ปล้นกลางแดดในประวัติศาสตร์ พ.ศ.2557

คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมเชื่อโดยง่าย ว่ารัฐบาลทหารไม่ได้มีพิมพ์เขียว หรือตั้งธงเอาไว้แล้วว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร เพราะมีหลายประเด็นทำให้สังคมเชื่อเช่นนั้น การคัดเลือกสมาชิก สนช., สปช. รวมถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะน่าผิดหวังไม่น้อย กับการเลือกคนกลุ่มหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวปัญหากับการปฏิรูป โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเชื่อมั่น และไม่มีแนวคิดปฏิรูปบ้านเมืองเลยแม้แต่น้อย แต่ได้เข้าไปอยู่ในคณะปฏิรูปด้วย ขณะที่คนที่มีความคิดเรื่องการปฏิรูปอย่างจริงจังกลับไม่ถูกคัดเลือก

ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่า..ยังพอจะมีคนดีมีความสามารถหลุดเข้าไปได้พอสมควร จึงไม่ทำให้รู้สึกว่าบ้านเมืองนี้
“ว้าเหว่” จนเกินไป!!!

ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลทหารจะมีพิมพ์เขียวซ่อนไว้ใต้ตุ่ม หรือมีธงซุกซ่อนไว้ตรงไหนอย่างไรหรือไม่ก็ตาม ความคิดเห็นของสมาชิก สนช. สปช. จนถึงแนวความคิดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน กลุ่มองค์กรและภาคประชาสังคมทั้งหลาย ก็ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิรูป เพราะหากขัดหรือแย้ง ไม่ตรงกับที่ๆ แอบมีแอบซุกกันไว้แล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายของคณะทหารที่จะเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของประชาชน แล้วดึงดันเอาแต่สิ่งที่พวกทหารคิดออกมาใช้แต่เพียงถ่ายเดียวโดยง่ายดาย

ประเด็นการเลือกตั้งคณะผู้บริหารโดยตรง ที่กำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้..โจทย์คืออะไร?

ตลอดหลายช่วงเวลาของการเลือกตั้งที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่า 1.ไม่เคยแก้ปัญหา “การซื้อสิทธิ์ขายเสียง” ได้เลย 2.การเลือกตั้ง สส. โดยประชาชน แล้ว สส. เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะไปเลือกคณะรัฐมนตรีอีกทอดหนึ่ง ประชาชนไม่มีส่วนรับรู้เลยว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใด แม้แต่คนที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีก็ยืนยันว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่านายกฯ จะเลือกใครเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี

สิ่งที่ตามมากับระบบการเลือกตั้งแบบนี้ คือประชาชนได้เห็นนายทุนของพรรค ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ นายหน้า นักฉวย
โอกาส คนไร้ความสามารถและคนมีประวัติด่างพร้อย หรือเรียกรวมๆ ว่า “คนจำพวกยี้” หลุดเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นการ “ปล้นกลางแดด” โดยไม่เห็นหัวประชาชน เพราะ “ประชาธิปไตย 3 นาที” ของประชาชน (ที่ในหลายๆ เขตก็มิใช่การเลือกตั้งที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์) จบลงไปแล้วในคูหาเลือกตั้ง

3.การเลือกตั้งระบบเก่าที่บังคับให้ทุกคนต้องสังกัดพรรค ไม่เปิดช่องให้คนดีแต่ทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ สามารถลงแข่งขันกับผู้มีอิทธิพลได้ เราจึงได้เห็นคนเพียงไม่กี่ตระกูลที่ผูกขาดทางการเมือง และครองอำนาจการปกครองมาตลอด ส่งผลให้เกิด สส.และรัฐมนตรีแบบพ่อสู่ลูก หรือบางครั้งก็ลูกสู่พ่อ ผัวสู่เมีย พี่สู่น้อง นับเป็น “วงจรอุบาทว์”

