จารึกความชั่วเณรคำ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย


DSIพบ'เณรคำ'ผิด8ข้อหาหนัก

'DSI' รับคดี'เณรคำ'เป็นคดีพิเศษแล้ว รับโอนจากหน่วยงานอื่นมาทำเอง พร้อมตั้งธงดำเนินคดี'เณรคำ'8 ข้อหาหนัก พร้อมประสาน พศ.ถอนพาสปอร์ต

                9 ก.ค.56  นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)อ กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมร่วมกับ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วยดีเอสไอ สำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบังคับการกองปราบปราม สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อหารือถึงการวางแนวทางสืบสวนเส้นทางการเงินต้องสงสัยและการประพฤติไม่เหมาะสมของหลวงปู่เณรคำ หรือ พระวิรพล ฉัตติโก (สุขผล) ล่าสุดตนได้อนุมัติให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษแล้ว โดยอาศัยการกระทำผิดเข้าข่าย พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้าย พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ โดยไม่ต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) สืบเนื่องจากที่มีการลงข้อความอันเป็นเท็จในเว็บไซต์เพื่อให้คนหลงเชื่อบริจาคทองคำและเงินเพื่อสร้างพระแก้วมรกต และมีการอวดอ้างสรรพคุณ อวดอุตริ ซึ่งดีเอสไอพิจารณาแล้วเข้าข่ายความผิดแน่นอน ส่งผลให้การกระทำผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การหลบเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์หรู และความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กหญิงอายุไม่ถึง 15 ปี หลังจากนี้ดีเอสไอจะรับโอนสำนวนการสอบสวนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรง ขณะที่หน่วยงานอื่นจะช่วยสนับสนุนการทำงานอย่างใกล้ชิด


