พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ?
ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ให้มีคำว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
เรามาแก้ตรงนี้กันก่อน มิดีกว่าหรือ ?
(1)
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ก่อนจะเสนอชื่อเพื่อรับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
ฐานข้อมูล
1.พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หมวดที่ 2 มาตรา 13 "ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม"
2.กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 25 ก หน้า 11 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 ได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อ 2 "ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐ โดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา จัดการศาสนสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนาบุคคลากรทางศาสนา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(2) รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
(3) เสนอแนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(4) ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถาน และศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา
(5) ดูแล รักษ และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง
(6) พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
(7) ทำนุบำรุงพุทธศาสนศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
(8) ปฏิบัติการอันใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงเรื่องความพยายามในการบรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในแต่ละครั้งที่มีการร่างใหม่หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีพระสงฆ์สามเณรรวมทั้งพุทธศาสนิกชน ออกมาเรียกร้องให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" รัฐธรรมนูญที่ใกล้ที่สุดก็เห็นจะเป็นปี พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 แต่ทั้งสองครั้งนั้นปรากฏว่าเป็นหมัน ไม่สำเร็จ จะด้วยสาเหตุก็ตามแต่ และปัจจุบันวันนี้ วันที่มีข่าวว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ก็เริ่มมีเสียงดังขึ้นมาอีกว่า "ต้องเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติให้จงได้"
สำหรับผู้เขียนแล้ว กล้าพูดว่า "สนับสนุนให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"เต็มร้อย ไม่มีตะขิดตะขวางใจ ในระหว่างการอบรมพระธรรมทูต เมื่อปี พ.ศ.2540 นั้น ผู้เขียนยังเคยเป็นแกนนำในการขอลายเซ็นพระธรรมทูตและพระสงฆ์เถรานุเถระที่มาร่วมในพิธีปิดการอบรม จนกระทั่งได้รายชื่อหลายร้อย นำส่งที่เปรียญธรรมสมาคม วัดสามพระยา ซึ่งเวลานั้นได้ตั้งเป็นศูนย์รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้บัญญัติว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับ พ.ศ.2540) แม้ว่าครั้งนั้นจะไม่สำเร็จ ในครั้งถัดมา คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผู้เขียนแม้จะอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้รวมกับพระธรรมทูตหลายท่าน ผลักดันให้สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ลงมติ "สนับสนุนให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" แม้ว่าจะล้มเหลวอีกครั้งก็ตาม ไม่ว่าผู้เขียนจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ถ้ามีกิจกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ก็ไม่เคยรีรอที่จะเข้าไปสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่ถึงกระนั้น คือว่า แม้ว่าผู้เขียนจะเห็นด้วยที่จะให้มีการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ผู้เขียนก็ใคร่จะขอเสนอความเห็นเป็นเชิงตั้งคำถามต่อคนกันเอง ว่าเรามีวัตถุประสงค์สิ่งใดในการรณรงให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
มีเพื่อนๆ บอกว่า "ถ้าเราไม่เอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็จะถูกศาสนาอื่นบีบคั้น บั่นรอน ในทุกวิถีทาง เพราะว่าเราอ่อนแอ"
ผู้เขียนจึงถามว่า "ที่ว่าเราอ่อนแอนั้น เพราะเราไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติกระนั้นหรือ"
เพื่อนๆ ก็ตอบว่า "หามิได้ แต่เพราะเราอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรุกรานจากศาสนาอื่นซึ่งเข้มแข็ง จึงต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"
ผู้เขียนก็ถามต่อไปอีกว่า "แล้วศาสนาอื่นที่ว่านั้น เป็นศาสนาประจำชาติไทยเราหรือเปล่า"
เพื่อนก็ตอบว่า "เปล่า"
"อ้าว แล้วเหตุไฉน ในเมื่อเมืองไทยเรานี้ มีประชาชนกว่า 90 เปอร์เซ็นเป็นชาวพุทธ และคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็น แต่ทำไมเขาจึงเข้มแข็ง แถมยังรังแกเราได้ ทั้งๆ ที่ศาสนาอื่นนั้นก็มิใช่ศาสนาประจำชาติ" ผู้เขียนซักไซ้ เห็นเพื่อนนิ่งไป ผู้เขียนจึงอธิบายว่า
ความจริงแล้ว มิใช่ว่าจะมาขัดคอคนกันเองหรอก เพียงแต่อยากจะหาเหตุผลให้กระจ่าง ว่าที่พวกเรามารณรงค์กันนั้น เป็นจุดสำคัญจริงหรือไม่ หรือว่ามีจุดอื่นที่สำคัญกว่า จุดที่ว่านั้นเป็นจุดเร่งด่วนหรือเปล่า หรือยังมีจุดอื่นที่เร่งด่วนกว่า เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราได้รณรงค์มาถึง 2 ครั้งใหญ่ แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง นั่นแสดงว่าชาวพุทธไทยเรายังไม่เข้มแข็ง ยังไม่พร้อมเพรียง ดังนั้น ต่อให้รณรงค์อีกนับร้อยครั้งก็คงล้มเหลวร้อยครั้ง แถมรณรงค์แต่ละครั้งก็ยังมีชาวพุทธด้วยกันเองออกมาแสดงทัศนะว่าไม่เห็นด้วยเสียอีก แบบนี้แหละที่อยากจะให้ไปดูว่ามันขาดตกบกพร่องตรงไหน ไม่อยากให้คำว่า "เป็นพุทธฯแต่ในทะเบียนบ้าน" กลายเป็น "เป็นพุทธฯแต่ในรัฐธรรมนูญ"
เพราะผู้เขียนเข้าใจว่า การจะยกฐานะศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้เป็นศาสนาประจำรัฐประจำชาตินั้น ถ้าจะทำให้สำเร็จ ก็ต้องทำในตอนที่ศาสนานั้นกำลังเจริญรุ่งเรืองมีประชาชนในชาตินั้นเป็นศาสนิกที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาของตน รวมทั้งมีความสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถ้ามีความพร้อมดังว่ามานี้ เรื่องยกฐานะพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติก็มิใช่เรื่องใหญ่ ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือด้วยซ้ำไป แต่เมืองไทยทุกวันนี้ เพราะพระพุทธศาสนาอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ดังนั้น แม้ว่าเราจะนับสำมะโนประชากรแล้วอ้างสถิติว่า ประชาชนไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นับถือพระพุทธศาสนา ดังนี้ก็ตาม แต่พอขอลายเซ็นสนับสนุนให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ปรากฏว่ามีคนร่วมลงชื่อกันไม่ถึง 3 ล้าน ส่วนอีก 70 ล้านนั้นหายไปไหน นี่ไงที่ต้องถามใจพวกเดียวกัน ว่าเราทำงานกันถูกทางหรือเปล่า
ผู้เขียนเคยพูดในที่ประชุมใหญ่ สมัชชาสงฆ์ไทย ที่วัดมงคลรัตนาราม เมืองแทมป้า รัฐฟลอริดา เมื่อ พ.ศ.2550 ว่า "การรณรงค์ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเช่นที่กำลังทำกันอยู่นี้ มันผิดยุทธวิธี เปรียบไปก็เหมือนการสร้างพระอุโบสถโดยการเอาช่อฟ้าขึ้นแขวนในอากาศไว้ก่อน แล้วจึงค่อยสร้างหลังคารองรับช่อฟ้า ก่อฝาผนังและเทเสารองรับหลังคา เทพื้นรับฝา แล้วขุดหลุมก่อรากเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน นอกจากคนปัญญาอ่อน"
