พฤติกรรมอัยการในประวัติศาสตร์ไทย คสช.ต้องตรวจสอบเพื่อความมั่นคงของชาติ และปกป้องสถาบันพระศาสนา

วันที่ 3 พ.ย. นายสมชาย  แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.)และ กลุ่ม  40 ส.ว.  เปิดเผยว่า ทราบข่าววงในว่าการพิจารณาร่วมกันในคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. นั้น อัยการอาจจะมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีทุจริตจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  โดยอ้างความไม่สมบูรณ์ของสำนวนในประเด็นเดิม ๆ ที่เคยอ้างไว้  ดังนั้นป.ป.ช.จึงควรฟ้องเองและคสช.ควรใช้อำนาจพิเศษจัดการกับอัยการด้วยเพราะความเสียหายมหาศาลไม่ใช่แค่ 7 แสนล้าน แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบถ้าอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องก็ต้องตอบคำถามสังคมว่าความเสียหายมากขนาดนี้แต่ไม่ดำเนินคดีจะเป็นทนายแผ่นดินได้อย่างไร

“ เมื่ออัยการไม่ฟ้อง คสช.ก็ต้องพิจารณาว่านายตระกูล วินิจนัยภาคอัยการสูงสุดใช้ได้หรือไม่ถ้าไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุดและพิจารณาด้วยว่า นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์  รองอัยการสูงสุด  ที่ดูแลเรื่องนี้มีปัญหาหรือไม่หากมีปัญหาก็ต้องเปลี่ยนตัวเพราะไม่มีความกล้าหาญในการทำหน้าที่ แต่ถ้าคสช.ไม่ทำอะไรแรงสนับสนุนก็จะหายไป เนื่องจากคนเห็นกับตาว่าความเสียหายเป็นอย่างไร นายกฯพูดเองว่า ข้าวเสียหาย 70-90 % เหลือข้าวดีแค่ 10% ถ้าไม่สามารถนำคนที่สร้างความเสียหายมารับโทษได้ย่อมกระทบต่อความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อคสช.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ” นายสมชาย กล่าว.
http://m.dailynews.co.th/News.do?contentId=278285
ผลงานที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันพระศาสนา?
อัยการสูงสุด ( นายพชร ยุติธรรมดำรง) จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีธัมชัยโย

    การที่ศาลอาญาพิจารณาให้ "ถอนฟ้อง" ได้ในครั้งนี้ นับเป็นกรณีที่แปลกประหลาด เพราะว่าเป็นการขอถอนฟ้องโดยผู้ฟ้องคืออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดได้บอกเหตุผลแก่ศาลว่า เหตุที่ต้องขอถอนฟ้องพระธัมมชโยนั้น เพราะ

1. พระธัมมชโยได้คืนเงินให้แก่ทางวัดพระธรรมกายครบถ้วนทุกบาททุกสตังค์แล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงไม่มีเหตุผลที่จะฟ้องร้องเอาผิดอีกต่อไป

2. เรื่องพระธรรมคำสอน ได้รับความคิดเห็นสนับสนุนจากผู้รู้และมียศตำแหน่งในทางพระพุทธศาสนาสำคัญ 3 ท่าน คือ 1.อธิบดีกรมการศาสนา 2.ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 3.เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งทั้งสามท่านยืนยันว่า พระธัมมชโยมิได้สอนสั่งนอกพระไตรปิฎกแต่อย่างใด ทั้งจำเลยยังได้ช่วยเหลือกิจการคณะสงฆ์ไทยเป็นอันมาก ทั้งในด้านการศึกษา การเผยแผ่ และสาธารณูปการ รวมทั้งการสาธารณสงเคราะห์ด้วย ซึ่งผลงานของวัดพระธรรมกายนั้นเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล มิใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น

3. ถ้าฟ้องร้องต่อไปให้สิ้นสุดกระบวนการ ก็จะเป็นการสร้างความแตกแยกในศาสนจักรและประชาชนคนไทยในชาติ

      นั่นเป็นเหตุเป็นผลที่ทางอัยการสูงสุดได้สืบเสาะหาในการอ้างต่อศาลเพื่อขอถอนฟ้องพระธัมมชโย ซึ่งก็เป็นการประจานตัวเองของอัยการว่า "นอกจากจะดำรงตำแหน่งอัยการแล้ว ยังรับจ็อบเป็นทนายช่วยแก้ต่างให้แก่พระธัมมชโยอีกต่างหากด้วย" และต่อไปนี้เป็น "มุมมองของพระมหานรินทร์" ต่อประเด็นที่อัยการขอถอนฟ้อง