ตั้งธงดำเนินคดี"เณรคำ"8 ข้อหา จี้พศ.เดินหน้าถอนพาสปอร์ต
                
               นายธาริต เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถาบันนิติวิทยาศาตร์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ( พศ.) ว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อวางแนวทางการสอบสวนและปฏิบัติงานร่วมกันในการตรวจสอบเส้นทางการเงินต้องสงสัยและการประพฤติไม่เหมาะสมของหลวงปู่เณรคำ หรือพระวิระพล สุขผล ว่า หลังจากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษตามข้อเสนอของผบ.สำนักคดีความมั่นคง โดยผลจากการประชุมร่วม 5 หน่วยงานมีประเด็นที่พบว่า เข้าข่ายเป็นความผิดต้องถูกดำเนินคดีรวม 8 ฐานความผิด คือ 1. การใช้สื่อสารสนเทศลงโฆษณาอันเป็นเท็จ ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณชน เบื้องต้นถือเป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เนื่องจากมีการอ้างว่า ได้เข้าเฝ้าพระอินทร์แล้วพระอินทร์รับสั่งให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ ซึ่งดีเอสไอวิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดสำเร็จแล้ว 2. กรณีการกระทำชำเราเด็กหญิงและพรากผู้เยาว์ซึ่งเป็นความผิดอาญา มาตรา 277 และ 317 วรรค 3
               นายธาริต กล่าวต่อว่า 3. กรณีที่หลวงปู่เณรคำกับพวกมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีรถหรู เบื้องต้นพบรถยนต์ต้องสงสัย 9 คัน เช่น บีเอ็มดับเบิ้ลยู มินิคูเปอร์ นิสสันซิโซโร่ ซึ่งน่าจะมีการนำออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และรถเบนซ์อีกจำนวนหนึ่งที่ซื้อใน จ.อุบลราชธานี 4.กรณีเสพยาเสพติดให้โทษ 5.การแสดงและใช้วุฒิการศึกษาเท็จว่าจบด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พรบ.การอุดมศึกษาเอกชน 6.คดีฆ่าคนตายโดยประมาทจากการขับรถชนคนตาย 7.ความผิดฐานฟอกเงินกรณีการเบียดบังเงินบริจาคไปซื้อทรัพย์สินและการนำเงินไปฝากในต่างประเทศ 8.การอวดอุตริ อภินิหาร หลังรับเป็นคดีพิเศษดีเอสไอจะประสานให้กองปราบฯส่งสำนวนที่ได้รวบรวมไว้มาให้ดีเอสไอ
               นายธาริต กล่าวต่อว่า หลังพบพฤติการณ์ความผิดค่อนข้างชัดเจน ในวันนี้ ตนจะทำหนังสือถึงนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ. ในฐานะเลขานุการมหาเถรสมาคม เพื่อขอให้ดำเนินการให้พระเณรคำพ้นจากความเป็นสงฆ์ ซึ่งจะเริ่มกระบวนการทันที นอกจากนี้ดีเอสไอจะขอให้ พศ.ถอนพาสปอร์ตหลวงปู่เณรคำจากกระทรวงต่างประเทศทันที ซึ่งจะส่งผลให้การอยู่ในประเทศฝรั่งเศสของหลวงปู่เณรคำเป็นการพำนักอยู่โดยไม่มีหนังสือเดินทาง โดยประเทศฝรั่งเศสจะต้องผลักดันออกนอกประเทศ นอกจากนี้ ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ ดีเอสไอและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และจ.ศรีสะเกษ เพื่อตรวจดีเอ็นเอเด็กชายวัย11 ปี ซึ่งมารดาอ้างว่า เป็นบุตรของหลวงปู่เณรคำ รวมทั้งตรวจดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับพ่อแม่ของเณรคำ เนื่องจากหลวงปู่เณรคำไม่สามารถเดินทางมาตรวจดีเอ็นเอได้ ทั้งนี้ผลการตรวจดีเอ็นเอพ่อแม่ซึ่งเป็นญาติสายตรงลำดับรองจะได้ผลที่เชื่อถือได้ 99% และจะทราบผลความเป็นพ่อแม่ลูกได้ภายใน 24 ช.ม.
                “ดีเอสไอจะยกกรณีหลวงปู่เณรคำเป็น “เณรคำโมเดล” จัดเวิร์คชอปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องราวเช่นนี้อีก ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับสงฆ์ให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้จะทำหนังสือถึงปปง.ขอให้ใช้มาตรการทางแพ่ง อายัดทรัพย์สินทั้งเงินสดในธนาคาร ที่ดิน รถยนต์ ในความครอบครองของหลวงปู่เณรคำโดยเร็ว เนื่องจากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว”นายธาริต กล่าว
               ด้านนายนพรัตน์ กล่าวว่า เมื่อเป็นคดีอาญาแล้วจะเข้าข่ายมาตรา 29 ของ พรบ.สงฆ์ฯ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจทำหนังสือถึงคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองให้สละสมณะเพศได้โดยไม่ต้องรอให้หลวงปู่เณรคำเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน ส่วนกรณีที่คณะสงฆ์หลายจังหวัดรับมอบรถยนต์และทรัพย์สินจากหลวงปู่เณรคำซึ่งอาจส่งผลให้การตัดสินปราชิกล่าช้านั้น พระสงฆ์ถือเจ้าพนักงานปกครองเช่นกัน หากพบว่ามีการสมยอม ก็ถือว่ามีความผิดอาญา ตามมาตรา 157 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การรับหรือมอบสิ่งของทรัพย์สินต้องพิจารณาด้วยว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่