แต่ถึงกระนั้น เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมลงมติให้สนับสนุนการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้เขียนก็ยกมือสนับสนุน จะขอเสียงซักสิบรอบก็ยินดียกมือให้ เพราะผู้เขียนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเราไม่ไปในทิศทางเดียวกัน (แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในบางจุด แต่ก็มิใช่ทุกจุด) มันก็จะเสียความสามัคคี ทำนอง "มือไม่พาย แต่เอาเท้าราน้ำ"
แต่ครั้งนี้ ที่กำลังมีการรณรงค์อยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนก็เว้นไว้ไม่กล่าวถึง เพราะดังที่บอกว่า อยากเห็นการปรับปรุงองค์กรทางพระพุทธศาสนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระดับ "ปฏิรูป" แต่ไม่ต้องถึงกับ "ปฏิวัติ"และสิ่งที่จะนำเสนอในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในจุดที่ผู้เขียนสนใจและอยากจะนำเสนอต่อท่านผู้อ่าน
จุดที่ว่านี้ก็มาจากกฎหมาย 2 ฉบับที่นำเสนอข้างต้น คือจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 และ2.กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549
ถ้าท่านผู้อ่านอ่านบทบัญญัติในกฎหมายทั้งสองฉบับดูแล้ว ก็คงจะเห็นว่า "มีเนื้อหาสาระแตกต่างกัน" คือ
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ระบุเกี่ยวกับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า "ต้องเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมและสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง"แล้วก็จบแค่นั้น
ส่วนในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2549 นั้น กลับมีข้อความเพิ่มเติมว่า
(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(2) รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
(3) เสนอแนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(4) ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถาน และศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา
(5) ดูแล รักษา และจัดการวัดร้าง และศาสนสมบัติกลาง
(6) พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
(7) ทำนุบำรุงพุทธศาสนศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
(8) ปฏิบัติการอันใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
เมื่อพิจารณาดู "อำนาจหน้าที่" ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามกฎกระทรวงนี้ ก็จะเห็นว่า "กว้างขวางกว่า"อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535
ที่ว่ากว้างขวางกว่านั้นก็เพราะมีมาตราและเนื้อหาที่เยอะกว่า หรือมีรายละเอียดมากกว่า จะว่ากฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 ก็คงว่าได้ แต่เมื่อมองดูอีกทีก็จะเห็นว่า "ไม่ใช่" เพราะถ้าเป็นกฎหมายลูก ก็ต้องไม่มีเนื้อหาที่ "กว้างกว่า" กฎหมายแม่ เพราะกฎหมายแม่ (พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535) ได้ให้คำจำกัดความไว้แต่เพียงว่า "ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม" เท่านั้น
แต่ดูในกฎกระทรวงฉบับนี้สิ ข้อแรกนั้น"ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง" แค่นี้ก็แทบครอบจักรวาลแล้ว เพราะคำว่า "ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์" นั้น กินความหมายครอบคลุมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ทุกฉบับ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505/2535 ซึ่งใช้เป็นแม่บทในการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน และกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอำนาจให้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายเหล่านั้นบัญญัติไว้เต็มๆ
ถ้าเทียบกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แล้ว ก็จะเห็นว่า "ให้อำนาจไว้แคบมาก" แค่เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมเท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไร แต่ในกฎกระทรวงฉบับนี้ได้ขยายวงอำนาจออกไปกว้างไกลเสียจนแบบว่า "แม้แต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ก็ถูกรวมไว้ในอำนาจกฎกระทรวงฉบับนี้ด้วย"
ต่อไปก็คือ ข้อที่ 2 ที่ระบุว่า "รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารการปกครองคณะสงฆ์" ตรงนี้ระบุไว้ตรงๆ ว่า "สนอง ประสาน และสนับสนุนการบริหารการปกครองของคณะสงฆ์" มองตรงๆ ก็คืออำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนของเลขาธิการมหาเถรสมาคม ก็ไม่มีอะไรมาก มันเหมือนกันอธิบายคำว่า "เลขาธิการมหาเถรสมาคม"เท่านั้น
ข้อที่ 3 ข้อนี้พิเศษมาก เพราะระบุว่า "เสนอแนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา" นี่เป็นอำนาจใหม่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่สามารถจะ "เสนอแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการคุ้มครองพระพุทธศาสนา" ให้แก่ "มหาเถรสมาคม" ได้
พิเศษตรงไหน ก็ตรงที่ว่า ฐานะเดิมของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น เป็นเพียง "เลขาธิการมหาเถรสมาคม" คือมีหน้าที่สนองงานอย่างเดียว แต่ตรงนี้กลับให้มีอำนาจ "เสนอนโยบายได้" ก็เลยกลายเป็นว่า "เลขาธิการ" มีอำนาจทั้งเสนอและสนองงาน เห็นไหมล่ะว่าตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" นั้นไม่ธรรมดาซะแล้ว จากลูกศิษย์กลายเป็นอาจารย์เลย
บทบาทตามกฎกระทรวงข้อนี้ กลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างมหาเถรสมาคมกับ นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คนที่ 3 (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 5 ธ.ค. 2547 ถึง 17 ต.ค. 2548) โดยในเวลานั้น นายแพทย์จักรธรรมได้ทำตัวเป็น "คนกลาง"สร้างความสมานฉันท์ ระหว่างพระป่ากับพระบ้าน โดยได้ไปถวายสักการะพระธรรมวิสุทธมงคล (หลวงตามหาบัว) ถึงวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี ขณะเดียวกันก็นำเสนอนโยบายให้แก่มหาเถรสมาคม นานวันเข้าก็เลยกลายเป็นทั้ง "ผู้เสนอ" และ "สนองงาน" สร้างความสับสน จนถูกมหาเถรสมาคม "บีบออก" ไปในที่สุด
ถามว่า นายแพทย์จักรธรรม ทำผิดตรงไหน ? คำตอบก็คือว่า ถ้าว่าตามตัวบทกฎหมายแล้วไม่มีผิดเลย เพราะกฎกระทรวงได้ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาไว้เช่นนั้น แต่ถ้าถามถึงเรื่องของมารยาทก็ดี บรรยากาศการทำงานร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับมหาเถรสมาคม ก็ต้องบอกว่า "มีปัญหาแล้ว"เพราะถ้าความเห็นไม่ตรงกัน มันก็ทำงานร่วมกันยาก ขนาดว่ามีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยกมือคัดค้านในที่ประชุมสงฆ์ อปโลกนกรรมที่ตั้งขึ้นนั้นก็ต้องเป็นหมันทันที นี่คือระบบที่พระสงฆ์ไทยใช้กันอยู่ มิใช่ระบบสภาผู้แทนที่เถียงแล้วโหวตเอาชนะกันด้วยคะแนน และสุดท้ายนายแพทย์จักรธรรมจำต้อง "เป็นฝ่ายไป" ดังที่ทราบ
ก็ลองจำลองภาพเหตุการณ์มาดูกันสิ เช่นว่า มีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้น แล้วผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอให้มหาเถรสมาคมทำแบบนี้ แต่มหาเถรสมาคมไม่เห็นด้วย โดยเห็นต่างไปจากที่ ผอ.สำนักพุทธฯเสนอ ซึ่งถ้าแค่เพียงเสนอแล้วมหาเถรสมาคมไม่เอา มันคงไม่เกิดปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า "ผอ.สำนักพุทธฯต้องสนองงานมหาเถรสมาคม" อีกตำแหน่งหนึ่ง ดังนั้น เรื่องที่ ผอ.สำนักพุทธฯไม่เห็นด้วย แต่กฎหมายบังคับให้จำต้องสนองงานมหาเถรสมาคม ในฐานะเลขามหาเถร ถามว่ามันพะอืดพะอมไหม สุดท้ายก็ต่างคนต่างไปดังกล่าว จะว่ากฎกระทรวงข้อนี้สร้างปัญหาเรื่อง "สัมพันธภาพ"ระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็คงว่าได้