      ประมวลเหตุผลที่อัยการได้อ้างมานั้น เราท่านจะเห็นว่า เป็นเหตุผลที่น่าฟัง แต่ก็ยังไม่สนิทใจ ก่อนอื่นต้องขอพูดคุยในเรื่องอำนาจหน้าที่ของอัยการเสียก่อน

     อัยการมีอำนาจหน้าที่ในการ "ยื่นฟ้อง" หรือ "สั่งฟ้อง" ต่อศาล เมื่อเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริงตามหลักฐานพยานที่ปรากฏ แต่การยื่นหรือสั่งฟ้องต่อศาลของอัยการนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์หาเหตุผลว่ามีน้ำหนักเอาผิดจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเห็นว่าจำเลยทำผิดจริง มีหลักฐานพยานชัดเจน และเข้าข่ายคดีอาญา อัยการก็จะทำเรื่อง "สั่งฟ้อง" หรือ "ยื่นฟ้อง" ต่อศาล เพื่อขอให้พิจารณาตัดสินคดี และเมื่อยื่นฟ้องไปแล้ว ก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาจะพิจารณาไต่สวนประมวลความผิดและตัดสินลงโทษหรือยกโทษให้แก่จำเลยซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการหักล้างกันในชั้นศาลเป็นประการสุดท้ายด้วย

     นั่นเป็นนิยามของคำว่า "สั่งฟ้อง" หรือ "ยื่นฟ้อง" แต่สำหรับคดีพระธัมมชโยครั้งนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องหรือยื่นฟ้องไปนานแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างสืบพยานในศาลซึ่งทราบว่าเหลือพยานอีกเพียง 2 ปาก คดีก็จะสิ้นสุดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว ทว่า ก่อนที่คดีจะเดินทางไปจนสิ้นสุดกระบวนการอยู่แล้ว จู่ๆ อัยการก็ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่า "ขอถอนฟ้อง" ซึ่งมิใช่การสั่งไม่ฟ้อง

     ตรงนี้ดูให้ดีนาท่านผู้อ่าน พระธัมมชโยนั้นถูกฟ้องโดยอัยการสูงสุดไปหลายปีดีดักแล้ว เพราะตอนนั้นอัยการพิจารณาจากพยานหลักฐานทุกประการแล้ว ก็ประชุมกันลงมติว่า "สมควรฟ้องศาลเพื่อเอาผิดพระธัมมชโย" แต่ต่อมา เมื่อดำเนินคดีไปได้หลายปีจวนจะจบแล้ว อัยการเกิดกลับใจกลับไปบอกศาลเสียใหม่ว่า "ไม่ติดใจเอาความกับพระธัมมชโยแล้ว" ตามเหตุผลที่ได้ยกมาอ้างข้างต้น

    ดังนั้น การถอนฟ้อง จึงมิใช่การไม่ฟ้อง หากแต่เป็นการไม่ฟ้องโดยได้ฟ้องไปแล้ว

    การถอนฟ้องพระธัมมชโยในครั้งนี้ มิใช่การตัดสินจากศาลอาญาว่า"พระธัมมชโยไม่ผิด" หากแต่เป็นการรอมชอมของอัยการก่อนศาลจะตัดสิน ซึ่งถ้าหากอ่านตามรูปการที่ว่า "คดีอาญายอมความไม่ได้" การถอนฟ้องครั้งนี้ก็ต้องนับว่าเป็นคดีมหัศจรรย์ หรือคดีทรงอิทธิพลแห่งยุคทีเดียว

      นั่นเป็นบทบาทและหน้าที่ของอัยการสูงสุด และทีนี้ก็จะเข้าสู่ข้ออ้างในการขอถอนฟ้องของอัยการ 3 ข้อข้างต้น

     ตามข้อแรกนั้น อัยการอ้างต่อศาลว่า "พระธัมมชโยได้คืนเงินให้แก่ทางวัดพระธรรมกายครบถ้วนทุกบาททุกสตังค์แล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงไม่มีเหตุผลที่จะฟ้องร้องเอาผิดอีกต่อไป"

