ปฎิรูปเพื่อความมั่นคงของชาติไทย?

กรณีจับกุมและดำเนินคดีกับพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และพวก ได้ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ กระทำผิดกฎหมายอาญาร้ายแรง อาศัยตำแหน่งหน้าที่ สถานะ แอบอ้าง รับส่วยน้ำมันเถื่อน-บ่อนการพนัน-ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ ฯลฯ นำไปสู่การตรวจยึดทรัพย์สินที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลค่ามหาศาล มีการซุกซ่อนไว้ในบ้านหลายหลัง บางแห่งถึงขนาดทำห้องนิรภัย เจาะใต้พื้นบ้าน เจาะผนังบ้าน ทำห้องพิเศษ ติดตั้งตู้นิรภัยเป็นการเฉพาะ เพื่อเก็บซ่อนทรัพย์สินมหาศาล มีทั้งเงินสด (เงินบาท-เงินดอลลาร์) ทองคำแท่ง สแตมป์ทอง เครื่องประดับ พระพุทธรูป โบราณวัตถุล้ำค่า งานศิลปะราคาแพง พระเครื่องนับพันองค์ ไม้แปรรูป รวมถึงโฉนดที่ดินหลายร้อยแปลง ฯลฯ มูลค่ารวมหลายพันล้านบาท!

นำมาซึ่งความตื่นตะลึงของคนในสังคม!

โดยเฉพาะลักษณะของการกระทำผิด ปรากฏว่า กระทำกันเป็นขบวนการ โดยมีนายตำรวจระดับสูงเป็นหัวขบวนใหญ่ ใช้กลไกตำรวจภายใต้สายบังคับบัญชาเป็นมือเป็นไม้ กระทำการเรียกรับผลประโยชน์อันมิชอบ กว้างขวางและลงลึกไปถึงแม้กระทั่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

คาดว่า จะนำไปสู่การดำเนินคดีกับนายตำรวจที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายอีกจำนวนหลายสิบคน

1) รูปการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากปัญหาโครงสร้างของระบบตำรวจที่เอื้อให้ตำรวจที่มีอำนาจสามารถสั่งสมอำนาจ รวบอำนาจ จัดตั้งขุมข่าย สร้างกองกำลังทุจริตคอร์รัปชั่นส่วนตัวได้อย่างกว้างขวางและยืดยาว

การแก้ปัญหานี้ ลำพังการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี โยกย้าย และลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเท่านั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังมิได้แตะการปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจอย่างแท้จริง

การปฏิรูป เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบ ปรับโครงสร้าง ปรับรื้อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในระบบ

หากโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหายังอยู่ อีกไม่นาน ก็จะมีนายตำรวจฉาวคนใหม่ เข้ามาสวมตอ รับบทบาทรวบอำนาจ สั่งสมกำลัง สร้างขุมข่ายตำรวจทุจริตแบบเดิมอีกต่อไป แค่เปลี่ยนหน้าตัวละครเท่านั้นเอง

ซึ่งถ้าวันข้างหน้า “ไม่มีเงื่อนไขพิเศษ” ไม่มี คสช. ไม่มีกฎอัยการศึกแล้ว ก็ยากที่จะคาดหวังว่า ระบบตำรวจแบบเดิมจะสามารถสะสางปัญหา จัดการกับตำรวจเลว เปิดโปงและดำเนินคดีตามกฎหมายได้อย่างกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้

2) โครงสร้างตำรวจในวันนี้ ทำให้ระบบตำรวจมีลักษณะ “ตัวยาว-หัวโต-ร่างอ้วน”

“ตัวยาว” คือ สายการบังคับบัญชาที่ยาวมาก โดยเฉพาะตำรวจที่เกี่ยวพันกับประชาชนในชีวิตประจำวัน คือ ระดับประทวน ไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ จราจร ตำรวจที่อยู่ในโรงพัก ฯลฯ เป็นกำลังพลหลัก หลายแสนคน มีสายการบังคับบัญชาที่ยาวมาก มีนายหลายคน ต่อขึ้นไปเป็นทอดๆ นายระดับสูงไม่เคยสัมผัสกันในชีวิตการทำงานด้วยซ้ำ