4.การเลือกตั้งแบบเดิม ที่ไม่แบ่งแยกอำนาจ “นิติบัญญัติ” กับอำนาจ “บริหาร” ให้เด็ดขาดออกจากกัน ทำให้เอาเสียง
ส่วนใหญ่ในสภาฯ ไปรับใช้รัฐบาล ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะทำผิดหรือทำเลอย่างใด รัฐสภาโดยเสียงข้างมากก็ต้องสนับสนุนและรับรองโดยไร้ความละอาย ด้วยหวังว่าตนเองจะได้รับ “เศษบุญ” จากฝ่ายบริหาร เช่น ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี หรือได้ผลประโยชน์อื่นๆ ดังนั้นการเลือกตั้งแบบเดิมๆ จึงไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนา

การปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่แก้ปัญหาได้ ด้วยการแบ่งแยกอำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับบริหาร ให้ชัดเจนและเด็ดขาดต่างหาก ที่เป็นสิ่งจำเป็น!!!

การเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงจากประชาชน จึงเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่มีเหตุผล และความเหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ที่สำคัญคือเป็นการให้อำนาจกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อเราสามารถให้มีคณะผู้บริหาร หรือคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้ ทำไมเราจึงปฏิเสธ?

มีคนค้านว่าอิสราเอลก็เคยเลือกนายกฯ โดยตรงมาแล้ว 3 ครั้ง และประสบกับความล้มเหลวจนต้องเลิกระบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้
สามารถนำมาเป็นบทเรียนเพื่อการศึกษา และวิพากษ์วิจารณ์เพื่อหาความรู้ได้ เช่น บริบทของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ภาวะสงครามที่รายล้อม องค์กรทางการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความตื่นตัวทางการเมืองระหว่างไทยกับอิสราเอล มีความแตกต่างกันมาก

แต่ไม่ใช่แค่อ้างบทสรุปลอยๆ เพื่อปิดกั้นการเลือกตั้งคณะผู้บริหารโดยตรง แล้ววนอยู่กับวิธีการเดิมๆ ที่ไม่สะท้อนความต้องการแท้จริงของประชาชน จำนวนที่นั่ง สส. ที่แต่ละพรรคได้รับหรือไม่ได้รับ ก็ล้วนเกิดจากระบบการนับคะแนนที่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใหญ่ ไม่ใช่ผลคะแนนที่ถูกต้องยุติธรรม

มิพักต้องพูดไปถึงความไม่โปร่งใส การใช้เงินและการใช้อิทธิพล เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในทุกเขต!!!

การแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากอำนาจบริหารอย่างเด็ดขาด สามารถแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และทำให้รัฐสภาเป็นเสาหลักค้ำจุนความถูกต้อง และมีบทบาทที่เป็นคุณโดยแท้จริงในสังคมไทย เริ่มด้วยการกำหนดจำนวน สส. ให้เหลือน้อยลง เพราะที่ผ่านมามีจำนวน สส.มากเกินไป นอกจากสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ สส.ส่วน
ข้างมากไม่ทำงาน นอกจากยกมือตามคำสั่งแต่ไม่เคยเสนอความคิดเห็นแก้ไข ปรับหรือนำเสนอกฎหมายใดๆ และที่ร้ายกว่าคือส่วนหนึ่งไม่เข้าประชุม

แสดงว่ารัฐสภาไม่จำเป็นต้องใช้ สส.มากมายอย่างที่เป็นอยู่ รัฐสภาสามารถดำเนินไปได้ด้วยจำนวน สส. เพียงครึ่งเดียว การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ควรเป็นเขตใหญ่เพื่อให้ยากแก่การซื้อเสียง สส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง สส.จะเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ ไม่ว่าวาระนั้นๆ จะต่อเนื่องกันหรือไม่

การเลือกตั้งก็ควรเป็นแบบสองรอบ คือถ้าการเลือกตั้งในรอบแรกไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ก็ให้นำผู้ได้คะแนนที่หนึ่งและที่สองมาเลือกตั้งใหม่ ถ้ายังไม่มีใครได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งอีก ก็มีผู้เสนอว่าให้ผู้ที่ได้เสียงมากกว่าเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งผู้เขียนไม่ปฏิเสธความคิดเช่นนั้น แม้จะคิดว่าให้นำผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายมา “จับสลาก” กันจะดีกว่าก็ตาม