ข้อที่ 4-5-6-7 นั้นจะไม่พูดถึง เพราะเห็นว่าเป็นเพียงอำนาจหน้าที่หรือโครงการธรรมดา ข้อที่น่าสนใจจึงเป็นข้อสุดท้าย ที่ระบุว่า "ปฏิบัติการอันใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย"
ที่ไฮไลต์เป็นตัวหนังสือสีแดงไว้นั่นแหละ ที่ขอบอกว่า "สำคัญที่สุด" ของกฎกระทรวงฉบับนี้ เพราะกฎกระทรวงข้อนี้ได้สร้างเจ้านายคนใหม่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมา นั่นก็คือนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี จากเดิมที่มีเจ้านายคือ "มหาเถรสมาคม" เพียงเจ้าเดียว
ไม่รู้สินะว่าใครเป็นคนเขียนกฎกระทรวงฉบับนี้ และมหาเถรสมาคมได้อ่านก่อนออกมาใช้หรือเปล่า ถ้าอ่านแล้วแต่ปล่อยผ่าน ก็แสดงว่าตาถั่วแล้ว มีอยู่หรือให้เขาเข้ามาแบ่งอำนาจของตนเองไปครึ่งหนึ่ง กฎกระทรวงที่บอกว่า "แบ่งส่วนราชการ"กลับกลายมาเป็น "แบ่งอำนาจมหาเถรสมาคม" ไปเสียฉิบ
จากกฎกระทรวงที่ว่านี้ ทำให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีเจ้านาย 2 คน ได้แก่ 1.มหาเถรสมาคม และ2.นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี แต่น่าจะจำกัดไว้เพียง "นายกรัฐมนตรี" คนเดียว เพราะนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นประธานคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่ที่ท่านเขียนไว้เช่นนั้นเพราะเปิดกว้างการใช้อำนาจไว้ 2 ทาง คือ 1.คณะรัฐมนตรีสามารถออกมติแล้วสั่งการให้ ผอ.สำนักพุทธฯปฏิบัติตามได้ และ 2.นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจสั่งการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ โดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี นี่แหละคือเหตุผลที่เขียนไว้ทั้งสองคำ
ทีนี้ว่า ถ้าว่ารัฐบาลไทยอันมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้านั้น เข้ากันได้กับมหาเถรสมาคม ก็จะสั่งงานไปทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ทำงานสอดคล้องกับมหาเถรสมาคม แต่ถ้าว่านายกรัฐมนตรีมีสัมพันธภาพกับชาวพุทธกลุ่มอื่นที่ไม่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคม เช่นสันติอโศก หรือที่ขึ้นแต่เพียงนิตินัย เช่นธรรมกาย ถ้านายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสั่งการผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ ได้สั่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปสนองงานนายกรัฐมนตรีในงานที่สันติอโศกหรือธรรมกายจัด ถามว่าผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะขัดคำสั่งได้ไหม ?
คำตอบก็คือว่า ไม่ได้ เพราะผิดทั้งนิตินัยและพฤตินัย
ที่ว่าผิดนิตินัยก็คือผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุว่า "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องสนองงานนายกรัฐมนตรีด้วย" มิใช่สนองเฉพาะมหาเถรอย่างเดียว ส่วนโดยพฤตินัยนั้น ก็เป็นเรื่องอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่สามารถจะใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี "ปรับเปลี่ยน" ตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกจากตำแหน่งได้
อำนาจในการ "ปรับเปลี่ยน" หรือ "ปลด"รวมทั้ง "แต่งตั้ง" ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นี่แหละ ที่เป็นจุดชี้ขาดว่า ระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักนายกรัฐมนตรี ใครมีอำนาจมากกว่ากัน บนข้าสองเจ้าบ่าวสองนายที่ชื่อ "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"
ความขัดแย้งระหว่างมหาเถรสมาคมกับสำนักนายกรัฐมนตรีที่ว่านี้ อาจจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ มันอยู่ที่ความลงตัวระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมหาเถรสมาคม ถ้าได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นพุทธศาสนิกชนธรรมดา แบบว่าเข้าได้ทุกวัด ก็คงจะสนับสนุนมหาเถรสมาคม แต่ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นศิษย์ของสำนักอื่นๆ ที่ไม่ค่อยกินเส้นกับมหาเถรสมาคม (ซึ่งมีอยู่จริงๆ) อย่างนี้ก็น่ากลัว
เช่น กรณีพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งผลักดันจากกลุ่มสันติอโศกผ่านรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ และกรณีบัญชีเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ได้จัดทำบัญชีขึ้นมาโดยไม่ผ่านสายงานของมหาเถรสมาคม คือไม่ผ่านการคัดกรองจากเจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน แต่รัฐบาลได้ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปจัดทำบัญชี แล้วนำเสนอรัฐบาลเพื่อ"แก้ไขเพิ่มเติม" พอได้รายชื่อครบแล้วก็ให้สำนักพุทธฯ นำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อ "รับทราบ" ก็ในทำนองมัดมือชกนั่นแหละ แต่มหาเถรสมาคมไม่ยอมเป็นร่างทรงของรัฐบาล จึงลงมติ "วีโต้" บัญชีสมณศักดิ์พิเศษนั้น ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2550 นี่ยังไม่นับคำสั่ง "ปลดสมเด็จเกี่ยว-ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งมีข่าวว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชา และเลขาสมเด็จพระสังฆราชชงเรื่องผ่านรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 อันแสดงให้เห็นว่า สัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลกับมหาเถรสมาคมใช่ว่าจะลงรอยกันเสมอไป
อย่างกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีชื่อเป็น "ภาคี" จัดงานตักบาตรพระหนึ่งล้านรูปของธรรมกาย ในเดือนมีนาคมนี้ โดยไม่มีมหาเถรสมาคมไปร่วมด้วย ก็เป็นอิทธิฤทธิ์ของกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อที่ 8 อีกนั่นแหละ เพราะทางสำนักพุทธฯอ้างว่า "ต้องไปร่วมงาน เพราะต้องสนองงานสำนักนายกรัฐมนตรี ไว้เสร็จจากสนองงานนายกรัฐมนตรีก่อน จึงค่อยไปสนองงานมหาเถรสมาคม"
แบบนี้ก็เรียบร้อยโรงเรียนธัมมชโยสิครับ
เพราะธัมมชโยเข้าประกบรัฐบาล ยืมมือสำนักนายกรัฐมนตรีให้สั่งงานผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลยกลายเป็นว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องสนองงานทั้งมหาเถรสมาคมและธัมมชโย เพราะธัมมชโยคือผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานตักบาตรล้านรูปตัวจริงเสียงจริง ถ้าเปรียบเทียบฐานะของธัมมชโยวันนี้ก็คงจะสูงพอๆ กับตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ปานนั้นเลยทีเดียว เสียวไหมครับ
การเขียนกฎหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็น "ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย" ดังที่เห็นนี้แหละ ที่เป็นช่องทางเข้าบ่อนทำลายคณะสงฆ์ไทยอย่างแนบเนียน คือไม่ยอมออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่กลับหมกเม็ดเพิ่มเติมไว้ในกฎกระทรวง และนานวันเข้า กฎกระทรวงกลับมีอำนาจสูงกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เสียอีก
ตรงนี้สิฮะสำคัญ อันตรายกว่าการไม่ได้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญเสียอีก
ถามว่า นักกฎหมายของคณะสงฆ์ไทยหายไปไหนหมด ทำไมไม่มองถึงปัญหาที่กำลังเผาตำหนักสมเด็จวัดสระเกศให้ร้อนรุมอยู่ในปัจจุบันนี้
ถามว่า จะแก้ไขอย่างไร ?