“หัวโต” คือ ตำรวจระดับบังคับบัญชา ระดับนายพันตำรวจถึงนายพลตำรวจ หรือระดับหัว ก็ปรากฏว่า มีอยู่จำนวนมาก เกินความจำเป็น บางคนกลายเป็นไม่มีงานบริหารให้ทำโดยตรง มียศนายพล แต่ไม่มีหน้าที่ชัดๆ

“ร่างอ้วน” คือ ระบบตำรวจในภาพรวม มีหน่วยงานแตกแขนง กระจายออกไปจากภารกิจหลักจำนวนมาก เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ

จากสายบังคับบัญชายาว รวบจากหัวจนถึงปลายแถว รวบอำนาจผูกไว้เสมือนเป็นกองทัพตำรวจ ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจมีอำนาจควบคุมกำลังพลภายใต้สายบังคับบัญชาทั้งหมด เมื่อใดถูกการเมืองครอบงำ ถูกการเมืองบงการ โดยใช้วิธีแต่งตั้งย้ายแบบ “มีวันนี้เพราะพี่ให้” หรือสมยอมด้วยผลประโยชน์ ก็กลับกลายเป็นว่า ระบบตำรวจจะถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เสมือนเป็นกองกำลังส่วนตัว สร้างปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง ทำลายความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กระทั่งก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรขึ้นมาเสียเอง

3) กรณีอื้อฉาวในขณะนี้ เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นปัญหาจากการที่ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สามารถสั่งสมอำนาจ รวบอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลจำนวนมาก สั่งสมและจัดตั้งกองกำลังสำหรับการทุจริตโกงกินเป็นขบวนการของตนเองเลยด้วยซ้ำ

“กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง” สะท้อนภาพการจัดขุมกำลัง รวบอำนาจไว้เป็นพวง เป็นกองทัพตำรวจอย่างชัดเจน เพราะได้รวบอำนาจการจัดการ มีอำนาจครอบจักรวาล มีอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ มีเครื่องไม้เครื่องมือ มียานพาหนะ มีกำลังพลครอบคลุมไปทั้งประเทศ มีกลไกภายใต้สั่งการถึง 11 กองบังคับการ เช่น กองบังคับการปราบปรามที่ดูแลคดีสำคัญๆ ทั่วประเทศ, กองบังคับการตำรวจทางหลวง, กองบังคับการตำรวจรถไฟ, กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว, กองบังคับการตำรวจน้ำ, กองบังคับการเกี่ยวกับการกระทำผิดกับการค้ามนุษย์, กองบังคับการเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ, กองบังคับการเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ, กองบังคับการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค, กองบังคับการเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น

เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งสมอำนาจ สร้างอิทธิพลขุมข่าย สั่งสมกำลังพลยึดหัวหาดไว้หมด ก็นำไปสู่การสยายปีกใช้อำนาจโดยมิชอบ แสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นขบวนการ ดังที่ปรากฏว่ามีการใช้ตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง ฯลฯ ตำรวจที่อยู่ใต้อิทธิพลบังคับบัญชาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอย่างอุกอาจ

4) การปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจโดยด่วน จึงเป็นความจำเป็นอย่างที่สุดสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย

เพราะตำรวจ คือ กลไกสำคัญที่จะทำให้สังคมมีความเป็นนิติรัฐ กฎหมายเป็นกฎหมาย อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ประเด็นหลักๆ ที่ควรจะได้มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจ ได้แก่

(1) คดีทั้งหลายในแต่ละท้องที่ แต่ละจังหวัด แต่ละคดีสามารถเสร็จสิ้นการทำงานในระดับจังหวัดนั้นๆ เอง กล่าวคือ ตำรวจจับคนร้าย ทำสำนวนคดี ส่งให้อัยการจังหวัด ส่งฟ้องศาลจังหวัด ตำรวจในจังหวัดนั้นๆ จึงไม่จำเป็นต้องขออนุมัติคำสั่งจากส่วนกลางในการทำคดี ไม่มีความจำเป็นต้องผูกกันเข้ามาเป็นกองทัพตำรวจ ขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจคนเดียวที่ส่วนกลาง ตำรวจจึงสมควรเป็นตำรวจจังหวัด ตำรวจท้องถิ่น มีอิสระในการบริหารจัดการของแต่ละท้องถิ่น

