทยในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ได้ยุติลง
คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ภรรยาพล.อ.เสริม ณ นคร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อขาวในเวลาต่อมาว่า เหตุการณ์ที่สงบราบรื่นขึ้นมานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบเหตุการณ์โดยตลอด ทรงวิตกกังวลต่อสถานการณ์ ได้มีพระกระแสรับสั่งขอให้กองกำลังทั้งสองฝ่ายยุติการต่อสู้และให้ตกลงกันโดยสันติ ทั้งสองฝ่ายก็สามารถทำความเข้าใจกันได้แล้วนำกำลังกลับเข้าสู่ที่ตั้ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยุติลงโดยสิ้นเชิง ( ไทยรัฐ , 11 กันยายน พ.ศ. 2528 )
ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 10 กันยายน ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ติดตามข่าวสารมาตลอดทั้งวันที่ 9 กันยายน เพิ่งได้รู้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่านอกจากบรรดานายทหารของกองทัพแบ่งฝ่ายกันเล่นเกมยึดอำนาจกันเองแล้ว ยังมีพลเรือนจำนวนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ผู้นำแรงงานคนสำคัญๆอย่างนายสวัสดิ์ ลูกโดด นายอาหมัด ขามเทศทอง นายประทิน ธำรงจ้อย ฯลฯ
และชื่อที่ทำให้ประหลาดสุดขีดก็คือ “เอกยุทธ อัญชันบุตร” ผู้เพิ่งหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีแชร์ชาเตอร์ได้ปรากฏตัวขึ้นที่กองบัญชาการรัฐประหารในฐานะแกนนำคนสำคัญที่ถือบัญชาการผ่านวิทยุสื่อสารในนามของ “สิงห์ 1 “
บุคคลที่ให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์คือนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( ขสมก.) ซึ่งถูกฝ่ายก่อการควบคุมตัวไว้

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528 ในกรอบข่าวสุดท้ายหน้าหนึ่ง พาดหัวว่า “ เอกยุทธ โผล่หน้า บก.ปฏิวัติ” ในเนื้อข่าวลงคำให้สัมภาษณ์ของนายพิเชษฐ์ ว่า ถูกผู้นำสหภาพแรงงาน ขสมก.โทรศัพท์มาเรียกให้ไปที่สำนักงานใหญ่ ขสมก.แล้วโดนควบคุมตัวไว้โดยแกนนำเหล่านั้นประกอบด้วยนายสมชาย ศรีสุนทรโวหาร นายอิสระ งามโรจน์ ประธานสหภาพ และนายสมพงษ์ สระกวี อดีตผู้นำนักศึกษา
นายพิเชษฐ์ได้กล่าวถึงนายเอกยุทธว่า ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไว้นั้นได้เห็นนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้ามือแชร์ชาเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ตำรวจกำลังต้องการตัวไปปรากฏตัวอยู่ในกลุ่มบุคคลระดับผู้นำของฝ่ายปฏิวัติที่เข้ายึด ขสมก. ด้วย โดยใช้วิทยุมือถือรหัส “สิงห์ 1 “ และนายเอกยุทธได้ฉากหนีไปเมื่อรู้ว่าสถานการณ์ของฝ่ายปฏิวัติตกเป็นรอง

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2528 ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของนายพิเชษฐ์ว่า ได้เห็นนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นั่งรถเบนซ์สีขาว ทะเบียน 7 จ.9539 กรุงเทพมหานคร สวมชุดซาฟารี สีกากีอ่อน มือมีวิทยุสั่งการและสั่งการโดยใช้โค้ดว่า “สิงห์ 1” ซึ่งนายเอกยุทธ ได้เข้าๆออกๆสำนักงานใหญ่ของ ขสมก.หลายหน จนกระทั่งเวลา 13.00 น. จึงได้ออกไปแล้วไม่กลับมาอีก
นายพิเชษฐ์ระบุเพิ่มเติมว่า ระหว่างที่อยู่ขสมก.นี่เอง นายเอกยุทธได้สั่งการถึงสารวัตรใหญ่ สน.พญาไท อ้างว่าทหารฝ่ายรัฐบาลได้บุกเข้าปล้นธนาคารแห่งหนึ่งในเขต สน.พญาไทและให้นำกำลังตำรวจออกมาเพื่อระงับเหตุด้วย แต่ตำรวจไม่ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งการสั่งการของนายเอกยุทธครั้งนี้ได้อ้างว่าเป็นผู้นำของฝ่ายปฏิวัติด้วย
มติชน ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2528 ได้ลงคำให้สัมภาษณ์นักข่าวของนายพิเชษฐ์เช่นเดียวกับสยามรัฐ แต่มีข้อมูลที่แตกต่างเกี่ยวกับสีของรถเบนซ์ว่า เป็นรุ่น 280 เอส สีตะกั่ว ส่วนายเอกยุทธสวมชุดซาฟารี สีกากีอ่อน สวมนาฬิกาอย่างดี ซึ่งนายเอกยุทธได้บอกนายพิเชษฐ์ว่า เขามั่นใจว่าการปฏิวัติจะสำเร็จอย่างแน่นอน ฝ่ายปฏิวัติได้ยึดสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ไว้เรียบร้อยแล้ว อีกไม่นานพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ จะออกแถลงการณ์ต่อประชาชน
ส่วน ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2528 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากคำสัมภาษณ์ของนายพิเชษฐ์ว่า นายเอกยุทธได้นำทหารติดอาวุธ 4 นายเข้ามาในห้องทำงานของตน และบอกว่า พื้นที่ทางฝั่งธนบุรีนั้น พ.อ.พีรพงศ์ สรรพากพิสุทธิ หรือ เสธ.แฮงค์ ได้ควบคุมไว้เรียบร้อยแล้ว และนายเอกยุทธบอกว่าเขาได้ร่วมลงทุนด้วย...