"กัปตันปิยะ"เข้าให้ปากคำดีเอสไอ

               น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ อดีตกัปตันที่จัดหาเครื่องบินเจ็ต เช่าเหมาลำเพื่อใช้ในการเดินทางระหว่าง จ.อุบลราชธานี-กรุงเทพให้หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก หรือพระวิระพล สุขผล เข้าพบพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ปากคำในคดีดังกล่าว โดยระบุว่า ตนเองไม่ต้องการเป็นข่าว อีกทั้งคนที่เป็นห่วงไม่อยากให้มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการที่คนเราจะออกมาเป็นพยานพูดข้อเท็จจริงเป็นเรื่องลำบากและน่าเห็นใจ และอยากขอให้พระที่ตกเป็นข่าวเห็นใจด้วย โดยตนจะพูดเฉพาะข้อเท็จจริงไม่ขอพูดก้าวล่วงบุคคลที่สามหรือแสดงความเห็นส่วนตัว ถือเป็นการทำหน้าที่พลเมืองดี อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เขียนลงในเฟซบุ๊กนั้นตนได้เขียนอย่างรัดกุมแล้ว และขอโทษที่มีการพาดพิงถึงบุคคลที่สาม
               น.ท.ปิยะ กล่าวต่อว่า ในการให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ หลวงปู่เณรคำได้ให้ลูกศิษย์ติดต่อขอเช่าเหมาลำเครื่องบินของบริษัทตนเมื่อ 3 ปีที่แล้วในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 โดยเป็นการใช้บริการเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานีมายังกรุงเทพมหานคร และเคยเช่าเหมาลำไปต่างประเทศครั้งหนึ่งมีปลายทางที่มาเลเซีย ส่วนกรณีที่หลวงปู่เณรคำนำเงินดอลล่าร์และทองคำที่อยู่ในย่ามมาให้ดูนั้น เป็นการเปิดให้ดูเพียงครั้งเดียวระหว่างขึ้นเครื่องบินจาก จ.อุบลฯ ส่วนเรื่องเงินที่หลวงปู่เณรคำนำไปด้วยนั้น ตนไม่ทราบว่านำไปใช้ที่ใด ส่วนการจ่ายค่าบริการทุกครั้งจะมีลูกศิษย์นำเงินสดใส่ซองมามอบให้บริษัท อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้บริการอยู่ 3-4 เดือน หลวงปู่เณรคำก็เปลี่ยนไปใช้บริการบริษัทการบินอื่น
               น.ท.ปิยะ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการการเช่าเหมาลำเครื่องบินไปต่างประเทศว่า จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเหมือนไฟล์ทบินปกติเหมือนบุคคลทั่วไป เพียงแต่จะมีช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้เฉพาะ



จ่อเรียก"สุขุม"ศิษย์เอก"เณรคำ"ให้ปากคำ

              ด้านพ.ต.ท.พงอินทร์  อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่นายสุขุม วงประสิทธิ์ ศิษย์เอกของหลวงปู่เณรคำ หรือพระวิรพล ฉัตติโก(สุขผล) ขอเลื่อนเข้าให้ปากคำในวันนี้ว่า ดีเอสไอได้ให้โอกาสแล้วในฐานะที่ต้องการขอความเป็นธรรมให้กับพระเณรคำ ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องการให้การดำเนินการเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้เมื่อนายสุขุมเลื่อนเข้าให้ปากคำก็จะมีหนังสือแจ้งไปยังนายสุขุมเพื่อขอให้เข้าให้ปากคำภายหลัง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว

              ส่วนกรณีที่ดีเอสไอและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะลงพื้นที่จ.อุบลราชธานีและจ.ศรีสะเกษ เพื่อตรวจดีเอ็นเอเด็กชายวัย 11 ปี ที่มารดาอ้างว่าเป็นบุตรของหลวงปู่เณรคำในวันที่ 10 ก.ค.นั้น นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์คดีความมั่นคงดีเอสไอจะลงพื้นที่ใน เวลา 9.00 น. โดยจะไปตรวจดีเอ็นเอของเด็กชายวัย 11 ปีก่อน จากนั้นจึงจะเดินทางไปตรวจสอบดีเอ็นเอพ่อและแม่ของพระเณรคำว่าดีเอ็นเอตรงกันหรือไม่



"ศาลอาญา"ไม่รับฟ้องคดี"หลวงปู่พุทธะอิสระ"ฟ้อง"เณรคำ"ฉ้อโกง ชี้ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

              ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีหมายเลขดำเลขที่ อ.2448 / 2556 ที่พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพระวิรพล ฉัตติโก หรือหลวงปู่เณรคำ หรือนายวิระพล สุขผล อายุ 34 ปี ประธานสำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม ต.บ้านยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ  พระภูมินทร์ ภูริปัญโญ พระเลขานุการของหลวงปู่เณรคำ นายสนอง วรอุไร นายสุขุม วงประสิทธิ นายภันธกานต์ กิ้มทอง นายภัทรเดช โสพรรณพานิชกุล นายวิชัย สุขอำภา นายพลวรรฒน์ สถิตเพียรศิริ และนายวิธิเนศวร์ พงศ์เผ่าพูล ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1- 9 คน ในความผิดฐานแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายแสดงว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
                โดยศาลพิเคราะห์รายละเอียดคำฟ้องที่ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่่ผ่านมาและข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาแต่งกายแสดงว่าเป็นภิกษุโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 และจำเลยที่ 2-9 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดข้อหาดังกล่าว อันเป็นความผิดเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐโดยตรง มิใช่กระทำโดยเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลใดเป็นส่วนตัว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็มิใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) จึงไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28
                ส่วนความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เมื่อตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 9 หลอกลวงโจทก์และที่อ้างว่าจำเลยทั้ง 9 กระทำโดยทุจริต ร่วมกันหลอกลวงประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้ง ไม่ได้ทำให้โจทก์หลงเชื่อและให้ไปซึ่งทรัพย์สินแก่จำเลยทั้ง 9 โจทก์จึงไม่ได้เป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้ง 9 จึงไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 เช่นกัน จึงพิพากษายกฟ้อง  