(2) ยกฐานะตำรวจจังหวัดให้สูงจากเดิม เมื่อตำรวจขึ้นอยู่กับท้องถิ่น เติบใหญ่ได้ในระดับท้องถิ่น กระจายตามจังหวัดต่างๆ โดยยกสถานะของตำรวจให้เป็นนิติบุคคลในแต่ละจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย เหมือนมหาวิทยาลัยที่แยกเป็นอิสระในแต่ละแห่ง ตำรวจแต่ละจังหวัดก็จะมีอำนาจบริหารจัดการตัวเอง เช่น เปิดรับสมัครบุคลากร จัดการฝึกอบรม บริหารงานบุคคล มอบหมายภารกิจ สร้างระบบผลประโยชน์ สร้างคุณธรรมและจรรยาบรรณ จัดทำงบ จัดทำแผนงาน ฯลฯ อยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีการโยกย้ายตำรวจเลวจากจังหวัดหนึ่งข้ามไปดองไว้อีกจังหวัดหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าจังหวัดนั้นๆ จะเสียประโยชน์อย่างไร เพราะแต่ละจังหวัดมีอำนาจพิจารณาบริหารจัดการบุคคลด้วยตนเองว่าจะรับหรือไม่รับใครเข้าทำงาน

(3) คดีที่มีขอบเขตข้ามจังหวัด หรือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ ก็จะยังมีตำรวจส่วนกลางคอยดูแล และเป็นหน่วยที่ประสานงานตำรวจข้ามเขต ประสานความร่วมมือ ให้คำปรึกษาตำรวจในระดับจังหวัด เช่น กองปราบปราม ตำรวจสอบสวนกลาง เป็นต้น คล้ายๆ เอฟบีไอ หรือสกอตแลนด์ยาร์ดในต่างประเทศ

(4) ผ่าตัดแบ่งแยกงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจโดยตรง กระจายออกไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงดูแล เช่น งานตำรวจทางหลวง, งานตำรวจรถไฟ, งานตำรวจท่องเที่ยว, งานตำรวจน้ำ, งานคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ จะทำให้ระบบตำรวจไม่อุ้ยอ้าย สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(5) ควรจะแยกงานสืบสวนและปราบปราม ออกจากงานสอบสวนทำสำนวนคดี เพื่อเป็นการถ่วงดุล ตรวจสอบในระบบ มิใช่จับเอง สอบเอง ทำสำนวนคดีเอง ฟ้องเอง โดยงานสอบสวนควรจะแยกออกจากงานส่วนอื่นๆ ของตำรวจ เพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงโดยสายการบังคับบัญชา ป้องกันการก้าวก่ายสั่งการคดี สั่งเป่าคดี บิดเบือนคดี ควรสร้างพนักงานสอบสวนมืออาชีพที่มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ มีคุณธรรม เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน โดยมีระบบเงินเดือนและอัตราเงินเดือนแยกจากตำรวจทั่วไป

(6) เมื่อกระจายอำนาจตำรวจออกไปสู่ระดับท้องถิ่น-จังหวัด จะต้องมี กตร.จังหวัดที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับตรวจสอบอย่างแท้จริง และมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจไว้ตรวจสอบ ลงโทษตำรวจเลว ดำเนินคดีตำรวจที่กระทำผิดในทุกจังหวัด

(7) ตำรวจที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากสุด คือ ตำรวจที่ทำงานในระดับโรงพักต่างๆ ตำรวจชั้นประทวน ในหลายประเทศไม่จำเป็นต้องมียศ อาจจะให้เป็นนายดาบหมด มีเครื่องแบบก็จะมีเครื่องหมายแสดงให้ประชาชนได้รู้ว่าตำรวจคนไหนมีตำแหน่งหน้าที่ใด เพื่อความสะดวกในการติดต่อ ส่วนตำรวจที่สูงกว่านั้นก็ปรับชั้นยศให้สะท้อนสายการบังคับบัญชาสั้นลง ตำรวจไม่จำเป็นต้องมียศเหมือนทหาร ไม่ใช่กองทัพที่จะไปรบทัพจับศึกกับใคร