     ตรงนี้มีข้อวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ

1. การที่พระธัมมชโยได้เบียดบังเงินวัดไปจัดซื้อจัดจ้างเป็นการส่วนตัวนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งครั้งแรกนั้นอัยการได้วินิจฉัยว่า "ผิด" จึงสั่งฟ้อง แต่เมื่อฟ้องไปได้เกือบสิ้นสุดคดีความแล้ว อัยการกลับอ้างว่า"พระธัมมชโยได้คืนเงินให้แก่วัดแล้วทุกบาททุกสตังค์ จึงไม่น่าจะฟ้องเพื่อเอาผิดอีก" เหตุผลก็คือ เพราะคืนเงินที่โกงมานั้นแล้ว ข้อสงสัยในประเด็นนี้ก็คือว่า ถ้าอัยการเห็นว่าการโกงเงินวัดนั้นเป็นความผิด เมื่อพระธัมมชโยได้โกงไป ก็แสดงว่าได้กระทำความผิดไปแล้ว แล้วอัยการก็สั่งฟ้อง แต่ตอนหลังพระธัมมชโยได้ขอไถ่โทษโดยการ "คืนเงินวัด"คำถามจึงมีว่า เมื่อมีการทำผิดนั้นครบถ้วนสมบูรณ์แล้วถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ ? และการคืนเงินให้แก่วัดพระธรรมกายถือว่าเป็นการไถ่ถอนความผิดได้หรือไม่ ?

     ยกตัวอย่างเช่นว่า ถ้ามีการปล้นธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งโจรได้เงินไป 10 ล้านบาท ตอนหลังโจรถูกจับได้ และถูกส่งฟ้องศาลในคดีอาญา ต่อมาโจรนั้นสำนึกผิด ได้นำเอาเงินมาคืนให้แก่เจ้าทุกข์คือธนาคาร และอัยการก็เห็นว่าจำเลยได้คืนเงินแล้ว จึงเห็นสมควรถอนฟ้องต่อศาลอาญา การกระทำเช่นนี้มีเหตุผลสมกันในวิจารณญาณของอัยการสูงสุดหรือไม่ ?

     ซึ่งตรงนี้ ถ้าศาลยินยอมให้ถอนคดีออกไปได้ ก็ถือเป็นมาตรฐานได้ว่า ต่อไปถ้ามีพระรูปไหนโกงเงินวัดไป แล้วถูกดำเนินคดี ก็แก้ตัวง่ายๆ เพียงหาเงินมาคืนให้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้อง ศาลก็สั่งปล่อยตัว ก็หมดมลทิน และอาจจะนำไปเทียบเคียงกับคดีโกงอื่นๆ ได้ด้วย โดยไม่ต้องมีการปรับไหมอะไรทั้งสิ้น

2. อัยการอ้างอิงพาดพิงถึงพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงมีพระสังฆราชวินิจฉัยไว้เป็น 2 ประเด็น คือ

     2.1 พระธัมมชโยได้สอนสั่งพระธรรมวินัยระบุว่า พระไตรปิฎกบกพร่อง ก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะสงฆ์เป็นสองฝ่าย ถือเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา เป็นอนันตริยกรรม

      2.2 การเบียดบังทรัพย์สินของวัดไปเป็นสมบัติส่วนตัว พระธัมมชโยถ้าหากไม่มีเจตนาจะลักขโมยก็ต้องรีบคืนทรัพย์สินให้แก่วัดพระธรรมกายในทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ มิเช่นนั้นก็เข้าข่ายอาบัติปาราชิกข้อที่ 2 ต้องสิ้นสุดจากความเป็นพระ

     ซึ่งตามประเด็นในพระลิขิตทั้งสองข้อนั้นก็แบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เกี่ยวกับการทำลายพระธรรมคำสอน เป็นการสร้างความแตกแยกในคณะสงฆ์ ที่เรียกว่าสังฆเภท เป็นโทษขั้นอนันตริยกรรม ระดับเดียวกับข้อหาหนักอื่นๆ คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ และทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงเสียพระโลหิต พระธัมมชโยโดนคดีทางพระธรรมวินัยในข้อนี้ ซึ่งนับว่าสาหัสมาก ซึ่งส่วนที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยในข้อนี้ ต้องชี้ว่า "มิใช่อำนาจหน้าที่ของอัยการจะยื่นฟ้องต่อศาล" หากแต่เป็นอำนาจของ "ศาลสงฆ์" เท่านั้น ที่จะต้องพิจารณาไต่สวน ซึ่งคณะสงฆ์ได้ตั้งให้พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) วัดยานนาวา อดีตเจ้าคณะภาค 1 เป็นประธานในการสอบสวน ซึ่งได้สั่งปิดคดีไปหนหนึ่ง จนถึงพระพรหมโมลี (วิลาส) ถูกปลดจากกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะภาค 1 ส่งผลให้พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 แทน และรับหน้าที่ประธานศาลสงฆ์สืบมา แม้กระทั่งวันนี้ศาลสงฆ์ก็ยังไม่สามารถลงมติได้ว่า "พระธัมมชโยผิดหรือถูก"