คำตอบก็คือ ต้องขอแก้กฎกระทรวงเสียใหม่แล้วล่ะครับ ตัดเจ้านายที่สองของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกไป ให้เหลือแต่เจ้านายเดียว คือ "มหาเถรสมาคม"
หากว่าไม่ได้จริงๆ ก็ต้อง "ขอเพิ่มมาตราว่าด้วยที่มาของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" เข้าไปอีกข้อหนึ่ง
เพราะอย่าลืมว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบันนั้น ใครเป็นคนมีอำนาจเสนอแต่งตั้ง คำตอบก็คือ นายกรัฐมนตรี ทีนี้ว่าเมื่อ ผอ.สำนักพุทธฯ ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ถามว่าจะจงรักภักดีต่อใคร ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมหาเถรสมาคม แถมนายกรัฐมนตรียังมีอำนาจในการบริหารการปกครองบ้านเมือง มีอำนาจในการปรับย้าย หรือปลดออก หรือสนับสนุนงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งด้านงบประมาณและบุคคลากร
ดังนั้น เมื่อได้รับการแต่งตั้งและสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ถามว่า ผอ.สำนักพุทธฯ จะสนองงานใครมากกว่ากัน ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับมหาเถรสมาคม เพราะมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ ผอ.สำนักพุทธฯเลย
แล้วทีนี้กลับไปดูในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์สิ ไม่มีมาตราว่าด้วย "ที่มา" ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเลย มีแต่มาตราที่บอกว่า "ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม" เท่านั้น
ดังนั้น เพื่อให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นตำแหน่งสนองงานคณะสงฆ์ล้วนๆ โดยไม่มีการเมืองเข้ามาแทรก ก็จำเป็นที่จะต้อง"แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ว่าด้วยที่มาของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" โดยบัญญัติว่า
"ให้มหาเถรสมาคม ตั้งกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขึ้นมาชุดหนึ่ง และนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อรับทราบ จากนั้นจึงแจ้งมติมหาเถรสมาคมไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความขึ้นบังคมทูลเพื่อโปรดฯแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"
ถ้าเพิ่มเติมดังนี้ได้ ก็จะได้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคมเต็มร้อย เพราะว่าผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีที่มาจากมหาเถรสมาคม
เรื่องป้องกันการเมืองแทรกการศาสนานี้เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศไทย เพราะในปัจจุบันการเมืองพลิกผันเร็วมาก ทั้งนี้มิใช่ว่าผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะสงฆ์ไทย แต่เพื่อป้องกันความผันผวนในอนาคต จึงต้องป้องกันไว้ก่อน ความจริงแล้วก็ไม่ใช่การป้องกันหรอก แต่เป็นการอุดรูที่รั่วมาหลายปีแล้วมากกว่า เพราะปัญหาเรื่องบทบาทของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการกระกาศกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น เมื่อไม่มีกฎกระทรวงที่ว่านี้ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร
ยกตัวอย่างของการป้องกันการเมืองแทรกก็คือ พรบ.กลาโหม ซึ่งระบุให้มีสภากลาโหม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้ง-โยกย้ายนายทหาร แม้ว่าจะกำหนดให้ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ซึ่งเป็นนักการเมืองเป็นประธานก็ตาม แต่กรรมการส่วนใหญ่ล้วนมาจากสามเหล่าทัพทั้งสิ้น
ปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมิใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรอก แต่อยู่ที่การแก้ไข พรบ.กลาโหม เพราะทหารคือผู้ถือปืน จึงมีอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย สามารถปฏิวัติขับไล่รัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งได้ ทั้งนี้เพราะมี พรบ.กลาโหม เป็นเกราะกำบัง ทำให้การเมืองไม่สามารถแทรกได้ ถ้าล้วงลูกทหารได้เสียอย่างเดียว จะเอารัฐธรรมนูญอีกซักร้อยฉบับก็ง่ายเหมือนปลอกกล้วย ส่วนปัญหาพระพุทธศาสนาในปัจจุบันก็มิใช่อยู่ที่ว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด หากแต่อยู่ที่ว่า "เราไม่มี พรบ.คณะสงฆ์ ที่ให้อำนาจและคุ้มครองมหาเถรสมาคม อย่างเต็มที่ เหมือน พรบ.กลาโหม" นั่นต่างหาก
ดังนั้น ก่อนจะร้องแรกแหกกระเฌอสะบัดผ้าเหลืองยกป้ายไปประท้วงที่หน้ารัฐสภากันรอบใหม่ เพื่อเรียกร้องให้บรรจุคำว่า"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ลองกลับมาพิจารณาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ว่าด้วยที่มาของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาตรานี้ กันเป็นปะไร
บางทีจะมีผลต่อคณะสงฆ์ไทย มากกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป
พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
30 มีนาคม 2555
02:00 P.M. Pacific Time
ตั้งพุทธสภาสังกัด “ศน.” ดูด “พศ.” เป็นที่ปรึกษา
ร้อนฉ่าวงการศาสนาในประเทศไทยขึ้นมาทันที เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมการศาสนาได้นิมนต์พระสงฆ์ทั่วประเทศ และพุทธศาสนิกชนอย่างหลากหลาย เรียกเป็นภาษาเทคนิกว่า “ภาคี” ไปร่วมประชุมที่วัดสามพระยา โดยมีหัวข้อของการประชุมสั้นๆ ง่ายๆ เพียง “เพื่อจัดตั้งพุทธสภา”
จากนั้นก็ได้มติจากที่ประชุม ออกเป็นปฏิญญาสามพระยา เห็นพ้องต้องกันและร่วมกันจัดตั้ง “พุทธสภา” ขึ้นมาในประเทศไทย โดยนายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา เมื่อได้มติจากที่ประชุมแล้ว ก็ประกาศทางสื่อว่า “จะดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเจ็ดวัน”
แต่ยังไม่ถึงเจ็ดวัน ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ส่งนายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการ ออกมาให้ข่าวแก่สื่อใหญ่ไทยรัฐ ว่า “สำนักพุทธฯไม่เห็นด้วย” แล้วแจกแจงรายละเอียดในการไม่เห็นด้วยนั้นนับได้ถึง 7 ข้อ 7 ประเด็นด้วยกัน
แต่ทั้งหมดรวมอยู่ในประเด็นเดียวก็คือ“ประเด็นไม่เห็นด้วย” ไอ้ไม่เห็นด้วยนี้แหละที่เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาดังว่า
เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า สององค์กรใหญ่ในประเทศไทยที่มีบทบาทและหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้หันหน้ามาชนกันแล้วอย่างแรง
การชนกันของสำนักพุทธฯและกรมการศาสนาในครั้งนี้ บางท่านอาจจะมองว่าเป็น“อุบัติเหตุ” หรือเรื่องบังเอิญ แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากแต่เป็นเรื่องที่มีเชื้อไฟสุมรุมมานาน เพิ่งจะมาคุกรุ่นในสมัยนี้ ตอนที่กรมการศาสนามีอธิบดีชื่อว่า“ปรีชา กันธิยะ” เท่านั้น
มูลเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างกรมการศาสนากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ไม่มีอะไรมาก มีเพียงเรื่องเดียวก็คือ“แย่งงาน”
เรื่องมีอยู่ว่า นับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2325 เป็นต้นมานั้น ก็มีหน่วยงานสนองงานคณะสงฆ์อยู่เพียงหน่วยเดียว เปลี่ยนแต่เพียงชื่อเท่านั้น ได้แก่ กรมธรรมการ กรมสังฆการี และกรมการศาสนา
แต่พอถึง พ.ศ.2544 ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้นรัฐบาลเกิดไอเดียยุบรวมหน่วยงานที่มีเนื้องานซ้ำซ้อนกันให้เข้าเป็นหน่วยงานเดียว ภายใต้สโลแกน “One Stop Service” เช่นกระทรวงศึกษาธิการกับทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในชาติเช่นกัน ทางรัฐบาลเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีทบวงมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่ให้ยุบรวมเข้าไปอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการเสีย ก็เสร็จไปสองราย
