มหาเถรสมาคมไม่ดูแลพระศาสนา? ภัยต่อความมั่นคงยุคคสช.
ก่อการดีข้ามชาติ ! ภัยต่อความมั่นคงสถาบันพระศาสนา ยุคคสช.
มหาสังฆนายกศรีลังกาบินข้ามทะเล
ทำสังฆกรรมบวชภิกษุณีที่เมืองไทย
โดยที่มหาเถรสมาคมไม่มีใครทราบ
เป็นเรื่องประหลาดในโลกใบนี้
ซ้าย : สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชไทย
ขวา : พระมหินทวังสะ มหาสังฆนายก แห่งนิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา
ซ้าย : ภิกษุณีธัมมทีปา หัวหน้าอารามทิพยสถานธรรม เกาะยอ สงขลา
ขวา : พระพรหมวํโส เจ้าอาวาสวัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย
ภาพจาก : มจร.นิวส์
ข่าวการบินข้ามทะเลอันดามันจากศรีลังกามายังจังหวัดสงขลาประเทศไทย ของพระมหาสังฆนายกะ มหินทะวังสะ สังฆราชแห่งนิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา พร้อมด้วยภิกษุณีสุมิตราและภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกา เพื่อทำการอุปสมบทภิกษุณีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ อารามทิพยสถานธรรม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่29 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา มองดูเหมือนว่า ไม่มีอะไร เพราะเป็นการมาทำสังฆกรรม เป็นกิจกรรมในทางศาสนา ธรรมดาๆ เท่านั้น
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็จะพบว่า มีอะไรไม่ธรรมดา เพราะว่า
1. นี่เป็นการบวชภิกษุณีขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนประเทศไทย ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมานั้น ไม่เคยมี ถึงจะมีความพยายามบวชภิกษุณีในประเทศไทย ก็ถูกคณะสงฆ์ไทย (โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย) สั่งระงับ ถึงกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ได้เคยออกคำสั่ง "ห้ามมิให้มีการบวชภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี" ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2471 ถึงปัจจุบันคำสั่งนั้นก็ยังมิได้ยกเลิก
2. เป็นการเดินทางมาบวชนอกราชอาณาจักรศรีลังกา ของพระมหาเถระระดับ "มหาสังฆนายก" เทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราช อันเป็นตำแหน่งผู้นำระดับประเทศ แต่เป็นการมาแบบ "มิได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ" จากรัฐบาลไทย หรือจากคณะสงฆ์ไทย หากแต่เป็นการมาแบบ "Private" หรือเป็นการส่วนตัว
ก็ในเมื่อประเทศไทยมี "ข้อห้าม" จากคณะสงฆ์ไทย ซึ่งอุปถัมภ์โดยรัฐบาลไทย มิให้มีการบวชภิกษุณี บรรพชาสิกขมานา และสามเณรี (พระผู้หญิงและเณรผู้หญิง) ทำให้พระสงฆ์ไทยไม่ว่านิกายใดๆ ไม่กล้าทำการบวชให้แก่สตรีในประเทศไทย ซึ่งสตรีไทยที่ประสงค์จะบวชพระบรรพชาเณร ได้พยายามทุกวิถีทาง หลังสุดก็คือ การเดินทางไปบรรพชาอุปสมบทในประเทศศรีลังกา แล้วกลับมาอยู่ในเมืองไทย ถึงกระนั้น ก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยให้เป็นภิกษุณี
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่มีนักบวชสตรีไทย เดินทางไปนิมนต์พระมหาสังฆนายกะ แห่งศรีลังกา เดินทางมาทำการบรรพชาอุปสมบทสตรีไทย คงมิใช่เรื่องที่พระมหาสังฆนายกะจะมิทราบเรื่อง ว่ามีปัญหาอะไรในเมืองไทย เกี่ยวกับสถานภาพของภิกษุณี และนักบวชสตรีทั้งหลาย
การเดินทางมาของพระมหาสังฆนายกะ แห่งนิกายอมรปุระ ในครั้งนี้ ย่อมจะเป็นที่ "ทราบดี" ทั้งที่ไปที่มา อุปสงค์อุปาทานต่างๆ คงจะเล็งเห็นผลลัพธ์แล้วว่า ถ้าไปจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งด้านผลดีและผลเสีย แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว คงจะเห็นว่า "มีผลดีมากกว่าผลเสีย" จึงถึงกับยอมเอาตำแหน่งมหาสังฆนายกะมาทำสังฆกรรมข้ามประเทศ ในระดับที่ต้องเรียกว่า "ก่อการดีข้ามชาติ"
การเผยแผ่พระศาสนาข้ามชาติในอดีตนั้น เท่าที่ทราบ ก็มีทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