     ดังนั้น การอ้างเอาผู้รู้ทางพระพุทธศาสนา เช่น อธิบดีกรมการศาสนา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือแม้แต่เจ้าคณะภาค 1 ซึ่งเป็นประธานศาลสงฆ์ มารับรองความบริสุทธิ์ของพระธัมมชโยในประเด็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัย จึงน่าจะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของอัยการ อาจจะอ้างได้ก็เพียงเหตุผลเทียบเคียงเพื่อเพิ่มน้ำหนักหรือความชอบธรรมให้แก่จำเลยเท่านั้น เพราะอัยการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องศาลในกรณีที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย และเพราะคณะสงฆ์ไทยก็มีศาลสงฆ์ไว้พิจารณาคดีนี้อยู่แล้ว จึงต้องแยกประเด็นให้ขัดเจนว่าอัยการฟ้องได้หรือไม่ได้ในประเด็นไหน

      ในข้ออ้างของอัยการเกี่ยวกับพยานบุคคลลำดับที่ 3 คือ เจ้าคณะภาค 1 ว่าได้รับรองว่าพระธัมมชโยมิได้สอนนอกกรอบพระธรรมวินัยแต่อย่างใด หากแต่ได้สอนถูกต้องตามกระบวนการในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ตรงนี้มีประเด็นให้วินิจฉัยอีกข้อหนึ่ง คือว่า

     เจ้าคณะภาค 1 นั้น ตามกฎนิคคหกรรมซึ่งเป็นกฏหมายสำหรับชำระคดีความทางสงฆ์ กำหนดให้เจ้าคณะภาค 1 เป็นประธานศาลสงฆ์ในคดีพระธัมมชโยโดยตำแหน่ง ซึ่งน่าแปลกใจว่า ประธานศาลสงฆ์ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีความของพระธัมมชโย กลับไปแสดงตัวเป็นพยานให้พระธัมมชโยในคดีอาญา ถามว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ? คือตัวเองเป็นผู้พิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยนี้ แต่กลับไปเป็นพยานยืนยันช่วยเหลือพระธัมมชโยในอีกศาลหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเดียวกันคือพระธรรมวินัย ในขณะที่ศาลสงฆ์ของตัวเองนั้นทำเป็นเก้ๆ กังๆ สืบสวนเนินนาบเนิ่นช้า จนป่านนี้ก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาจากศาลสงฆ์ว่าพระธัมมชโยผิดหรือไม่ผิด นับเป็นความวิปริตในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยสมัยปัจจุบัน

     ตามที่อัยการอ้างว่า "จำเลยที่ 1 กับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว" จึงขอถอนฟ้อง ตรงนี้ต้องขอวิจารณ์ว่า คำอ้างของอัยการสมเหตุสมผลหรือไม่ ?

     1. ที่อัยการสั่งฟ้องพระธัมมชโยไปนั้น เพราะมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชออกมากระนั้นหรือ คือหมายความว่า แต่เดิมนั้นพระธัมมชโยกระด้างกระเดื่องต่อสมเด็จพระสังฆราช อัยการจึงสั่งฟ้อง หากแต่บัดนี้พระธัมมชโยกลับใจประพฤติตัวเสียใหม่แล้ว มิกระด้างกระเดื่องอีกต่อไป อัยการจึงเห็นสมควรถอนฟ้อง

           แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า ตรงนี้มิใช่อำนาจหน้าที่วินิจฉัยของอัยการเลย เพราะอัยการมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวพันเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น มิได้เกี่ยวพันกับพระธรรมวินัยหรือพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ระบุว่า "ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนต่อพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช พระภิกษุสามเณรรูปนั้นมีความผิดเป็นคดีอาญา" ดังนั้นการอ้างว่า พระธัมมชโยปฏิบัติตามพระลิขิตทุกประการจึงขอถอนฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น หรือแม้แต่จะอ้างพระลิขิตเพื่อฟ้องก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

