นิรโทษสุดซอยต้องถามมหาชนก่อน?
หลังจากที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการปฏิรูปและสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาเปิดประเด็นโยนหินถามทางด้วยการเสนอให้มีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทางการเมืองทุกสีทุกกลุ่มตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันเพื่อสร้างความปรองดองในชาติจนกลายเป็นประเด็นร้อนถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ล่าสุดแกนนำสมุนระบอบทักษิณต่างออกมาแบไต๋สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย มิฉะนั้นบ้านเมืองไม่มีทางสงบ
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ฉายา “หัวเขียง” อดีต สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยเป็นตัวการสำคัญรับใบสั่งจาก
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯนักโทษหนีคุกคดีทุจริต ให้ยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยแล้วนำไปขอความเห็นชอบจากนักโทษชายแม้วล่าสุดออกมาแบไต๋แสดงท่าทีหนุนการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยอีกครั้งโดยกล่าวชัดแจ้งว่า หากจะนิรโทษกรรมต้องรวมคดีทุจริตกับคดีอาญาด้วย ซึ่งเท่ากับส่งสัญญาณว่าหากไม่มีการลบล้างโทษความผิดกับนักโทษชายแม้วและเหล่าแกนำเสื้อแดง ตลอดจนกองกำลังเสื้อแดงที่เป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมืองเมื่อปี’53 การนิรโทษกรรมก็คงไม่มีประโยชน์และไม่สามารถสร้างความปรองดองได้
ขณะที่ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนฯ และอดีตสส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ก็แสดงจุดยืนเหมือนกันกับ นายประยุทธ์ ว่า หากจะนิรโทษกรรมต้องรวมแกนนำทุกคน เพราะไม่อย่างนั้นปัญหาความแตกแยกไม่จบ ปัญหานี้
ต้องอย่าใจแคบต้องเปิดใจกว้างแล้วมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
ท่าทีของแกนนำสมุนนักโทษชายแม้วทั้งสองถือเป็นการส่งสัญญาณกดดันต่อรองกลายๆ ว่า ถ้าอยากให้บ้านเมืองสงบต้องลบล้างโทษความผิดทั้งหมดให้นักโทษชายแม้วและพวกเท่านั้น ไม่เอาการนิรโทษกรรมแบบกลางซอยที่ยกโทษความผิดให้เฉพาะประชาชนทุกฝ่ายที่มาร่วมชุมนุมแสดงพลังโดยสันติ โดยไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตหรือบรรดาแกนนำที่บงการ ปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง
ความจริงทุกฝ่ายไม่มีใครขัดข้องหากจะมีการนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเพื่อสร้างความปรองดอง แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยซึ่งนอกจากจะทำลายหลักนิติรัฐแล้ว ยังจะเป็นชนวนสุมไฟวิกฤติความแตกแยกในชาติให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง ซึ่งการอาศัยความเป็นเผด็จการเสียงข้างมากในคราบประชาธิปไตยของรัฐบาลหุ่นเชิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หมกเม็ดใช้วิธีหักดิบลักไก่ผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยตอนตีสี่นี่แหละที่เป็นต้นเหตุทำให้มวลมหาประชาชนหลายล้านคนออกมาขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเข้ายึดอำนาจในที่สุด
การนิรโทษกรรมนั้นเป็นประเด็นอ่อนไหวซึ่งมีขั้นตอนที่จะต้องสร้างการยอมรับจากทุกฝ่าย อีกทั้งขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านเพื่อปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เช่นนี้ และข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมก็ยังไม่ตกผลึกจึงไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะพูดเรื่องการนิรโทษกรรมเพราะนอกจากจะไม่นำไปสู่ความปรองดองแล้ว กลับยิ่งเสี่ยงที่จะสุมไฟความแตกแยกในชาติให้ลุกโชนโดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นข้อเสนอของดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมาธิการด้านการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกกฎหมายเพื่อความปรองดองในชาติเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนจึงต้องคิดให้รอบคอบและไม่ควรเร่งรีบสร้างการปรองดองในลักษณะยัดเยียดโดยที่ยังไม่ทำความเข้าใจกับมหาชนจนตกผลึกเสียก่อนซึ่งแทนที่จะเป็นประโยชน์กลับ จะเสี่ยงที่จะเกิดโทษมหันต์ต่อชาติบ้านเมือง
ทีมข่าวการเมือง
นสพ.แนวหน้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