ทีนี้ว่า ช่วงที่กำลังมีการยุบรวมของหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงอยู่นั้น เกิดการเรียกร้องจากพระสงฆ์ นำโดยศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้แยกงานพระพุทธศาสนาออกมาจากศาสนาอื่นๆ โดยอ้างว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาใหญ่ เป็นศาสนาประจำชาติไทย จะให้ไปสังกัด "กระทรวงศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม" และมีที่นั่งเพียง “หนึ่งที่” เท่ากับศาสนาอื่นๆ คือ คริสต์ อิสลาม ซิกซ์ และฮินดู มันดูต่ำต้อยด้อยค่า “พวกเราไม่ยอม” ว่างั้น
สมัยนั้นพระสงฆ์ปลุกระดมญาติโยมให้ออกมาเดินขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้องต้องการหลายประเด็น เช่น บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ไล่ไปจนถึงการเรียกร้องให้ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาขึ้นมารองรับกับกิจการของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ส่วนศาสนาอื่นๆ นั้นพวกเราไม่สนใจ แบบว่าจะเป็นจะตายก็ชั่งหัวมึงว่างั้น
พอกระแสเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ โดยมิมีทีท่าว่าจะอ่อนลง ทางรัฐบาลก็เดินเกม“เจรจาต่อรอง” ก็มาถึงข้อต่อรองที่ว่า ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องเอิกเกริกเกินไป มันไม่เคยมี เอางี้ ตั้งให้เป็นหน่วยงานอิสระสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำนองทบวงมหาวิทยาลัย จะเอาไหม
พระสงฆ์และญาติโยมที่เรียกร้องก็ยิ้มในใจว่า “สำเร็จ” เพราะถึงไม่ได้กระทรวง แต่ได้หน่วยงานอิสระใหญ่กว่ากรมการศาสนา แม้ไม่ใหญ่เท่ากับเป็นกระทรวง ก็คงเทียบเท่า “ทบวง” เพราะเราเคยได้ยินมาก่อนว่า หน่วยงานใหญ่ๆ ของราชการไทยเรานั้นลดหลั่นกันไป ได้แก่ กระทรวง ทบวง และกรม ส่วน “กอง” นั้นเป็นลูกน้องของกรม
และนั่นก็คือการถือกำเนิดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมาในปีพ.ศ.2545 ส่วนว่ากรมการศาสนานั้นก็ให้ย้ายไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ก่อนหน้านั้นขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ
ทีนี้ว่า เมื่อตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นมานั้น ถามว่ากรมการศาสนาจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนให้เป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาไปทั้งกรมเลยหรือ หรือว่าจะไม่เปลี่ยน
จุดเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนี้ก็อยู่ที่เนื้องานของกรมการศาสนา ซึ่งมิได้มีเพียงแค่“พระพุทธศาสนา” เท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่ในการดูแลงานของอีก 4 ศาสนา ซึ่งได้รับการรับรองให้เผยแผ่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง คือ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ (ฮินดู) และซิกซ์ แน่นอนว่าคงไม่สามารถจะเอาศาสนาทั้งสี่เหล่านี้ไปอยู่ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ ทีนี้ว่า ถ้าเปลี่ยนให้กรมการศาสนาเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วอีกสี่ศาสนาเหล่านี้ล่ะจะเอาไปไว้ที่ไหน ในเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็จำกัดให้เป็นของพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวเท่านั้น
เรื่องก็เลยมาถึงว่า “ก็ให้ศาสนาเหล่านั้นอยู่กับกรมการศาสนานั่นแหละ แต่สำหรับพระพุทธศาสนาให้มาสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”
ก็ตกลงว่า แยกงานในส่วนพระพุทธศาสนาออกมาจากกรมการศาสนา
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลไทยอย่างชัดเจน ที่จะให้ยุบรวมองค์กรต่างๆ ที่มีเนื้องานซ้ำซ้อนกันให้รวมเป็นหนึ่ง แต่สำหรับงานศาสนาในประเทศไทยเรานั้นน่าจะรวม กลับแยกออกเป็นสองไปซะอีก
เอ้าแยกก็แยก แต่การแยกนั้นมิได้แยกแค่ชื่อ หากแต่ต้องแยกเนื้องานออกมาด้วยโดยงานเกี่ยวกับศาสนาที่กรมการศาสนาเคยมีมาแต่เดิมนั้น เมื่อนำมาจำแนกแยกแยะแล้ว ก็ปรากฏว่า มีงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนงานของศาสนาอื่นๆ นั้นมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์
ทีนี้ว่าถ้าโอนงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไปให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหมด กรมการศาสนาก็จะมีเนื้องานเกี่ยวกับศาสนาเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มันก็กระจอกกว่ากรมกร๊วกอีกละซี นี่แหละคือปัญหา
ก็มีการเจรจาว่าด้วยการแบ่งงาน ว่าของานไว้ให้กรมการศาสนาซัก 40 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม รวมกับศาสนาอื่นๆ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ก็เป็น 50 ส่วนอีก 50 นั้นยกให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไป เรียกตามภาษาพ่อค้าว่า วิน-วิน
แต่ทางสำนักพุทธฯก็อ้างว่า “ได้ไง ในเมื่องานต่างๆ นั้นมันเกี่ยวข้องกัน จะแบ่งไว้ให้กรมการศาสนามันก็ไม่ถูกหลักการบริหาร เอางี้ ที่พอจะแบ่งได้นั้นมีเพียงงานศาสนพิธีที่ท้องสนามหลวง และแถมให้เป็นพิเศษก็คืองานพระราชพิธี จะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ” ว่าแล้วก็รวบงานจากกรมการศาสนาไปไว้ที่สำนักพุทธฯหมด ส่งผลให้ตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาไร้ค่าขึ้นมาในบัดดล จนกระทั่ง นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา ถึงกับต้องวิ่งไปสมัครเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่เขาไม่เลือก ก็เลยกลับมาอยู่กรมการศาสนาเหมียนเดิม
สรุปเลยนะว่า มีปัญหาว่าด้วยการแบ่งงานระหว่างกรมการศาสนากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จาก พ.ศ.2545 ถึง พ.ศ.2556 ก็ตก 11 ปี มานี่แล้ว ยังปีนเกลียวกันไม่เสร็จ
เพราะสำนักพุทธฯก็อ้างว่า “มีความชอบธรรม เพราะวัตถุประสงค์ของการตั้งสำนักพุทธฯขึ้นมาก็เพื่อสนองงานพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ”
ทางกรมการศาสนาก็เถียงว่า “อ้าว ก็เป็นงานเก่าของกรมการศาสนา จะเอาไปทำหมด แล้วจะให้กรมการศาสนากินอะไร เอ๊ย ทำอะไร ไม่ไหว ไอ้แบบนี้มันไม่ใช่แบ่งแล้ว แต่เล่นกินรวบหมดนี่หว่า”
สำนักพุทธฯก็ยืนกรานว่า “ช่วยไม่ได้ ทีใครทีมัน หางานทำเองก็แล้วกัน”
นั่นเองที่ส่งให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีบทบาทสูงส่งกว่าตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา ถึงกับอธิบดีกรมการศาสนาอยากจะมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา เพราะว่าตลาดพระเครื่อง เอ๊ย พระศาสนาในประเทศไทยเรานี้ พระพุทธศาสนายึดครองอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน มองในแง่พ่อค้าก็ต้องบอกว่า “มันน่าลงทุน”
เปรียบเทียบเนื้องานและงบประมาณ
ระหว่างกรมการศาสนากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กรมการศาสนา | สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ |
หน่วยงานในสังกัด
| หน่วยงานในสังกัด
|
งบประมาณ (พ.ศ.2556) 365 ล้านบาท | งบประมาณ (พ.ศ.2556) 4,329 ล้านบาท |
เห็นได้ชัดเจนว่า งานและงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้นต่างจากกรมการศาสนาราวฟ้ากับเหว เพราะได้รับเงินบริหารมากกว่ากรมการศาสนาถึง 4 พันล้านบาท !