       2. ในพระลิขิตระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า พระธรรมชโยได้เผยแพร่คำสอนนอกพระไตรปิฎก เป็นการทำลายพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ไทย ทั้งยังเป็นการสร้างความแตกแยกให้แก่คณะสงฆ์ไทย เป็นถึงระดับอนันตริยกรรม

            ตามข้อนี้แสดงว่า พระธัมมชโยเป็นตัวก่อการสร้างความแตกแยกให้แก่ประชาชนในชาติ และทำลายสถาบันศาสนา อัยการเห็นเช่นนั้นตามพระลิขิตจึงสั่งฟ้อง แต่บัดนี้ อัยการเองนั่นแหละกลับพลิกสำนวนเสียใหม่ว่า การดำเนินคดีกับพระธัมมชโยเสียอีกที่เป็นการสร้างความแตกแยกในชาติและศาสนา จึงมีคำถามต่อมาว่า ถ้าหากอัยการพิจารณาเห็นว่า การดำเนินคดีต่อพระธัมมชโยเป็นการสร้างความแตกแยกจริง เหตุไฉนจึงได้ดำเนินการฟ้องร้องพระธัมมชโยต่อศาล หรือว่าตอนนั้นมันมิได้พิจารณากันในจุดนี้ ซึ่งอัยการอาจจะมองไม่เห็น หรือพิจารณาไม่รอบคอบ จึงสั่งฟ้องไป บัดนี้เห็นภัยใหม่เกิดขึ้นจึงขอถอนฟ้อง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ฟ้องไปถึงภูมิปัญญาในการทำงานเพื่อบ้านเมืองของอัยการสูงสุดเองว่าสมบูรณ์หรือบกพร่องเช่นใด

     สรุปประเด็นนี้ชัดๆ ก็คือว่า อัยการอ้างเหตุผลขัดกันเอง คือแรกนั้นสั่งฟ้องเพราะเห็นว่าพระธัมมชโยเป็นตัวการทำลายชาติและศาสนา แต่ต่อมากลับเปลี่ยนใจใหม่ว่า การดำเนินคดีกับพระธัมมชโยเป็นการทำลายชาติและศาสนา ดังนั้น การยุติคดีต่อพระธัมมชโยจึงเป็นการรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีในชาติ เอ่อ ยังงี้ก็มีด้วย

       ก็ดังที่ผู้เขียนได้สาธยายมาตามลำดับ คือว่า อัยการอ้างเอาพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชมาเป็นตัวหลักในการช่วยพระธัมมชโยให้พ้นจากการดำเนินคดี ทั้งๆ ที่อัยการไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาในพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเลย อำนาจหน้าที่ของอัยการก็คือ พิจารณาดูว่า พฤติกรรมการเบียดบังทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายไปนั้นเป็นคดีอาญาหรือไม่ แล้วก็สั่งฟ้อง ก็แค่นั้น ส่วนพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้นจะจริงหรือไม่จริง ก็มิใช่ประเด็นหลักที่จะนำมาอ้าง และเมื่อจะอ้างก็อ้างขัดกันอีก เพราะทีแรกก็อ้างว่าพระธัมมชโยผิดตามพระลิขิต จึงสั่งฟ้อง แต่ต่อมาก็อ้างว่า พระธัมมชโยได้ปฏิบัติตามพระลิขิตแล้ว จึงไม่ควรฟ้อง เพราะถ้าฟ้องก็จะเป็นการสร้างความแตกแยกในชาติ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นการสร้างสมานฉันท์ในชาติมากกว่า เพราะการสั่งลงโทษคนผิดนั้นถือเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ต้องตัดสินโดยไม่มีการลูบหน้าปะจมูก และในกฎหมายอาญาก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า "ถ้าพระหรือบุคคลใดมีอิทธิพลทางการเมืองหรือการศาสนามาก ก็ให้ใช้หลักรัฐศาสตร์ในการตัดสินคดี" ดังนี้เลย ยกเว้นก็แต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์

