ข้อมูลความมั่นคงของชาติ สมัยคสช.
การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภา
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ออกความคิดเห็นเสนอให้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีว่า สมควรมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา ซึ่งนับว่าเป็นแนวความคิดใหม่
หมายความว่า ในกรณีที่รัฐสภามีสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทั้งสองสภาดังกล่าวซึ่งประกอบเข้ากันเป็นรัฐสภาจะเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากนั้นพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของรัฐสภา
ต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา คือในกรณีที่รัฐสภามีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก็จะมีบทบัญญัติแต่เพียงว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการบ้าง หรืออีกแบบหนึ่งก็คือพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของสภาผู้แทนราษฎร
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา แม้ว่าจะมีบทบัญญัติกำหนดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี สมาชิกวุฒิสภาก็ดี เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่การที่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับนับถือให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิ์มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับว่าบทบัญญัติที่ว่าสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนของปวงชนเป็นบทบัญญัติที่แหกตาชาวบ้าน
หรือมิฉะนั้นก็เป็นบทบัญญัติที่เป็นสองมาตรฐาน เพราะในเมื่อจะถือหลักการว่าผู้แทนปวงชนเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ไฉนเล่าจึงตัดสิทธิ์หรือไม่ยอมให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิ์มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี
เพราะเหตุที่รัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มาปากอย่างใจอย่าง หรือกะล่อนปลิ้นปล้อน อันเป็นภาพสะท้อนจิตวิญญาณของคนร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้รัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มาเป็นรัฐธรรมนูญที่แหกตาชาวบ้าน โกหก ปกปิดความไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่เป็นมาตรฐาน ความซ่อนเงื่อน ซ่อนกล จึงเป็นผลให้กฎหมายหลักของบ้านเมืองเป็นกฎหมายที่มีเถยจิตคิดหลอกลวงชาวบ้านแล้วเป็นผลให้การบริหารบ้านเมืองเกิดดอกออกผลเป็นพิษดังที่เห็นๆ กันอยู่
ดังนั้นจึงถึงเวลาที่คนทั้งปวงจะได้เพ่งโทษของบรรดานักร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่าเจ้าเล่ห์แสนกลและเป็นต้นเหตุของปัญหาบ้านเมืองทั้งปวง จนถึงขนาดเกือบสิ้นแผ่นดิน สิ้นชาติ จนต้องยึดอำนาจกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ก็ได้แต่ภาวนาว่านักร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่นี้ จะได้เห็นถึงบาปกรรมของนักร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มาว่าเป็นอย่างไร จะไม่ประพฤติปฏิบัติซ้ำแบบซ้ำรอยเดิมอีกต่อไป
ข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา จึงเป็นการประกาศความเท่าเทียมกันของความเป็นผู้แทนปวงชน ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้มีศักดิ์ มีศรี และมีสิทธิ์อย่างเดียวกัน เท่ากันในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
เรื่องนี้แม้จะเป็นแนวความคิดใหม่แต่ก็เป็นแนวความคิดที่ยืนอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย คือทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยด้วยกัน
สำหรับปัญหาว่าสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากไหน? ก็ต้องดูประสบการณ์ในบ้านเมืองของเราว่าแบบไหนจึงจะสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่สอดคล้องกับสังคมไทยตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้บัญญัติไว้
ปรากฏว่าบทเรียน 80 ปีของประเทศไทยนั้น วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นสภาที่ชั่วร้ายเลวทรามที่สุด จนถูกประชาชนชี้หน้าตราว่าเป็นสภาผัวเมีย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ติฉินประณามไว้แล้ว
วุฒิสภาที่เป็นแบบผสม คือมาจากการสรรหาส่วนหนึ่ง และมาจากการเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งก็เป็นวุฒิสภากึ่งผีกึ่งคน กึ่งโจรกึ่งชาวบ้าน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนและประเทศชาติได้เลย คล้ายกับวุฒิสภาขี้ผสมข้าว ซึ่งกินไม่ได้ ได้แต่เทให้หมากินเท่านั้น
วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งตามอำเภอใจก็จะกลายเป็นมอบอำนาจให้กับรัฐบาลซึ่งถูกกล่าวขานติเตียนว่าเป็นสภาฝักถั่ว นั่นคือจะดีจะร้ายอย่างไรก็ไม่ถึงกับถูกประณามว่าเลวทรามต่ำช้า คงเป็นแค่ฝักถั่วซึ่งไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร
วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยการสรรหานั้น มีบทเรียนว่าพอเป็นที่พึ่งพาอาศัยของประเทศชาติและราษฎรได้ ดังเช่นการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งไม่ว่าสังคมจะมองนายบรรหาร ศิลปอาชา ว่าเป็นคนแบบไหน แต่ปรากฏว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนั้นได้ยอมรับนับถือว่าเป็นวุฒิสภาที่ดีที่สุดที่เคยมีมา
ดังนั้นวุฒิสภาใหม่หากถือแนวทางบทเรียน ประสบการณ์ของประเทศไทยที่ผ่านมา ก็สมควรมีที่มาจากการสรรหาและโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสรรหาที่จะมีการแต่งตั้งขึ้น โดยคำนึงถึงความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ก็ต้องเชียร์ข้อเสนอของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีไว้ในโอกาสนี้
นสพ.แนวหน้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