ด่วนจารึกประวัติศาสตร์ กรรมที่เลือกได้?
นับวันยิ่งจะเห็นพฤติกรรมที่ผิดปกติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันเป็นเงาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งส่อไปในทางที่จะช่วยเหลือขบวนการระบอบทักษิณให้พ้นผิดภายใต้ข้ออ้างเพื่อสร้างความปรองดอง
พฤติการณ์ของสนช.สายทหารและตำรวจกลุ่มที่เรียกว่า “วงษ์สุวรรณคอนเน็กชั่น” ที่มี พล.อ.นพดล อินทปัญญา และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวเรือใหญ่เริ่มทำให้เห็นสัญญาณความพยายามช่วยเหลือขบวนการระบอบทักษิณภายใต้ข้ออ้างเพื่อสร้างความปรองดองชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะกรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและฉ้อฉลกรณีรวบรัดผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หุ่นเชิด
พล.อ.นพดลนั้นเป็นเพื่อนรักและเป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของนายทหารกลุ่ม “บูรพาพยัคฆ์” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นน้องชายคนกลางซึ่งกลุ่ม “บูรพาพยัคฆ์” ทรงอิทธิพลกุมอำนาจสูงสุดในคสช. ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นน้องชายร่วมสายเลือดของ พล.อ.ประวิตร
ด้านหนึ่ง พล.อ.ประวิตร เป็นบุคคลสำคัญในคสช. แต่อีกด้านหนึ่งก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯนักโทษหนีคุก และคนในระบอบทักษิณ
แม้สนช.จะพยายามยื้อการชี้ชะตา นายสมศักดิ์ และ นายนิคม มาหลายครั้ง แต่เนื่องจากกระแสกดดันทำให้ในที่สุดที่ประชุมสนช.จำเป็นลงมติด้วยเสียงข้างมาก 87 ต่อ 75 เสียงให้รับเรื่องการถอดถอน นายสมศักดิ์ และนายนิคมไว้พิจารณา แต่มติดังกล่าวสะท้อนเกมอำพรางและชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าในที่สุดแล้วนายสมศักดิ์ และนายนิคม ส่อเค้าที่จะรอดจากการถูกถอดถอนค่อนข้างแน่นอน เพราะมติถอดถอนนั้นจะต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด 220 หรือ 132 แต่มติที่ออกมาชี้ว่ามีเสียงสนช.ที่สนับสนุนการถอดถอน นายสมศักดิ์ และ นายนิคม เพียง 87 เสียงเท่านั้น
สัญญาณที่ส่อช่วยขบวนการระบอบทักษิณโดยสนช.เสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเงาของคสช. นอกจากกรณี นายสมศักดิ์และนายนิคมแล้ว ยังรวมถึง สว.39 คน และสส.อีก 309 คน ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ร่วมสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสว.ที่จ่อคิวรอถูกยื่นถอดถอนเช่นกัน
การถูกยื่นถอดถอนประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่โทษการถูกถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ที่ผลซึ่งจะตามมา
นั่นคือถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้วางกรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยกำหนดให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานทุจริตประพฤติมิชอบ หรือความผิดทางการเมือง
อื่นๆ ห้ามลงสมัคร สส.หรือสว.ไปตลอดชีวิต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับขบวนระบอบทักษิณมีแนวโน้มสูญพันธุ์หากถูกสนช.ลงมติถอดถอน
ที่สำคัญและเป็นคดีที่ต้องจับตาอย่ากะพริบก็คือกรณีการยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานส่อรู้เห็นเป็นใจกับมหกรรมโกงชาติปล้นแผ่นดินโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความล่มจมให้ประเทศครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งมีสัญญาณจากสมาชิกสนช.บางกลุ่มพยายามที่จะยื้อเกมเพื่อหาทางช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยที่ผ่านมามีการยึกยักที่จะไม่รับเรื่องถอดถอน แต่เนื่องจากถูกกระแสสังคมกดดันจึงจำเป็นรับเรื่องไว้พิจารณาโดยนัดเปิดการไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 12 พ.ย.นี้ แต่แล้วก็ต้องเจอโรคเลื่อนอีกครั้งเมื่อทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างเหตุผลแบบน้ำขุ่นๆ ว่าไม่ได้รับหนังสือให้มาชี้แจงจากสนช.จึงเตรียมตัวไม่ทัน
ทั้งนี้ข้อน่าสังเกตคือข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวรวมทั้งชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวกถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของคสช.ที่จะต่อรองกับระบอบทักษิณให้หยุดการเคลื่อนไหวแล้วรอการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ เพื่อแลกกับการไม่เอาผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก และอาจรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ในอนาคตภายใต้ข้ออ้างเพื่อสร้างความปรองดอง
ในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกจากถูกยื่นถอดถอนแล้วยังเผชิญกับการถูกดำเนินคดีทางอาญาอีกทางหนึ่งโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ขณะนี้กำลังมีปัญหางัดข้อกับสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)ที่ส่อพฤติการณ์เป็นทนายตระกูลชินรับใช้ระบอบทักษิณโดยพยายามยื้อเกมซื้อเวลาช่วยเหลือน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยไม่ส่งคำฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาตลอด
ล่าสุด นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอสส. ซึ่งเป็นหัวหน้าตัวแทนของอสส.ในการประชุมร่วมกับ ป.ป.ช.ที่นำทีมโดย นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.ยืนกรานอ้างว่าสำนวนของป.ป.ช.ไม่สมบูรณ์ต้องสอบพยายามเพิ่มเติมซึ่งตรงกับข้อเรียกร้องของทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมย้ำว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเองได้ตราบใดที่การหารือระหว่าง ป.ป.ช.กับอสส.ยังไม่ได้ข้อยุติ โดย นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่าจะนำผลการหารือกับป.ป.ช.ครั้งล่าสุดที่ยังตกลงกันไม่ได้รายงานต่อ นายตระกูล วินิจฉัยภาค อสส.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ข้อน่าสังเกตก็คือ นายตระกูล เป็นบุคคลที่ คสช.แต่งตั้งเป็น อสส.มากับมือ หลังจากที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค.เพียงไม่กี่วัน แต่แทนที่จะเปลี่ยนแปลง อสส.ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นหน่วยงานทาสรับใช้ระบอบทักษิณแทนที่จะเป็นทนายของแผ่นดินมาตลอดนับตั้งแต่ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจกลับยังปล่อยให้ อสส.ส่อพฤติการณ์รับใช้ระบอบทักษิณชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมคลางแคลงใจในจุดยืนที่แท้จริงของคสช.ว่ากำลังยอมจำนนเพื่อลบล้างโทษความผิด
ให้กับคนในขบวนการระบอบทักษิณภายใต้ข้ออ้างเพื่อสร้างความปรองดองเทียมที่ทำลายหลักนิติรัฐและเป็นการปล่อยขบวนการอันชั่วร้ายที่ทำร้ายประเทศลอยนวลและทำให้นึกถึงคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย
ที่ว่าคนที่แฮปปี้ที่สุดจากการรัฐประหารของคสช.ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ฉะนั้นแผนปรองดองที่มีวาระซ่อนเร้นดังกล่าวจึงเป็นเพียงการซื้อเวลาหนีปัญหาซึ่งนอกจากไม่สามารถสร้างความปรองดองได้อย่างแท้จริงแล้วกลับจะยิ่งสุมไฟวิกฤติรอบใหม่จากการต่อต้านของมวลมหาประชาชน.
ทีมข่าวการเมือง
นสพ.แนวหน้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