“คุณเอกยุทธ ขนเงิน 200 ล้านบาทบินเข้าเมืองไทยไปสนับสนุนการรัฐประหารใช่ไหม...” เราเริ่มคำถามที่ยังคงเป็นปริศนาในใจของคนหลายคน
“ ผมบินเข้าไปแต่ตัว เงินอยู่ในธนาคารที่เมืองไทย แต่ใช้ไปไม่ถึง 200 ล้านบาท...” เอกยุทธยอมรับว่าเขาคือผู้สนับสนุนคนหนึ่งของยุทธการยึดเมืองในครั้งนั้น พร้อมกับเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างละเอียดว่า...
เมื่อเขาพบกับวิกฤตการณ์แชร์ชาเตอร์และโดนตำรวจตามล่าตัว เขาจึงหลบออกนอกประเทศด้วยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่คนหนึ่งส่งขึ้นเครื่องบินไปยังประเทศเยอรมนีและไปพักอยู่กับเพื่อนที่สนิทสนมกันมาก่อน ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาต้องหนีตายออกนอกประเทศ...
ในระหว่างที่อยู่ในเยอรมนีนั่นเอง มีผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาเพื่อสอบถามว่าเงินแชร์ซ่อนไว้ที่ไหน แต่มีการประสานมาจากผู้นำกรรมกรจากเมืองไทยให้นายทหารคนดังแวะเยี่ยมเพราะอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์บ้านเมืองน่าเป็นห่วง อยากให้คนที่มีความคิดอ่านคล้ายๆกันมาเจอกัน
ในที่สุดเอกยุทธ อัญชันบุตร ก็ได้พูดคุยกับนายทหารคนดังและมีการประสานงานกันระหว่าง 2 แกนนำคนสำคัญของรัฐประหาร 9 กันยาฯ
คนหนึ่งมีกำลังพล คนหนึ่งมีกำลังทุน และมีความขัดแย้งกับคนเดียวกันคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ผู้เอาชนะ พ.อ.มนูญ รูปขจร ในเหตุการณ์กบฎ เมษาฯฮาวาย พ.ศ. 2524 และ เป็นผู้ทำลายแชร์ชาเตอร์ของ เอกยุทธ อัญชันบุตร จนพังพินาศไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนที่ทั้งคู่จะพบกัน
การมองเห็นโอกาสที่จะกลับมาเมืองไทย ทำให้เอกยุทธตอบตกลงการเข้าร่วมกระทำรัฐประหารโดยไม่ลังเล

“ กลุ่มพี่น้องกรรมกรทางเมืองไทยนั้น ถามผมมาว่าต้องการสนับสนุนเรื่องนี้ไหม ตอนนั้นอยากกลับเมืองไทยและอยากกลับมาสู้ความในศาลเรื่องชาเตอร์ ก็ตกลงและบินกลับเมืองไทยประมาณ 2 อาทิตย์ก่อน 9 กันยายน..ผมกลับมาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ขอความยุติธรรม ขอขึ้นศาล สู้ความ ที่ยอมเข้ามาเพราะอยากสู้ความแบบแฟร์ๆ ไม่ใช่สู้ความแบบที่มีอำนาจรัฐยืนคุมอยู่อีกด้านหนึ่ง ...ตอนนั้นผมคิดว่าเมื่อเข้ามาแล้วรัฐบาลชุดนั้นต้องไป ต้องเปลี่ยนแปลง แล้วผมจะได้ความยุติธรรมกลับคืนมา นี่คือเหตุผลสำคัญที่สุดที่เข้าร่วมการปฏิวัติ...”