ที่สำคัญคือ..ต้องห้ามไม่ให้ สส. เข้าไปเป็นฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ สส. มีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ และรัฐบาลต้องตอบกระทู้หรือชี้แจงในสภาฯ สส.ไม่มีสิทธิ์ลงมติล้มรัฐบาล แต่ สส.จำนวนหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดสามารถยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลถูกยุบได้

แนวคิดเช่นนี้ การทุ่มเงินมหาศาลเพื่อซื้อเสียงก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะอาจพบกับการ “จับสลาก” และไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นฝ่ายบริหารเพื่อการถอนทุนคืนหรือการกอบโกยโกงกิน ส่วนฝ่ายบริหาร การเลือกตั้งรัฐบาลหรือคณะผู้บริหารทั้งคณะโดยตรง จะสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ได้ แต่ต้องเลือกเบอร์เดียวทั้งกลุ่มคณะ

มาถึงวันนี้...แค่การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงเพียงตำแหน่งเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาการ “ปล้นกลางแดด” ของเหล่ารัฐมนตรีที่ประชาชนรับไม่ได้ รัฐมนตรีที่เป็นนายทุนของพรรค แต่การเลือกคณะผู้บริหารโดยตรงคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เห็นหน้าตา และได้ตัดสินใจว่าคนเหล่านี้เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่?

เป็นการเอาทุกคนออกมาอยู่กลางแจ้ง ไม่เป็น “อีแอบ” ซุกหัวซ่อนหางตีกินอย่างที่ผ่านๆ มา ที่สำคัญ การเลือกตั้งโดยตรงคือการให้อำนาจแก่ประชาชนมากขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้คนดีเสนอตัวเข้ามาสู่การแข่งขันได้ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลหรือคณะผู้บริหารตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะอยู่ในวาระได้ไม่เกิน 1-2 สมัยเท่านั้น และรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ยุบสภา

มีคนโต้แย้งว่าการเลือกตั้งโดยตรงจะทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเป็น “พยัคฆ์ติดปีก” จนไม่มีใครจะต่อต้านคัดค้านได้เลย ผู้เขียนกลับเห็นว่ารัฐบาลยิ่งเข้มแข็งยิ่งดี ดีกว่ารัฐบาลอ่อนแอ จะขยับตัวทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะจะถูกผลักให้ล้มครืนโดยง่าย ผู้เขียนเข้าใจความกังวลของผู้เสนอ ที่คงเป็นห่วงว่าถ้ารัฐบาลทำเลว ทำชั่ว แล้วอ้างว่ามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน สภาฯ ไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจได้ ศาลชี้มูลความผิดแล้วก็ไม่ละอาย ยังคงดื้อด้านกอดเก้าอี้อย่างที่เป็นมา จนทำให้บ้านเมืองยิ่งเหลวแหลก

ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือการคานอำนาจรัฐบาลเมื่อกระทำการฉ้อฉล ด้วยการกำหนดบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ให้สามารถควบคุมตรวจสอบ และลงโทษต่อพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาลได้ และต้องไม่ลืมว่า องค์กรภาคประชาสังคมนับวันมีแต่จะแข็งแกร่งขึ้น ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ารัฐบาลที่ทำการฉ้อฉล แม้จะมีเสียงข้างมากเต็มสภาฯ จนบังอาจทำสิ่งที่ผิดก็ต้านพลังประชาชนไม่ได้ ไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้

ข้ออ้างอีกอย่างของผู้คัดค้าน คือการอ้างว่าการเลือกตั้งคณะผู้บริหารโดยตรง จะเหมือนกับการเปลี่ยนไปเป็นระบอบประธานาธิบดี เป็นการแข่งพระราชอำนาจ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และเราพูดกันเรื่องระบบการเลือกตั้งที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่มีส่วนไหนออกนอกกรอบนี้!!!

บุญส่ง ชเลธร
รองคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต
นสพ.แนวหน้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