เรียกตามภาษาของดาวใจ ไพจิตร ว่า
"ส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรม"
กรมการศาสนามีงานที่ชูหน้าชูตาอยู่โครงการหนึ่ง ซึ่งยังดึงไว้ได้ นั่นคือ การมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า รางวัลเสมาธรรมจักร จะมอบให้ในงานสัปดาห์พระพุทธศาสนา ช่วงเทศกาลวิสาขบูชาของทุกปี รางวัลที่ว่านี้เริ่มมอบมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีจะเสด็จทรงมอบรางวัลทุกปีที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีบางปีที่ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์เป็นผู้มอบแทน
รางวัลที่มอบให้นั้น แต่เดิมมีเพียงไม่กี่ตัว แต่ตอนหลังทางกรมการศาสนาเห็นว่าคนนิยม เพราะมีผู้ได้รับรางวัลเป็นถึงระดับนักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ติดใจ อยากจะได้รางวัลกับเขามั่ง ทางกรมการศาสนาจึงขยายตลาด เพิ่มจำนวนรางวัลขึ้นเป็นถึงปีละเกือบ 200 ตัว ปัจจุบันแจกรางวัลไปแล้วร่วมๆ 3000 ตัว ผู้ได้รับรางวัลนั้นมีทั้งพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกทั้งในและต่างประเทศ
แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อเนื้องานที่สูญเสียไป นายปรีชา กันธิยะ นั้นนับว่าเป็นคนมีหัว ได้เริ่มโครงการพาพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปแสวงบุญนมัสการสังเวชียสถานในประเทศอินเดีย แรกๆ ก็จัดเพียงปีละรุ่น แต่ปีนี้ยอดผู้เข้าร่วมท่วมท้น เลยขยายออกไปถึง 4 รุ่น นั่นหมายถึงว่ามีการเพิ่มเงินงบประมาณรัฐบาลให้แก่โครงการนี้เป็น 4 เท่าอีกด้วย โครงการนี้ก็คงจะก็อปปี้มาจากการแสวงบุญในพิธีฮัจของชาวมุสลิมที่นครเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย
และทีนี้ว่าเมื่อโครงการหนึ่งเวิร์ค ความคิดของปรีชาก็แล่น เพิ่มโครงการโน่นโครงการนี่ไปเรื่อยๆ และแล้วก็มาสะดุดตรงโครงการ “พุทธสภา” ซึ่งจุดกระแสขึ้นในปลายปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้กรมการศาสนาได้มีหนังสือนิมนต์พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาและขอความเห็นชอบตั้งพุทธสภาในวันที่ 31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร
แรกนั้นปรีชาก็คงไม่คิดว่าโครงการนี้จะจุดติดเร็วและแรงปานนั้น แต่เมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อ ก็ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมใหญ่ที่วัดสามพระยาจนแทบว่าล้นห้องประชุม
คนที่ตกใจไม่แพ้กันก็คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ คู่แข่งบารมีของนายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งแย่งงานกันมาอย่างยาวนานนั่นเอง เพราะเมื่ออ่านดูในหนังสือเชิญชวนตั้งพุทธสภาของกรมการศาสนาแล้ว ก็พบว่ามีการตั้งเป้าเพื่อดึงเอาพุทธศาสนิกชนทั้ง 4 เหล่าเข้าไปเป็นภาคีสมาชิกอย่างหลากหลาย นับได้ถึง 9 สาขา เรียกว่า นวภาคี
มีทั้งพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคมและนอกมหาเถรสมาคม กลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนา (ได้รับรางวัลเสมาธรรมจักร) ภาคราชการและเอกชน สถาบันการศึกษาทุกระดับนับตั้งแต่โรงเรียนประถมไปจนถึงอุดมศึกษาซึ่งก็คือวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ สตรี (รวมทั้งแม่ชี) เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน นักวิชาการ วงการบันเทิงซึ่งก็คือดาราทั้งนักร้องนักแสดงและตลก มูลนิธิ สมาคม ชมรมต่างๆ ฯลฯ จาระไนไม่หวาดไม่ไหว คิดง่ายๆ ว่าแค่เอาเข้ามากลุ่มละ 10-20 คน ก็จะล้นห้องประชุมแล้ว ซึ่งแต่ละบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกระดับหัวหน้าในพุทธสภานั้นก็ต้องมีเพาเวอร์ระดับชักจูงคนมาเข้าเป็นสมาชิกสามัญอีกมากมาย ไม่น้อยไปกว่ายุทธวิธีดาวกระจายของแอมเวย์ซึ่งธรรมกายลอกแบบไปใช้
ทั้งนี้พุทธสภาที่ว่านั้นปรีชากำหนดให้“อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง” แบบว่านั่งเก้าอี้เดียว แต่สามารถแจกลูกบอลไปให้ได้ถึง 9 สาย ก็ใหญ่น้องๆ นายกรัฐมนตรีนะสิคะ
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า บรรดาพระสังฆาธิการระดับสูงซึ่งถือว่าสังกัดมหาเถรสมาคม ก็ถูกดึงไปด้วย แถมสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ยังถูก “ดึงดูด”ให้เข้าไปเป็นภาคีสมาชิก แต่ถูกยกขึ้นหิ้งให้เป็นเพียง “ที่ปรึกษา” ซึ่งที่ปรึกษานั้นมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านแปลว่า เทกระโถน
อา..เป็นสมภารชี้นิ้วสั่งพระเณรอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็หกคะเมนกลายเป็นเณรน้อยคอยเทกระโถน ใครกันจะทนได้ "ศรีทนได้ก็เรื่องของศรี แต่นี่พี่นพรัตน์ทนไม่ได้"
ดังนั้น จึงปรากฏว่า นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ทำเป็น “ไม่ว่าง” สำหรับการไปร่วมประชุมที่วัดสามพระยา แต่ได้ส่งตัวแทนคือ นายอำนาจ บัวศิริ รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ไปประชุมแทน
แต่ใครจะมาไม่มาปรีชาไม่สนใจแล้ว พอพบหน้า ดร.อำนาจ ดร.ปรีชาก็ชวนร้องเพลง “นกเขาคูรัก” แต่อำนาจไม่เล่นด้วย โดยขอเปลี่ยนเป็นเพลง “พ่อแง่แม่งอน”แทน นับจังหวะแสนงอนของสำนักพุทธฯที่นายอำนาจร้องเป็นเพลงออกมานั้นได้ถึง 7 แง่ด้วยกัน ได้แก่
1.เมื่อตั้งพุทธสภาเป็นองค์กรของภาคเอกชนส่งเสริมพระพุทธศาสนา แต่กลับตั้งวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับจังหวัด และรองอธิบดี ศน. เป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับชาติ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เพราะองค์กรเอกชนต้องมีการเลือกเลขาธิการกันเอง ไม่ใช่ให้ทางราชการเข้าไปกำหนด