เมื่อตกลงใจได้เช่นนั้นแล้ว เอกยุทธ อัญชันบุตร ก็แอบบินกลับมาเมืองไทยก่อนลงมือ 2 สัปดาห์ แต่เขายอมรับว่า การเข้ามาของเขาคงไม่หลุดรอดสายตาของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ไปได้อย่างแน่นอน หลังจากนั้นก็ให้คนไปรวบรวมมาจากผู้สนับสนุนเกือบๆ 200 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าจ่าย

“เงินทั้งหมดใส่ไว้ในท้ายรถเบนซ์ ทุกคนรู้กันดี…ตอนที่การยึดอำนาจล้มเหลว คนขับกับรถและเงินหายเข้ากลับเมฆไปเลย มีเงินอยู่ 4-5 ล้านบาท...ตอนหลังมาเขาบอกกับเราว่ารถกับเงินถูกยึด... ”

เอกยุทธปฏิเสธที่จะบอกรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีส่วนร่วมในครั้งนั้น แต่เขาบอกว่าเขานำกำลังทหารจำนวนหนึ่งออกมา ไปจับผู้ใหญ่มา 3 คน ในจำนวนนั้นมีนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ
ขสมก. อยู่ด้วย...
แต่เมื่อปฏิบัติเริ่มขึ้นไปถึงเวลาประมาณ 10.00 น. เอกยุทธก็รู้ว่าแพ้ รู้ว่าไม่รอดแล้ว

“...แต่ผมยังคิดที่จะสู้ต่อไปอีก ตอนนั้นอายุแค่ 25 ก็คิดแบบคนหนุ่มไงล่ะ ว่า วัดกันไปเลย ถ้าชนะก็ได้สู้ความ ผมก็สั่งให้ลูกน้องสู้ต่อ พวกนั้นเป็นทหารเด็กๆทั้งนั้น แต่ในที่สุดเราก็แพ้ แพ้เพราะพระบารมี แพ้แล้วเราก็กลับบ้านที่สุขุมวิท เข้านอนดูทีวีเห็นคนที่อยู่ร่วมในฝ่ายปฏิวัติ พอรู้ว่าแพ้ ก็ไปโผล่ที่กองบัญชาการต่อต้านการปฏิวัติของฝ่ายรัฐบาลทีละคนและเห็นที่เขาประกาศออกหมายจับผมทางทีวีทุกช่อง....ผมงงมากในตอนนั้น งงว่ากูจะเอายังไงต่อไปกับชีวิตดีวะ...”

ท่ามกลางความวิกฤติภายหลังการรัฐประหารล้มเหลวและกำลังว้าวุ่นกับอนาคตของตัวเองอยู่นั้น เอกยุทธก็ได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่คนหนึ่งว่าให้ออกจากประเทศไปภายใน 10 ชั่วโมง รับรองว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น....

“ ผมก็นอนคิดว่า กูจะไปที่ไหนวะ จะไปยังไง เงินที่เหลือในท้ายรถ 4-5 ล้านบาท ทหารก็ขับหนีไปเลย ตอนนั้นทุกคนรู้หมดว่ามีเงินในรถ เปิดแจกกันอยู่ท้ายรถ เห็นๆกันหมด คนขับเอาหนีไปเลย แล้วโทรมาบอกว่าโดนจี้ เรารู้แล้วว่า วาระมันมาถึงแล้ว เลยตัดสินใจโทรไปหาเพื่อนที่ยิ่งใหญ่อยู่ในมาเลเซีย...เขาก็ส่งคนมารับ...”

เพื่อนที่ยิ่งใหญ่ของเอกยุทธเป็นใคร เขาขอเก็บไว้เป็นความลับ

“เพื่อนคนนี้ผมรู้จักเขาที่อังกฤษ ตอนที่ผมยังมีเงินมากๆ ผมบินไปซื้อรถแข่งที่อังกฤษและเยอรมนีบ่อยๆ ก็เลยรู้จักสนิทสนมกัน พอโทรไปหาเขาและบอกว่าเราเดือดร้อนเรื่องอะไร เขาส่งรถทูตมารับไปทันที โดยที่ทางรัฐบาลไทยก็รู้ พอเขาไปส่งเราที่มาเลเซีย เขาก็จัดการเรื่องการเดินทางเข้าเยอรมนีให้เลย...”