อย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ มีพระภิกษุชาวไทยในหัวเมืองต่างๆ ในเมืองสุโขทัย เชียงใหม่ กรุงศรีอยุธยา ละโว้ (ลพบุรี) เป็นต้น เดินทางไปยังศรีลังกา ศึกษาพระธรรมวินัย เกิดความเลื่อมใส จึงทำการบวชใหม่ แล้วกลับมาทำการเผยแผ่ลัทธิแบบลังกาวงศ์โดยตรง ชาวไทยเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงถวายการทำนุบำรุง และทางราชการ (โดยพระมหากษัตริย์ไทย) ได้ยกย่องขึ้นเป็นนิกายสงฆ์อย่างเป็นทางการ
อย่างเป็นทางการ ได้แก่ การที่รัฐบาล (พระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ทำการร้องขอพระภิกษุสงฆ์ พระไตรปิฎก ไปทำการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมลงแทบว่าจะไม่มีเหลือ เช่นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับการร้องของจากทางศรีลังกา จึงส่งพระสงฆ์นำโดยพระอุบาลี ไปทำการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกาอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันนิกายสยามวงศ์ก็ยังคงดำรงมั่นในศรีลังกา
คำว่า "ทางการ" กับ "ไม่เป็นทางการ" นั้น แยกความหมายออกง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ไปรับเอาลัทธินิกายใหม่เข้ามา ก็จะถือว่า "ไม่เป็นทางการ" แต่ถ้าหากการที่บุคคลมี "ตำแหน่ง" ในทางคณะสงฆ์ จะเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศนั้น ต้องมีการร้องขอจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ จึงจะเป็นเหตุผลในการไป มิใช่นึกอยากจะไปก็ไป ยกเว้นแต่ประเทศนั้นๆ มิได้มีข้อห้ามในเรื่องดังกล่าว แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ อยู่ดี จึงจะมีสิทธิ์เข้าไปทำการสอนสั่งศาสนาของตนในประเทศนั้นๆ ได้
เมื่อเปรียบเทียบกับการมาของ พระมหาสังฆนายก มหินทะวังสะ นิกายอมรปุระ แห่งศรีลังกาในครั้งนี้ ย่อมจะเป็นที่ "กังขา" ว่ามาได้อย่างไร ในเมื่อ
1. มิได้รับการเชื้อเชิญจากรัฐบาลหรือคณะสงฆ์ไทย
2. เป็นการมาส่วนตัว แต่ที่ติดตัวมานั้นเป็น "ตำแหน่งมหาสังฆนายกะ" เทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศสูงส่ง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับนี้ จะทำอะไรก็ต้องมีพิธีรีตรอง โดยเฉพาะในต่างประเทศนั้น พิธีทางการทูตอันประกอบด้วย กฎ กติกา มารยาท ถือว่าสำคัญสูงสุด ผิดไปจากนี้ก็เป็น "วิธีการของโจร"
3. ถามว่า การเข้ามาทำความดีในประเทศไทยนั้นทำได้ไหม ? คำตอบก็คือ เป็นคำถามที่ครอบจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลัทธิศาสนาในโลกนี้นั้น มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แม้ว่าทุกลัทธินิกายจะอ้างว่า "ทุกศาสนาล้วนแต่สอนคนให้เป็นคนดี"แต่การทำความดีตามลัทธิของตนโดยปราศจากความมีมิตรภาพต่อลัทธิอื่นๆ นั้น ก็เป็นชนวนแห่งการ "ทำความชั่ว" ระดับสงครามศาสนามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
4. ในประเทศศรีลังกานั้น ทราบว่ามีพระสงฆ์ในพุทธศาสนาอยู่ 3 นิกายด้วยกัน ได้แก่ นิกายสยามวงศ์ นิกายรามัญ และนิกายอมรปุระ ซึ่งสองนิกายหลังนี้ไปจากประเทศพม่า ส่วนนิกายสยามวงศ์นั้นไปจากกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งถ้าดูสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับศรีลังกาแล้ว รัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยย่อมจะให้ความเคารพนับถือนิกายสยามวงศ์มากกว่าอีกสองนิกาย เพราะถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่ไปจากประเทศไทยเรา
ทีนี้ว่า ถ้าหากคณะสงฆ์ไทย (โดยมหาเถรสมาคม) ไม่เห็นชอบให้มีการบวชภิกษุณีขึ้นในประเทศไทย ทางนิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ทราบเรื่องราวแล้ว ก็คงจะปฏิเสธไม่ยอมรับคำนิมนต์ให้มาทำการบวชภิกษุณีขึ้นในแดนไทย ทั้งนี้ก็เพราะเคารพและให้เกียรติในกันและกัน