2.มีการตั้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นที่ปรึกษาพุทธสภาในระดับจังหวัด ผอ.พศ. เป็นที่ปรึกษาพุทธสภาระดับชาติ หากจังหวัดไม่ได้รับความร่วมมือเป็นที่ปรึกษาให้ ทาง ศน. จะทำอย่างไร
3.การประกาศจัดตั้งพุทธสภาอาศัยกฎหมายอะไรรองรับ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ
4.การดำเนินงานของ พศ. กับ ศน. มีความทับซ้อนกันอยู่ในรูปแบบพัฒนากิจการด้านพระพุทธศาสนา และยังไม่มีการแบ่งแยกให้ชัดเจนเลย แต่ก็มีการจัดตั้งพุทธสภาขึ้นมาทำหน้าที่เดียวกันนี้อีก ต่อไปหากมีกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างมหาเถรสมาคม (มส.) พศ. และพุทธสภา อะไรจะเกิดขึ้น
5.การทำงานพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยพุทธบริษัท 4 คือ พระสงฆ์ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา แต่การจัดตั้งพุทธสภาเป็นองค์กรเอกชน เป็นการทำงานของอุบาสก อุบาสิกา ส่วนการทำงานของพระสงฆ์มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และ มส. อีกส่วนหนึ่ง เหมือนเป็นการแยกพุทธบริษัท 4 ออกจากกัน
6.การจัดตั้งพุทธสภาจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการแล้วในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ และมีการให้พระสงฆ์เป็นรองประธานพุทธสภา แต่ มส. ซึ่งดูแลพระสงฆ์ยังไม่ได้รับทราบ พิจารณาหรือเห็นชอบด้วย จะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร พระสงฆ์จะกล้ามาร่วมทำงานด้วยหรือไม่
7. ถ้ามีการตั้งวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขาธิการคณะกรรมการระดับจังหวัด และรองอธิบดี ศน. เป็นเลขาธิการ คณะกรรมการระดับชาติโดยตำแหน่ง หากวัฒนธรรมจังหวัดหรือรองอธิบดี ศน. นับถือศาสนาอื่น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคใต้จะทำอย่างไร
อ่านดูรวมๆ แล้วก็จะเห็นว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตั้งข้อสังเกตต่อกรมการศาสนาแบบครอบจักรวาล ตั้งแต่เรื่องอำนาจหน้าที่ ภาระหน้าที่ บทบาทที่จะคาบเกี่ยวกับมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถมยังถามลามไปถึงเรื่องอิสลามในสามจังหวัดภาคใต้ คิดบัญชีแบบนี้ถ้าหนีพ้นก็คงยิ่งกว่านกอินทรีย์
ที่เป็นหัวใจก็คือ ข้อที่ 5 ที่ว่า "เหมือนเป็นการแยกพุทธบริษัท 4 ออกจากกัน" แหมฟังแล้วจั๊กกะจี้หัวใจเหลือเกิน ใครที่ทำพุทธบริษัทให้แตกแยกกันก็น้องๆ ตาเถรเทวทัตสิคะ นั่นหมายถึงว่ากรมการศาสนาถูกสำนักพุทธฯตราหน้าว่าทำลายสงฆ์และพุทธบริษัทให้แตกแยก ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม ถ้าทำการตั้งพุทธสภาสำเร็จ
นี่คือปฏิกิริยาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต่อการจัดตั้งพุทธสภาของกรมการศาสนา ซึ่งก็ต้องเรียกว่า “แรง”
เรื่องรวมหรือไม่รวมนี้ ในอดีตก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ก็เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 นั่นไง ที่กำหนดให้มีการรวมนิกายธรรมยุตและมหานิกายเข้าเป็นหนึ่งเดียวภายใน 8 ปี ปรากฏว่าคณะธรรมยุต “ทำใจไม่ได้” เพราะตนเองเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราช ครองอำนาจในสังฆมณฑลมาร่วม 100 ปี จู่ๆ คณะราษฎรก็เขียนกฎหมายบังคับให้รวมนิกาย ถ้าเอามหานิกายมารวมกับธรรมยุตมันก็พอฟัง แต่จำนวนพระสงฆ์ในเมืองไทยเรานั้น มหานิกายมีมากกว่าธรรมยุตถึง 10 เท่า ถ้ารวมกันแล้วจะถือว่าเป็นการรวมระหว่างใครกับใคร ธรรมยุตมองว่ากลุ่มของตัวเองมีน้อยกว่า การรวมกับมหานิกายก็เท่ากับว่าธรรมยุตถูกดูดเข้าไปเป็นมหานิกายตามเดิม ตามสมการว่าด้วยดาวดวงใหญ่ดูดดาวดวงน้อยให้เป็นบริวารฉะนั้น
ดังนั้น พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตจึงตีรวน ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุต) ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยให้ทบทวนการรวมนิกายสงฆ์ โดยอ้างเหตุผลว่า “พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 จัดรูปเป็นการเมือง และให้ขึ้นแก่ตำแหน่งการเมือง มุ่งเปลี่ยนแปลงการพระศาสนา ตั้งต้นแต่ให้รวมลัทธินิกายด้วยวิธีการอันไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม ผิดหลักพระธรรมวินัยและศาสนประเพณีนิยม ขัดความประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ก่อความระส่ำระสายร้าวรานในระหว่างนิกายคณะสงฆ์ ทำให้การพระศาสนาเสื่อมลง ฝ่ายบ้านเมืองผู้มุ่งอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจึงสมควรพิจารณายกเลิก พรบ.นี้เสีย”
ก็สรุปว่า ธรรมยุตไม่ยอมรวมกับมหานิกาย และทำสำเร็จ โดยการล้มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 แล้วออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาใช้แทน และยังคงใช้ถึงในปัจจุบันวันนี้
ทีนี้ก็จะนำมาเปรียบเทียบกับกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติถูกดึงเข้าไปรวมกับพุทธสภา
เรามาดูบทบาทหน้าที่กันก่อนนะ
เช่นว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีข้อบังคับผูกพันว่า “ต้องดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคม” อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย โดยทั้งนี้หมายถึงว่า งานที่เกี่ยวข้องกับมหาเถรสมาคมทุกอย่างต้องมาทำที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหมด ไม่ว่าจะเป็นขาเข้าหรือขาออก