แล้วเอกยุทธ อัญชันบุตร ก็หนีตายออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่งภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

“แล้วพ.อ.มนูญล่ะ “ พวกเราถาม

“ตอนนั้นผมแยกกับเสธ.แล้ว ผมไปมาเลเซีย ท่านไปสิงคโปร์ ทราบมาว่าพี่เสือ (พล.อ.พิจิตร) ให้เงิน 1000 เหรียญฯ ส่งพี่นูญไปสิงคโปร์ ก้อ..ลีเซียนหลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้แหละที่ไปรับเสธ.นูญ...”

เอกยุทธยอมรับว่า เหตุการณ์หนีตายครั้งนั้นทำให้เขากลัวมาก

“ระหว่างทางจากบ้านไปสนามบิน ผมหวั่นไหวมาก รู้เลยว่าตอนนั้นอำนาจรัฐมันแรงมาก แตกต่างจากตอนที่ออกไปเมื่อครั้งแรก ตอนขึ้นเครื่องบินไปแล้ว ผมก็ยังกลัว รอจนประตูปิด บินขึ้นไปบนอากาศ ผมก็ยังกลัว จนบินไปครึ่งชั่วโมงถึงได้โล่งใจว่าปลอดภัย...ตอนนั้นกลัวมาก กลัวว่าเครื่องบินจะเลี้ยวกลับ ตราบใดที่ยังไม่พ้นน่านฟ้าไทย เคยมีประวัติศาสตร์มาแล้ว”

เขาบินหนีไปครั้งนั้นด้วยเที่ยวบินพิเศษของสายการบินต่างประเทศ

ครั้นไปถึงสนามบินที่กัวลาลัมเปอร์ เพื่อนก็มารับพร้อมกับเอกสารการเดินทางต่อไปยังเยอรมนี หลังจากนั้นชื่อของ “เอกยุทธ อัญชันบุตร” ก็หายสาบสูญไป เหลือเพียงบุรุษในนาม “จอร์จ ตัน” ที่ผาดโผนไปทั่วยุทธจักรการเงินโลกนานนับสิบปี

“ผมกลายเป็นคนใหม่ ไม่มีเอกยุทธ อัญชันบุตร อีกต่อไป แต่มี จอร์จ ตัน มาแทนที่ แล้วผมก็ไปเยอรมนี ในฐานะใหม่....พอกลับไปเพื่อนก็มารอรับแล้วเห็นอาการที่แย่มากๆของผม เขาก็ทักว่า “แพ้มาใช่ไหม”…เขาพาผมกลับที่พัก แวะเลี้ยงข้าวและปลอบใจว่าอย่าคิดอะไรมาก ไม่มีอะไรหรอก ที่นั่นไม่ใช่ประเทศของเรา อย่าไปอยู่มันเลย..”


เมื่อตั้งหลักได้เขาก็ทำเรื่องแจ้งไปยังสำนักงานผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ว่าขอลี้ภัยทางการเมืองในนามเอกยุทธ อัญชันบุตร ขอสิทธิคุ้มครองไม่ให้ถูกส่งตัวกลับ

เอกยุทธ ยกแก้วชาเขียวขึ้นจิบก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ กลับไปเยอรมนีเที่ยวนี้ไม่เหมือนตอนแรกที่ตอนนั้นมีทั้งโทรศัพท์และคนแวะมาเยี่ยมมากมาย แต่ครั้งนี้เงียบกริบ ผมโทรไปหาใครที่เมืองไทยก็ไม่มีใครยอมรับโทรศัพท์ มีแต่คุณแม่ที่บินมาเยี่ยมผม...นั่นคือครั้งสุดท้ายที่อยู่เมืองไทย ผมตระเวนไปทั่วโลกนานถึง 10 ปีกว่าจะได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งและเพิ่งได้กลับมาใช้ชื่อ เอกยุทธ อัญชันบุตร อีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง.....”

เอกยุทธ อัญชันบุตร หันหลังให้กับอดีตและก้าวเข้าสู่ยุทธจักรการเงินของโลกในนามของ จอร์จ ตัน สิบกว่า ปี จนสร้างความมั่งคั่งและมั่นคง
ในวัย 45 ปีเขากลับมาเขย่าวงการการเมืองไทยอีกครั้งด้วยการประกาศยุทธการ “ล้ม” ทักษิณ ชินวัตร
ช่างเป็นชีวิตที่น่าตื่นเต้นเสี่ยนี่กระไร... (บทความนี้เขียนเมื่อ ปี 2547-2548 )



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