      ประเด็นสุดท้ายที่อัยการนำมาอ้างขอถอนคดีจากศาลอาญาก็คือ"ขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้" ซึ่งประเด็นนี้ต้องวินิจฉัยกันยืดยาว

       คืออัยการเห็นว่า เวลานี้บ้านเมืองต้องการความสามัคคี การดำเนินคดีกับพระธัมมชโยจึงเป็นการขัดต่อความสามัคคีของคนในชาติ ทั้งยังเป็นการสร้างความแตกแยกในศาสนจักร ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงขอถอนฟ้อง ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องรัฐศาสตร์ มิใช่นิติศาสตร์

       คำถามต่ออัยการก็คือว่า คดีความเช่นใดที่อัยการเห็นว่าถ้าฟ้องแล้วจะเป็นการสร้างความแตกแยกให้แก่คนในชาติ ทั้งยังเป็นการเสียหายต่อศาสนจักร ถ้าเอาคดีพระธัมมชโยเป็นตัวอย่าง ก็ขอถามว่า คดีหลวงพี่เล็กใบ้หวยถือเป็นคดีที่สร้างความแตกแยกให้แก่ประเทศชาติและประชาชนไปจนถึงพระภิกษุสามเณรไหม คดีสันติอโศกด้วยใช่หรือไม่ แล้วทำไมสันติอโศกจึงถูกลงโทษ ขณะที่คดีธรรมกายกลับรอด นี่เป็นดับเบิ้ลแสตนดาร์ดหรือเปล่า ? เอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องล่ะ

        การสอนสั่งนอกพระไตรปิฎกในประเด็นที่ว่า "พระนิพพานเป็นอัตตา" ของพระธัมมชโยและสาวกธรรมกายนั้น พระธัมมชโยยอมรับหรือยังว่าตัวเองสอนผิด และขอสอนใหม่ ซึ่งต้องมีกระบวนการละทิ้งมิจฉาทิฐิในทางสงฆ์ แต่ถามว่า ที่อัยการอ้างมานั้นพระธัมมชโยได้ผ่านกระบวนการรับรองจากทางศาลสงฆ์แล้วหรือไม่ หรือแม้แต่การที่อัยการอ้างเอาเจ้าคณะภาคหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าศาลสงฆ์มาเป็นพยานช่วยในจุดนี้นั้นมันฟังขึ้นหรือไม่ ?

      บทบาทของอัยการที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า "อัยการมีใจเอนเอียงเข้าข้างพระธัมมชโย ฝักใฝ่ช่วยเหลือให้พระธัมมชโยหลุดคดี" จึงสู้อุตส่าห์เสาะหาเหตุผลเพื่อช่วยเหลือพระธัมมชโยให้รอดคดีอาญา ตามพฤติกรรมของอัยการที่ปรากฏชัดแล้ว

      นี่เป็นข้อสงสัยของผู้เขียนต่อกระบวนการทางยุติธรรมของประเทศไทยในวันนี้

       อย่างไรก็ตาม คดีธรรมกายนั้นนับว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่พระสงฆ์ไทยต้องศึกษา จะได้รู้ว่า นอกจากเรื่องพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก และนิติศาสตร์แล้ว ยังมีรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ

       การวินิจฉัยคดีความของอัยการและศาลไทยในวันนี้ มิได้ใช้แต่ประมวลกฎหมายอาญาแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ดูอย่างอัยการสิ อ้างมั่วตั้วไปหมด ขนาดประธานศาลสงฆ์ก็ยังถูกอ้างเป็นพยานช่วยเหลือจำเลยให้พ้นโทษ ! และศาลอาญาก็เชื่อเช่นนั้นด้วย นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลกโดยแท้