ทีนี้ว่า เมื่อตั้งพุทธสภาขึ้นมานั้น ก็มีการวางแผนไว้ก่อนแล้วว่า “ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง”หมายถึงว่างานของพุทธสภาทั้งหมดก็จะตกเป็นของ “กรมการศาสนา” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขึ้นต่อกรมการศาสนา อันมีอธิบดีกรมการศาสนานั่งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ในตำแหน่ง “เลขาธิการ” อยู่
เมื่อดูขนาดของพุทธสภาแล้วก็เห็นว่าน่าตกใจ เพราะใหญ่กว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเหมือนช้างกับแมว แถมยังกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นที่ปรึกษาให้แก่พุทธสภา ซึ่งก็คือกรมการศาสนานั่นเองอีกต่างหาก
ถ้าย้อนมองดูดีกรีหรือศักดิ์ศรีดังนำเสนอมาแล้ว ก็จะเห็นว่า “ตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธฯ ใหญ่กว่าอธิบดีกรมการศาสนา”แต่ถ้าตั้งพุทธสภาขึ้นมาตามแผนงานที่ว่าได้สำเร็จ ตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธฯก็แทบไม่มีค่าอะไรเลยเมื่อเทียบกับตำแหน่ง“เลขาธิการพุทธสภา” ซึ่งก็คืออธิบดีกรมการศาสนานั่นเอง
ถามว่าถ้าเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติท่านจะยอมหรือ ? ศรีปราชญ์ยังประกาศเลยว่า “เราก็ศิษย์มีครู หนึ่งบ้าง” ดังนั้น เรื่องไรจะปล่อยให้ตั้งกันง่ายๆ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ จึงส่งเพชฌฆาตหน้าหยก“ดร.อำนาจ บัวศิริ” ออกมาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเข้าประจัญบานกับกรมการศาสนาในวันเริ่มต้น เรียกเป็นภาษานักมวยว่า "เตะสกัด" ทำลายจังหวะของคู่ต่อสู้ ซึ่ง ดร.อำนาจก็ไม่ทำให้ลูกพี่ผิดหวัง เพราะเตะพับนอกเพียงดอกเดียวก็สะท้านกรมการศาสนา ส่งความเจ็บปวดไปถึงต้นคอของปรีชา เพราะต้องตอบปัญหาทีละ 7ข้อ หนักหน่วงแบบต้องเรียกพี่เลี้ยงมาช่วยให้น้ำกันยกใหญ่
อย่างที่เล่าให้ฟังว่า เมื่อแยกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาจากกรมการศาสนานั้น ทางฝ่ายนี้เหลืองานไว้ให้กรมการศาสนาทำเพียงนิดหน่อย แต่พอนานไปกลับกลายเป็นว่า งานที่สำนักงานพระพุทธศาสนารับโอนมาจากกรมการศาสนานั้น เป็นงานประจำ (Routine Work) ทั้งเรื่องงานเลขานุการมหาเถรสมาคม งานเข้างานออกรายงานเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์ งานหลวง เช่น พิธีตั้งพระราชาคณะ พระเปรียญ พระครูสัญญาบัตร งานประชุมของคณะสงฆ์พระสังฆาธิการ และงานเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งจัดกันตลอดทั้งปี ทางสำนักพุทธฯต้องเข้าไปสนองงานทุกระดับประทับใจ แต่ถึงอย่างไรก็ซ้ำซาก ไม่มีอะไรใหม่ เลยกลายเป็นว่าถูกงานประจำรัดตัว ขณะที่กรมการศาสนาแรกนั้นก็น้อยใจว่า “ไม่มีอะไรทำ” แต่ตอนหลังก็นึกขึ้นได้ว่า เอ..มันไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ให้ทำ แต่เราก็สามารถทำงานศาสนาได้ เพราะไม่มีข้อห้ามอันใด โดยเฉพาะก็คือการสร้างงานใหม่ๆ ให้เป็นโครงการๆ ไป กรมการศาสนาจึงเริ่มคิดโครงการใหม่ๆ ซึ่งก็มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ โครงการไหนไม่สำเร็จก็เก็บไว้ โครงการไหนใช้ได้หรือไปได้สวยก็เสริมสวย เหมือนโครงการพาพระไทยไปเที่ยวอินเดีย แรกนั้นงบประมาณไม่กี่ล้าน เดี๋ยวนี้ปั่นหุ้นเกินร้อยล้านบาทต่อปีแล้ว
อา.แบบนี้ก็สบายกว่ากันเยอะสิ เพราะไม่มีหน้าที่ต้องไปรายงานตัวต่อพระในมหาเถรสมาคม แต่จะไปไหว้ก็ได้ไม่มีใครห้าม แถมยังเลือกไหว้ได้อีกด้วย ขณะที่สำนักพุทธฯเองนั้นตำแหน่งบังคับ ไม่ไปก็ไม่ได้ จะเลือกไปก็ไม่ได้อีก ยิ่งงานวันเกิดของเจ้าประคุณสมเด็จ-รองสมเด็จฯทั้งหลาย ก็ต้องตื่นขึ้นมาล้างขี้ตากันตั้งแต่ไก่โห่
ณ วันนี้ ทางกรมการศาสนาคงไม่อยากได้งานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วล่ะ เชิญนอนเฝ้าภูเขาทองไปคนเดียวเถอะ นายปรีชานั้นมองข้ามช็อตไปไกลกับระดับตั้งพุทธสภาขึ้นมาแล้ว เปิดโครงการใหม่ไฉไลกว่าเป็นไหนๆ อาศัยกองศาสนูปถัมภ์นั่นแหละเป็นตัวสร้างงาน ดูอย่างวัดพระธรรมกายก็คล้ายกัน ไม่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แต่สามารถคิดโครงการอันใดก็ได้ไม่ติดขัด อันไหนไม่อยากคิดหรือไม่อยากทำก็เก็บไว้ในลิ้นชัก อันไหนอยากทำก็ทำ ทำสำเร็จหรือล้มเหลวก็ไม่มีใครว่ากล่าวหรือตรวจสอบ เพราะเป็นการทำงานโดยสมัครใจ แต่คนที่จะคิดและทำได้ดังธรรมกายและกรมการศาสนาดังที่เห็นนี้ ก็ต้องเป็นระดับศาสตราจารย์หรือปรมาจารย์ผู้เยี่ยมยุทธและมากบารมี มิเช่นนั้นก็คงได้แค่ฝัน
ในอดีตนั้นเราเคยได้ยินแต่ยุทธวิธีทางการเมืองเพียง 2 วิธี คือ 1.แบ่งแยกแล้วปกครอง 2.กล่อมและกลืน แต่ตามยุทธวิธีที่กรมการศาสนาประกาศโครงการจัดตั้งพุทธสภาให้เสร็จเพียงไม่กี่วัน โดยการรวบเอาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นที่ปรึกษาด้วยนั้น จะจัดเข้าในวิธีทั้งสองคงไม่ได้แล้วล่ะ แต่ต้องจัดให้เป็นประเภทใหม่ในชื่อว่า “ดูดกลืน” เพราะมาไวเหลือเกิน
เชื่อแน่เหลือเกินว่า ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคงไม่ยอมหยุดหรือปล่อยให้กรมการศาสนาเดินหน้าตั้งพุทธสภาสำเร็จ เพราะถ้าตั้งได้ ก็เท่ากับสนับสนุนให้กรมการศาสนาปฏิบัติการ “ยึดอำนาจกิจการพระพุทธศาสนา” ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
บอกแล้วไงว่า แค่กรมการศาสนาขอแบ่งงาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ยังไม่ยอม แล้วนี่จะรวบเอาสำนักพุทธฯไปรวมกับกรมการศาสนาอย่างนั้นหรือ ไม่มีทาง
เห็นไหม นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์นั้น เปิดเพลง “หนูไม่เอา” ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ดังลั่นสำนักพุทธฯเชียว !
เห็นข่าวแล้วพูดได้คำเดียวว่า มันส์พ่ะย่ะค่ะ
มันส์แบบโก๋แก่เรียกพี่ทีเดียวเชียวล่ะ อิอิ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