กลับกัน สำหรับนิกาย อมรปุระ ซึ่งเป็นนิกายพม่า แทบว่าไม่รู้จักมักจี่กับคณะสงฆ์ไทย ครั้นได้รับนิมนต์จากสตรีไทยแล้ว ก็รีบบินมาทำสังฆกรรมขึ้นในเขตประเทศไทย โดยที่คณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทยมิได้รับทราบ
เรื่องนี้มิใช่แค่การ "เสียมารยาท" เท่านั้น หากแต่เป็นการกระทำที่ "อุกอาจ" เพราะเป็นการทำผิดกฎหมายของประเทศอื่น ของพระมหาเถระ ระดับ "สมเด็จพระสังฆราช" แห่งศรีลังกา
ทางมหาเถรสมาคมและรัฐบาลไทย จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ต่อพฤติกรรมของ "พระมหินทวังสะ มหาสังฆนายกะแห่งนิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา" ในครั้งนี้ ก็ต้องติดตามดูอย่างไม่กระพริบตา ว่ามหาเถรสมาคมจะรักษาอำนาจในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยไว้ได้หรือไม่
ยกตัวอย่าง ในปี พ.ศ.2552 พระพรหมวังโส วัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นวัดในสังกัดวัดหนองป่าพง ของหลวงพ่อชา จังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำการบวชภิกษุณีที่ประเทศออสเตรเลีย โดยมิได้รับการอนุญาตจากคณะสงฆ์ไทย จึงถูกคณะสงฆ์ไทย "ตัดออก" จากคณะสงฆ์ไทยไป ซึ่งนั่นยังเป็นเพียงการที่พระในสังกัดคณะสงฆ์ไทย "ไปทำการบวชภิกษุณีนอกราชอาณาจักร" ซึ่งทางคณะสงฆ์ไทยก็ไม่ยินยอมแล้ว
ในทางปกครองของคณะสงฆ์ไทยเรานั้น หากภิกษุรูปใดยังมิได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ก็ไม่สามารถจะทำการบรรพชาอุปสมบทได้ ขืนทำก็ผิดกฎหมาย หรือแม้แต่ว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว แต่ประสงค์จะไปทำการบรรพชาอุปสมบทในเขตอื่นๆ ซึ่งมีพระอุปัชฌาย์อยู่แล้ว ก็จะต้องมีการ "ขออนุญาต" ไปทำสังฆกรรมข้ามเขต มิเช่นนั้นก็จะถือว่าผิดจริยาพระสังฆาธิการระดับร้ายแรงด้วย
แต่ครั้งนี้ พระมหาสังฆนายกะ นิกายอมรปุระ ประเทศศรีลังกา พร้อมด้วยภิกษุณีสงฆ์ ได้บินเข้าทำการบวชภิกษุณีขึ้น "ในราชอาณาจักรไทย" ถามว่า คณะสงฆ์ไทยยินยอมหรือไม่ และหากไม่ยินยอม ทางมหาเถรสมาคม อันนำโดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จะทำอย่างไร เพราะหากมหาเถรสมาคมไม่ทำอะไร ต่อไป ใครนึกอยากจะนิมนต์พระนิกายไหนมาบวชภิกษุณีขึ้นในเมืองไทยก็ได้ นั่นก็เท่ากับว่า ประเทศไทยไร้ขื่อแป เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไปแล้ว
อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน
1 ธันวาคม 2557
อาจจะเป็นไปได้ว่าในสมัยนี้พระสงฆ์ไม่ได้ใส่ใจในพระศาสนามัวแต่ไปหลงอยู่ พัดยศ ตำแหน่ง อำนาจ จนลืมกิจการพระศาสนา ผู้ที่มีอำนาจปกครองสงฆ์ไม่ได้ใส่ใจในงานการเผยแผ่ ปกป้อง ป้องกัน ระเบียบทางสงฆืที่หย่อนยานเกินไป
ตอบลบถ้ายังนิ่งเฉยดูดายอยู่ไม่ยอมลงดาบ ต่อไปมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรหลักของคณะสงฆ์จะขาดความเคารพน่าเชื่อถือ ภายภาคหน้าก็จะเกิดลัทธินิกายต่างๆ ตามมาที่มีสถานะเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นต่อการปกครองของคณะสงฆ์ เมื่อมีอำนาจมากขึ้นพระพุทธศาสนาก็จะอ่อนกำลังลง พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้วว่า พฺรหฺมจริยสฺส อิตฺถี มลํ (สตรีเป็นมลทินแห่งพรหมจรรย์) การที่ท่านพระอานนท์ถูกตำหนิจากคณะสงฆ์เมื่อคราวทำปฐมสังคายนาก็เพราะขวนขวายให้สตรีเพศได้เข้ามาบวชในพุทธศาสนา แต่เจตจำนงค์ของพระอานนท์เป็นไปเพื่อต้องการจะอนุเคราะห์พระนางปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระน้านางของพระพุทธองค์เท่านั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่มหาเถรสมาคมจะลงมาจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ตอบลบรีบตัดไฟโดยด่วน สำนักพุทธฯ ฐานะเลขาฯ นำเสนอมหาเถรฯ ด่วน
ตอบลบพระเกษม สำนักสงฆ์ป่าสามแยก พูดถูก ทุกเรื่อง
ตอบลบ