      ยุทธวิธีในการบริหารคดีของหลวงพี่ธัมมชโยตั้งแต่เริ่มแรกในศาลสงฆ์และศาลอาญานั้นนับว่าคลาสสิกยิ่งนัก เป็นอะไรที่เรียกว่า "เคสสตั๊ดดี้" หรือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งกว่าคดีสันติอโศก คือสันติอโศกนั้นดึงดันจะให้ศาลตัดสินให้สิ้นสุด แพ้หรือชนะไปว่ากันที่ศาลอาญา เรียกว่าเป็นการดับเครื่องชน ได้เป็นได้ เสียเป็นเสีย พังเป็นพัง ดับเป็นดับ แลกกันหนัก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ใครดีใครอยู่ ซึ่งรู้ผลไปแล้ว แต่กับกรณีธรรมกายนี้ใช้วิธี "หนอนบ่อนไส้" ใช้คนเข้าประกบคณะผู้พิจารณาคดี ถ่วงคดีไว้ให้เนิ่นช้า ให้หมดอายุความ หรือถึงที่สุดก็ขอให้ศาลสงฆ์วินิจฉัยสั่ง "ไม่ฟ้อง" หรือวินิจฉัยว่า "ผิดเพียงเล็กน้อย"โดยอธิบายว่า "วัดพระธรรมกายยังไม่มีความรู้ในด้านพระอภิธรรมปิฎกอย่างเพียงพอ จึงต้องให้วัดพระธรรมกายตั้งสำนักเรียนพระอภิธรรมขึ้นมา จะได้ไม่สอนสั่งผิดแบบแผนคณะสงฆ์ไทยในพระไตรปิฎกอีกต่อไป" ซึ่งอ่านยังไงมันก็เป็นการช่วยเหลือกันดีๆ นี่เอง เพราะมีอย่างหรือ คนที่ประกาศตัวเองเป็นเจ้าลัทธิ อุตริตำหนิพระไตรปิฎกของคณะสงฆ์ไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงขวนขวายสร้างไว้คู่ชาติไทย แต่เมื่อถูกนำตัวขึ้นศาลสงฆ์แล้ว กลับถูกตำหนิเพียงแค่ว่า"ศึกษาพระอภิธรรมไม่กระจ่าง ต้องเรียนใหม่" เอ่อ แล้วนี่ถ้ามีพระสงฆ์ไทยรูปอื่นๆ อุตริสอนนอกพระธรรมวินัยเหมือนธัมมชโยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คงมิต้องเปิดโรงเรียนพระอภิธรรมเพื่อไถ่โทษทุกคดีหรือ

     เมื่อพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) อดีตเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งเป็นประธานศาลสงฆ์สอบสวนพระธัมมชโยเป็นศาลแรกนั้น ท่านมีมติให้ตำหนิพระธัมมชโยในเรื่องความอ่อนด้อยในวิชาพระอภิธรรม จึงสั่งให้พระธัมมชโยไปเรียนพระอภิธรรมให้ลึกซึ้ง จะได้เข้าถึงหัวใจของพระไตรปิฎกว่างั้น ทั้งๆ ที่พระเณรไทยทั่วประเทศก็แทบไม่มีใครเรียนพระอภิธรรมจนจบหลักสูตรเลย เพราะในหลักสูตรภาคบังคับของคณะสงฆ์ไทย คือนักธรรมชั้นตรี โท และเอก นั้น ไม่มีวิชาพระอภิธรรมสอน ซึ่งตรงนี้ถ้าจะว่าพระธัมมชโยบกพร่องเพราะไม่ได้เรียนพระอภิธรรม ก็ต้องตำหนิคณะสงฆ์ไทยหรือมหาเถรสมาคมเสียเองแหละว่า ไม่สั่งไม่สอน แล้วจะให้เขาตรัสรู้ได้อย่างไร จึงต้องถามด้วยว่า ถ้าใช้พระอภิธรรมเป็นหลักในการวินิจฉัยพระธรรมวินัย ในเมื่อพระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียนอภิธรรม ทำไมมหาเถรสมาคมจึงไม่บังคับให้พระสงฆ์ไทยทุกรูปต้องเรียนพระอภิธรรม จะได้ไม่สั่งผิดสอนผิดเหมือนพระธัมมชโย ตรงนี้กลับกลายเป็นความบกพร่องของระบบการศึกษาและการปกครองของคณะสงฆ์ไทยเสียเอง ต้องชอกช้ำระกำใจเมื่อทำอะไรเขาไม่ได้ จำใจต้องปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยจระเข้ลงหนอง ไปตามเวรตามกรรม