 "พศ."ประสาน"กต."ยกเลิกพาสปอร์ต"เณรคำ"
              
                 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า หลังจากดีเอสไอได้สรุปการสอบสวนหลวงปู่เณรคำแล้วปรากฏว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาต้องถูกดำเนินคดีรวม 8 ฐานความผิดนั้น ในส่วน พศ.ได้รับหนังสือผลการสอบสวนจากดีเอสไอแล้ว ภายในวันนี้ก็จะรีบส่งหนังสือฉบับดังกล่าวถึงพระราชธรรมโกศล (สวัสดิ์) เจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เณรคำสังกัด เพื่อประกอบการตัดสินการขับออกจากวัด รวมทั้งจะส่งผลสอบดังกล่าวให้พระครูวิสุทธิญาณ เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ฝ่ายธรรมยุต นำไปประกอบการตัดสินเพื่อสั่งให้สึกโดยเร็วๆ ที่สุด ส่วนเรื่องความผิดทางอาญาต้องปล่อยให้ดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนต่อไป
                “นอกจากนี้เอสไอขอให้ พศ. กลับมาดำเนินการประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อขอยกเลิกและถอนพาสปอร์ตของหลวงปู่เณรคำ เพื่อให้เดินทางกลับประเทศไทย” นายนพรัตน์ กล่าว
                ด้านดร.อำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการ พศ. กล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้สํานักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ได้โทรศัพท์ไปสอบถามและสอบถามผ่านอีเมล์ไปหาพระธรรมทูตไทยในยุโรป อาทิ พระธรรมทูตไทยในฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ เพื่อสอบถามพระธรรมทูตในแต่ละประเทศว่ามีใครทราบหรือไม่ว่าหลวงปู่เณรคำอยู่ที่ไหน ซึ่งจากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่าหลวงปู่เณรคำไม่ได้จำวัดในต่างประเทศน่าจะไปพักที่บ้านญาติโยมในฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามหลังจากสอบถามไปยังพระธรรมทูตในยุโรป จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รายงานความคืบหน้าว่าพบที่พักหลวงปู่เณรคำหรือยัง


ปปส.รับสอบบัญชีขบวนการค้ายา

               นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แถลงข่าวหลังจากเข้าร่วมหารือกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) โดยระบุว่า หลวงปู่เณรคำอ้างศาสนามาใช้เรียกเงินทำบุญเพื่อปกปิดการกระทำผิดรวมถึงยังมีพฤติกรรมชอบเดินทางไปชายแดนแม่สอด จ.ตาก ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายด้านยาเสพติด
               ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า ปปส.มีข้อมูลเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงบัญชีที่เกี่ยวข้องซึ่งประสานกับ ปปง. และกองปราบปราม ให้นำรายชื่อมาให้กับ ปปส. อย่างไรก็ตาม หากพบว่า เณรคำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดก็จะขยายผลตรวจสอบบัญชีของเณรคำ และผู้ใกล้ชิดกว่า 100 บัญชีว่ามีการถ่ายโอนเงินไปยังผู้ค้ายาเสพติดหรือไม่ หากพบว่าเกี่ยวข้องก็จะให้ดีเอสไอ ดำเนินการในส่วนที่เป็นคดีพิเศษ
               “ ปปส.จะทำหน้าที่ติดตามยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อได้ว่าทรัพย์สินของเณรคำที่มีจำนวนมากอาจเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและอาจมีการนำทรัพย์สินที่ได้ไปฟอกเงินที่ต่างประเทศ “พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

#พระเครื่องในประวัติศาสตร์ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สามารถศึกษาการอนุรักษ์ได้ด้วยตนเอง

#หลวงปู่ทวด องค์ในประวัติศาสตร์ เพื่อหาทุนในการพิทักษ์รักษา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ๒๕๖๑

#พระกริ่งปวเรศแท้ในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดย สมเกียรติ กาญจนชาติ