(8) สถาบันผลิตบุคลากรตำรวจระดับสัญญาบัตรก็ควรจะปฏิรูป จากเดิมรับเด็ก ม.6 เข้าเรียนเตรียมทหาร เรียนนายร้อยตำรวจ เรียนจบออกมาเริ่มต้นทำงานก็เป็นนายร้อยเลย มีอำนาจ มีปืน แต่อาจจะขาดวุฒิภาวะ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดวัยวุฒิ ก็ควรปฏิรูปให้เป็นสถาบันนายตำรวจ รับผู้เข้าเรียนที่จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ เรียนวิชาการเป็นตำรวจอีก 1-2 ปี เพื่อสร้างบุคลากรระดับนายตำรวจที่มีคุณสมบัติครบเครื่อง ทั้งบู๊ทั้งบุ๋น รู้รอบรู้ลึก สมบูรณ์พร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ

(9) หากมีการปรับโครงสร้างระบบตำรวจ โดยกระจายอำนาจออกไปสู่ระดับท้องถิ่น-จังหวัด มีข้อกังวลว่าอาจเกิดปัญหาผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นครอบงำตำรวจท้องถิ่นหรือไม่? ข้อกังวลนี้มีความเป็นไปได้ในบางพื้นที่ แต่ถ้าพิจารณาบนพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทุกวันนี้ ถามว่า ตำรวจในระดับจังหวัดได้รับอิทธิพลจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในจังหวัดอยู่แล้วหรือไม่? ยกตัวอย่าง จังหวัดชลบุรี บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี ฯลฯ แต่ถ้ามีการปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจในทุกท้องถิ่น-จังหวัด หากกระจายอำนาจออกไปจะทำให้จังหวัดอื่นๆ ทุกจังหวัดมีโอกาสพัฒนาระบบตำรวจของตนเอง บางจังหวัดที่ท้องถิ่นเข้มแข็งก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้จังหวัดอื่นสามารถเปรียบเทียบ และตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาระบบตำรวจในระดับจังหวัดของตนเองยิ่งขึ้น เพราะตำรวจจะกลายเป็นเรื่องของคนในท้องถิ่น ใกล้ตัว จับต้องได้ เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าเดิม

ปฏิรูปทันที หรือหมดโอกาสปฏิรูปสิ้นเชิง?

การปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นหากต้องการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

เพราะถ้าไม่มีการปฏิรูประบบตำรวจ ถึงวันที่ไม่มี คสช. ไม่มีกฎอัยการศึก ระบบตำรวจก็จะกลับมาสู่วังวนปัญหาเดิมๆ อีก เป็นเครื่องมือนักการเมือง-นักเลือกตั้ง-นายทุนสามานย์ มีการรวบอำนาจ สร้างขุมข่ายอำนาจ แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบแบบ(ไม่)ลับต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น หาก คสช.และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปอย่างแท้จริง ด้วยความสนับสนุนของประชาชนในสังคมเวลานี้ สามารถจะเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจได้ทันที ตามแนวทางการศึกษาของหลายคณะ อาทิ ผลการศึกษาที่มีพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยไว้ให้เสียเวลา เสียโอกาสของประเทศชาติ

ที่สำคัญ หากรอจนถึงวันที่มีรัฐบาลนักการเมือง หรือปล่อยเวลาเนิ่นช้าต่อไป เชื่อแน่ว่านักการเมืองและผู้จะสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตัวคงจะไม่ยอมปฏิรูประบบตำรวจ อันจะเป็นการสลายกองกำลังส่วนตัวของเขาเป็นแน่แท้

ถ้า คสช.เอาจริง มีเจตจำนงจะปฏิรูปบ้านเมืองจริงๆ จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจเสียในวันนี้

ทำทันที ทำวันนี้ ก่อนจะหมดโอกาสปฏิรูปอย่างสิ้นเชิง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
นสพ.แนวหน้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