        เหตุการณ์ต่อมาก็คือว่า ทางวัดพระธรรมกายเล่นหัวหมอ เมื่อศาลสงฆ์ของหลวงพ่อวิลาศ วัดยานนาวา พิพากษาออกมาเช่นนี้ ก็ถือว่าผิดเพียงเล็กน้อย ธัมมชโยรอดตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีผู้คนไม่พอใจได้ขอฟ้องต่อ ทีนี้วัดพระธรรมกายก็หัวหมอ ประกาศว่า "คดีที่สิ้นสุดไปแล้วนั้นจะฟื้นขึ้นมาใหม่ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ใครรื้ออธิกรณ์ก็ต้องอาบัติ" ยันกันไปยันกันมา จนท้ายที่สุด พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ส่งผลให้ตำแหน่งประธานผู้พิพากษาคดีนี้สิ้นสุดไปด้วย พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 และประธานศาลสงฆ์สืบต่อจากนั้น โดยมีมติมหาเถรสมาคมออกมาว่า "คฤหัสถ์สามารถฟ้องร้องพระสงฆ์ในทางพระธรรมวินัยได้" เทคนิกของทีมงานกฏหมายและพระธรรมวินัยขอวัดพระธรรมกายในการช่วยเหลือพระธัมมชโยก็คือ "ตัดตอนคดีไม่ให้สิ้นสุด" หรือถ้าจะสิ้นสุดก็ให้ "ผิดเบาและรื้อฟื้นไม่ได้"

      มาจนถึงข่าววันนี้ที่อัยการขอถอนฟ้อง ทั้งๆ ที่ข่าวก็ระบุว่า เหลือพยานอีกเพียง 2 ปาก ศาลอาญาก็จะพิพากษาแล้ว แต่ธัมมชโยยังขยันวิ่งล็อบบี้อัยการสูงสุด ขอให้ถอนฟ้องก่อนคำพิพากษาจะออกมาในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า นับว่าเป็นกลยุทธ์สุดยอดทีเดียว

      แต่..แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่พระธัมมชโยและคณะวัดพระธรรมกายแสดงออกมานี้ ส่อแสดงให้เห็นว่า พระธัมมชโยและคณะวัดพระธรรมกายนั้น กลัวการซักฟอก กลัวคำพิพากษา ไม่กล้าฟังว่าตัวเองผิดยังไง จึงจำเป็นต้องหาทางตัดตอนคดีเสียแต่ตอนนี้

    ซึ่งน่าเสียดายจริงว่า ถ้าท่านแน่ใจว่าท่านเป็นอัจฉริยะบุคคลแห่งยุค ระดับศาสตราจารย์เจ้าลัทธิ ผู้วางแผนสร้างวัดพระธรรมกายให้ยิ่งใหญ่ระดับโลกจริงแล้วไซร้ เหตุใดจึงไม่กล้าท้าพิสูจน์ในลัทธิธรรมกายของท่านว่ามันเป็นของจริงหรือของปลอม เหตุใดเล่า ในเมื่อจะค้าจะขายเป็นบุญเป็นพระประจำตัวหรือแม้แต่พระปลดหนี้ พวกท่านกลับประโคมโน้มน้าวว่าดีวิเศษอย่างโน้นอย่างนี้ วิชาธรรมกายเป็นสิ่งใหม่ในโลก หลวงพ่อสดตรัสรู้ด้วยตนเอง และต้องผ่องถ่ายเป็นวิชาลึกลับภายในสำนักวัดปากน้ำผ่านยายชีจันทร์สู่ธัมมชโยเท่านั้น

       แต่ในเมื่อต้องการท้าพิสูจน์ผ่านศาลว่าสิ่งที่ท่านอุตริสอนนั้นถูกหรือผิดตามหลักการในพระไตรปิฎก ท่านเสียเองที่รีบกลับคำว่า "ผมสอนผิด จะขอสอนใหม่ตามพระไตรปิฎกของคณะสงฆ์ไทย" ซึ่งเป็นการยอมรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ว่า ทฤษฎีธรรมกายที่เคยอวดอ้างสรรพคุณมาทั้งหมดนั้นเหลวไหลไร้สาระ คือโกหกหลอกลวง เพราะท่านเองยอมรับว่าสอนผิด และขอสอนใหม่ แต่ถ้ามิเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่ยินยอมกระทำไปด้วยใจคดโกง หลอกอัยการให้หลงเชื่อเพื่อให้ตนเองพ้นบ่วงคดีอาญาเป็นลิงหลอกเจ้าเท่านั้นเอง ซึ่งในสายตาของผู้รู้เมื่อรู้เห็นเช่นชาติเช่นนี้แล้ว เขาก็เห็นเป็นเพียง "คนกระจอก" กับ "คดีกระจอก" เท่านั้นเอง
คสช.ต้องตรวจสอบเพื่อความมั่นคงของชาติ และปกป้องสถาบันพระศาสนา

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